“ความเจ็บปวดของคนทุกรุ่นตกใส่หลังของฉัน” Childhood Disrupted วิธีถอนตัวจากมรดกทางใจของครอบครัว

Highlights

  • Childhood Disrupted หรือ เกินกว่าเจ็บปวด โดยสำนักพิมพ์ OMG อธิบายว่าประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กก่อร่างเป็นโรคภัยไข้เจ็บในวันที่เราโตขึ้นได้ยังไงในกระบวนการทางชีวเคมี บาดแผลทางใจที่ไม่ได้รับการเยียวยาอาจทำให้เราเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคภูมิต้านตนเอง หรือโรคซึมเศร้า 
  • สภาวะอารมณ์ที่ไม่มั่นคงก็ได้รับผลกระทบจากบาดแผลที่ว่าด้วยเช่นกัน อิทธิพลทางลบต่างๆ เหล่านี้สามารถส่งต่อไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ผ่านพันธุกรรมและการเลี้ยงดูของพ่อแม่
  • หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อต่อว่าพ่อแม่ผู้ปกครอง แต่เพื่อทำความเข้าใจต้นตอปัญหาและหาทางเยียวยาแก้ไขให้ถูกจุด ทั้งบาดแผลในตัวเราเองและคนรอบข้าง

มีหนังสือบางเล่มที่ฉันกล้าพูดว่าการได้อ่านมันเปลี่ยนชีวิตฉัน หนังสือเล่มที่ฉันกำลังจะเล่าถึงชื่อ Childhood Disrupted เกินกว่าเจ็บปวด คือหนึ่งในนั้น 

ผู้เขียน Donna Jackson Nakazawa พยายามอธิบายให้เราเห็นภาพว่า ประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กที่ประทับแผลลงในใจ ก่อเกิดเป็นโรคภัยไข้เจ็บในร่างกายทั้งทางกายและทางใจในวันที่เราโตเป็นผู้ใหญ่ได้ยังไง ผ่านงานวิจัย ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ และประสบการณ์ตรงของผู้ใหญ่ที่เคยเป็นเด็กผู้เจ็บปวดและถูกกระทำมาก่อน 

ถ้าเล่าให้ฟังเพียงเท่านี้ มันอาจเป็นหนังสือวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาทั่วไปที่คนที่ไม่อินมองผ่าน (ฉันก็เคย) แต่ใจความสำคัญที่ซ่อนอยู่ในทุกระหว่างบรรทัด ฉันคิดว่ามันคือกุญแจที่ทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้นในหลายๆ ด้านว่า อาการเจ็บป่วยแบบงงๆ ในร่างกาย ภาวะอารมณ์ความเสียใจหรือโกรธเคืองที่ห้ามไม่อยู่ รวมไปถึงปริศนาการแตกร้าวในความสัมพันธ์ครั้งแล้วครั้งเล่า แท้จริงแล้วมันอาจมีที่มาจากรากเดียวกัน เป็นรากที่ผู้ใหญ่ในสังคมหลายคน รวมถึงโลกการแพทย์ เคยมองข้ามมาตลอด นั่นคือบาดแผลจากวัยเด็ก

ในเล่มมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เป็นหลักฐานมากมายซึ่งช่วยให้เราเข้าใจประเด็นสำคัญที่ว่า และฉันอยากบอกว่ามันอ่านง่ายกว่าที่คิด อย่าให้ความวิทยาศาสตร์ทำให้เราเบือนหน้าหนี  

เพราะหากถามว่าหนังสือเล่มนี้เปลี่ยนชีวิตฉันยังไง ฉันก็จะตอบว่า ความเข้าใจที่ว่า มันทำให้ฉันได้รับการเยียวยาในรูปแบบหนึ่ง ได้ยกน้ำหนักความผิดบาปออกจากบ่าเด็กน้อยในอดีต ได้เข้าใจคนสำคัญที่เคยทำให้ฉันมีบาดแผลในใจ คนสำคัญทั้งที่ยังอยู่ด้วยกัน–หรือจากไปแล้วก็ตาม

หนึ่งในนั้นคือแม่ 

แม่เป็นผู้หญิงร่างโปร่งที่แข็งแรง ไม่ค่อยป่วย มีพละกำลังที่จะดูแลทุกคนในบ้าน แต่นอกจากร่างกายที่แข็งแรงแล้ว ฉันจำความได้มาตั้งแต่เด็กว่า ฉันจะกลัวแม่มากกว่าพ่อ เพราะแต่ก่อนแม่เป็นคนดุ แม่ไม่ได้แข็งแรงแค่ร่างกาย ใจแม่ก็แข็งเหมือนกัน 

ฉันจดบันทึกมาตั้งแต่เด็ก ย้อนกลับไปอ่านก็จะเห็นประโยคแนวซ้ำๆ เดิมๆ ว่า ความอ่อนแอไม่เป็นที่ต้อนรับของบ้านหลังนี้ ฉันเป็นเด็กอ่อนไหวตั้งแต่จำความได้ จึงรู้สึกว่าตัวเองเป็นแกะดำของบ้าน ฉันมักกลัวจะทำผิด ต้องไม่ร้องไห้ ต้องไม่คิดมาก ต้องเข้มแข็ง การกระทำของแม่สอนฉันแบบนั้น แต่ประโยคที่ว่า ‘สิ่งที่ฉันเป็นนั้นไม่เป็นที่ต้องการ’ ก็ฝังลึกลงในใจเช่นกัน

ในหนังสือ Childhood Disrupted เล่มนี้ มีแบบสำรวจประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก (ACE) ให้ทำตั้งแต่ต้นเล่ม คะแนนที่ได้จะช่วยบ่งบอกว่าเรามีบาดแผลจากวัยเด็กอยู่มากมายแค่ไหน ยิ่งคะแนนสูงเท่าไหร่ ก็ยิ่งสัมพันธ์กับความเสี่ยงโรคที่จะเกิดขึ้นในวัยผู้ใหญ่มากเท่านั้น 

ตัวอย่างเช่น ให้ตอบว่า พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ในครอบครัวเคยสบถให้คุณ ปรามาสคุณ ดุด่าคุณให้รู้สึกต่ำต้อยหรืออับอายขายหน้าบ่อยๆ ใช่หรือไม่ / พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ในครอบครัวมักผลัก ตบ หรือขว้างข้าวของใส่คุณ เคยตีคุณ ทำให้คุณมีแผลเป็น ได้รับบาดเจ็บ ใช่หรือไม่ / มีคนในครอบครัวเป็นโรคซึมเศร้า เจ็บป่วยทางจิต หรือพยายามฆ่าตัวตาย ใช่หรือไม่ 

ผลการศึกษาบ่งบอกว่าคนที่ได้คะแนน ACE 4 คะแนนมีโอกาสเป็นมะเร็งมากเป็นสองเท่า และมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากถึง 460% เมื่อเทียบกับคนที่ได้ 0 คะแนน 

ฉันเกิดในครอบครัวที่อบอุ่นปลอดภัย แต่ด้วยความรู้สึกแปลกแยกที่บอกไปข้างต้น จึงมีข้อหนึ่งที่ฉันอยากตอบว่าใช่ นั่นคือ “คุณมักรู้สึกบ่อยๆ ว่าคนในครอบครัวไม่ได้ดูแลซึ่งกันและกัน ไม่รู้สึกใกล้ชิดกัน” และหนังสือเล่มนี้ก็ช่วยให้ฉันย้อนนึกไปได้อีกว่า ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ฉันไม่เคยมีผู้ใหญ่คนไหนที่รู้สึกว่าสามารถเดินเข้าไปเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟังอย่างไม่ต้องกลัวอะไรได้เลย ไม่ว่ามีสิ่งใด ฉันจะปิดปากเงียบเพื่อไม่ให้ถูกตำหนิ ทั้งที่จริงแล้วการมีผู้ใหญ่สักคนให้เด็กรู้สึกอุ่นใจว่าพึ่งพาได้เป็นเรื่องสำคัญมาก

ชีวิตฉันสุขสมบูรณ์แทบทุกมิติ แต่ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นมา ฉันกลับป่วยด้วยโรคทางกายที่มาเชื่อมโยงได้ภายหลังว่าน่าจะมีพื้นฐานจากความวิตกกังวล โรคแรกคือภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน ถัดมาคือภาวะนอนไม่หลับ นอกจากนี้ฉันก็เป็นคนท้องไส้อ่อนแอมาตั้งแต่เด็ก พอกังวลก็จะคลื่นไส้ ฉันเคยรู้สึกว่าความเจ็บป่วยหรือความกังวลเหล่านั้นคือความผิดที่ตัวฉันอ่อนแอ แต่พอถึงวัยใกล้เลขสาม เมื่อจิตแพทย์วินิจฉัยว่าฉันเป็นโรควิตกกังวลระดับอ่อนๆ ฉันก็ปะติดปะต่อเรื่องราวได้มากขึ้นว่า มันคงมีรากมาจากวัยเด็กที่ขี้กลัวและกังวลในการใช้ชีวิต

ที่ฉันเขียนอธิบายไม่ใช่เพื่อต่อว่าครอบครัวที่รักและดูแลฉันมา แต่เพื่อจะบอกว่า ขนาดบาดแผลในใจไม่ได้หนักหนาเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ ในสังคม (เช่น การถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือมีพ่อแม่ที่ติดเหล้า) มันก็ยังส่งผลต่อชีวิตได้เพียงนี้ บาดแผลในใจเด็ก แม้เพียงประโยคบาดใจสักประโยค จึงไม่ใช่เรื่องล้อเล่น 

ผู้เขียนอธิบายว่าประสบการณ์เลวร้ายไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ สามารถแปรเป็น ‘รอยประทับ’ อยู่ในสมองพวกเขา เมื่อเจอซ้ำๆ สมองของเด็กก็จะไวกับความเครียด เด็กคนนั้นจะเติบโตขึ้นมาในภาวะอารมณ์ไม่มั่นคง ร่างกายพวกเขาจะกลายเป็นภาชนะรองรับสารพิษทั้งหมดนั้นไว้

“ไม่มีอะไรทำให้คุณเป็นโรคประสาทจากความวิตกกับผลของการกระทำ ความคิดหรือความพร่องของคุณ ได้เท่าการเลี้ยงดูของพ่อแม่” ผู้เขียนยกตัวอย่างถ้อยคำของนักประสาทวิทยาศาสตร์ไว้เช่นนี้

ผู้เขียนยกตัวอย่างหลายเคสที่ต้องผ่านประสบการณ์วัยเด็กที่เลวร้าย เช่น เด็กที่ต้องเป็นพยานรู้เห็นเหตุการณ์ฆาตกรรมระหว่างพ่อกับแม่ เด็กที่ต้องรับมือกับแม่ที่เป็นโรคไบโพลาร์และต่อว่าเธอตลอดเวลา พร้อมทั้งอธิบายถึงโรคที่เกิดกับพวกเขาในวัยผู้ใหญ่ อย่างเช่น โรคภูมิต้านตนเอง โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคโจเกรน (โรคปากแห้งตาแห้ง หนึ่งในโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันผิดปกติ) หรือโรคลำไส้แปรปรวน 

ผู้เขียนมีคำตอบอย่างละเอียดว่า กลไกอะไรทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นในร่างกายได้ จิตใจที่เป็นทุกข์ส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอลงได้อย่างไร ไล่ตั้งแต่ระบบความเครียดที่ถูกกระตุ้นเร้าอย่างผิดปกติจนส่งผลต่อการทำงานและเจริญเติบโตของสมอง เซลล์ประสาท ฮอร์โมน ไปจนถึงยีนบางตัวที่ทำให้ใครคนหนึ่งอ่อนไหวต่อความเครียดมากกว่าอีกคนได้ตามธรรมชาติ 

ประเด็นที่น่าสนใจมากคือ ผู้หญิงมักได้รับผลกระทบจากประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กมากกว่าผู้ชาย เนื่องมาจากความแตกต่างทางชีวภาพ รวมถึงความท้าทายในชีวิตประจำวันที่เพศหญิงต้องเจอมากกว่า อย่างเช่นการถูกวิจารณ์ร่างกายในช่วงวัยรุ่น การต้องแบกรับความกดดันในบทบาทหน้าที่ความเป็นแม่ 

นอกจากความรู้สึกเข้าอกเข้าใจตัวเองมากขึ้น สิ่งที่ฉันไม่คิดว่าจะเกิดก็คือ ฉันนึกถึงแม่ ในมุมที่แม่เองก็เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กเช่นกัน ในช่วงวัยกลางคน แม่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคหัวใจ รวมถึงโรคอื่นๆ อย่างโรคภูมิต้านตนเอง และโรคโจเกรน พอมองย้อนกลับไป แม่ก็เติบโตมากับความเครียดในครอบครัวไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งในเรื่องความสัมพันธ์และการเงิน ฉันยังจำได้ว่าคุณตาเป็นพ่อที่เข้มงวดกับลูกๆ แค่ไหน ฉันเชื่อมโยงอดีตของแม่แล้วก็ตรงตามที่ในหนังสือบอกไว้แทบทุกอย่าง

บางครั้งฉันเห็นว่าแม่เองก็เป็นคนกังวลว่าจะทำผิดพลาด ไม่กล้าออกไปลองอะไรใหม่ๆ เก็บงำความเครียดไว้กับตัวเอง–มุมนั้นของแม่เหมือนฉันไม่ผิดเพี้ยน 

บางเคสที่หนังสือได้ยกตัวอย่างไว้ บาดแผลในวัยเด็กจะถูกสืบทอดต่อๆ กันมาตั้งแต่รุ่นยาย มาจนรุ่นแม่ และรุ่นลูก อันเนื่องมาจากพันธุกรรมและการเลี้ยงดู เมื่อพ่อแม่ซึ่งควรเป็นที่ปลอดภัยกลับกลายเป็นสิ่งอันตราย เด็กจะเกิดความสับสน และอาจกลายเป็นคนปิดกั้นอารมณ์ความรู้สึกตัวเอง เพราะมันเป็นวิธีเอาตัวรอดวิธีเดียวของพวกเขา 

แม้เนื้อหาในเล่มนี้จะอิงจากการศึกษาในโลกตะวันตก แต่ฉันรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่เด็กมากมายทั่วโลกประสบร่วมกัน ไม่ต้องพูดถึงสังคมบ้านเราที่ยังใช้การเคารพผู้อาวุโสเป็นเครื่องมือทำร้ายเด็กๆ อยู่บ่อยครั้ง การเรียนจิตวิทยาเปิดโอกาสให้ฉันได้สัมผัสความเจ็บปวดที่เกิดจากพ่อแม่ในใจใครหลายคน น้ำตาที่เห็นยืนยันว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องจริงแสนจริง 

ข้อมูลจากแบบสำรวจบ่งชี้ว่า “มีเด็กเพียงหนึ่งในสามที่เติบโตขึ้นโดยไม่ได้รับประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กจากพ่อแม่” และผลกระทบที่จะเกิดต่อเนื่องกันไปก็คือ “บาดแผลในจิตใจที่ได้รับตั้งแต่เด็กและในสามปีแรกของชีวิตสามารถทำให้เราเป็นพ่อแม่ คู่สมรส หรือเพื่อนร่วมงานที่ขาดความมั่นคงทางใจ” 

ฉันนึกย้อนถึงตัวเองที่เคยรู้สึกแตกสลายในความสัมพันธ์ แก้ปัญหาที่เกิดกับคนรักไม่ได้ ไม่อาจควบคุมอารมณ์ที่พัดโหม ปลอบใจตัวเองไม่เป็น รวมถึงไม่อยากมีลูกเพราะไม่มั่นใจว่าตนเองจะเป็นแม่ที่ดีให้ลูกได้ ตอนนั้นทั้งฉันและเขาที่อยู่ด้วยกัน–ไม่มีใครรู้ตัวว่ามันล้วนมีส่วนมาจากบาดแผลวัยเด็กของเราทั้งสิ้น 

การเข้าใจว่าอาการและอารมณ์ไม่พึงประสงค์ในตัวเองมีที่มาจากไหน และนั่นไม่ใช่ความผิดของเราแต่เพียงผู้เดียว เพราะมันเกิดจากสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่ควบคุมไม่ได้มาตั้งแต่ก่อนรุ่นพ่อรุ่นแม่ของเรา ทำให้ฉันรู้สึกเหมือนได้กุญแจดอกใหม่มาไขความข้องใจในชีวิตให้คลี่คลายลงอีกระดับ 

ดังนั้น ประเด็นสำคัญช่วงครึ่งหลังของเล่มที่ผู้เขียนพยายามสื่อสารก็คือ แม้เราจะมีอดีตที่เจ็บปวด วิธีการทำงานของสมองได้รับผลกระทบจากปัญหาในวัยเด็ก แต่มันไม่ได้แปลว่าเราเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ได้ ร่างกายของเราฟื้นฟูได้ สมองก็เช่นกัน สำหรับบางคนที่มียีนไวต่อความเครียดเป็นพิเศษ ทำให้รู้สึกถึงความเจ็บปวดมากกว่าคนอื่น ยีนนั้นก็ไม่ได้มีแต่ข้อเสีย เพราะมันทำให้ใครคนนั้น “มีสัมผัสหยั่งลึกมากกว่าและรับรู้สิ่งต่างๆ ได้ดีกว่า และถูกขัดเกลาจากสิ่งดีงามสร้างสรรค์จากสิ่งแวดล้อมได้ง่ายกว่า” 

หากคนที่ไม่เคยได้รับการเลี้ยงดูที่ดีต้องการจะเป็นพ่อแม่ที่ดี ทักษะการเป็นพ่อแม่ก็เป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ แต่เราเองก็ต้องเรียนรู้ที่จะเยียวยาบาดแผลในใจเรา เพื่อไม่ให้ลูกหลานต้องรับมรดกทางใจที่เราเองก็ยังไม่ต้องการ นี่ต่างหากคือเรื่องสำคัญที่ทุกคนในสังคมควรตระหนัก 

ผู้เขียนได้ให้วิธีการเป็นรูปธรรมกับผู้อ่านว่า เราจะแก้ไขความบกพร่องในร่างกายและจิตใจ และจะกลับไปสู่ ‘ตัวตนที่แท้จริง’ ของเราได้ยังไง ตัวอย่างเช่น การเขียนหรือวาดรูปเพื่อบำบัดตัวเอง การฝึกสมาธิและการอยู่กับลมหายใจซึ่งเป็นวิธีซ่อมแซมสมองที่ดีที่สุด (เมื่อก่อนฉันก็ไม่ค่อยเชื่อหรอกว่ามันมีประโยชน์ แต่เชื่อเถอะว่าช่วยได้จริงอย่างมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์รองรับ) รวมถึงการขยับร่างกายผ่านกิจกรรมต่างๆ ซึ่งช่วยลดความตึงเครียดในกล้ามเนื้อได้ 

หากใครมีปัญหาหนักหนา จัดการด้วยตัวเองคนเดียวไม่ไหว ก็ยังมีคำแนะนำในการไปเริ่มกระบวนการกับนักบำบัดอย่างจริงจัง และถ้าใครกำลังเป็นพ่อแม่ ฉันคิดว่าข้อแนะนำทางจิตวิทยาท้ายเล่มจะช่วยคุณได้มากทีเดียว แต่ที่ดีกว่านั้น คำแนะนำสำหรับพ่อแม่ที่ว่า นำมาปรับใช้กับความสัมพันธ์ในชีวิตได้หมดเลย ตัวอย่างเช่น เราควรให้ค่าและยอมรับอารมณ์ทุกชนิด, การถามไถ่ว่า ‘เกิดอะไรขึ้น’ ควรเป็นบทสนทนาที่ปลอดภัยและเปิดกว้าง หรือ เมื่อทำผิดให้ขอโทษทันที 

ช่วงท้ายเล่มมีสิ่งที่ไม่เกี่ยวอะไรกับเนื้อหาความรู้มากนัก แต่อ่านแล้วชอบเป็นการส่วนตัว เจ้าของเรื่องราวที่ผู้เขียนยกมาเป็นเคสตัวอย่าง บางคนเจอเรื่องหนักหนาและถูกรุมเร้าด้วยโรคมากมายชนิดที่ฉันไม่กล้าจินตนาการ พอมาถึงจุดเฉลยตอนท้ายว่า พวกเขาเหล่านั้นฟื้นคืนชีวิตใหม่ได้ทั้งในเชิงร่างกายและจิตใจ บางคนก็ปรับความเข้าใจกับพ่อแม่ได้ ผ่านกระบวนการทำความเข้าใจและเยียวยาอย่างถูกจุด มันรู้สึกชื่นใจและยินดีไปด้วยจริงๆ 

นอกจากมันพิสูจน์ว่าบาดแผลต่างๆ ถูกเยียวยาได้ มันตอกย้ำความเชื่อเดิมๆ กับฉันด้วยว่า มนุษย์นี้ช่างน่าอัศจรรย์ และพลังแบบนั้นล้วนมีอยู่ในตัวพวกเราทุกคน–ไม่มากก็น้อย

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย