ฝุ่น PM2.5 กับเรื่องที่ต้องเข้าใจ ในวันที่คนไทยต้องใส่หน้ากากเข้าหากัน

Highlights

  •  ฝุ่น PM2.5 คือภัยร้ายใกล้ตัวที่การใส่หน้ากากและการใช้เครื่องกรองอากาศยังเป็นเพียงอุปกรณ์แก้ไขปัญหาชั่วคราวเท่านั้น แต่ไม่ใช่วิธีการที่จะรักษาต้นตอของปัญหาในระยะยาวได้
  • อาวุธที่ช่วยให้เราทุกคนไม่พลั้งพลาดกลับมาเผชิญกับฝุ่น PM2.5 อีกในอนาคตคือการกระตุ้นและมอบแนวคิดเกี่ยวกับการรักษ์ธรรมชาติให้กับคนรอบตัวและเด็กทุกคน ตั้งเป้าหมายต่อไปให้สังคมหายใจสะดวกด้วยการปกป้องดูแลและพยายามเพิ่มพื้นที่สีเขียวในชุมชนให้มากที่สุด

ทุกวันนี้มีภัยชนิดหนึ่งที่ใกล้ตัวและคอยคุกคามพวกเราอยู่ตลอดแม้เราจะมองเห็นไม่ชัดด้วยตาเปล่า นั่นก็คือฝุ่น PM2.5 มลพิษทางอากาศที่เป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ขนาดเล็กมาก เทียบอัตราส่วนจากเส้นผมมนุษย์นั้น PM2.5 มีขนาดเพียงแค่ 1 ใน 25 ส่วนเท่านั้น ที่สำคัญร่างกายมนุษย์ไม่สามารถกำจัดฝุ่น PM2.5 ออกได้ ถึงภายในร่างกายของเราจะมีเยื่อบุชนิดพิเศษที่คอยดักจับฝุ่นละอองต่างๆ อยู่ แต่ด้วยขนาดที่เล็กมากเกินไป ฝุ่นชนิดนี้จึงสามารถหลุดเข้าไปถึงระบบทางเดินหายใจ ถุงลมในปอด และกระแสเลือด เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรังในอนาคต

หลายคนยังคงมองว่าการใส่หน้ากากและการใช้เครื่องกรองอากาศภายในบ้านและรถยนต์จะช่วยป้องกันอันตรายของมลพิษชนิดนี้ แต่แท้จริงแล้วผลกระทบของฝุ่น PM2.5 ไม่ได้หยุดอยู่แค่การหายใจเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบต่อปัจจัย 4 ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานของมนุษย์เลยทีเดียว ทั้งพืชผักและผลไม้ที่สุ่มเสี่ยงต่อการปนเปื้อนมลพิษ เราไม่สามารถเปิดหน้าต่างหรือระเบียงของบ้านเพื่อระบายอากาศและซึมซับบรรยากาศได้อีกต่อไป รวมถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนในการได้รับอากาศบริสุทธิ์และน้ำดื่มที่สะอาดโดยไม่ต้องกังวลใจ หน้ากากอนามัยและเครื่องกรองอากาศจึงเป็นเพียงอุปกรณ์แก้ไขปัญหาชั่วคราวเท่านั้น แต่ไม่ใช่วิธีการที่จะรักษาต้นตอของปัญหาในระยะยาวได้

ดังนั้นก่อนที่ภัยฝุ่น PM2.5 จะหนักหนากว่านี้ คงถึงเวลาแล้วที่ต้องมาทำความเข้าใจกันใหม่ว่าสิ่งที่จะช่วยให้เราทุกคนปลอดภัยจาก PM2.5 ได้ ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่เป็นการย้อนกลับไปแก้ที่รากของปัญหา อย่างการมี green mindset กรอบความคิดที่ให้ความสำคัญกับการรักษ์โลกและพลังงานทางเลือก รวมถึงการให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวที่เต็มไปด้วย ‘ต้นไม้’ จอมทัพใหญ่ที่จะเป็นตัวช่วยให้คนเมืองรับมือกับมลพิษทางอากาศได้อย่างยั่งยืน

หากต้องการเข้าสู่สนามต่อสู้กับฝุ่น PM2.5 เพื่ออากาศบริสุทธิ์ระยะยาวนั้น สิ่งแรกคือต้องเริ่มเพิ่มพื้นที่สีเขียวรอบๆ ตัวตั้งแต่วันนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเลยแม้แต่น้อย สามารถเริ่มได้จากที่อยู่อาศัยเลยก็ได้ เพราะแท้จริงแล้วไม่ว่าจะอาศัยอยู่ที่ไหน มีแสงน้อยหรือแสงมากเราก็สามารถหาพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมในการเลี้ยงดูเพื่อฟอกอากาศได้อยู่เสมอ อย่างใครที่พักอาศัยในคอนโดหรือในพื้นที่แสงน้อย แนะนำให้ลองหาต้นไม้ที่โตง่าย คายออกซิเจนในตอนกลางคืน บางชนิดสามารถดูดซับสารพิษได้ อย่างพลูด่าง เดหลี ลิ้นมังกร หรือแม้กระทั่งสาวน้อยประแป้ง แต่มีข้อควรระวังสำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน เนื่องจากต้นไม้บางชนิดไม่ปลอดภัยกับสัตว์ หากสัตว์เลี้ยงไปดมหรือเคี้ยวใบขึ้นมา อาจเกิดอาการท้องเสีย อาเจียน และเจ็บปวดได้อย่างรุนแรง ดังนั้นเจ้าของสัตว์เลี้ยงเองก็ควรศึกษาต้นไม้แต่ละพันธุ์ให้ละเอียดทุกครั้ง ก่อนที่จะอ้าแขนรับมาเป็นสมาชิกในบ้าน

ส่วนใครที่มีสถานประกอบการเป็นของตัวเอง อาจเอาแนวคิดที่น่าสนใจแบบ Protection Strip หรือ รั้วต้นไม้มาปรับใช้ ลองปลูกต้นไม้หลากหลายพันธุ์คล้ายระบบนิเวศป่าที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของกันและกันรอบข้างอาคาร รั้วนี้จะช่วยดูดซับมลพิษและทำหน้าที่ฟอกอากาศ ไม่ว่าคนในองค์กรหรือชุมชนรอบข้างก็ล้วนสุขกายสบายใจกับอากาศดีแน่นอน

เมื่อเราเริ่มหายใจได้สะดวกขึ้น ก็ถึงเวลาที่จะตั้งเป้าหมายต่อไปให้สังคมหายใจสะดวกและทุกคนมีความสุขมากขึ้น ด้วยการปกป้องดูแลและพยายามเพิ่มพื้นที่สีเขียวในชุมชนให้มากที่สุด เมื่อปี 2017 กรุงเทพฯ มีค่าเฉลี่ยพื้นที่สีเขียวอยู่เพียง 6.4 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น ทั้งที่เกณฑ์ขององค์กรอนามัยโลกอย่าง World Health Organization (WHO) แนะนำว่าในเมืองควรมีค่าเฉลี่ยพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรอยู่ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน หากเราสามารถเพิ่มจำนวนต้นไม้และสวนสาธารณะในเมืองได้ ไม่ใช่แค่ปัญหามลพิษทางอากาศเท่านั้นที่จะดีขึ้น แต่คุณภาพชีวิตของคนในเมืองก็ดีขึ้นเช่นเดียวกัน การได้ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางธรรมชาติสามารถช่วยลดปัญหาหลายอย่างได้อย่างไม่น่าเชื่อ ผู้คนจะมีพื้นที่สำหรับพักหายใจ พักสมองหนีความเครียดจากการงาน ทั้งยังเป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรมออกกำลังกายรูปแบบต่างๆ เพื่อหนีโรคภัยไข้เจ็บอีกด้วย

สุดท้ายอาวุธที่ช่วยให้เราทุกคนไม่พลั้งพลาดกลับมาเผชิญกับฝุ่น PM2.5 อีกในอนาคตคือการกระตุ้นและมอบแนวคิดเกี่ยวกับการรักษ์ธรรมชาติให้กับคนรอบตัวและเด็กทุกคน ลองเปลี่ยนกิจกรรมเดินห้างสรรพสินค้าในวันหยุดสุดสัปดาห์เป็นการจูงมือสมาชิกในครอบครัวไปเที่ยวชมธรรมชาติ อาจชวนกันไปปิกนิก ปั่นจักรยาน ที่คุ้งบางกะเจ้า อำเภอพระประแดง ใช้เวลาอยู่กับพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ที่เป็นปอดและอยู่ใกล้คนกรุงเทพฯ มากที่สุด แต่ถ้าใครอยากสัมผัสคำว่า ‘ป่า’ ให้ลึกอีกสักนิด พร้อมถือโอกาสเรียนรู้วิธีรักษาพันธุ์ไม้ต่างๆ ก็สามารถเดินทางไปที่ศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุง และศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินีที่ ปตท.ได้พัฒนาพื้นที่ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้เช่นกัน

หากใครที่รักษ์โลกอยู่แต่เริ่มสั่นคลอน เพราะเหนื่อยล้ากับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เข้ามาถาโถมไม่หยุดหย่อน ขอแนะนำ ‘เส้นทางแห่งความภูมิใจ’ ซีรีส์ตอนสั้นๆ ที่เปิดแหล่งเรียนรู้ Eco-Tourism และการสร้างสรรค์พื้นที่สีเขียวในสถานที่ต่างๆ สำหรับใครที่สนใจอยากรับชมก็สามารถเข้าไปชิมลาง 4 เรื่องนี้ก่อนได้เลย ตอน Protection Strip กำแพงแห่งความห่วงใย, ตอน ศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุง, ตอน ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี และตอน คุ้งบางกะเจ้า พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ใกล้กรุงเทพฯ

รับรองว่าดูซีรีส์นี้แล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทนักปลูกป่ามือฉมัง ครูค่ายอาสา ผู้ใหญ่ทั่วไป หรือแม้กระทั่งเด็กน้อยธรรมดา ทุกคนต่างก็สามารถขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่ทรงพลังในรูปแบบของตัวเองได้ทั้งนั้น

หากเรายังเอาแต่รอให้ใครสักคนยื่นมือมาแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ ในอนาคตของคนรุ่นหลัง หน้ากากอนามัยและเครื่องกรองอากาศอาจถูกบรรจุให้กลายเป็นปัจจัยจำเป็นที่ 5 และ 6 ของชีวิตก็เป็นได้ มาแก้ปัญหามลพิษฝุ่น PM2.5 ให้ถูกจุด และเพิ่มความสุขอย่างยั่งยืน ด้วยการเพิ่มและดูแลพื้นที่สีเขียวรอบตัวกันนะ

AUTHOR