รักเหมา Fest – อีเวนต์ที่อยากให้ ‘คนอยากสร้าง’ จับคู่กับ ‘ผู้รับเหมา’ ที่น่ารัก

‘ผู้รับเหมาดีๆ มีจริงมั้ย’

คงเป็นคำถามชวนวิงเวียนของคนที่กำลังตัดสินใจสร้างบ้านสักหลัง แต่สำหรับ BUILK แพลตฟอร์มดิจิทัลที่คอยซัพพอร์ตการทำงานและควบคุมค่าใช้จ่ายของผู้รับเหมาที่มีเบื้องลึกเป็นการบันทึกข้อมูลในอุตสาหกรรมก่อสร้างขนาดมหึมา ยืนยันคำตอบกับเราได้ว่า ผู้รับเหมาพฤติกรรมดีและไม่ทิ้งงานมีตัวตนอยู่จริงๆ

แต่จะทำให้เชื่อและเห็นกับตาได้อย่างไร โบ๊ท-ไผท ผดุงถิ่น หัวเรือใหญ่ของสตาร์ตอัพรันวงการก่อสร้างที่ชื่อว่า BUILK Asia เจ้าของแผนการเปลี่ยนชีวิตผู้รับเหมาก่อสร้างไทย ด้วยเทคโนโลยีที่คิดแบบเพื่อนช่วยเพื่อน อาสาพาเราไปรู้จักกับบรรดาเพื่อนผู้รับเหมาและร้านวัสดุก่อสร้าง ผ่านอีเวนต์ก่อสร้างสุดยิ่งใหญ่แต่ชื่อน่ารักอย่าง ‘รักเหมา Fest’ เทศกาลที่คล้ายเป็นงานดูตัวระหว่างคนอยากสร้างกับผู้รับเหมาน่าไว้วางใจที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในเร็ววันนี้ ด้วยความตั้งใจที่อยากขันน็อตวงการก่อสร้างให้แข็งแรงมากกว่าเดิม และเล่าเรื่องวงการก่อสร้างในสเตปที่แมสมากขึ้น

อะไรที่พิสูจน์ว่าแพลตฟอร์ม BUILK เวิร์กกับวงการก่อสร้าง
มีผู้รับเหมาที่ได้ประโยชน์จากสิ่งที่เราทำ วันแรกเราไม่รู้หรอกว่าวิธีคิดนี้มันเวิร์กหรือเปล่า มันมาจากความคิดส่วนตัวเราด้วยซ้ำว่าถ้ามีระบบอะไรสักอย่างมาเปลี่ยนชีวิตผู้รับเหมาได้คงจะดี จำได้ว่าวันแรกที่คุยกับเพื่อน เราดีเบตกันเยอะมากทั้งๆ ที่มันควรเป็นโปรแกรมที่เสียเงิน แต่เราคิดว่าควรเอามาให้ผู้รับเหมาลองใช้ฟรีก่อน เผื่อมันปังจนกลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์และเปลี่ยนวงการก่อสร้างได้จริงๆ จากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็ 8 ปีแล้ว

ระหว่างทางเราทบทวนตลอดว่ามันเวิร์กจริงหรือเปล่า 4 ปีแรกเรานิ่งมากเลย เกือบปิดบริษัทไปหลายรอบ แต่พอมีสัญญาณว่ามีคนได้ประโยชน์ทีละนิดทีละหน่อย เริ่มมีคนกลุ่มเล็กๆ บอกเราว่าเขาหาโปรแกรมแบบนี้มานาน เขาพยายามเล่าเรื่องนี้ให้ใครฟังก็ไม่มีใครเข้าใจ แต่เราเข้าใจเพราะเราพูดภาษาเดียวกับเขา มีกระเช้าจากคนที่เอาโปรแกรมเราไปใช้ส่งกลับมาหาเราที่ออฟฟิศ ทุกครั้งที่กลับมาเจอกัน เราจะได้ฟีดแบ็กที่ดีและไม่ดีมา แต่รวมๆ แล้วโปรแกรม BUILK ทำให้ชีวิตผู้รับเหมาดีกว่าแต่ก่อน

หลังจากสัญญาณนั้นบริษัทเรากระเตื้องขึ้นเร็วมาก สักพักก็มีคนพูดแนะนำกันต่อ เรารู้สึกว่าการที่คนคนหนึ่งจะกล้าพูดต่อกับคนอื่นได้ แสดงว่าคงมีบางอย่างที่ตอบโจทย์พวกเขาจริงๆ วันนี้รอบตัวเรามีผู้รับเหมาเยอะขึ้น ไปจังหวัดไหนก็จะเจอเพื่อน BUILK อยู่ครบทั่วประเทศ คนรู้จักเราอาจจะมีเป็นหมื่นๆ บริษัท แต่คนที่รัก BUILK และกล้าที่จะพูดถึงเราในเชิงบวก เราเชื่อว่ามีเป็นพันบริษัทเลย

เรารู้สึกว่าแพลตฟอร์ม BUILK น่าจะเวิร์กกับคนทั่วไปมากขึ้น เพราะเราชอบโดนคำถามจากคนรอบตัวว่า ‘กำลังหาคนทำบ้าน หาคนทำอพาร์ตเมนต์ มีผู้รับเหมาดีๆ แนะนำมั้ย’ ที่ผ่านมาเราไม่กล้าที่จะแนะนำใครให้เขาเลย แต่วันนี้เรามั่นใจว่าเพื่อนผู้รับเหมาพันกว่าคนของเราเป็นผู้รับเหมาที่ดี ปีนี้ big data ของ BUILK เองก็พร้อมในระดับหนึ่ง เรากล้าที่จะแนะนำและพร้อมที่จะมาเล่าให้ทุกคนฟังว่าเรามีคอมูนิตี้ผู้รับเหมาดีๆ แบบนี้อยู่นะ

big data ของ BUILK คืออะไรและสั่งสมมาจากไหน
ดาต้ามีอยู่ทุกๆ ที่เลยนะ อย่างในเฟซบุ๊กบันทึกได้ว่าเราเช็กอินที่ไหน รู้สึกยังไง ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ติดตามเพจไหน อันนั้นก็คือบิ๊กดาต้าแบบหนึ่ง ในวงการก่อสร้างเรามีกิจกรรมก่อสร้างเยอะแยะเต็มไปหมด แต่ไม่เคยมีใครเก็บมาก่อนว่าวันนี้ใครเทปูน ใครเอากระเบื้องไปปูที่ไหนอยู่ เฟซบุ๊กคงไม่เก็บแบบนั้นเพราะคงไม่มีใครเช็กอินว่าซื้อค้อนอยู่นะ เราเลยทำโปรแกรม BUILK ที่ไปช่วยผู้รับเหมาบันทึกกิจกรรมที่เกิดขึ้น แต่ขณะเดียวกันข้อมูลที่ผู้รับเหมาอินพุตเข้ามา เช่น ตอนนี้ใครกำลังจะทำอะไรที่ย่างกุ้ง หรือใครกำลังซื้อฝักบัวอยู่เชียงใหม่ สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของอุตสาหกรรมก่อสร้าง

เราจัดกิจกรรมออฟไลน์สอนพี่ๆ ผู้รับเหมาใช้โปรแกรม ทำให้เขาเห็นว่าการบริหารงานผ่านมือถือมันง่ายนะ โปรแกรมช่วยให้พวกเขารู้กำไรขาดทุน เขาได้ประโยชน์ สิ่งที่เราได้กลับมาคือดาต้า แต่เราไม่ได้เอาดาต้าไปขายหรือไปทำอะไรที่เป็นพิษเป็นภัยนะ เราระวังเรื่องนั้นมาก

ปีที่แล้วเรามีดาต้าทั้งหมด 3 หมื่นล้านบาท อาจจะฟังดูเยอะสำหรับคนนอก แต่วงการก่อสร้างประเทศไทยมี 1.2 ล้านล้านบาทต่อปี เรามีเพียงแค่ 3 เปอร์เซ็นต์ของอุตสาหกรรม แต่ประเทศไทยเรายังเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ยังขับเคลื่อนด้วยการก่อสร้างอยู่ เช่น รัฐต้องอัดฉีดเงินเยอะมากๆ เพื่อสร้าง infrastructure (โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบคมนาคม ระบบจัดการพลังงานที่รองรับการใช้งานของประชาชน) ปีไหนที่เศรษฐกิจดีเอกชนก็ลงทุนสร้างคอนโดฯ กัน BUILK เองเป็นมดตัวเล็กๆ ในนั้น

พอเราต้องเก็บข้อมูลเชิงลึกมากๆ มีอุปสรรคอะไรเกิดขึ้นบ้าง

คงเป็นเรื่องความเชื่อใจแหละ เหมือนกับเฟซบุ๊กหรือกูเกิลที่เข้ามาใหม่ๆ แล้วคนจะเชื่อกันว่าเว็บพวกนี้แอบอ่านข้อมูลเรา ตัวเราเองก็ต้องพิสูจน์ว่าในฐานะที่เป็นแพลตฟอร์ม ต้องทำให้คนเชื่อให้ได้ก่อนว่าเราไม่ได้เอาข้อมูลไปทำอะไรไม่ดี คนจะกลัวว่าเอาข้อมูลใส่ใน BUILK เสร็จแล้วจะโดนรัฐบาลสอบสวน โดนคู่แข่งตัดหน้า หน้าที่เราที่ต้องป้องกันความปลอดภัยข้อมูลให้ดีที่สุด

เราย้ำเหมือนเดิมตลอดว่า BUILK คือโปรแกรมฟรีที่พี่จะใช้ก็ได้ ไม่ใช้ก็ไม่เป็นไร แต่เรายังอยู่ตรงนี้นะพี่ ผู้รับเหมาส่วนใหญ่เวลาเจ๊งมาสักงานเป็นธรรมชาติที่ต้องหาเครื่องมือมาช่วย วันนึงเขาอาจจะนึกถึงสิ่งที่เราพูดไว้ ตัวโปรแกรมเราพยายามดีไซน์ให้ใช้ง่ายและเห็นผลลัพธ์เร็ว พอเขาเห็นว่าดีถึงจะเกิดการใช้งานต่อ อีกอย่างเรามีทีม user care สมมติผู้รับเหมาสักคนหนึ่งอยากเปลี่ยนตัวเอง เราไม่ได้ซัพพอร์ตเขาแค่ซอฟต์แวร์ ถ้าเขามีปัญหาเช่น พนักงานลาออก เราอาจจะหาคนไปช่วย หานู่นหานี่ให้เพื่อให้เขาใช้แพลตฟอร์มได้เต็มที่

นี่คือเหตุผลที่ BUILK หันตัวเองมาจัดเป็นงานอีเวนต์
จริงๆ เราจัดงานแบบนี้มา 3 – 4 ปีแล้ว แต่ใช้ชื่อว่า Construction United เป็นงานที่มีแค่คอมมูนิตี้ผู้รับเหมา เชิญผู้ใช้งานมาเจอคนทำซอฟต์แวร์ เหมือนเป็นงานให้กำลังใจทีมงานเหมือนกัน พอเขารู้ว่ามีคนใช้โปรแกรมก็จะภูมิใจ แล้วก็มาเล่าให้ผู้ใช้งานฟังว่าปีนี้เราแพลนจะทำอะไรต่อ หาสปีกเกอร์ดีๆ มาพูด คล้ายงานสัมมนาเล็กๆ แบบ B2B (พูดคุยกันระหว่างบริษัท) จัดครั้งแรกปี 2015 จนมาปี 2017 สเกลเราใหญ่ขึ้นพร้อมๆ กับจำนวนผู้ใช้งาน

ปีนี้คอมมูนิตี้เราเติบโตมากและถึงเวลาที่จะต้องทำประโยชน์ให้กับคนนอกบ้าง เลยจัด Construction United 2018 ตอน ‘รักเหมา Fest’ เป็นอีเวนต์เปิดที่เข้าถึงคนกลุ่มแมสมากขึ้น เราไม่รู้หรอกว่ามันเวิร์กหรือไม่เวิร์ก แต่เราเล่นใหญ่แล้วน่ะ (หัวเราะ) เราอยากเจอคนหมื่นคน แล้วก็คัดเลือกผู้รับเหมาน้ำดี 500 คนมาให้คนอื่นเลือกไปสร้างบ้าน สร้างตึก หรือรีโนเวตออฟฟิศ เหมือนเราต้องรีบูตสเตจของ BUILK ใหม่ว่าถึงเวลาโผล่ออกมาจาก B2B ไปเป็น B2C (เข้าถึงลูกค้าครัวเรือน) กันดีกว่า

คุณคัดเลือกผู้รับเหมาที่น่ารักทั้ง 500 รายยังไง
ส่วนแรกเราดูจากพฤติกรรมการทำงานบนบิ๊กดาต้าของ BUILK เหมือนเฟซบุ๊กที่สกรีนได้ว่าคนนี้เป็น influencer หรือคนธรรมดา มีสไตล์การทำงานแบบไหน BUILK เองก็เป็นแบบเดียวกัน ใครถนัดงานสร้างบ้าน สร้างอพาร์ตเมนต์ งานตกแต่งภายใน คนนี้รู้จักการวางแผน หรืออยู่กับเรามาหลายปีจนมั่นใจว่าเขาน่าจะรับงานที่อื่นได้ ส่วนที่สองเป็นเรตติ้งคล้ายๆ กับเว็บรีวิวทั่วไป แต่ผู้รับเหมามีผู้เกี่ยวข้องเยอะแยะเต็มไปหมด เลยเอาส่วนนี้มาคิดด้วยนิดหน่อย

เราว่าคนทั่วไปน่าจะเคยเดินงาน construction 2 – 3 ครั้ง หลักๆ อย่างบ้านและสวนแฟร์ที่ให้เราได้เห็นสวนและซื้อของกลับบ้าน หรืองานสถาปนิกที่ให้ไอเดียออกแบบจากสถาปนิก แต่ รักเหมา Fest ไม่ใช่ทั้ง 2 แบบ เราจัดงานที่เชิดชูผู้รับเหมา บุคคลที่โดนทอดทิ้งมาตลอด บางคนเขาอาจจะไม่ใช่คนที่มีวิชาชีพแต่เขามีความสุขกับการสร้าง เขาเลยเลือกที่จะเป็นผู้รับเหมา เราอยากจับคนเหล่านี้มารวมตัวกันในวันนี้

เราจำได้แม่นเลยว่าวันแรกที่เข้าไปเห็นไซต์ก่อสร้าง ถมบึงให้เป็นพื้นที่ ตอกเสาเข็ม สร้างฐานได้เราก็ดีใจแล้ว หลังจากนั้นก็เทคาน เทพื้น ขึ้นไปยืนอยู่บนชั้นสอง ปีนขึ้นหลังคา จนสำเร็จออกมาเป็นบ้าน สำหรับนักสร้างมันเป็นความรู้สึกที่น่าภาคภูมิใจมากๆ นะ เราเชื่อว่าผู้รับเหมา 500 คนที่เราพามาเขาเป็นคนประมาณนี้ เขาอยากทำงานออกมาให้ดี ถ้าใครยังไม่มีแพลนสร้างอะไรก็ลองมาให้กำลังใจนักสร้างกันได้ มามองหาคนที่คุณอยากร่วมงานในอนาคตก่อนก็ได้

เวลาเจอผู้รับเหมาไม่น่ารัก BUILK มีวิธีจัดการยังไง
ก็มีแบล็กลิสต์ไว้นะ จริงๆ ในคอมมูนิตี้ก็จะมีผู้รับเหมาไม่น่ารักบ้าง แต่เราจะช่วยกันเตือนเพราะเราเคยเป็นแบบเขามาก่อน วันแรกที่รับงาน เขาก็คงอยากทำงานนี้ให้ลูกค้าชม ได้เงินครบ จบงานตรงเวลา ทุกคนคิดแบบนั้นเหมือนกันหมดครับ แต่ทำไมผ่านไป 3 เดือนเริ่มร้าว สุดท้ายก็ทิ้งงาน เราต้องหาว่าระหว่างนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง บางคนเขาก็ติดปัญหาเรื่องเงิน การบริหารภายใน บางทีเราก็ต้องเป็น consult ให้เขาด้วย

มีอะไรพิเศษๆ ใน รักเหมา Fest อีกบ้าง
เราอยากเป็นเทศกาลที่ให้คนได้เล่น ได้จับต้อง ได้สนุก ในงานก็จะมีนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับวงการก่อสร้าง เมืองนอกอย่างสิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ยุโรป เขาเริ่มเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีในการก่อสร้างมากขึ้นเพราะคนไม่เลือกทำงานหนักแบบนี้กันแล้ว เมืองไทยเราก็เหมือนกัน ผู้รับเหมาก็ต้องรู้จักเอาตัวรอดให้ได้ โดยเฉพาะผู้รับเหมารุ่นเก่าๆ ที่ยังติดกับภาพการใช้แรงงาน กระดาษและปากกาแบบเดิมๆ เราอยากเอานวัตกรรมพวกนี้มาโชว์

อย่างนวัตกรรมกล้อง VR ที่ใช้ในการทำเซฟตี้เทรนนิ่ง เช่น การหัดขับรถเครน การเข้าถึงไซต์ก่อสร้างด้วยเทคโนโลยี VR ที่ช่วยลดความเสี่ยง เรามีโดรนช่วยสำรวจพื้นที่แทนที่เราจะใช้คนหลายๆ คนไปยืนตากแดดแถมยังประหยัดเวลาในการทำงาน มี laser scanner ที่ใช้แทนตลับเมตรแบบเดิมๆ IoT (Internet of Things) เซนเซอร์ต่างๆ ที่เหมาะกับผู้รับเหมา เช่น เซนเซอร์วัดและเตือนค่าฝุ่นละออง PM 10 PM 2.5 ที่เกิดจากไซต์ก่อสร้าง ทุกวันนี้เทคโนโลยีมีราคาถูกลงมาก แต่คนอาจจะยังไม่รู้มันเลยไม่เกิดการนำมาใช้ นอกจากนี้ผู้รับเหมาก็จะได้เจอเพื่อนในวงการก่อสร้างด้วย เช่น ร้านวัสดุก่อสร้าง โปรโมชั่นต่างๆ จากสปอนเซอร์ รวมทั้งสินค้าบางตัวก็เลือกเปิดตัวครั้งแรกในงานนี้

สำหรับคนทั่วไปที่อยากสร้างบ้าน เรามีผู้รับเหมาที่น่ารักให้เลือกสรรแล้วก็อยากให้ทุกคนได้เข้ามาเจอความรู้ เราคิดว่าเจ้าของบ้านควรจะมีความรู้ระดับนึงเพื่อไม่ให้โดนผู้รับเหมาแย่ๆ หลายคนทำงานทั้งชีวิตเพื่อบ้านหลังแรก บางคนก็มีวิธีคิดง่ายๆ ว่าเลือกผู้รับเหมาที่ถูกที่สุดก่อน ซึ่งสุดท้ายมันจะเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เจอวัสดุไม่มีคุณภาพ เจอผู้รับเหมาทิ้งงานเป็นดราม่าบนพันทิป แต่เราอยากบอกทุกคนว่าการเลือกผู้รับเหมาดีๆ มันมีองค์ประกอบอื่นๆ อีกที่ไม่ใช่แค่เรื่องราคาอย่างเดียว

อื่นๆ ที่ว่ามีอะไรบ้าง
การก่อสร้างมีองค์ประกอบอยู่ 3 อย่างคือ เวลา ต้นทุน และคุณภาพ 3 สิ่งนี้ไม่มีทางมาพร้อมกันได้เลย เราเลือกได้มากสุดก็แค่ 2 อย่าง สมมติถ้าเราอยากได้งานที่ใช้เวลาน้อย คุณภาพดี ราคามักจะแพง หรือถ้าคุณอยากได้ของถูก คุณภาพดี แบบนี้จะช้า หรือเลวร้ายไปกว่านั้นคืออยากได้งานเร็ว ราคาถูก คุณภาพก็จะห่วย ย้อนแย้งกันอยู่แบบนี้แหละครับ เจ้าบ้านก็ต้องเลือกเองว่าพอใจกับทางเลือกไหน แล้วก็มีเกร็ดความรู้เรื่องอื่นๆ มาเล่าด้วย เช่น ฮวงจุ้ย

เราว่า BUILK เหมือนตาบอดคลำช้าง เราอาจจะคลำจมูกช้างของวงการก่อสร้างอยู่แต่มันไม่ใช่ทั้งหมดของช้างแน่ๆ แต่ถ้าเราเอาข้อมูลจากทุกแพลตฟอร์มมารวมกัน เราอาจจะได้เห็นส่วนอื่นของช้างชัดขึ้น BUILK อาจจะเป็นคนคลำคนแรก วันข้างหน้าคงจะมีน้องรุ่นใหม่เข้ามาช่วยคลำ ในงานเราก็เลยมีพาร์ตของงานประกวดนวัตกรรมจากน้องๆ สตาร์ตอัพสาย construction กับ real estate รุ่นใหม่ ถ้าเป็นนักศึกษาปริญญาตรีที่สนใจนวัตกรรมจริงๆ เรายินดีหาแหล่งเงินทุนให้ วงการก่อสร้างจะพัฒนาได้เราต้องอาศัยแรงจากเด็กรุ่นใหม่ด้วย

หลังจากที่คนอยากสร้างและผู้รับเหมาแมตช์กันแล้ว BUILK จะติดตามพวกเขาต่อมั้ย
แน่นอนอยู่แล้ว เพราะผู้รับเหมาทุกคนอยู่บนแพลตฟอร์มของเรา สิ่งที่เราจะได้เห็นต่อคือถ้าเขาจับคู่กันขึ้นมาแล้วมีการสร้างบ้านกันจริงๆ มั้ย ถ้าได้สร้างจริงก็คงจะมีการเรตติ้งกันต่อ มีข้อมูลเข้ามาซัพพอร์ตบิ๊กดาต้ามากขึ้น คอมมูนิตี้เราก็คงจะแข็งแรงขึ้น

พอเป็น B2C วิธีการทำงานของ BUILK เปลี่ยนเยอะมั้ย
เปลี่ยนมาก เราไม่เคยรู้สึกเลยว่าเราต้องออกสื่ออะไรขนาดนี้ (หัวเราะ) แต่ก่อนเราอินดี้อยู่ในวงการตัวเอง พูดภาษาเดียวกับผู้รับเหมา จากเมสเสจที่เมื่อก่อนเราพูดว่าจะทำให้พี่รวยขึ้น ทำให้พี่เป็นผู้รับเหมาที่ดีแล้วพี่จะได้ทำงานดีๆ วันนี้เมสเสจนั้นยังอยู่แต่เราต้องพูดกับคนกลุ่มแมสว่าเรามีคนดีๆ เยอะแล้ว คุณเอาคนดีๆ ไปใช้เถอะ ประเทศไทยจะได้มีงานก่อสร้างดีๆ ขึ้นมาบ้าง

เหมือนเป็นฝันแรกของเราเหมือนกันนะ ในอดีตเราเคยเป็นผู้รับเหมาที่ห่วยแตกมาก่อน แก้ปัญหาไม่เว้นแต่ละวัน เวลาไปต่างประเทศเรารู้สึกว่าภาพอาชีพผู้รับเหมาบ้านเขาดูดีจัง ฟุตปาธบ้านเขาก็ดูดี พอมองกลับมาที่ตัวเอง เราจำได้เลยว่าตอนเราทำฟุตปาธวัดพระแก้วเราเลือกที่จะเอาทรายห่วยๆ มาปู ฟุตปาธประเทศเรามันก็เลยไม่ดีสักที ทำไมเราถึงทำดีแบบนั้นไม่ได้วะ ทั้งๆ ที่วันแรกที่รับงานมาเราก็อยากทำให้มันดีนะ แต่สุดท้ายมันก็ออกมาก๊อกแก๊กอยู่ดี

อาชีพผู้รับเหมาอาจจะไม่เหมาะกับเรา เราเลยเลือกที่จะทำ BUILK เพื่อซัพพอร์ตผู้รับเหมา แล้วถ้าฝันเราคือการเปลี่ยนวงการก่อสร้าง ภาพลักษณ์ของผู้รับเหมาไม่ควรจะเป็นสีเทาๆ แบบนี้ ผู้รับเหมาขี้โกงควรจะลดลงหรือหายไป ลูกหลานเราควรอยู่ในประเทศที่ไม่ต้องเสี่ยงว่าผู้รับเหมาจะชิ่งมั้ย คุณภาพชีวิตในการเดินถนนพวกเขาควรจะดี แต่วันนี้เราอาจจะยังไกลอยู่ เรามีแค่หยิบมือเดียวอยู่เลย แต่คิดว่าเรามีคนแรกแล้ว มีคนที่ร้อย คนที่พัน มันต้องไปต่อได้ เรากล้าที่จะฝันต่อไปเรื่อยๆ จริงๆ งานนี้ช่วยให้คนได้เจอกับผู้รับเหมาที่ดีได้แค่นี้เราดีใจแล้ว

วันนี้คนในวงการก่อสร้างมอง BUILK เป็นยังไง
เมื่อก่อนเขาอาจจะมองว่า ไอ้บ้านี่เป็นใคร (หัวเราะ) แต่วันนี้เขาอาจมองว่าเราเป็นเด็กใหม่ในวงการก่อสร้างที่คิดนอกกรอบ คนคงติดตามว่าเราจะออกไปทางไหน จดๆ จ้องๆ กันอยู่ว่าจะลองใช้แพลตฟอร์มเราดีมั้ย คนหมั่นไส้อาจจะพอมีบ้างนะ เพราะเราทำตัวแทบจะตรงข้ามกับบริษัทก่อสร้างชั้นนำที่เขาสร้างมาด้วยความเป๊ะ ความเพอร์เฟกต์ แต่ BUILK เราเป็นคนบ้านๆ ที่ใช้เทคโนโลยีเป็น จริงๆ เราลงทุนกับแพลตฟอร์มไปเยอะมาก แต่การที่เราให้ผู้รับเหมาเขาใช้ฟรีแล้วมันเกิดอิมแพกต์ขึ้นจริงๆ เรารู้สึกว่าชีวิตเรามีความหมายขึ้น

แต่ถ้าถามว่าอยากให้เขามองเรายังไง เราอยากเป็นความหวังของอุตสาหกรรม เดี๋ยวนี้แม้คนที่เรียนโยธามาบางคนไม่อยากทำงานโยธา ต้องมาตากแดด เสี่ยงภัยแถมได้ตังค์น้อยอีก สถาปนิกหรือวิศวกรก็เหมือนกัน วงการนี้เลยไม่มีคนรุ่นใหม่อยากเข้ามาทำ ทุกคนหันไปทำการเงินหรือทำสตาร์ตอัพกันหมด ถ้าเราเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของวงการก่อสร้างให้ดีขึ้นได้ มันจะทำให้คนรุ่นใหม่ๆ อยากมาทำงานก่อสร้าง คืออยากจะเป็นทางเลือก อยากบอกว่างานก่อสร้างก็มีอนาคตได้ คูลได้ เก่งได้นะ


ใครกำลังตามหาผู้รับเหมาดีๆ หรือผู้รับเหมาคนไหนกำลังมองหามิตรแท้วงการก่อสร้างที่คัดสรรโดยทีม BUILK อย่าลืมแวะเวียนไป ‘รักเหมา Fest’ งานรวมตัวผู้รับเหมาที่น่ารักครั้งแรกและครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในบ้านเรา วันที่ 9 – 10 มีนาคม 2561 ที่ Airport Rail Link มักกะสัน ตั้งแต่เวลา 10.00 น. ถึง 22.00 น.

ลงทะเบียนเข้าร่วมงานเพื่อรับของที่ระลึกจาก BUILK และติดตามกิจกรรมได้ที่ https://www.builk.com/th/construction2018/

ถ้าคุณได้เจอผู้รับเหมาที่ตรงใจ อย่าลืมกลับมาเล่าให้เราฟังด้วยนะ 🙂


ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR