ความตายของปะการัง เป็น ‘ความหวัง’ ของเราทุกคน

นอกจากข่าวการตายของแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลก (Great Barrier Reef) ที่สะเทือนใจใครหลายคน เร็วๆ นี้ยังมีภาพยนตร์สารคดี Chasing Coral (www.chasingcoral.com) ออกฉายทาง Netflix และกวาดรางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมจากหลายเวที สร้างความสั่นสะเทือนต่อผู้ชมอย่างคาดไม่ถึง

Chasing Coral ว่าด้วยเรื่องราวคนกลุ่มหนึ่งผู้ไล่ล่าบันทึกภาพชีวิตปะการังที่กำลังตายลงช้าๆ หนังส่งเสียงแทนปะการังมากมายที่จบชีวิตอย่างเงียบเชียบใต้ท้องทะเลโดยมีสาเหตุหลักจากภาวะโลกร้อน แต่คนส่วนใหญ่กลับไม่รู้เห็นหรือไม่สนใจ ทั้งที่ปะการังเป็นสิ่งมีชีวิตพิเศษและสำคัญมากของโลก แม้มองไม่เห็น ชีวิตความเป็นอยู่ของเราก็เกี่ยวโยงกับชีวิตปะการังอย่างคาดไม่ถึง

“ความตายของปะการังเป็นเรื่องของพวกเราทุกคน”

เพชร มโนปวิตร คือนักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ที่ทำงานสายนี้มากว่า 20 ปี วิจัยติดตามสถานการณ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล รู้เห็นความเป็นไปของปะการัง เร็วๆ นี้เขายังได้พบกับ Richard Vevers หนึ่งในผู้อำนวยการสร้างหนัง Chasing Coral ในการประชุมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ปะการังที่นิวยอร์ก แรงกระเพื่อมของหนังเรื่องนี้ยังไม่จบลง นักวิทยาศาสตร์และผู้เกี่ยวข้องหลายคนได้ช่วยกันผลักดันโครงการอนุรักษ์ใหม่เอี่ยมชื่อ 50Reefs ความพยายามครั้งสำคัญที่หวังฟื้นฟูปะการังทั่วโลก

เพชรสื่อสารว่า สภาวะวิกฤตของปะการังในวินาทีนี้คือตัวแทนสัญญาณจากธรรมชาติว่าเราควรทบทวนการใช้ชีวิตให้เป็นมิตรต่อโลกมากขึ้นได้แล้ว หากทำสำเร็จ ความตายของปะการังในวันนี้จะกลายเป็นความหวังของลูกหลานในวันหน้า ฉะนั้นถ้าอยากเข้าใจสถานการณ์ปะการังที่คุณไม่เคยรู้ เริ่มได้เลยตั้งแต่บรรทัดถัดไป

ทำไมคุณถึงมาจับงานอนุรักษ์ปะการัง

ส่วนตัวก็สนใจอยู่แล้วและได้ทำงานวิจัยด้านพื้นที่คุ้มครองทางทะเลฝั่งอันดามันในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา เริ่มทำงานวิจัยจริงๆ ตั้งแต่ช่วงปี 2009 – 2010 ประจวบกับปี 2010 เกิดการฟอกขาวครั้งใหญ่ระดับโลกที่เรียกว่า Global Coral Bleaching ซึ่งจะเกิดขึ้นบ้างเป็นระยะ ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งแรกคือปี 1998 ปะการังทั่วโลกตายไป 16 เปอร์เซ็นต์ภายในปีเดียว ครั้งที่สองคือช่วงปี 2010 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่บ้านเราได้รับผลกระทบรุนแรงจริงๆ

เคยไปหมู่เกาะสุรินทร์ไหม ที่นั่นเป็นแหล่งปะการังน้ำตื้นที่ดีที่สุดในประเทศไทย ความที่ตั้งอยู่ค่อนข้างไกลฝั่งจึงไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากการพัฒนาชายฝั่งหรือดินตะกอน คุณภาพน้ำก็ดี กิจกรรมจากมนุษย์ไม่ค่อยเยอะ แต่ปรากฏว่าปีนั้นเกิดฟอกขาว ปะการังตายไป 90 – 99 เปอร์เซ็นต์ คนที่เคยเห็นจะรู้สึกค่อนข้างรุนแรงว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดและฉับพลันมาก

ความสำคัญของปะการังที่คนแทบไม่เคยรู้คืออะไร

ประเด็นแรก นักวิทยาศาสตร์ชอบเปรียบเทียบว่าปะการังเหมือนป่าเขตร้อนเพราะมันเป็นแหล่งรวบรวมความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญที่สุดในทะเล พื้นที่แนวปะการังเล็กมากเมื่อเทียบกับมหาสมุทร แต่เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตถึง 1 ใน 4 ของทะเลทั้งหมด โครงสร้างเป็น 3 มิติ ซับซ้อน มีที่หลบซ่อนที่อยู่อาศัยค่อนข้างเยอะ เมื่อปะการังตาย โครงสร้าง 3 มิติจะพังทลายเป็นพื้นที่ราบ สิ่งมีชีวิตจะสูญเสียที่อยู่ แน่นอนว่าส่วนหนึ่งมันเป็นเหมือนป่าเศรษฐกิจที่เราใช้ทำมาหากินด้วย

ประเด็นที่สอง ปะการังเหมือนปราการใต้ท้องทะเล งานวิจัยระยะหลังเริ่มชี้ชัดว่ามันช่วยชะลอคลื่น พื้นที่ที่ปะการังเสื่อมโทรมมีอัตราการกัดเซาะชายฝั่งมากขึ้น นี่เป็นหนึ่งในปัญหารุนแรงที่สุดที่รัฐบาลต้องลงทุนแก้ไข การแก้ปัญหาที่คิดเชิงวิศวกรรมอย่างเดียวเช่นสร้างกำแพงกั้นคลื่น จะยิ่งตัดขาดวงจรสมดุลของทราย พอคลื่นมาปะทะและสะท้อนกลับไปแรงขึ้น ก็ยิ่งเอาทรายออกไปเร็วขึ้น เกิดการกัดเซาะที่แก้ไม่จบ

ประเด็นที่สาม มหาสมุทรดูดซับความร้อนที่เกิดขึ้นจากโลกตั้ง 90 เปอร์เซ็นต์ ปะการังเป็น carbon sink ประเภทหนึ่ง การอยู่และเติบโตของปะการังช่วยกักเก็บคาร์บอนไว้ในระบบนิเวศ นี่เป็นการทำงานที่เราได้มาฟรีๆ และไม่ค่อยคำนึงว่ามีมูลค่าแค่ไหน ยังไม่พูดถึงการท่องเที่ยวซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักโดยเฉพาะบ้านเรา

ในเรื่องเศรษฐกิจพอจะอธิบายให้เห็นภาพได้ไหม

ทะเลคือรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างประเทศไทย การท่องเที่ยวมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงมาก เพิ่งมีงานวิจัยออกมาว่าประเทศไทยเป็นประเทศ Top 5 ที่ได้ประโยชน์จากปะการังในแง่การท่องเที่ยวปีละกว่า 8 หมื่นล้านบาท พอเอามุมเศรษฐกิจมาจับ มันจะเริ่มเห็นชัดขึ้นว่าเศรษฐกิจท้องถิ่นต้องพึ่งพาแนวปะการังขนาดไหน ตอนนี้ทั่วโลกเลยตื่นตัวมากว่าต้องอนุรักษ์ปะการัง อนุรักษ์ทะเล

5 – 10 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงเห็นได้ชัด ทะเลส่วนใหญ่ในโลกอยู่ในสภาวะเสื่อมโทรม มีปัญหาคุณภาพน้ำ การพัฒนาขนาดหนักตามชายฝั่ง ปะการังฟอกขาว การทำประมงผิดกฎหมายและเกินขนาด ตอนนี้ทะเลส่วนใหญ่ทั่วโลกเสียสมดุลไปหมดแล้ว เมื่อผสมผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มันเลยยิ่งมะรุมมะตุ้มสารพัด

ทำไมการอนุรักษ์ทางทะเลทำยากนัก มันไม่เหมือนการอนุรักษ์อื่นๆ ยังไง

ทะเลเป็นเรื่องนอกสายตามาตลอด ฝรั่งชอบใช้คำว่า out of sight, out of mind คือมองไม่เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นข้างใต้ ก็เลยไม่เคยอยู่ในความคิด เราเห็นสองปัญหาหลัก ปัญหาแรกคือการอนุรักษ์ด้านทะเลล้าหลังกว่าทางบกมากๆ 20 – 30 ปีที่แล้วเราเริ่มมีพื้นที่คุ้มครองทางบกเยอะแล้ว แต่ทางทะเลมีการคุ้มครองน้อยมากเพราะพอเป็นทะเลก็จะไม่มีใครรู้สึกเป็นเจ้าภาพ เป็นของที่ทุกคนใช้ได้ รู้สึกว่าไม่เป็นไร มันใหญ่มาก ใช้เท่าไหร่ก็คงไม่มีวันหมด

ปัญหาที่สองคือคนมีความรู้เรื่องทะเลน้อยด้วยข้อจำกัดในการเข้าถึง ถ้าจะสำรวจอย่างน้อยต้องดำน้ำเป็นคนทั่วไปจึงรู้จักและเข้าใจนิเวศทางทะเลน้อยกว่าทางบกมาก สัตว์ผู้ล่าทางบกแทบทุกชนิดได้รับการอนุรักษ์หมดแล้ว แต่ใน พ.ศ.นี้ ฉลามซึ่งทำหน้าที่สำคัญและมีสถานภาพที่ไม่ต่างกับเสือส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้รับการคุ้มครอง

ผมชอบยกตัวอย่างปี 2553 ที่ปะการังเกาะสุรินทร์ฟอกขาวแล้วตายไปเกิน 90 เปอร์เซ็นต์ แต่แทบไม่มีคนรู้เรื่อง ถ้าจู่ๆ เขาใหญ่เกิดมีไฟป่า ป่าเขาใหญ่หมดไป 80 – 90 เปอร์เซ็นต์ภายในไม่กี่เดือน มันคงเป็นวาระแห่งชาติ ทุกฝ่ายตื่นตระหนกตกใจ แต่เหตุการณ์ปีนั้นเงียบมาก มามีข่าวเอาเดือนมกราคมปีถัดไปที่นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลพยายามกดดันว่าต้องมีมาตรการลดผลกระทบนะ แม้แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่รู้ว่าผลกระทบมันใหญ่โตแค่ไหน เขาเห็นปะการังดีๆ กลายเป็นสีขาวจนเป็นสีน้ำตาล นึกว่าหาย แต่ที่จริงคือปะการังตายหมดแล้ว

คนส่วนใหญ่เห็นแต่ผิวน้ำกว้างใหญ่ ไม่รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นใต้น้ำ เมื่อไม่รู้ก็ไม่ตระหนัก คนที่ดูแลก็อาจขาดความรู้ มันเลยกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่เงียบเชียบ สะท้อนความจริงของการอนุรักษ์ทะเลว่าเรารู้จักทะเลน้อยมาก เราได้ประโยชน์และเอาแต่ใช้ประโยชน์อย่างเดียวเลย

สถานการณ์ปะการังของไทยตอนนี้วิกฤตถึงขั้นไหน ยังเยียวยาได้ไหม

วิกฤตมาก ตอนนี้เรายังเหลือกระจายอยู่ทั้งฝั่งอ่าวไทยกับอันดามัน แต่พื้นที่ที่สมบูรณ์เหมือนเดิมเหลือไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ มีงานวิจัยเกี่ยวกับการฟื้นตัวของปะการังที่หมู่เกาะสุรินทร์และสิมิลันซึ่งเราพยายามผลักดันให้เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ระบบนิเวศปะการังทั้งระบบ เราตามไปสำรวจที่เกาะสุรินทร์ทุกปีตั้งแต่ปี 2553 พบว่าแม้ปะการังจะเสียหายหนัก แต่โชคดีที่มีปลาคอยช่วยอยู่ พวกปลากินพืช กลุ่มปลานกแก้ว ปลาขี้ตังเบ็ดทำหน้าที่รักษาสมดุล คอยกินสาหร่ายไม่ให้มายึดครองพื้นที่ เหมือนเตรียมพื้นที่ไว้รอตัวอ่อนปะการังมาลงเกาะอีกครั้ง ปลาพวกนี้ทำหน้าที่ขะมักเขม้นทุกวันโดยเราไม่ต้องเสียเงินจ้าง

2 ปีหลังเหตุการณ์ฟอกขาว เราเริ่มเห็นตัวอ่อนปะการังกลับมา มันน่าตื่นเต้นและทำให้ทุกคนเริ่มมีความหวังอีกครั้ง พอสักปีที่ 3 เมื่อก่อนตรงที่เป็นปะการังโต๊ะกอใหญ่ที่ตายไปก็มีปะการังตัวลูกกลับมาเกิดเต็มเลย 5 ปีผ่านไปปะการังเริ่มโตและน่าจะเริ่มผสมพันธุ์ได้ ปะการังพวกนี้จะออกไข่ เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปะการังรุ่นต่อไป เมื่อต้นปีที่ผ่านมาปะการังโตเต็มวัยและปะการังกลุ่มใหญ่ๆ เริ่มกลับมาแล้ว แม้จะเป็นแค่ส่วนน้อยแต่ก็ยังพอมีความหวังว่ามันอาจจะกลับมาได้

เหตุผลที่กลับมาได้มันคืออะไร ในเมื่ออุณหภูมิโลกก็ไม่ได้เปลี่ยน

เวลาเกิดการฟอกขาว อุณหภูมิจะพุ่งสูงขึ้นไปอยู่ระดับหนึ่ง ถ้าเกินหนึ่งเดือนปะการังจะเริ่มแย่ ปะการังแต่ละที่มีระดับอุณหภูมิที่ทนได้ไม่เท่ากัน ถ้าไม่ได้มีเหตุการณ์ฟอกขาวซ้ำอีก ปะการังก็ยังมีโอกาสฟื้นกลับมาได้ แต่ถามว่ามีโอกาสเกิดฟอกขาวขึ้นได้อีกไหม แน่นอนว่ามีแน่ๆ

มันฟื้นกลับมาได้ยังไง ปะการังเป็นสัตว์ มีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เหลืออยู่ที่ไหนสักแห่ง ในทางวิชาการน่าจะอธิบายได้ว่า แหล่งพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ของปะการังเกาะสุรินทร์อาจอยู่ทางตอนเหนือที่เป็นต้นกระแสน้ำ พวกตัวอ่อนจะถูกพัดพามา เป็นไปได้สูงว่ามาจากพม่า ตอนไปสำรวจที่พม่าเราเห็นว่ายังมีปะการังกลุ่มใหญ่เหลืออยู่ มันคงได้รับผลกระทบจากฟอกขาวเหมือนกันแต่ไม่ตายทั้งหมด พวกนี้เองที่เป็นความหวังเรื่องปะการัง ผมว่าน่าสนใจตรงที่มันสะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อมของทั้งโลกได้ดีมาก เป็นตัวส่งสัญญาณเตือนแทนระบบนิเวศอื่นๆ ที่ชัดเจนที่สุดว่าโลกมันวิกฤตนะ

สะท้อนอย่างไร

ปะการังเป็นระบบนิเวศที่อ่อนไหวมาก อุณหภูมิเพิ่มแค่ 1 – 2 องศาก็ตายแล้ว เป็นสิ่งอธิบายว่าทำไมนักวิทยาศาสตร์ถึงเป็นห่วงว่าโลกจะอุณหภูมิสูงเกิน 2 องศาไม่ได้นะ เวลาพูดแบบนี้เราไม่รู้สึก แต่ปะการังเป็นตัวอย่างว่าจะเกิดอะไรรุนแรงขึ้นบ้างถ้าปล่อยให้ไปถึงจุดนั้น นอกจากนี้มันเป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบทุกอย่าง ปัญหาการท่องเที่ยว น้ำเสีย ขยะ ก๊าซเรือนกระจก ปัญหาทุกอย่างจากกิจกรรมมนุษย์ สุดท้ายไปจบลงในทะเล ถ้าจะอนุรักษ์ปะการัง เราต้องแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งหมด มันจึงเป็นตัวแทนว่าเรามาถูกทางแล้ว อย่างน้อยเราอนุรักษ์ระบบนิเวศสำคัญที่สุดของทะเลไว้ได้ มันคือความอยู่รอดของเราเองทั้งในเชิงเศรษฐกิจและความมั่นคงทางอาหาร

ถ้าปะการังหมดไปมากๆ จริงๆ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคืออะไร

การล่มสลายของชุมชนชายฝั่ง ในระดับโลกยังมีชุมชนอีกมากที่ต้องพึ่งพาอาหารจากการทำประมงพื้นบ้าน ตัวเลขประเมินคร่าวๆ คือเกือบ 500 – 1,000 ล้านคน วิถีชีวิตชุมชนเกิดขึ้นจากรากเหง้าสภาพแวดล้อมที่มีการใช้ประโยชน์ตรงนั้น ถ้าปะการังหมดไป แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำตามธรรมชาติลดลงไปมาก ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ก็ลดลงตามไป ถ้าหาปลาไม่ได้อยู่ไม่ได้ ก็อาจต้องเปลี่ยนอาชีพ อพยพเข้าเมือง เกิดปัญหาเชิงสังคม กลายเป็นหมู่บ้านที่ไม่มีคนหนุ่มสาว ถ้าฟื้นฟูทรัพยากรไม่ได้ ชุมชนนั้นจะล่มสลายไปเลย ทุกคนต้องเอาตัวรอดและอาจกลายเป็นผู้ลี้ภัยทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีตัวอย่างหลายแห่ง

ประเทศไทยอาจต้องคำนึงถึงผลกระทบเชิงท่องเที่ยวให้มากด้วย เพราะตอนนี้เศรษฐกิจเราพึ่งพาการขับเคลื่อนจากการท่องเที่ยวมาก ปะการังเสื่อมโทรมหมดเมื่อไหร่ สิ่งที่ตามมานั้นประเมินมูลค่ากันยากมาก

ตอนนี้เราก็กำลังเจอปัญหาการกัดเซาะรุนแรงมาก เราพยายามทำรั้วไม้ไผ่ เสาคอนกรีตดักทราย นู่นนี่นั่น แต่ในระบบนิเวศปะการังมีปลานกแก้วเป็นตัวหมุนเวียนแร่ธาตุอยู่แล้ว มันกัดกินปะการังแล้วถ่ายออกมาเป็นทราย เป็นการเติมทรายให้ธรรมชาติ ถ้าปะการังหมดไป ปลานกแก้วอยู่ไม่ได้ อธิบายง่ายๆ คือไม่มีคนเติมทราย มีงานวิจัยบอกว่าทรายที่เกาะมัลดีฟส่วนใหญ่เป็นทรายที่มาจากปลานกแก้ว มันมีบทบาทสำคัญมากในการช่วยรักษาเกาะไว้ ถ้าปะการังหมดไป ทรายจะค่อยๆ ถูกกัดเซาะหายไป เกาะอาจจะหายไปเลยก็ได้ เพราะระดับน้ำทะเลพุ่งสูงขึ้นอยู่แล้วด้วย

Statement ของโลกตอนนี้เป็นยังไง

ทั่วโลกมีเป้าหมายภาพรวมว่าเราควรมีพื้นที่คุ้มครองทางทะเลไม่ต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ เขายังคิดว่าการประกาศจัดตั้งเขตอนุรักษ์ที่เรียกว่าพื้นที่คุ้มครองทางทะเลหรือ MPA (Marine Protected Area)เป็นเครื่องมือที่สำคัญและมีประสิทธิภาพที่สุด ที่ตัวเลขการอนุรักษ์ทะเลมีเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้นมากในระดับโลกเป็นเพราะหลังๆ มีการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองทางทะเลขนาดใหญ่มากๆ หลายแห่ง แต่ความจริงในระดับประเทศก็ยังน้อยอยู่ถ้าเทียบกับพื้นที่คุ้มครองบนบก

อีกอย่างหนึ่งที่เขาค่อนข้างเน้นคือทำยังไงให้พื้นที่พวกนี้เชื่อมต่อกัน มองเป็นกลุ่มพื้นที่อนุรักษ์เดียวกัน เพราะกรณีปะการังมันมีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ส่งต่อลูกๆ มาให้พื้นที่อื่นๆ ถ้าไม่อนุรักษ์แหล่งพ่อพันธุ์แม่พันธุ์พื้นที่อื่นๆ ก็จะพังไปด้วย มันจึงเริ่มมีแนวคิดว่าถ้าจะอนุรักษ์ต้องทำเป็นเครือข่ายพื้นที่คุ้มครอง พยายามกำหนดให้ได้ว่าพื้นที่ไหนสำคัญให้การดูแลเป็นพิเศษ และพยายามจัดการเครือข่าย มีการประสานงาน มีทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำซึ่งจะรับมือปัญหาในอนาคตได้ยาก

อีกแนวทางหนึ่งที่สำคัญมากคือการอนุรักษ์ข้ามพรมแดน หมายความว่าการอนุรักษ์จะจำเพาะเจาะจงเฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ได้แล้ว หลายพื้นที่อย่างไทย-พม่าก็เห็นได้ชัดว่ามีความเชื่อมโยงกันอยู่

โครงการ 50Reefs ที่เป็นโครงการต่อยอดของ Chasing Coral กำลังทำอะไรอยู่บ้าง

50Reefs มองว่าการอนุรักษ์เชิงพื้นที่แบบที่ผ่านมาอาจไม่พอ ถ้าจะอนุรักษ์ปะการังให้อยู่รอด เราต้องรู้ก่อนว่าที่ไหนจะเป็น hope spot แล้วทุ่มเททุกวิถีทาง โดยเฉพาะกลุ่มปะการังที่เกิดฟอกขาวแล้วไม่ตาย รับมือกับอุณหภูมิสูงๆ ได้ ถ้าเราบ่งชี้พื้นที่เหล่านั้นได้มันจะเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่เป็นแหล่งแพร่พันธุ์ปะการังให้แหล่งอื่นๆ ที่อาจตายหมดจากปรากฏการณ์ฟอกขาวซึ่งคงจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้นในอนาคต เขาอยากเริ่มต้นทำในพื้นที่แนวปะการัง 50 แห่งทั่วโลกที่คิดว่าเป็นความหวังสูงสุด

50Reefs มีคณะทำงาน 3 ด้าน คือด้านวิทยาศาสตร์ที่เป็นคนกำหนดว่า 50 แห่งนั้นอยู่ที่ไหนบ้าง ส่วนที่ 2 คือด้านการอนุรักษ์ ตอนที่ได้ไปประชุมที่นิวยอร์กก็เป็นกลุ่มงานฝ่ายนี้ กลุ่มอนุรักษ์จะช่วยกันสะท้อนว่ามาตรการอนุรักษ์แบบไหนที่ผ่านมาที่เวิร์กที่สุด อะไรคือชุดเครื่องมือที่น่าเอาไปขยายผลต่อได้ กลุ่มที่ 3 คือด้านการสื่อสาร คนที่เป็นหัวหน้าก็คือริชาร์ด (Richard Vevers) คนทำหนัง Chasing Coral

เราทุกคนเชื่อตรงกันว่ามันต้องเปลี่ยนวิธี ที่ผ่านมาเราทำงานอนุรักษ์ปะการังมา 20-30 ปีไม่ใช่ว่าผิดทาง แต่มันไม่พอ มันถึงเกิดเหตุการณ์ฟอกขาวตายไปขนาดนั้นแต่คนก็ยังไม่รู้เรื่อง มันไม่ควรเป็นอย่างนั้นแล้ว ข่าวปะการังฟอกขาวที่ Great Barrier Reef เป็นข่าวใหญ่มาก หนัง Chasing Coralก็ช่วยปลุกกระแสได้ระดับหนึ่ง ผมเลยหวังว่าความตายของปะการังครั้งล่าสุดจะช่วยปลุกให้คนตื่นว่ามันวิกฤติขนาดไหนแล้ว

เรามีความหวังจริงไหมในการเยียวยาโลกและปะการัง

หลายคนบอกว่าสายไปแล้ว ถึงเราจะหยุดปล่อยก๊าซคาร์บอนเลยตอนนี้ โลกก็ยังร้อนขึ้นอย่างน้อย 2 องศา ฉะนั้นยังไงปะการังก็จะหมดในอีก 30 ปีข้างหน้า ภายในปี 2050 โลกเราอาจไม่เหลือปะการังแล้ว

แต่อีกแนวคิดก็ยังเชื่อว่าปะการังเป็นสิ่งมีชีวิต สิ่งมีชีวิตทุกตัวเกิดมาเพื่ออยู่รอด แต่เราปล่อยให้มันสู้ลำพังไม่ไหว ถ้าไปช่วยมันอาจมีบางกลุ่มบางก้อนที่ปรับตัวได้ ปะการังเขากวางที่ขึ้นชื่อว่าอ่อนไหวต่ออุณหภูมิที่สุดก็เริ่มมีรายงานการวิจัยบอกว่าบางตัวเริ่มทนอุณหภูมิสูงกว่าปกติได้ ขึ้นชื่อว่าสิ่งมีชีวิตไม่มีใครอยากตาย มันต้องสู้เต็มที่เพื่อจะดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ให้ได้ ฉะนั้นยังมีความหวัง ตอนนี้ทั้งโลกก็ตกลงกันแล้ว มีข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) มีเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) โลกกำลังเบนเข็มมาสู่ทางที่ควรจะเป็น แต่จะทันหรือไม่ ขึ้นกับว่าเราเอาจริงแค่ไหน

ส่วนตัวคุณยังมีความหวังไหม

นักอนุรักษ์ต้องมองโลกในแง่ดี ไม่อย่างนั้นไม่รู้เราจะทำงานตรงนี้ทำไม ผมเชื่อว่าเรายังสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกคนต้องเปลี่ยน ต้องรู้สึกว่าการอนุรักษ์เป็นเรื่องของทุกคน นั่นคือหัวใจ มันอาจจะดูโลกสวย แต่มันก็ต้องมี ไม่งั้นก็หมดหวัง เหี่ยวแห้ง สูญพันธุ์ไปก่อนเพื่อนเลย

ที่สุดแล้วการจะอนุรักษ์ปะการังได้ เราต้องแก้ปัญหาโลกร้อนให้ได้ มันจึงเป็นเรื่องของทุกคนจริงๆ ไม่ใช่ปล่อยให้คนจังหวัดพังงา กระบี่ แก้ปัญหาไป เราเชื่อว่าปะการังพยายามสู้เต็มที่ แต่เขาต้องการความช่วยเหลือ แค่หยุดซ้ำเติม หยุดเอานักท่องเที่ยวไปเตะปะการัง เลิกใช้ครีมกันแดดที่ยังมีสารเคมีที่ฆ่าปะการัง หยุดสร้างขยะ หยุดปล่อยน้ำเสีย หยุดการประมงทำลายล้าง

สมมติมีถุงพลาสติกปลิวไปติดปะการังสักก้อนและคลุมทับเอาไว้ ไม่กี่วันเขาก็ตายแล้ว การตัดไม้บนฝั่งที่ดูไม่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทะเล พอฝนตกชะหน้าดินและตะกอนลงไป ตะกอนลงไปทับถมปะการังไม่กี่วันมันก็ตาย พื้นที่ชายฝั่งก็ควรมีพื้นที่ธรรมชาติ มีป่าไม้ปกคลุมดิน พอดูความเชื่อมโยงแล้ว มันเป็นตัวแทนที่ดีมาก เพราะถ้าคุณจะอนุรักษ์ปะการัง คุณต้องแก้ปัญหาแบบองค์รวมจริงๆ

การอนุรักษ์ปะการังยังเป็นไปได้ แต่เราต้องพยายามมากกว่านี้ คำถามคือพวกเราจะพยายามมากกว่านี้ได้รึเปล่า ถ้าทุกคนคิดว่าอยากให้ปะการังอยู่ต่อ งั้นเราต้องมาช่วยกัน

ถ้าอยากให้ปะการังอยู่ต่อ สิ่งที่เราทำได้เลยคืออะไร

ปรับวิถีชีวิตให้เป็นแบบคาร์บอนต่ำ ใช้ชีวิตที่ส่งเสริมความยั่งยืนมากขึ้น พยายามคำนึงถึงผลกระทบจากตัวเราในชีวิตประจำวัน มันคงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเลิกขับรถ แต่ละคนมีเงื่อนไขไม่เหมือนกัน แต่มีทางลดได้ไหม เช่น ใช้รถส่วนตัวลดลงสักครึ่งหนึ่ง ใช้ขนส่งสาธารณะผสมกัน ถ้าทุกคนลดก็สร้างผลกระทบมหาศาล

ลดการใช้พลาสติกโดยไม่จำเป็น ขยะพลาสติกเกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาทั้งเรื่องมลภาวะ หรือสารตกค้างเวลาพลาสติกย่อยสลาย มันถูกชะล้างลงปะการังเหมือนกัน ถ้าคุณภาพน้ำ คุณภาพสิ่งแวดล้อมไม่ดี ไม่ต้องรอให้อุณหภูมิสูงขึ้นปะการังก็อยู่ไม่ได้อยู่แล้ว เพราะสารเคมีเยอะไป

เรื่องการบริโภคถ้าเป็นไปได้ก็เลือกทางที่ยั่งยืนขึ้น พยายามเลือกอาหารที่มีวิธีการผลิตและการจับที่เป็นมิตร ไม่ซ้ำเติมทะเล เลือกปลาที่จับได้จากประมงพื้นบ้านที่มีการรวมกลุ่มและมีกฎกติกาในการใช้ประโยชน์ปัจจุบันก็มีระบบมาตรฐาน ใบรับรองต่างๆ ที่ไทยก็พยายามส่งเสริม นี่อาจเป็นอีกหลักประกันว่าจะทำลายทะเลน้อยที่สุด เพราะเดี๋ยวนี้ความต้องการของผู้บริโภคก็มีส่วนกำหนดทิศทางของตลาดอยู่แล้ว

ตอนนี้คุณทำอะไรเพื่อช่วยปะการังบ้าง

นอกจากงานประจำซึ่งเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการงานด้านนโยบาย ผมพยายามเผยแพร่เรื่องต่างๆ ที่คิดว่าสำคัญผ่านงานเขียน ปีที่แล้วเขียนบทความเกี่ยวกับสารเคมีในครีมกันแดดที่ฆ่าปะการังซึ่งได้รับความสนใจเยอะมาก แต่คนส่วนใหญ่ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากให้ความรู้เราเลยอยากเสนอทางเลือกให้ผู้บริโภคด้วย เพราะหลายสิ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นพลาสติก สารเคมีต่างๆ มันซ้ำเติมปัญหา แค่ทุกคนใส่ใจ เริ่มเปลี่ยนแปลงสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันก็ช่วยแก้ปัญหาได้แล้ว

ผมคุยกับน้องกิ๊ก-กรณิศ ตันอังสนากุล ซึ่งเป็นนักวิจัยด้านความยั่งยืนเหมือนกัน เริ่มทำสินค้าทางเลือกในชื่อ ReReef เริ่มตั้งแต่เรื่องง่ายๆ เช่น หลอดซิลิโคน หลอดสเตนเลส เพื่อใช้แทนหลอดพลาสติกซึ่งเป็นขยะพบบ่อย จัดเก็บยาก เป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเล หรือแปรงสีฟันไม้ไผ้ ถ้ามีทางเลือกให้ใช้พลาสติกน้อยลงได้ มันน่าจะเป็นทางออกได้ระดับนึง ผลิตภัณฑ์ที่จะเปิดตัวเร็วๆ นี้คือครีมกันแดดที่ไม่ทำร้ายปะการัง หรือ Reef Safe Sunscreen ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ในต่างประเทศ แต่ถ้านำเข้าจะราคาสูงมาก เราเลยอยากทำผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่ราคาสู้กับผลิตภัณฑ์ในตลาดทั่วไปได้ คนจะได้รู้สึกมีทางเลือก

ผมรู้สึกว่ามันเป็นการ empower ผู้บริโภคว่าเขาก็มีส่วนลงมือแก้ปัญหาได้ด้วย พอพูดถึงปัญหาใหญ่ๆ เราจะรู้สึกว่ามันใหญ่ จะทำอะไรได้ แต่สิ่งที่อยากชี้ให้เห็นคือทุกอย่างเมื่อรวมกันแล้วมีผลอย่างคาดไม่ถึง มีข้อมูลว่าคนอเมริกาใช้หลอดประมาณ 1.5 หลอดต่อวัน เฉพาะประเทศเดียว วันเดียว ก็ใช้หลอด 500 ล้านหลอดเข้าไปแล้ว ถ้าใช้ตัวเลขเดียวกันนี้กับประเทศไทย เท่ากับเราเองก็ใช้หลอดพลาสติกตกวันละ 100 ล้านหลอด สร้างภาระให้สิ่งแวดล้อมโดยไม่จำเป็นซึ่งตรงนี้เปลี่ยนได้ มันต้องเปลี่ยน

ปะการังเป็นสัญลักษณ์การอนุรักษ์ที่สำคัญที่สุดของยุคนี้ เป็นตัวแทนระบบนิเวศที่ได้รับผลกระทบจากทั้งมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจะอนุรักษ์และช่วยฟื้นฟูปะการัง เราต้องทำทั้งระบบ แต่มันไม่ใช่เรื่องใหญ่เกินไป ทุกคนมีส่วนร่วมได้โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ เพราะการอนุรักษ์เป็นเรื่องของเราทุกคน

นอกจากข่าวสารจาก Rereef ติดตามข่าวสารสิ่งแวดล้อมได้อีกช่องทางที่เพจ Sunshine Sketcher ที่เพชรดูแล

ภาพ เพชร มโนปวิตร, 50 Reefs

AUTHOR