ผจญภัยกับ ปรีชา ซ้ายหนองขาม นักล่าไดโนเสาร์แห่งเขาภูเวียง

ปรีชา ซ้ายหนองขาม ไม่ใช่คนรวย ไม่ใช่คนดัง และไม่ค่อยได้ปรากฏตัวในสื่อเจ้าไหน

ถ้าให้เขาอธิบายสิ่งที่ทำ เขาคงบอกว่าตัวเองเป็นพนักงานประจำพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง จังหวัดขอนแก่น

แต่ถ้าในความทรงจำของเรา เขาคือนักผจญภัย อดีตสมาชิกทีมขุดค้นกระดูกไดโนเสาร์แห่งภูเวียง

เขาเคยร่วมงานกับทีมขุดค้นที่ทางไทยร่วมมือกับฝั่งฝรั่งเศส มีสมาชิกเป็นนักวิชาการทั้งไทยและเทศ เช่น ดร.วราวุธ สุธีธร นักบรรพชีวินวิทยามือเก๋าของไทย ผู้ขุดค้นฟอสซิลไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่หลายพันธุ์ เช่น สยามโมซอรัส สุธีธรนี ที่ตั้งชื่อตามสกุลของเขา สมชัย เตรียมวิชานนท์ อดีตนักธรณีวิทยาแห่งกรมทรัพยากรธรณี และอีริค บุฟโต (Eric Buffetaut) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพืชและสัตว์ดึกดำบรรพ์จากฝรั่งเศส

ระหว่างบทสนทนา ปรีชาเอ่ยตัวเลข พ.ศ. สายพันธุ์ไดโนเสาร์ ชื่อสถานที่ และรายละเอียดการขุดค้นอย่างต่อเนื่องและแม่นยำแบบไม่ต้องพึ่งสคริปต์

ปรีชาบอกว่าเขาดีใจและภูมิใจที่ทุกวันนี้ยังมีโอกาสได้เล่าความหลังครั้งยังอยู่กับทีมขุดค้นกระดูกไดโนเสาร์ให้คนที่มาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ฟัง

วันนั้นเรามัวแต่เพลินจนลืมบอกว่าเราเองก็ดีใจเช่นกัน เพราะเราก็ได้ฟังเรื่องราวที่สนุกเช่นกัน

บางครั้งสิ่งมหัศจรรย์ก็ถูกค้นพบจากความบังเอิญ

เช้าอากาศปลอดโปร่งวันหนึ่ง เราขับรถออกจากตัวเมืองขอนแก่น มุ่งหน้าสู่พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียงในอำเภอเวียงเก่า ที่อยู่ห่างจากอำเภอเมืองออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ใกล้กับจังหวัดหนองบัวลำภูและเลย

วันนี้เรามีนัดกับคนที่พวกเราก็ยังไม่รู้ว่าใคร

เหตุเพราะเราอยากคุยกับเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์สักคนที่รู้เรื่องไดโนเสาร์และจังหวัดขอนแก่นพอๆ กัน เราจึงนัดหมายกับทางพิพิธภัณฑ์อย่างง่ายๆ ด้วยการขอนัดเจ้าหน้าที่ที่นั่น และขอให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นเป็นคนขอนแก่นก็พอ

หลังขับรถมากว่าชั่วโมงครึ่งเราก็ได้พบปรีชา พนักงานประจำพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง รอเราอยู่ในชุดเสื้อเชิ้ตสีฟ้า กางเกงสีดำ

“พี่เป็นคนขอนแก่นใช่มั้ยคะ” เราแอบถามเพื่อรีเช็ก

“เป็นคนภูเวียงเลยครับ ผมทำงานที่นี่ตั้งแต่ช่วงการสำรวจและจัดตั้งอุทยานแห่งชาติภูเวียง พ.ศ. 2532 นู่น ผมโชคดีที่ได้สำรวจป่าภูเวียง และก็ได้ขุดไดโนเสาร์”

คุณไม่ได้อ่านผิด ปรีชาคือหนึ่งในทีมขุดค้นซากกระดูกไดโนเสาร์อายุเป็นร้อยล้านปีจริงๆ

และคงเป็นความบังเอิญ ที่พาเรามาพบกันในวันนี้

ปัจจุบันปรีชาอายุ 56 ปี ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง ในอดีตเคยเป็นลูกจ้างกรมอุทยานแห่งชาติ และร่วมทีมขุดค้นไดโนเสาร์มาก่อน

เพราะตอนเด็กปรีชามีป่าภูเวียงเป็นบ้าน ข่าวทีมสำรวจแหล่งแร่ยูเรเนียมพบกระดูกไดโนเสาร์ที่ภูเวียงเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2519 จึงผ่านมาเข้าหูเด็กชายปรีชาด้วย และแม้ตอนนั้นเขาจะไม่เข้าใจนักว่าการค้นพบสัตว์อายุแก่กว่าเขาเป็นล้านปีจะสำคัญแค่ไหน แต่ความเปลี่ยนแปลงที่ตามมากับการค้นพบก็เป็นสิ่งที่เขาสัมผัสได้ไม่ยาก

ขอนแก่น โดยเฉพาะภูเวียงกลายเป็นหมุดหมายของบรรดานักขุดไดโนเสาร์ ยิ่งเมื่อมีการขุดแบบจริงๆ จังๆ และพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่อย่างภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่ ใน พ.ศ. 2525 จังหวัดในภาคอีสานแห่งนี้ก็กลายเป็นดินแดนสำหรับค้นหาไดโนเสาร์ทันที

เมื่อปรีชาอายุยี่สิบต้นๆ เขาสมัครเข้าร่วมทีมสำรวจและจัดตั้งป่าภูเวียงเพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ พอดีกับที่ทีมขุดค้นของ ดร.วราวุธ สุธีธร นักธรณีวิทยาจากกรมทรัพยากรธรณีและอีริค บุฟโต เข้ามาขุดค้นฟอสซิลไดโนเสาร์พอดิบพอดี และก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าอย่างปรีชาที่ต้องตามไปประกบ

“ประมาณ พ.ศ. 2530 ผมเป็นเจ้าหน้าที่อุทยานมาสำรวจป่าภูเวียง ทางหัวหน้าอุทยานให้ผมประสานงานกับกรมทรัพยากรธรณีเพื่อจะไปดูว่าคนที่มาขุดไดโนเสาร์ทำร้ายต้นไม้ในพื้นที่ของเรามั้ย ผมเลยมาร่วมกับทีมของอาจารย์วราวุธ ในทีมสำรวจมีไม่ถึงสิบคนด้วยซ้ำ เราก็มาช่วยอาจารย์ขุดไดโนเสาร์ เริ่มตั้งแต่หลุมที่ 2 จนถึงปัจจุบันเราขุดทั้งหมด 9 หลุมที่ภูเวียง”

การได้ตามไปช่วยทีมขุดค้นเปิดโลกการผจญภัยใบใหม่ให้ปรีชา แต่ยิ่งไปกว่านั้นมันยังสร้างโลกใหม่ให้ภูเวียงด้วย

ปรีชาเล่าต่อว่าตอนขุดหาไดโนเสาร์หลุมที่ 2 ภูเวียงยังไม่มีถนนด้วยซ้ำ บางวันทีมสำรวจต้องเดินไป-กลับกว่าสามสิบกิโลฯ จนกระทั่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาทอดพระเนตรหลุมขุดค้น คนถึงรู้จักภูเวียงมากขึ้น บ้างก็แห่กันมาดูไดโนเสาร์ กว่าจะขุดค้นจนถึงหลุมที่ 9 ถนน ไฟฟ้า และสาธารณูปโภคอื่นๆ ก็ทยอยตามมาจนครบพอดี

ในบรรดาหลุมขุดค้น 9 จุด เราคิดเอาเองว่าสถานที่หมายเลข 8 น่าจะมีความหมายที่สุดกับปรีชา

เพราะนั่นคือจุดที่มีร่องรอยไดโนเสาร์ ซึ่งปรีชาเป็นคนพบเอง

“มีวันหนึ่งเรากินข้าวกันอยู่ที่หลุมขุด อาจารย์วราวุธก็ถามว่า เฮ้ย เวลาออกสำรวจป่าเห็นอะไรแปลกๆ ตามลานหินบ้างมั้ย ผมก็บอกว่าตอนที่สำรวจทางขึ้นน้ำตกตาดฟ้าเห็นรอยตีนเป็ดโบราณครับ อาจารย์เลยถามว่ารอยตีนเป็ดโบราณมันเป็นยังไง วันถัดไปเราก็พาคณะขึ้นไปดู”

เช้าวันต่อมา ปรีชานำทีมไทย-ฝรั่งเศส ลัดเลาะขึ้นไปที่น้ำตกตาดฟ้าด้วยความทุลักทุเล เพราะจากเชิงเขาขึ้นไปยังลานหิน เส้นทางมีความชันระดับที่คนต้องลงมาเข็นรถโฟร์วีลขึ้นไปแทน

ถึงอย่างนั้น ความตื่นเต้นว่าจะได้เจอร่องรอยสัตว์ดึกดำบรรพ์ใหม่ๆ ก็ขับเคลื่อนให้พวกเขา (และรถ) ขึ้นไปถึงลานหินลาดป่าชาด ซึ่งเป็นจุดที่ปรีชาบอกว่าเห็น ‘รอยตีนเป็ดโบราณ’ จนได้

“พอถึงบริเวณลานหิน มองด้วยสายตาของเรา มันเป็นรอยตีนเป็ดประมาณ 15 หรือ 16 รอย แต่ไม่ใช่ พอเปิดหน้าหิน ทำความสะอาด ปัดกวาดใบไม้ออกไป มันมีทั้งหมดถึง 65 รอย ถือเป็นการพบรอยเท้าไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดเล็กเป็นครั้งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็เริ่มตื่นเต้นกันใหญ่เลย” ปรีชาเล่า ตาเป็นประกาย

“เวลามีนักเรียนมาเดินป่าที่นี่ผมจะถามนักเรียนว่าเวลามาเดินป่าเขาดูอะไร ส่วนใหญ่บอกว่าจะดูเจ้าหน้าที่เพราะว่ากลัวหลง ผมก็เลยเล่าว่าการสังเกตจะทำให้เราได้ความรู้เพิ่มขึ้น อะไรที่เราเห็นมันอาจจะทำให้เราภูมิใจ ทุกวันนี้ผมก็ยังนึกอยู่เลยว่าถ้าวันนั้นเรามัวแต่เดิน ไม่ได้สังเกต เราจะเป็นหนึ่งในนั้นมั้ยที่ชี้ว่าเราเจออะไรแปลกๆ”

นอกจากสถานที่หมายเลข 8 สถานที่หมายเลข 9 ก็มีความหมายกับปรีชาไม่แพ้กัน ในฐานะหลุมขุดไดโนเสาร์ที่เขาเป็นผู้ร่วมค้นพบโดยบังเอิญ ระหว่างออกสำรวจกับสมชัย เตรียมวิชชานนท์ นักธรณีวิทยาจากกรมทรัพยากรธรณีใน พ.ศ. 2536

เขาเล่าเรื่องวันนั้นอย่างแจ่มชัด เหมือนผ่านมาไม่นานนี้เอง

“วันนั้นเราขุดอยู่ที่หลุมที่ 3 เราขี้เกียจขุดเพราะหินมันแข็งก็เลยเปลี่ยนบรรยากาศว่าเราไปเดินสำรวจมั้ย เผื่อจะมีโอกาสเจอแหล่งขุดใหม่ คุณสมชัยก็เตรียมน้ำอย่างเดียวเพราะว่าพื้นที่่ประมาณ 6 – 7 กิโลนี่เราเดินมากินข้าวเที่ยงตอนไหนก็ได้

“เราเดินตัดเขาจากห้วยประตูตีหมา ไม่เจออะไรเลยจนบ่ายสองโมง ข้าวก็ไม่ได้กิน เหนื่อยก็เหนื่อย ร้อนก็ร้อน ผมนั่งอยู่บนเนินเขาตรงหินลาดยาวปัจจุบัน เจ้าบราโว่ หมาที่ผมเลี้ยงไว้มันวิ่งไปตรงลานหิน ไปเจอน้ำในแอ่งหิน พอมันตัวเปียกขึ้นไปหาพวกผม พวกผมที่กำลังร้อนเห็นหมาเปียกนี่ดีใจมาก ก็เดินตามหมามาล้างหน้า พอหันกลับมา คุณสมชัยบอกว่า ‘เฮ้ย นี่กระดูกไดโนเสาร์นี่’

“วันนั้นอาจารย์วราวุธกับอีริคไม่อยู่ เราก็เลยถ่ายรูปเก็บไว้ ตอนเย็นเขากลับมาเราก็ฉลองที่เจอแหล่งไดโนเสาร์ใหม่แล้ว ตอนเช้าทุกคนแทบไม่อยากจะกินข้าวเช้าเลย อยากจะไปดูแหล่งขุด

“เราเจอสันหลังก่อน พอขุดใต้สันหลังลงไปก็เจอส่วนสะโพกและหาง อีริคตื่นตะลึงเลย เขาบอกว่ามันหายาก แล้วมันเป็นกระดูกของไดโนเสาร์กินเนื้อที่หายาก เหมือนเราจะหาเสือสักตัวกับหากวางสักฝูงหนึ่ง กวางมันหาง่ายกว่าอยู่แล้ว นี่ก็เหมือนกัน”

เพราะพื้นลานหินมีความแข็ง ทีมจึงต้องสวมหมวกกันน็อกลงมือสกัดหินกันอยู่ 6 เดือน กว่าอีริคจะได้ฟอสซิลส่วนสะโพกและสันหลังไปวิจัยเปรียบเทียบกับไดโนเสาร์อื่นๆ ทั่วโลก ผลที่ออกมาทำให้เขาตกใจอีกครั้ง เพราะนี่คือการค้นพบสยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส ไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ที่สันนิษฐานกันว่าเป็นบรรพบุรุษของทีเร็กซ์นู่น

“ซากไทรันโนซอรัสที่เขาเจอที่อเมริกาหรือว่าจีนอาจจะมีชีวิตในช่วงประมาณ 70 – 65 ล้านปีก่อน แต่ว่าทีเร็กซ์ที่มาเจอในเมืองไทยมันมีอายุ 130 ล้านปี เขาก็เลยสันนิษฐานว่าบรรพบุรุษของทีเร็กซ์หรือไทรันโนซอรัสน่าจะเกิดที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ปรีชาอธิบายการค้นพบครั้งสำคัญ

อาจพูดได้ว่าเขายกชีวิตเป็นสิบปีให้กับการขุดไดโนเสาร์ ทั้งในภูเวียงและตามทีมขุดค้นไปยังแหล่งขุดในจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะกาฬสินธุ์ที่กินเวลาไปถึง 3 ปี ก่อนจะมาลงเอยเป็นเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง เพราะสวัสดิการที่ดีกว่าการเป็นลูกจ้างแบบเหมาของกรมอุทยานฯ

“ผมผูกพันกับชีวิตการสำรวจป่า พอมาขุดไดโนเสาร์ มาเจอทีมวิชาการ มันก็เป็นงานที่ตื่นเต้น ท้าทายมากขึ้น เพราะว่าเราเห็นอะไรแปลกๆ ที่เราไม่เคยเห็นกับทีมวิชาการ

“ผมเคยคิดว่า เรื่องไดโนเสาร์มันจะสำคัญอะไร มันก็แค่กระดูก แต่พอเราสังเกตเห็นมันแล้วสิ่งที่เราเห็นเป็นสิ่งสำคัญ เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่หลายๆ คนอยากรู้ มันก็เลยทำให้เรามีใจอยากอยู่ร่วม อยากสำรวจ”

ระหว่างอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ ปรีชาพาเราเดินเข้า-ออกห้องนั้นห้องนี้อย่างคล่องแคล่ว ก่อนมาหยุดอยู่ที่หน้าแผนที่แสดงตำแหน่งหลุมขุดค้นทั้ง 9

เราถามว่าทุกวันนี้ปรีชายังไปร่วมขุดกระดูกไดโนเสาร์อยู่มั้ย

“ทุกวันนี้ไม่ได้ไปขุดกับเขาเท่าไหร่หรอก นานๆ ทีถึงจะไป แต่ว่าถ้ามีการสำรวจภูเวียงเมื่อไหร่ผมก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการสำรวจเพราะว่าผมรู้จักพื้นที่มากกว่าหลายๆ คน

“พูดจากใจ ผมยังรักงานสำรวจที่อุทยานอยู่ แต่อยู่ที่นี่ก็ถือว่าดี หนึ่งคือผมมีสวัสดิการที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น สองคือสำหรับคนที่ไม่อยากจะไปเดินป่า ที่นี่ก็จะมีข้อมูลต่างๆ มาให้ดู ทั้งงานวิจัย ตัวอย่างฟอสซิลต่างๆ ผมก็ภูมิใจที่มีโอกาสได้เล่าประสบการณ์ให้ผู้คนรุ่นหลังๆ ได้รู้ด้วย”

เขาเว้นไปนิดหนึ่งก่อนพูดต่อ

“จริงอยู่ ผมอาจจะสามารถไปทำงานที่อื่นได้ ด้วยประสบการณ์จากตรงนี้ แต่สักพักหนึ่งผมก็ต้องกลับมา เพราะที่นี่คือบ้าน ผมเริ่มสำรวจตั้งแต่ยังเป็นป่าเป็นเขา หลับตานึกยังเห็นภาพเก่าๆ ที่เราเคยลำบาก

“ผมว่าคนเราอยู่บ้านน่ะดีที่สุด อย่างน้อยเราเริ่มต้นจากตรงนี้ นักวิชาการจากหลายๆ ที่มาสำรวจเขาก็มาเป็นครั้งคราว แต่ถ้าเราอยู่ประจำ เราก็มีโอกาสได้ถ่ายทอดให้ลูกให้หลานเรามีความรู้ มีจิตสำนึกว่ากว่าจะเป็นภูเวียงในปัจจุบันมันผ่านอะไรมาบ้าง ถ้าไม่มีคนถ่ายทอด ผมกลัวว่ามันจะสูญเปล่า”

ก่อนกลับปรีชาพาเราไปดูห้องเก็บฟอสซิลของจริง ทั้งกระดองเต่าอายุเฉียดๆ ล้านปี ถือว่าเด็กมากถ้าเทียบกับฟอสซิลชิ้นอื่นๆ อย่างฟอสซิลหางไดโนเสาร์อายุร้อยล้านปีที่เขายื่นให้เราลองถือ

ที่นั่น เราแอบคิดว่าถ้าไม่เคยฟังเรื่องราวใดๆ มาก่อน ห้องนี้คงพาให้นึกถึงสัตว์ไกลตัวอย่างไดโนเสาร์ และชีวิตในป่ายุคดึกดำบรรพ์ที่จินตนาการหน้าตาแทบไม่ออก

แต่หลังจากนั่งคุยกันกับปรีชา ห้องนี้กลับทำให้เราคิดถึงชีวิตในป่าภูเวียง และทีมขุดค้นไดโนเสาร์ซึ่งอยู่ใกล้ตัวอย่างไม่น่าเชื่อ

ใกล้ระดับที่หนึ่งในนั้นกำลังยื่นหางไดโนเสาร์ให้เราจับอยู่ตรงนี้เอง


ติดตามเรื่องราวเมืองขอนแก่นเพิ่มเติมได้ใน a day 211 ฉบับขอนแก่น พบได้ตามร้านหนังสือทั่วไป หรือสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ https://godaypoets.com/aday211

AUTHOR