จากโตเกียวสู่ย่านประตูผี Onibus Coffee แบรนด์กาแฟที่พูดเรื่องคุณภาพของรสชาติ ชุมชม และความยั่งยืน

‘ไม่ต้องไปไกลถึงญี่ปุ่นก็กินกาแฟร้าน Onibus ที่ย่านประตูผีในกรุงเทพฯ ได้แล้ว’

นั่นน่าจะเป็นความคิดของใครหลายคน ทั้งที่เคยไปกิน Onibus ที่ญี่ปุ่นมาแล้ว และคนที่ยังไม่มีโอกาสได้ไปลิ้มลอง

Onibus สาขากรุงเทพฯ ตั้งอยู่ในซอยสำราญราษฎร์ ย่านประตูผี ที่นี่คือ Onibus นอกประเทศญี่ปุ่นสาขาแรก ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อกลางเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา ก่อนที่ถัดจากนั้นไม่นาน Onibus จะไปเปิดอีกสาขาที่ไทเป ไต้หวัน ซึ่งทั้งสาขากรุงเทพฯ และไทเป ได้ผู้ก่อตั้งอย่าง ซากาโอะ อัตสึชิ (Sakao Atsushi) และทีมจากญี่ปุ่นมาเซ็ตอัประบบด้วยตัวเอง 

a day มีโอกาสได้ไปเยือนมาแล้ว พบว่านอกจากคุณภาพของรสชาติกาแฟแล้ว Onibus ยังมีจุดยืนทางธุรกิจที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชุมชนหรือความยั่งยืน ซึ่งอยากให้ทุกคนได้ไปลองสัมผัสกัน 

จากโตเกียวถึงประตูผี 

Onibus Coffee เป็นร้านกาแฟสัญชาติญี่ปุ่น ก่อตั้งโดย ซากาโอะ อัตสึชิ เขาเป็นอดีตช่างไม้ที่ได้ไปเดินทางแบ็กแพ็กในประเทศออสเตรเลีย และลองใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นโดยทำงานในร้านกาแฟ อัตสึชิรู้สึกชอบสไตล์กาแฟที่ออสเตรเลีย เขารู้สึกว่าที่ญี่ปุ่น ซึ่งนั่นคือเมื่อประมาณ 15-16 ปีก่อน ยังไม่มีอะไรแบบนี้ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่เขาอยากกลับมาทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นในญี่ปุ่น จนสะท้อนออกมาเป็นคาแรกเตอร์ของ Onibus ทั้งในเรื่องคาแรกเตอร์ของกาแฟและบรรยากาศของร้าน โดยปัจจุบัน Onibus มีหลายสาขาในโตเกียว รวมทั้งมีแบรนด์แยกย่อยออกมาชื่อ About Life Coffee Brewers

ส่วนจุดเริ่มต้นของการเข้ามายังเมืองไทยของ Onibus นั้น ต้องย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 6-7 ปีก่อน เมื่อหนึ่งในหุ้นส่วนของร้าน ถิ-ถิรคุณ รติรัตนานนท์ อดีตวิศวกรโยธาที่ผันตัวมาทำด้านอสังหาริมทรัพย์ มีโอกาสได้ไปลองกาแฟร้าน Onibus ที่โตเกียวตามคำแนะนำของเพื่อนชาวญี่ปุ่น เขารู้สึกชอบในคาแรกเตอร์ของกาแฟที่รู้สึกว่ายังไม่มีร้านอื่นทำได้แบบนี้ 

“พอไปได้ลอง Onibus ที่ญี่ปุ่น นอกจากกาแฟที่ค่อนข้างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแล้ว ผมชอบบรรยากาศในร้าน รู้สึกว่าบรรยากาศค่อนข้างเป็นกันเอง รีแลกซ์ เหมือนเราไปบ้านเพื่อน เป็นสองอันหลักๆ ที่ทำให้ประทับใจ” ถิเล่า

ต่อมาเพื่อนชาวญี่ปุ่นคนเดิม ซึ่งรู้จักกับ ซากาโอะ อัตสึชิ เจ้าของ Onibus เป็นการส่วนตัวด้วย บอกกับถิว่า อัตสึชิกำลังจะมาเมืองไทย เขารู้ว่าถิชอบ Onibus อยากให้ชวนอัตสิชึมาแนะนำให้รู้จักกันไหม นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั้งคู่ได้รู้จักกัน 

“แต่ตอนนั้นยังไม่ได้มีแพลนว่าจะทำร้านนะครับ” ถิบอก “กว่าที่จะเริ่มคุยลงรายละเอียดเรื่องนี้กัน ก็ประมาณปีสองปีหลังจากที่รู้จักกัน เราคุยกันหลายๆ อย่าง มาลงตัวที่ว่าโกลหรือวิชันของเรา เราอยากให้ร้านอยู่ตรงนี้ อยากให้มีกาแฟแบบนี้ มีสเปซแบบนี้ จนเกิดการคอนเนกต์ของคนในหลายๆ แง่มุมเข้าด้วยกัน ขมวดจนออกมาเป็น Onibus สาขากรุงเทพฯ” 

จากซ้าย: ถิ-ถิรคุณ รติรัตนานนท์, ฮิว-ธีรจิต ล้วนพิชญ์พงศ์ 2 ใน 4 พาร์ตเนอร์ Onibus BKK

นอกจากถิแล้ว ที่นี่ยังมีพาร์ตเนอร์คนไทยอีก 2 คนคือ ฮิว-ธีรจิต ล้วนพิชญ์พงศ์ และ หนูดี-จิตชนก ต๊ะวิชัย กับ Onibus Coffee ญี่ปุ่นอีก 1 พาร์ตเนอร์ รวมเป็นทั้งหมด 4 พาร์ตเนอร์ เปิดเป็น Onibus สาขากรุงเทพฯ จากที่เริ่มคุยกันก็ใช้เวลาประมาณ 4-5 ปี

แบรนด์กาแฟที่พูดเรื่องคุณภาพของรสชาติ ชุมชม และความยั่งยืน

ถิและฮิวเล่าเรื่อง core value หรือค่านิยมองค์กรของ Onibus ซึ่งมี 3 เรื่องหลักๆ ให้เราฟัง 

Quality 

Onibus จะเน้นกาแฟที่ Clean/Balance/Smooth เป็นคั่วอ่อนทั้งหมด และคงคาแรกเตอร์ของออริจินหรือแหล่งที่มาของกาแฟนั้นๆ ไว้ 

ฮิว ซึ่งดูแล operation ของร้าน บอกกับเราว่า “ที่นี่จะเน้นกาแฟที่กลมกล่อม กินง่าย ดื่มได้เรื่อยๆ เป็นกาแฟที่แสดงรสชาติที่เป็นอัตลักษณ์ของมัน เช่น เอธิโอเปีย เคนยา กินแล้วต้องรู้ว่าเป็นรสแบบนี้ นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่เราเลือกกาแฟ washed process เป็นหลักด้วย เพราะว่าคงคาแรกเตอร์ของกาแฟตัวนั้นๆ ได้ดีกว่า คุมปัจจัยในการเดเวลอปหลายๆ อย่างขึ้นมาได้ง่ายกว่า”

เมล็ดซิงเกิลออริจินสำหรับดริป หลักๆ จะมี เคนยา เอธิโอเปีย รวันดา ฮอนดูรัส กัวเตมาลา เหล่านี้จะถูกส่งมาจากโรงคั่วที่ญี่ปุ่น แต่เมล็ดเบลนด์สำหรับเอสเพรสโซ ทาง Onibus ฝั่งไทยพัฒนาขึ้นตามมาตรฐานของทางญี่ปุ่น โดยให้มีเมล็ดไทยเข้าไปด้วย ส่วนหนึ่งเพราะอยากโปรโมตกาแฟไทย ซึ่งในเบลนด์ตัวนี้จะมีกาแฟไทยกว่า 55 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือคือเอธิโอเปียกับเคนยา

ถิเสริมว่า “การทำงานกับคนญี่ปุ่น ถ้าเรื่องไหนที่เขารู้สึกว่าเขาใส่ใจแล้ว เขาจะไม่ยอมประนีประนอมเลย ยังไงก็ต้องมีแสตนดาร์ด เช่นเรื่องของเมล็ดกาแฟ รสชาติของกาแฟ ยังไงก็ต้องเป็นแบบ Onibus ไม่ใช่เรามาที่ไทย แล้วคนไทยคุ้นเคยกับรสชาติสไตล์หนึ่งมากกว่า กาแฟที่บอดี้หนักหน่อย ตอนแรกเราก็อยากจะมีนะ แต่สุดท้ายแล้ว เรานำเสนอในสไตล์ Onibus ก่อนดีกว่า คั่วอ่อน คลีนๆ กินลื่นๆ” 

สำหรับเมนูแนะนำ ใครมาที่นี่อยากให้ลองแฮนด์ดริปออริจินต่างๆ ข้างต้น ซึ่งเป็นเมนูที่ความคลีน ความบาลานซ์ และสมูทอย่างที่ Onibus นำเสนอ จะถูกขับออกมาได้ดีที่สุด ส่วนใครที่อยากได้กาแฟนมมากกว่า ลาเต้ของที่นี่ก็ผ่านการคัดสรรนมให้เหมาะกับกาแฟแบบ Onibus จนได้ลาเต้ที่มีเอกลักษณ์เช่นกัน  

และถ้าเป็นเมนู non-coffee อยากให้ได้ลอง Spicy Lemonade ซึ่งฮิวภูมิใจนำเสนอ 

“เป็นเมนูเหมือนที่ขายที่ญี่ปุ่นในช่วงหน้าร้อน แต่ของเราร้อนตลอดปี เลยมีขายตลอด (หัวเราะ) โดยเราประยุกต์ใส่พริกของไทย คือพริกจินดา และสมุนไพรต่างๆ ของไทยให้ได้รสที่เป็นเอกลักษณ์ของบ้านเรา”

เลมอนเนดที่มีส่วนผสมของพริกจินดา อยากรู้ว่ารสชาติเป็นอย่างไรต้องมาลองที่นี่เท่านั้น ขอบอกว่าดื่มแล้วสดชื่นมาก

Spicy Lemonade

 Sustainability และ Traceability 

ด้าน Traceability ไร่กาแฟที่ Onibus เลือกส่วนใหญ่จะเป็นไร่ที่ดีลกับฟาร์มโดยตรง ทำให้ได้ผลผลิตที่ตรงความต้องการ และรายได้ไปสู่ผู้ผลิตมากขึ้น เพราะไม่มีคนกลาง และไม่มีเรื่องของแรงงานเด็ก 

ถิเล่าต่อ “ส่วน Sustainability อยากให้ผลผลิตของเราส่งผลเสียต่อโลกน้อยที่สุด อย่างเช่นแก้ว เราก็เลือกวัตถุดิบอยู่นาน หลายคนอาจจะคิดว่า แก้วกระดาษมันก็น่าจะ compostable หรือย่อยสลายเองได้อยู่แล้ว แต่จริงๆ แล้วข้างในมันมีพลาสติกซีลอยู่อีกชั้นหนึ่ง เพื่อกันไม่ให้ของเหลวซึมออกมา ซึ่งส่วนมากพลาสติกตัวนั้นย่อยสลายเองไม่ได้ Onibus ที่ญี่ปุ่นเอง ใช้แก้วที่ตัวพลาสติกข้างใน compostable เราเลยถูกรีเควสต์ว่า อยากได้วัตถุดิบแบบนั้นด้วย ซึ่งในไทยหายากมาก กว่าจะหาเจอก็คือนานมาก แต่ในที่สุดก็ไปได้ซัพพลายเออร์ที่มีแมททีเรียลตัวนี้ เพราะฉะนั้นตัวแก้วกระดาษของเราก็คือเป็น compostable ฝังกลบก็ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ” 

นอกจากแก้วกระดาษแล้ว ถุงกาแฟของ Onibus ก็สามารถย่อยสลายเองได้เช่นกัน รวมทั้งหลอด แต่ที่นี่จะไม่ใช้หลอดกระดาษ เพราะเปื่อยยุ่ยเร็วเกินไปทำให้ได้รับประสบการณ์ในการดื่มที่ไม่ดี จึงใช้หลอดกากน้ำตาลแทน 

นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายมุมในเรื่องของ Sustainability ที่ทางร้านพยายามจะทำให้ได้มากที่สุด เช่นแก้วดื่มที่ร้านเอาขวดไวน์มาตัด การหมักปุ๋ยโดยใช้กากกาแฟในบางสาขาที่ญี่ปุ่น หรือวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างในบางสาขาก็ใช้ไม้ที่ไม่ไปรบกวนธรรมชาติ 

เรื่องนี้น่าสนใจ ถิขยายความว่า “ป่าที่ญี่ปุ่นมีบางส่วนที่แน่นไป ทำให้ต้นไม้โตไม่ได้ เขาเลยต้องไปซอยต้นไม้บางส่วนให้ป่ามันมีพื้นที่ในการเจริญเติบโตต่อไป ซึ่งต้นไม้พวกนี้ที่ถูกตัดออกมาเพื่อให้ส่วนที่เหลือโต เราเอามาทำตกแต่ง Onibus ที่สาขานั้น”  

Community 

ถิเล่าให้ฟังต่อถึงเรื่องโลเคชันและความเป็นคอมมูนิตี้ของย่านประตูผี

“สาเหตุหลักที่อยากมาอยู่ตรงนี้เพราะว่า หนึ่ง, มันยังมีความเป็นย่าน residential หรือย่านที่อยู่อาศัยสูง ยังไม่คอมเมอร์เชียลมากเกินไป และเดินได้ถึงกันหมด เลยรู้สึกว่าชอบคาแรกเตอร์ของย่านแบบนี้ ซึ่งก็ไปตรงกับคาแรกเตอร์ของ Onibus ที่ญี่ปุ่นด้วย ก็คือเขาจะไปวางตัวเองอยู่ในย่านชุมชน และเหมือนเป็นฮับของชุมชน ร้านกาแฟของชุมชนที่คนมาเพื่อกินกาแฟ มาเจอเพื่อน มาใช้เวลาระหว่างวัน ก็ค่อนข้างเหมาะเจาะที่จะมาลงตรงนี้เหมือนกัน”

นอกจากวางตัวอยู่ในชุมชนแล้ว อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการช่วยซัพพอร์ตชุมชน

“คือพอเรามาอยู่ตรงนี้แล้ว เราอยากให้คนมาแล้วไม่ได้กินกาแฟอย่างเดียว กินกาแฟแล้ว กินข้าวต่อดีกว่า ร้านข้าวแถวนี้ก็เยอะมาก หรือรอคิวร้านข้าวอยู่ มานวดตรงนี้ก่อนก็ได้ ในวัดก็มีพิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ หรือแถวนี้ก็มีที่เที่ยวเยอะแยะเต็มไปหมด รู้สึกว่าอยากให้มีแอคทิวิตีติดตามต่อ และทำให้ชุมชนทำให้ร้านโลคัลต่างๆ โตไปด้วยกันกับเราด้วย 

“อีกเรื่องที่เราอยากออกมาอยู่ค่อนข้างสแตนด์อะโลน ไม่ได้อยู่ในห้างหรือในคอมมูนิตี้มอลล์ เพราะว่าเราอยากให้คนที่มา ตั้งใจมาเพื่อกินกาแฟจริงๆ ในทางกลับกันถ้าเราไปอยู่ในห้าง ผมรู้สึกว่าเหมือนเราไม่ได้เป็นจุดประสงค์หลักในการมาหรือเปล่า แต่ก็แลกกับความลำบากในการเดินทางมานิดหนึ่ง (หัวเราะ) แต่ก็ยังถือว่าไม่ได้ไกลจากรถไฟฟ้ามาก ส่วนเรื่องที่จอดรถเราก็ยังต้องหาทางแก้ไขกันต่อ” 

รถบัสที่ขับเคลื่อนไปด้วยพลังงานกาแฟ

ความหมายของชื่อ Onibus ลูกค้าบางคนเข้าใจว่า เป็นภาษาญี่ปุ่น เพราะว่า oni แปลว่ายักษ์ เกี่ยวอะไรกับยักษ์หรือเปล่า แต่จริงๆ แล้ว Onibus มาจากภาษาโปรตุเกส แปลว่ารถประจำทาง 

“ความหมายแฝงก็คือ อยากให้ลูกค้าที่ขึ้นมาบนรถบัสคันนี้ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องกาแฟกันไปยังจุดหมายปลายทาง Onibus ก็เป็นเหมือนรถบัสคันหนึ่งที่ขนคนมา ซึ่งเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนไปก็คือ กาแฟ” ถิอธิบาย 

และรถบัสคนนี้ก็พร้อมแล้วสำหรับผู้โดยสารชาวไทยที่อยากจะออกเดินทางไปด้วยกัน

ติดตาม Onibus ได้ทาง

IG: onibuscoffee_bkk

FB: Onibus Coffee Bangkok

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชญุตม์ คชารักษ์

ชีวิตหลักๆ นอกจากถ่ายภาพ ชอบชกมวยเป็นชีวิตจิตใจ ฟังเพลงที่ดนตรีฉูดฉาดกับเบียร์เย็นๆ