‘พื้นที่ให้เล่า’ เพจที่เชื่อว่าประวัติศาสตร์ต้องไม่อยู่สูงจนแตะต้องไม่ได้

Highlights

  • ‘พื้นที่ให้เล่า’ คือเพจเล่าเรื่องที่โดดเด่นเรื่องประวัติศาสตร์ตะวันตก โดยเล่าให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างอดีตสู่ปัจจุบัน พลิกให้เห็นมิติความเป็นมนุษย์ของผู้คนในอดีต และเน้นทำความเข้าใจสิ่งของ ผู้คน หรือเหตุการณ์หนึ่งๆ อย่างรอบด้าน
  • สองนักสื่อสาร ยุ้ย–กนกพรรณ อรรัตนสกุล และ เตย–มนสิชา รุ่งชวาลนนท์ ริเริ่ม ‘พื้นที่ให้เล่า’ ในฐานะเพจอดิเรกเมื่อสามปีที่แล้ว ปัจจุบันพวกเธอต่อยอดการเล่าเรื่องไปสู่แพลตฟอร์มอื่นๆ หนึ่งในนั้นคือพ็อดแคสต์รายการ อดีต | ของ | ปัจจุบัน ที่เพิ่งเปิดตัวใน a day podcast
  • ยุ้ยและเตยเชื่อว่าการศึกษาประวัติศาสตร์เป็นเรื่องจำเป็น เพราะการรู้อดีตก่อให้เกิดความเข้าใจในปัจจุบัน หลีกเลี่ยงการผลิตซ้ำความผิดพลาด และสร้างโอกาสสำหรับอนาคต
  • แม้ปัจจุบันพื้นที่ให้เล่าจะสร้างวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ผ่านการเล่าประวัติศาสตร์ตะวันตกเป็นหลัก แต่ในอนาคตแอดมินทั้งคู่ก็หวังว่าวันหนึ่งจะถกเถียงและตั้งคำถามเรื่องประวัติศาสตร์ไทยได้อย่างเปิดเผยและปลอดภัย

พื้นที่ให้เล่า คือเพจเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ที่คนติดตามคึกคักถึงหลักแสน และเป็นพื้นที่ที่คนมาคอมเมนต์แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และตั้งคำถามอย่างออกรส

ผู้อยู่เบื้องหลังการเปิดพื้นที่ถกเถียงออนไลน์นี้คือ ยุ้ย–กนกพรรณ อรรัตนสกุล และ เตย–มนสิชา รุ่งชวาลนนท์ สองเพื่อนนักสื่อสารผู้รักการทำงานอย่างยิ่ง จนตัดสินใจผูกเพื่อนเข้ากับงานอดิเรกอย่างการเปิดเพจเล่าเรื่อง เพราะจะได้ทั้งทำงานและอัพเดตชีวิตเพื่อนไปพร้อมๆ กัน

อันที่จริงเป้าหมายแรกเริ่มของเพจคือการเปิดพื้นที่ให้ตัวเองและเพื่อนๆ ในวงการขีดเขียนได้มีพื้นที่ในการเล่าเรื่อง แต่ไปๆ มาๆ หลังจากยุ้ย (ผู้นิยามตัวเองว่า ‘มีความรู้ประวัติศาสตร์ติดลบ’) ได้อ่านคอนเทนต์ประวัติศาสตร์ที่เตย (ผู้มีดีกรีเป็นนักประวัติศาสตร์จากรั้วโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และ Archaeology, Leiden University) เป็นผู้เขียนบ่อยๆ เข้า ยุ้ยจึงเริ่มมองเห็นว่า จริงๆ แล้วประวัติศาสตร์ก็สนุก แถมรู้แล้วยังเข้าใจหลายๆ อย่างมากขึ้น ทั้งคู่จึงตกลงกันว่าเตยจะนำทีมปักธงเล่าเรื่องประวัติศาสตร์เป็นหลัก ในขณะที่ยุ้ยผู้สนใจประเด็นทางสังคมและภาพยนตร์ก็ยังคงแจมเล่าเรื่องบ้างตามวาระ

ในวันนี้ที่เพจพื้นที่ให้เล่าก้าวเข้าสู่ขวบปีที่สาม ยุ้ยและเตยทดลองพาตัวเองไปสู่แพลตฟอร์มการเล่าเรื่องในรูปแบบอื่นๆ หนึ่งในนั้นคือพ็อดแคสต์รายการ อดีต | ของ | ปัจจุบัน ซึ่งหยิบยก ‘สิ่งของ’ ในอดีตมาเล่าเบื้องลึกเบื้องหลัง และคลี่รายละเอียดให้เห็นว่ามันเชื่อมโยงมาสู่ปัจจุบันได้ยังไง

เราใช้โอกาสนี้ชวนยุ้ยและเตยเล่าเรื่องทบทวนอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของเพจพื้นที่ให้เล่า ประวัติศาสตร์แบบไหนที่ทั้งคู่สนใจ การรู้ประวัติศาสตร์สำคัญยังไง แล้วพื้นที่แบบไหนที่เราจะเล่าเรื่องได้อย่างเปิดเผยและปลอดภัย 

จะเปิดเหล้าไปด้วยหรือไม่ก็ตามแต่ สองนักเล่าพร้อมเล่าแล้ว

ตอนสร้างเพจใหม่ๆ คุณตั้งใจเล่าเรื่องหลากหลายตามความสนใจของคนเขียน อะไรทำให้ตัดสินใจว่าจะเล่าแต่ประวัติศาสตร์เป็นหลัก

ยุ้ย : ใต้โพสต์คอนเทนต์ประวัติศาสตร์ที่เตยเล่าจะมีคนอ่านจบแล้วถามคำถามต่อ เหมือนเขามีเรื่องที่อยากรู้อีก พูดคุยถกเถียงกันได้ไม่สิ้นสุด กลายเป็นว่าสิ่งที่เราเล่ามันเปิดบทสนทนาให้คน ซึ่งเรามองว่าถ้าคนเรายังคุยกันได้อยู่ มันก็มีตลาดให้โต

 

ประวัติศาสตร์ใน ‘พื้นที่ให้เล่า’ เป็นแบบไหน

เตย : เราชอบเล่าประวัติศาสตร์ให้คนเชื่อมโยงได้ อย่างเรื่องสงครามโลก ถึงมันจะเกิดไม่ถึงสิบปีแต่ผลกระทบมันใหญ่มาก สิ่งที่เราเล่าจึงไม่ใช่แค่ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่พูดถึงว่ามันให้ค่าหรือสร้างผลกระทบอะไรกับโลกนี้ หรือมันสร้างพลวัตอะไรบ้าง

เวลาเล่าถึงตัวละครทางประวัติศาสตร์เราก็อยากเล่านอกเหนือจากช่วงที่เขาอยู่ในสปอตไลต์ด้วย อย่างฮิตเลอร์ ใครๆ ก็รู้จักเขา เราเลยหยิบตัวละครที่คนรู้จักมาเล่าในมุมที่คนทั่วไปรู้สึกเชื่อมโยง เราใส่ความเป็นมนุษย์ของเขาลงไปได้ไหม เล่าเรื่องความรักของเขาที่เจ็บปวดและลึกซึ้งได้ไหม เล่าเรื่องว่าเขารักแม่มากได้ไหม หรือเล่าว่าสิ่งที่เขาทำส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากการเลี้ยงดูในครอบครัว เราสามารถตีความเรื่องพวกนี้ออกมาได้หรือเปล่า 

ยุ้ย : ที่เล่าในมุมอื่นคือไม่ได้จะบอกว่าคนเหล่านี้เป็นคนดี ต้องชื่นชม เพราะมันไม่สามารถลบล้างสิ่งที่เขาทำได้ แต่เราเล่าเรื่องอื่นเพื่อเติมมิติความเป็นมนุษย์ของเขาให้มันเต็มขึ้น เพราะถ้าพูดแต่ด้านเดียวมันก็เห็นแค่ด้านเดียว

ทำไมต้องอยากเติมมิติด้านอื่นให้คนในประวัติศาสตร์ด้วย

เตย : เราไม่ชอบการเกลียดใครจากการเห็นเขาแค่ด้านเดียว อยากให้รู้จักรอบด้านที่สุดก่อน แล้วถ้ายังเกลียดเขาอยู่ก็เป็นสิทธิที่จะเกลียด เรารู้สึกกับคนคนหนึ่งได้ว่าเราชอบหรือไม่ชอบเขา แต่เราศึกษาเหตุผลของเขาหรือยัง มันไม่มีใครหรอกที่อยู่ๆ จะอยากฆ่าคน เขาอาจมีปม ผ่านความเจ็บช้ำทางใจมา ซึ่งแน่นอนว่าการมีปมไม่ได้หมายความว่าเราจะมีสิทธิฆ่าใครก็ได้ แต่อย่างน้อยๆ พอรู้ว่าอะไรทำให้คนคนหนึ่งเป็นคนแบบนั้น ทำแบบนั้น เราจะได้รู้ว่าสังคมเป็นแบบนี้ ส่งผลแบบนี้ เพราะฉะนั้นถ้าเราเป็นฟันเฟืองหนึ่งในสังคม เราก็ต้องรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยหรือเปล่า อยากให้มองรอบด้านแล้วค่อยตัดสินใจ

การทำแบบนี้ทำให้เราเข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น เราเชื่ออย่างหนึ่งว่าประวัติศาสตร์ซ้ำรอยจริง คน keep repeating the same mistake. ถ้าเราได้ทำความเข้าใจตัวละครในประวัติศาสตร์ ทำความเข้าใจว่าทำไมเขาตัดสินใจแบบนั้น ไม่ใช่แค่ตัดสินว่าอะไรถูก-ผิด มองเป็นขาว-ดำ แต่สำรวจลึกไปถึงความเป็นมนุษย์ของตัวเอง ลองเทียบดูว่าถ้าเราเป็นเขาในสถานการณ์แบบนั้น เราจะทำยังไง จะทำแบบนี้ไหม ถ้าไม่ทำเพราะอะไร มีข้อถกเถียงอะไรบ้าง บางทีในเพจเราก็เล่าเหตุการณ์เดียวกันแต่แบ่งเป็นสองโพสต์จากสองมุมมอง เพื่อให้คนคิดเองว่าจะเลือกเชื่อแบบไหน

 

ฟังแบบนี้แล้วรู้สึกเหมือนประวัติศาสตร์เป็นเรื่องสนุกขึ้นมาเลย

ยุ้ย : ใช่ เดิมความรู้ประวัติศาสตร์เราก็เป็นศูนย์ พื้นฐานเรารู้แค่ในหนังสือเรียน ส่วนประวัติศาสตร์โลกที่เรารู้อยู่บ้างก็เป็นประวัติศาสตร์จากในหนัง ถึงจะแต่งเติมบ้างแต่รากของมันยังมีอยู่ แล้วเราชอบประวัติศาสตร์จากหนังตรงที่มันไม่ได้เล่าเรื่องควีนแบบแตะต้องไม่ได้ หรือเล่าเรื่องแย่งชิงมรดกอย่างเดียว มันมีเรื่องความเป็นมนุษย์ ความรัก อกหัก มันเลยมีประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งที่รู้สึกว่าเราเสพได้นะ แล้วพอได้อ่านงานเตยมันก็เป็นแบบนั้น เราสนุกมาก เหมือนเตยเป็นครู เราเป็นนักเรียน เลยรู้ว่าที่ผ่านมาเราไม่ค่อยสนใจเพราะไม่ได้เห็นงานที่มันเข้าใจง่าย แต่ส่วนตัวเป็นคนชอบอ่านมาก อ่านอะไรก็ได้ พออ่านงานที่เตยเขียนแล้วรู้สึกฉลาดขึ้น แล้วเราชอบที่จะเป็นคนฉลาดขึ้นด้วย

ว่ากันตรงๆ ประวัติศาสตร์ในตำราเรียนไทยไม่ได้สนุกหรือน่าสนใจแบบนั้น คิดว่าเป็นเพราะอะไร

เตย : คนไทยไม่สนใจประวัติศาสตร์เพราะมันเชื่อมโยงกับตัวเองลำบาก เริ่มจากเรื่องการใช้ พ.ศ.ในการเรียนการสอนก่อน พอใช้ พ.ศ.ทั้งที่แทบทั้งโลกใช้ ค.ศ. คนเลยเชื่อมกับบริบทโลกได้ยาก มองไม่เห็นว่าที่อื่นในโลกกำลังเกิดอะไรขึ้น แล้วประวัติศาสตร์ที่เราเรียนมันไม่ตั้งคำถามกับความเป็นมา มันเป็นประวัติศาสตร์ด้านเดียว ประวัติศาสตร์ไทยก็จะเป็นแนวราชาชาตินิยมที่เน้นท่องจำแต่ความดีว่ามีอะไรบ้าง แต่ถ้าประวัติศาสตร์มันน่าถกเถียง มันยังไม่ตายหรือคิดกับมันได้ มันจะสนุก

ยุ้ย : to be fair คนเขียนประวัติศาสตร์ก็ใส่องค์ประกอบที่สำคัญมาแล้ว เพียงแต่ไม่ได้ขยายว่าอะไรทำให้เกิดอะไร ทำไมต้องมีสิ่งนั้น เขาแค่บอกให้เราจำชื่อ จำปี จำข้อมูลก้อนนี้นะ โดยไม่อธิบายว่าจำทำไม มันมีอะไรที่น่ารู้บ้าง

 

แล้วการมองประวัติศาสตร์ควรจะเป็นแบบไหน

เตย : เราไม่ควรทำให้ประวัติศาสตร์เป็นของที่แตะต้องไม่ได้ ประวัติศาสตร์ควรถูกดึงลงมาเพื่อถกเถียง ถ้าเรามองว่าแตะต้องไม่ได้เพราะคนที่พูดเป็นปราชญ์ในยุคนั้น มันก็จะมีแต่ชุดความคิดเดิมๆ บางทีไม่ใช่ว่าปราชญ์คนนั้นๆ ไม่ถูกเสมอไปนะ แต่ประวัติศาสตร์มีช่วงเวลา เช่น ในตอนนั้นเขาอาจอ่านภาษาหนึ่งๆ ไม่ได้ หรือช่วงหนึ่งการเมืองอาจปิดประวัติศาสตร์นั้นอยู่ ซึ่งถ้าเรารื้อชุดความคิดพวกนี้ออกมา เราจะเจอข้อถกเถียงใหม่ และเราเชื่อว่านักประวัติศาสตร์ไม่มีใครกลัวว่าถูกหรือผิด คือเขาก็สันนิษฐานตามสิ่งที่เห็น การที่ถูกท้าทายหรือการที่มีวัฒนธรรมถกเถียงนั่นแหละที่ทำให้วงการนี้ไม่ตาย สุดท้ายพอรู้แล้วมันเป็นจิ๊กซอว์ได้ว่า อ๋อ อย่างนี้นี่เอง ตอนแรกมันขาดอันนี้ไป มันถึงไม่สมเหตุสมผล พอศึกษาประวัติศาสตร์บางครั้งมันคาดการณ์อนาคตได้ด้วยว่าจะเป็นยังไงต่อ มันพอเดาได้ มันสนุก

 

แล้วประวัติศาสตร์ในห้องเรียนไทยจะมีมิติมากขึ้นได้ยังไง

ยุ้ย : ผู้ใหญ่ต้องกล้าหาญพอที่จะยอมรับความเห็นที่แตกต่างจากสิ่งที่ตัวเองเชื่อ เราหรือผู้ใหญ่เรียนรู้มาจากแหล่งข้อมูลที่จำกัด แต่เด็กทุกวันนี้เรียนจากอินเทอร์เน็ต เรียนจากโลกทั้งใบ คลังความรู้มันต่างกันเยอะ มายด์เซตต่อประวัติศาสตร์มันต่างกัน ถ้าวันหนึ่งมีคนถกเถียงขึ้นมา ไม่ว่าจะถูกหรือผิดก็ขอให้นำไปสู่การถกเถียงต่อ อย่าปิดประตูแล้วไปเลย ถ้าทำแบบนั้นสุดท้ายจะไม่มีใครฉลาดขึ้นแม้แต่คนเดียว ขณะเดียวกันเราก็ต้องให้พื้นที่ครูประวัติศาสตร์ด้วย เขาเติบโต เขาศึกษามาแบบนั้น มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะไปทำลายความเชื่อเขา มันต้องมี gap and time ให้เขาเหมือนกัน

เตย : สำหรับเรา ผู้ใหญ่ต้องยอมรับว่าเราไม่รู้ แม้แต่เราเองก็มีหัวโขน เวลาที่ลูกเพจมาคอมเมนต์บางทีก็รู้สึกว่า เฮ้ย รู้เท่าเราเหรอ แต่จริงๆ ต้องเลิกความคิดว่าเราเก่งกว่าคนอื่น ทั้งที่เราแค่อ่านอีก source มาเท่านั้น สำหรับคนเป็นครู โดยเฉพาะครูประวัติศาสตร์ ต้องเข้าใจว่านักเรียนมีสิทธิถาม ต้องคิดเสมอว่าทุกคนผิดได้ คนสอนเองก็ผิดได้ มันถกเถียงตลอดเวลา มันไม่ตาย มันดิ้นได้

ปัจจุบันและอดีตเชื่อมโยงถึงกันหมด อย่างตอนนี้ประเทศไทยมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ คุณพยายามใช้พื้นที่ของเพจในการสะท้อนอดีตหรือชวนคิดชวนตั้งคำถามกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นบ้างไหม

เตย : โห เยอะ เราเล่าตลอด เราเล่าประวัติศาสตร์ราชสำนักที่มีเส้นทางคล้ายๆ กัน เราเล่าถึงจอร์จ วอชิงตัน แล้วตบท้ายด้วยหนังสือ Common Sense หรือบางครั้งเราก็เอาทฤษฎีมาจับ บางทีก็เล่าอ้อมๆ เรามี agenda ตลอด แต่เราหาวิธีเคลือบให้มันอ่านง่ายหรือน่าอ่าน เวลาเล่าเรื่องเราไม่ค่อยชอบเล่าแค่ว่าเราคิดยังไง แต่ชอบเล่าว่าทำไมถึงคิดแบบนั้น

ยุ้ย : เอาแบบซื่อสัตย์เลย เรามี agenda ในการเล่าเรื่อง แต่ต้องแยกให้ชัดเจนว่าส่วนไหนคือส่วนที่อยากให้เขาตั้งคำถาม ส่วนไหนที่เป็นแฟกต์ก็ต้องปล่อยให้เป็นแบบนั้นไป หลักการคือเราต้องไม่บิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อมาเสริม agenda เรา

 

แต่ไม่ค่อยเห็นเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ไทยตรงๆ ในเพจเท่าไหร่

เตย : ก่อนหน้านี้เคยเล่าอยู่บ้าง แล้วพบว่าเหนื่อยมาก เหมือนคนเปิดใจที่จะวิพากษ์วิจารณ์ฮิตเลอร์ได้ เราพูดถึงไกเซอร์ วิลเฮล์มที่ 2 ในมุมอื่นๆ ได้ แต่พอพูดถึงบุคคลที่เป็นคนไทยปุ๊บ ฟีดแบ็กมันต่างออกไป เหมือนคนจะบอกว่าฉันรู้แล้วว่าเขาเป็นแบบนั้น ฉันไม่อยากถกเถียงเรื่องเขาอีก คือเหมือนคนไทยยังไม่ค่อยชินกับการพูดถึงประวัติศาสตร์ของตัวเองในแบบฉบับที่นอกเหนือจากตำราเรียน

ยุ้ย : เราเลยมาถึงจุดที่ว่าเราจะค่อยๆ ใส่ความเป็นมนุษย์ของคนในประวัติศาสตร์ผ่านประเทศอื่นก่อน เพราะทันทีที่แตะเรื่องราวและตัวละครในประเทศ มันมีหลายเลเยอร์มาซ้อนทับจนสุดท้ายสิ่งที่เราพยายามชวนตั้งคำถามถูกปัดตกไป

ผ่านมาสามปี ‘พื้นที่ให้เล่า’ เติบโตขึ้นยังไงบ้าง

ยุ้ย : ถ้าเทียบกับ 2-3 ปีที่แล้ว เรากล้าแตะประเด็นทางสังคมเพิ่มขึ้นเพราะเราทนไม่ไหว เราถูกสอนด้วยมายด์เซตว่า คุณเป็นคนทำธุรกิจ ถ้าไม่พร้อมที่จะเสี่ยงก็อย่าแตะการเมือง แต่เราคุยกับเตยว่าในเมื่อเราถือว่าพื้นที่ให้เล่าเป็นสื่อ เรามีคนติดตามเป็นแสน เรามีหน้าที่ที่ต้องพูด ที่ผ่านมาเราก็พูดเรื่องความรุนแรง เรื่องเซฟสื่อเสรี เรื่องข่มขืน พอพูดไปแล้วก็มีคนมาคอมเมนต์เยอะ บางทีเราก็คอมเมนต์คุยกับคนที่เห็นต่างมากๆ เพราะอยากเข้าใจว่าเขาคิดอะไร เราจะได้ทำหน้าที่ของเราให้ดีขึ้นทุกวัน เราถือว่าเป็น agenda ของเพจ เรารู้สึกว่าปัจจุบันเกิดจากอดีตเสมอ ถ้าคนรู้ว่าอดีตคืออะไร คนจะตัดสินใจกับอนาคตและปัจจุบันได้ดีขึ้น พอเป็นแบบนี้เราเลยไม่ได้หยิบแค่ประวัติศาสตร์มาเล่า ถ้ามีวาระทางสังคมที่จะสอดแทรกเราก็จะหยิบมาเล่าด้วย

 

เป้าหมายสูงสุดที่อยากเห็นคืออะไร

ยุ้ย : อยากให้คนกล้าถกเถียงหรือวิจารณ์ประวัติศาสตร์ไทยมากขึ้น กล้าตั้งคำถาม กล้าพูดในที่สาธารณะ ไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองแต่รวมถึงประเด็นสังคมอื่นๆ ด้วย เช่น เรื่อง sex worker เราจะอยู่แบบพัฒนาไปข้างหน้าโดยไม่มองข้างหลังได้ยังไง เราต้องเล่าเรื่องใดๆ ออกมาอย่างกล้าหาญ ถ้ามันมีอะไรเคลือบแคลงก็ตั้งคำถามและไปหาคำตอบ ถือว่าเป็นการบ้านชั่วชีวิตของเรา

เตย : เราว่าเราเทรนลูกเพจอยู่ ทุกอย่างที่เราทำ เราเทรนผ่านสิ่งที่ไกลตัวเขา ถ้าเราใช้ตรรกะเดียวกันในการพิจารณาเรื่องที่เล่าได้ เราใช้ตรรกะเดียวกันในการพิจารณาเรื่องที่เจอในชีวิตประจำวันได้ เราอยากปลดความเป็นลำดับชั้นของประวัติศาสตร์ไทยลงมา คือตอนนี้มันสูงมาก ประวัติศาสตร์คนชั้นสูงและคนทั่วไปแยกกันชัดเจนจนเกินไป จริงๆ การที่คนคนหนึ่งทำอะไรสำเร็จมันอาจไม่ใช่เพราะเขามีความสามารถมากมาย แต่เพราะเขามีคนสนับสนุนช่วยเหลือเสมอ เราอยากให้ประวัติศาสตร์เป็นคนมากขึ้น ทุกวันนี้เราเลยเทรนให้คนช่วยกันวิพากษ์ผ่านตัวละครต่างๆ ก่อน

 

ถ้าเราไม่พูดตรงๆ สุดท้ายความพยายามของเราที่ใช้พื้นที่นี้ในการสื่อสารและเทรนคนให้เกิดการถกเถียงจะไปถึงเป้าหมายไหม

ยุ้ย : เราว่าเราจะไปถึง เพราะตอนนี้มันไม่ใช่แค่เราที่ไปทางนี้ แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนกำลังเปลี่ยน คือไม่ใช่แค่เรื่องการเมือง แต่คือเรื่องการศึกษาและระบบการคิดการอ่านของเด็กด้วย ตอนนี้ทุกคนพร้อมเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่แค่รอป้อน เขากระเหี้ยนกระหือรือหาข้อมูลเอง เราเชื่อว่าวันหนึ่งต่อให้เพจนี้มีหรือไม่มีอยู่ หรือจะเปลี่ยนแพลตฟอร์มไปเป็นแบบอื่นแล้วก็ตาม วันหนึ่งคนไทยจะกลับมาศึกษาประวัติศาสตร์ไทยมากขึ้น คนพร้อมที่จะหาความรู้เรื่องประวัติศาสตร์เสมอ เพราะตัวพื้นฐานมันเปลี่ยนไปแล้ว น้ำในเรามันเปลี่ยนไปแล้ว เด็กที่เกิดมาใหม่เขาไม่พร้อมที่จะอยู่ในกรอบแบบเดิม เขาอึดอัด เขาอยากรู้ประวัติศาสตร์ เขาอยากรู้ว่ากว่าจะมาเป็นแบบนี้ได้มันผ่านอะไรมา มันมีจุดผิดพลาดตรงไหน จุดไหนที่ดีมาก จุดไหนที่หวนคิดถึง เดี๋ยวเขาจะกลับไปหารากของตัวเอง 

แล้วคิดว่าเมื่อไหร่จะพูดคุยเรื่องประวัติศาสตร์ไทยได้อย่างตรงไปตรงมา 

ยุ้ย : เราก็รอจังหวะสังคมอยู่ คอนเทนต์ที่เตยเขียนมันก็ตรงไปตรงมามากขึ้น เราก็ปรับไปกับสังคมทุกวันแหละ ทุกวันนี้สังคมไทยก็ก้าวหน้ามากขึ้น เราอยู่เรากินเราใช้ยังไงสุดท้ายมันก็สัมพันธ์กับต้นน้ำหรือการวางระบบโครงสร้างทางสังคมมาตั้งแต่ในอดีตนั่นแหละ ถ้าอยากคุยกันให้ได้เราก็ควรจะตั้งคำถามหรือพูดถึงต้นน้ำได้

เตย : เราว่ามูฟเมนต์ทางสังคมตอนนี้มาจากการตื่นรู้ทางประวัติศาสตร์ การที่คนเริ่มตั้งคำถาม การที่คนเริ่มรู้ว่าทุกอย่างไม่ได้มาจากฟ้า แต่มีที่มาที่ไปยังไง อะไรคือสัญญาประชาคม ข้อตกลงของสังคมคืออะไร มองมันในฐานะเหตุและผล เข้าใจการปกครองเชิงโครงสร้างสังคมซึ่งเป็นกลไกที่สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อแก้ไข ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรที่แตะต้องไม่ได้ ทุกวันนี้เพจพื้นที่ให้เล่าก็กำลังเติบโตและแก้ไขเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ของการเป็นนักเล่าเรื่องที่ใช้ประวัติศาสตร์เพื่อเสนอสร้างการถกเถียงอย่างตรงไปตรงมา 

 

สุดท้ายนี้ ‘พื้นที่ให้เล่า’ มีอะไรให้เรารอติดตามอีกบ้าง

เตย : ตอนนี้เรากำลังทำพ็อดแคสต์กับ a day ชื่อ อดีต | ของ | ปัจจุบัน เป็นการเล่าประวัติศาสตร์ผ่านสิ่งของต่างๆ ตั้งแต่ไดอารี จดหมาย รูปปั้น ยันอนุสรณ์สถาน สิ่งของเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ทิ้งร่องรอยไว้ สิ่งของเหล่านั้นบอกว่ามนุษย์เคยเป็นยังไง คนกลุ่มหนึ่งเคยคิดแบบไหน ทำไมในอดีตจึงสร้างมันขึ้นมา ซึ่งประวัติศาสตร์มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เมื่อมองของชิ้นเดียวกันด้วยสายตาคนปัจจุบันก็อาจเห็นมันต่างจากในอดีตเลยก็ได้ แนวคิดที่สร้างของนั้นๆ ขึ้นมาอาจไม่ถูกต้องแล้วก็ได้ พ็อดแคสต์นี้เป็นการชวนเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ ชวนคิด ชวนสะท้อนผ่านของใกล้ตัวเหล่านี้

ยุ้ย : ปัจจุบันอันใกล้นี้เรากำลังจะทำมีเดียของตัวเองทั้งวิดีโอและพ็อดแคสต์แบบเต็มสตรีม เพื่อรองรับเว็บไซต์ที่กำลังทำโดยใช้เป็นคลังข้อมูลประวัติศาสตร์ที่จะพูดทั้งเรื่องกิน เล่น ดื่ม ไม่ใช่ว่าประวัติศาสตร์ต้องยาก ต้องมีแต่เรื่องราชวงศ์หรือเรื่องอะไรใหญ่โต อาหารก็มีประวัติศาสตร์ ของเล่นก็มีประวัติศาสตร์ เราจะเล่าสิ่งที่ต้องการเล่าให้สนุกจี๊ดจ๊าดขึ้น เรียกว่าต่อให้ไม่อยากฟังก็อาจมีเผลอฟังกันบ้าง ไม่อยากรู้ประวัติศาสตร์มาก่อนก็จะต้องรู้ เพราะเพจพื้นที่ให้เล่ากำลังเอาเนื้อหาประวัติศาสตร์ไปเคาะประตูบ้านของทุกคน ก๊อกก๊อกก๊อก ประวัติศาสตร์ร้อนๆ มาเสิร์ฟแล้วจ้า 

ประเด็นคือเราโตขึ้นในทุกๆ วัน มันมีเรื่องเซอร์ไพรส์ในทุกวันเลย เพจเองก็คงเหมือนกันแหละ เพจก็โตตามเรา เราไม่รู้เหมือนกันว่าข้างหน้าจะมีอะไร เพราะฉะนั้นมันก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ต้องจับตาดู และฝากทุกคนเอาใจช่วยต่อไป

 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน