เก็บพืชผลจากเชียงดาวลงกล่อง ‘OLD minimarket’ ร้านค้าออนไลน์ที่ขนชา บ๊วย วานิลลา ส่งคนเมือง

Highlights

  • OLD minimarket คือความฝันของคนที่อยู่ห่างไกลยอดดอย แต่อยากทำกิจกรรมช้าๆ เนิบๆ อย่างการทดลองดองเหล้าบ๊วย นวดใบชา หรือกระทั่งสกัดกลิ่นวานิลลา เพราะที่นี่คือมินิมาร์ตออนไลน์ที่พร้อมสรรหาวัตถุดิบจากชาวบ้านในพื้นที่ส่งตรงมาถึงคนในทุกภูมิภาค
  • ภายใต้เบื้องหลังไอเดียที่น่าสนใจ ผู้ก่อตั้งกลับไม่ได้คิดอะไรไปมากกว่าการทำธุรกิจตามกำลังที่ตัวเองมี ทำเพราะวันนี้ยังคงสนุกกับสิ่งนี้
  • แต่ความสนุกของ OLD minimarket ยังมีอะไรอีก อ่านเองเลยแล้วกัน

ช่วง 2-3 เดือนขณะเมืองล็อกดาวน์ เราใช้เวลานั้นไปกับกิจกรรมใหม่ที่เพิ่งมีเวลาได้เขยื้อนตัวมาทำ นั่นคือการทำไซรัปบ๊วยสีสดใส รสชื่นใจในโหลใบจ้อย พร้อมทำอุเมะชูหรือเหล้าบ๊วยที่ต้องรอเวลานานนับปีกว่าจะได้ลิ้มลองรส 

หลังตามหาขวดโหล มองหาน้ำตาล และเลือกสรรแอลกอฮอล์มาเนรมิตเครื่องดื่ม เราก็แทบหมดแรง พลางคิดในใจว่าถ้ามีบริการจัดส่งสิ่งเหล่านี้ตรงถึงบ้านก็คงดี

ตอนนั้นแหละที่เราได้มารู้จักกับเพจเฟซบุ๊กอย่าง OLD minimarket มินิมาร์เก็ตออนไลน์ขนาดย่อมที่ส่งวัตถุดิบจากยอดดอยเชียงดาว อัดลงกล่องมาให้เราทำการทดลองถึงบ้าน 

ถึงตอนนี้จะช้าไปเสียแล้วกับการเริ่มต้นทำเครื่องดื่มจากบ๊วย แต่คงไม่สายไปหากเราจะต่อสายพูดคุยกับ ‘ธรรมดา’ หนึ่งในทีมเบื้องหลังผู้ขับเคลื่อนมินิมาร์เก็ตแห่งนี้ 

ว่าแล้วก็ขอไถเพจดูหน่อย – ชา วานิลลา กาแฟ โกโก้ จะทำการทดลองอะไรต่อดี

ธุรกิจเริ่มต้นขึ้นเพราะบวชเป็นพระ  

ก่อนจะเป็นห้องทดลองอัดกล่องแบบที่เราเห็น จริงๆ แล้ว OLD minimarket เริ่มต้นมาจาก Waang pi (อ่านว่า ว่างไป) เพจที่อาสาจัดทริปให้ผู้รักการท่องเที่ยวแบบธรรมชาติได้ขึ้นมาทดลองผลิตอาหารกันถึงต้นทางอย่างเชียงดาว ไม่ว่าจะเป็นการเก็บชา เก็บบ๊วย เกี่ยวข้าว ทำช็อกโกแลต ทำเต้าหู้ Waang pi ก็สร้างสรรค์คลาสเหล่านั้นขึ้นมาหมดแล้ว 

แต่หากจะย้อนไปทำความรู้จักให้ลึกกว่านั้น อาจต้องบอกว่าเรื่องราวทั้งหมดทั้งมวลมีจุดเริ่มต้นมาจากการบวชของชายคนหนึ่ง

ธรรมดา (นามแฝงของผู้ริเริ่มสร้าง Waang pi) เล่าให้ฟังว่าก่อนหน้านี้เขาเป็นหนุ่มเมืองกรุงขนานแท้ เป็นกราฟิกดีไซเนอร์เรื่อยมา จนกระทั่งวันหนึ่งตัดสินใจบวช ช่วงที่บวชอยู่นั้นเขาขึ้นมาที่เชียงดาวเพื่อพบกับอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ที่ค่ายเยาวชนเชียงดาว

การได้รู้จักค่ายในครานั้น ทำให้เขาได้รู้จักคนในค่ายที่ส่วนใหญ่มักใช้ชีวิตแบบคนทางเลือก คือเลือกใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด ผลิตสิ่งต่างๆ ใช้เอง เช่น กลุ่มคนที่ให้ความรู้เรื่องความมั่นคงทางอาหารอย่างกลุ่มสันติอโศกและโจน จันได ด้วยใจที่คิดอยากมีชีวิตแบบไม่ต้องใช้เงินเยอะเป็นทุนเดิม เขาจึงเริ่มสนใจการใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเองมากขึ้นนับแต่นั้น และมีความคิดว่าถ้าจะไม่กลับไปอยู่กรุงเทพฯ อีกแล้ว พื้นที่ที่มีความมั่นคงทางอาหารอย่างเชียงดาวน่าจะเป็นที่ที่เขาเลือกปักหลักได้

ทำทุกอย่างเอง ปลูกเอง กินเอง ใช้เงินให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ คือสิ่งที่เขามุ่งมั่นตั้งใจ 

แต่ด้วยความเป็นคนเมือง การจะทำทั้งหมดอย่างที่ว่าจึงไม่ใช่สิ่งที่เขาถนัดนัก มีก็แต่เรื่องอาหารนี่แหละที่เขาสนใจเป็นพิเศษ 

“หลังสึก เรามาอยู่เชียงดาวสองถึงสามปี นั่งๆ นอนๆ คิดว่าจะทำอะไรดี ตอนนั้นอยากผลิตชา ทำชาจากดอกกาแฟ แต่พอลองศึกษาแล้วพบว่ามันมีเรื่องอื่นต้องเรียนรู้เยอะไปกว่านั้น เลยคิดขึ้นว่าถ้าไม่ทำขายเอง งั้นเราพาคนไปเรียนทำชาดีกว่า เพราะยิ่งได้สนิทกับพี่ๆ ในค่ายเยาวชนเชียงดาวที่เข้า-ออกหมู่บ้าน เข้าถึงพ่อๆ ลุงๆ ในแต่ละพื้นที่อยู่แล้ว เราเลยได้รู้ว่าจริงๆ แล้วชาวบ้านในแต่ละชาติพันธุ์ไม่ได้เข้าถึงยาก สามารถเข้าไปพูดคุยขอความรู้ ให้สอนสิ่งที่เขาทำกันอยู่แล้วในชีวิตประจำวันอย่างการปลูกข้าว ทำแป้ง หรือการหมักนู่นนี่นั่นเองได้ 

การผลิตอาหารออกมาด้วยตัวเองจากความรู้พื้นฐานง่ายๆ มันน่าสนใจและเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนเมืองอย่างเรา บางสิ่งที่เขาทำอาจจะไม่ได้ดีกว่าของในเมืองสักเท่าไหร่ แต่ก็สามารถใช้ได้ กินได้จริงๆ หลังทดลองทำดูเองแล้วอยากให้คนได้มาสัมผัสประสบการณ์แบบนี้เหมือนกัน เลยคิดว่าน่าจะลองพาคนมาลงพื้นที่ พาเขาไปดูว่าชาวบ้านทำอะไร ปลูกอะไร แล้วผลผลิตต่างๆ ที่ปลูกจะเอามาทำอะไรได้บ้าง”

หลังจับมือกับเพื่อนที่มีแนวคิดคล้ายๆ กัน Waang pi จึงกำเนิดขึ้น พื้นที่บ้านของเขาอย่าง 606 Studio จึงถูกพัฒนาขึ้นให้เป็นสถานที่ที่คนสักสิบคนเข้ามานอนได้ พร้อมทั้งตระเตรียมแบ่งเป็นพื้นที่หลักในการทดลอง ส่วนคลาสต่างๆ ก็เกิดจากการมองหาว่าในพื้นที่ใกล้เคียงมีวัตถุดิบอะไรน่าสนใจ อะไรที่ลองทำแล้วใช้ได้เขาก็จะนำมาทำเป็นคลาสให้คนมาเรียนรู้ โดยสิ่งที่สอนจะเป็นเหมือนการแบ่งปันความรู้กันระหว่างชาวบ้านกับสิ่งที่เขาเจอขณะทดลอง เพื่อให้เหล่าคนเมืองที่มาเรียนรู้สามารถนำกลับไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เพราะไหนๆ ก็มาแล้ว ต้องเอากลับไปทำเองที่บ้านได้จริงๆ 

“เราต้องดูด้วยว่าคลาสแบบนี้จะมีคนมาหรือเปล่า พยายามเอาเรื่องที่ดูเข้าถึงง่ายมาเป็นคลาสหลัก อย่างการเก็บชา เก็บกาแฟ ทำโกโก้ ทำเหล้าบ๊วย จากนั้นจึงค่อยสอดแทรกเรื่องที่เราสนใจกันเองเข้าไปมากขึ้น อย่างการทำเต้าหู้ ทำมิโซะ” ธรรมดาว่ายิ้มๆ เอ่ยเล่าต่อ เขาบอกว่าคลาสที่ทำไม่ใช่คลาสใหญ่อะไร มีคนเข้าร่วมแค่รอบละประมาณสิบคนเท่านั้น ค่ากิจกรรมก็ไม่ได้สูงมาก รวมค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าเดินทางไว้ทั้งหมดแล้ว 

ลูกค้ายังบอกเลยว่าไม่รู้ว่าเราได้กำไรมากน้อยแค่ไหน” เขาบอก

ทำธุรกิจแบบไม่หวังผลกำไรงั้นเหรอ เราเอ่ยแทรก 

สิ้นเสียงหัวเราะ เขาบอกว่า “ในอุดมคติเราก็อยากจะให้มีกำไรนะ แต่เราก็ห่วง ไม่อยากให้คลาสแพงเกินไป เราทำธุรกิจแบบไม่ได้มีความรู้อะไร ไม่รู้ว่าเป็นธุรกิจที่เวิร์กหรือเปล่า แต่ว่าตราบใดที่ยังไม่ขาดทุน ยังไม่เจ๊งไป เราก็จะทำต่อ 

ชาวบ้านเขาก็โอเคที่เราทำแบบนี้ พอเราไปพูดคุยว่าเดี๋ยวเราจะพาคนมา เขาก็สนใจ ส่วนหนึ่งเพราะที่นี่เป็นแหล่งวัตถุดิบ ถ้าเขาขายวัตถุดิบเองเขาก็จะได้เงินประมาณหนึ่ง จะมากจะน้อยก็แล้วแต่ผลผลิตในแต่ละปี พอเรามาทำแบบนี้เขาก็มีรายได้เพิ่มเข้ามาด้วย และอีกอย่างคือกิจกรรมที่เราพาคนไปทำก็เหมือนพาลูก พาเด็กๆ ไปเที่ยว คนเฒ่าคนแก่ที่อยู่ในชุมชนเขาก็รู้สึกสดชื่นขึ้น ลูกหลานของแต่ละบ้านยังบอกเลยว่าถ้าเราไม่มาบางทีพ่อเขาก็เหงาเหมือนกัน” ชายหนุ่มในสายพูดด้วยความภูมิใจ 

พาคนไปเห็นแหล่งกำเนิดของอาหาร ก่อนพืชพรรณนั้นจะหายไป

สิ่งหนึ่งที่เราเพิ่งฉุกคิดได้หลังจากนั่งฟังเขาเล่า คือแม้ธุรกิจที่ว่านี้จะต้องพึ่งพิงธรรมชาติเป็นหลักจนดูเหมือนจะไร้ซึ่งความมั่นคงแน่นอน แต่คลาสของเขายังเกิดขึ้นตลอดทั้งปี แทบจะไม่มีการหยุดพัก ไม่ว่าจะเป็นฤดูร้อน ฤดูหนาว หรือฤดูฝน 

“ที่ทำได้ทั้งปีเพราะเราเปลี่ยนเนื้อเรื่องด้วย” เขารีบบอก “แต่ละฤดูจะมีวัตถุดิบไม่เหมือนกัน กิจกรรมเวิร์กช็อปแต่ละอย่างจึงต้องรอช่วงเวลา แล้วแต่ว่าช่วงนั้นมีอะไร เช่น ถ้าจะเก็บบ๊วยต้องรอเดือนมีนาคม ช่วงนั้นเราเลยมีแต่คลาสบ๊วย พฤษภาคม-กรกฎาคม มีใบชา เราก็ทำคลาสชาเยอะ ตุลาคม-พฤศจิกายน มีข้าว เราก็มีคลาสเกี่ยวกับการเกี่ยวข้าวเข้ามา”

อย่างปีที่แล้วเขาก็พาคนไปดูข้าวบนพื้นที่สูงมา เราถึงได้รู้ว่าในพื้นที่ภาคเหนือข้าวไร่เหลือน้อยลงทุกที เพราะเมื่อเทียบกันแล้วการปลูกแบบนี้จะได้ผลผลิตน้อยกว่าถ้าเทียบกับการปลูกในนาข้าว เมื่อไม่ซัพพอร์ตเรื่องของการค้า คนปลูกเลยได้กำไรน้อยลงไปด้วย พอไม่ได้รับความสนใจ ไม่มีการเก็บและพัฒนา พันธุ์ข้าวที่มีอยู่จึงเริ่มหายไป

“เราเลยพาคนไปหาชาวบ้านที่เขาปลูกข้าวไร่แล้วเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ส่งต่อให้รุ่นต่อรุ่น บางพันธุ์เป็นพันธุ์เฉพาะของหมู่บ้านนี้ ของกลุ่มชนเผ่านี้เท่านั้น ที่ทำคลาสนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะเราอยากพาเขาไปดูช่วงเวลาตอนเกี่ยวข้าวว่ามันเป็นยังไงบ้าง ชาวบ้านเขาอยู่กันยังไง ทำไมเขาถึงยังปลูกข้าวนี้อยู่ แล้วก็มีเวิร์กช็อปสั้นๆ เช่น เอาข้าวจากหลายๆ หมู่บ้านมาลองหุง ลองปั่นแป้งแล้วทำขนม ดูว่าข้าวเหล่านี้ทำอะไรได้บ้าง เราอยากให้เขาเห็นเพราะไม่แน่ว่าสิบปีข้างหน้าอาจจะไม่เห็นแล้วก็ได้ 

“และบางทีเราอาจจะไปทำคลาสในพื้นที่อื่นก็ได้นะ เรื่องประมงพื้นบ้านในภาคตะวันออกก็น่าสนใจ” เขาหย่อนไอเดีย เป้าหมายต่อไปที่เขาคิดไว้คือพยายามซัพพอร์ตให้คลาสมีกิจกรรมต่อเนื่อง และถ้ามีทีมทำงานพอก็อาจจะขยายคลาสออกไปในพื้นที่อื่นที่ยังไม่ได้จับวัตถุดิบมาร้อยเรียง เล่าเรื่อง หรือพาคนเข้าไปเรียนรู้ในรูปแบบที่น่าสนใจพอ ด้วยเหตุนี้เขาจึงไม่ได้โปรโมทสตูดิโอเป็นหลัก ด้วยหวังว่าอาจมีสตูดิโอแบบนี้เกิดขึ้นในทุกภาคสักวันหนึ่ง

แต่ก่อนที่สตูดิโอเหล่านั้นจะเกิดขึ้นจริง เราว่าตอนนี้สิ่งที่ OLD minimarket เป็นก็แทบไม่ต่าง

มินิมาร์เก็ตออนไลน์ที่ส่งวัตถุดิบจากยอดดอยส่งตรงถึงคนเมือง

หลังเปิด Waang pi มาได้ปีกว่าๆ ด้วยความไม่คาดคิด ไม่นานมานี้โควิด-19 ทำให้เขาต้องเริ่มทำสิ่งใหม่อีกครั้ง สิ่งนั้นคือ OLD minimarket อีกหนึ่งเพจเฟซบุ๊กที่ทำหน้าที่ส่งออกวัตถุดิบจากเชียงดาวพร้อมอุปกรณ์การทดลองอัดลงกล่อง ส่งตรงให้คนทุกพื้นที่ได้ลองทำเวิร์กช็อปเองที่บ้าน

“เราหยุดคลาสเพื่อโควิดแต่ผลผลิตมันไม่หยุดด้วย ปกติช่วงกิจกรรมเรารับซื้อผลผลิตจากชาวบ้านมาใช้ในคลาส พอไม่มีกิจกรรมเราก็ซื้อในจำนวนมากเท่าเก่าไม่ได้ แต่ชาวบ้านเขายังจำเป็นต้องขายอยู่ เลยเกิดความคิดว่าน่าจะหากิจกรรมที่ใช้ผลผลิตที่ชาวบ้านมีอยู่แล้วส่งไปยังกรุงเทพฯ หรือที่อื่นๆ ดู เอาความรู้เล็กๆ น้อยๆ ที่พอมีอยู่บ้างมารวมเอาไว้ ทำเป็นคู่มือเล็กๆ ส่งไปพร้อมกับผลผลิต ให้เขาได้ลองทำเวิร์กช็อปเองที่บ้าน”

กล่องกระดาษที่ภายในบรรจุเม็ดบ๊วย ลูกพีช หรือกระทั่งฝักวานิลลา พร้อมชุด Kit สำหรับทำไซรัปบ๊วย แยมพีช และ vanilla liqueur จึงถูกจัดส่งไปทั่วนับแต่นั้น

ที่เราสงสัยคือเขามีวิธีการยังไงให้คนจากทางบ้านยังได้รับประสบการณ์คล้ายๆ กันนี้ได้อยู่

ธรรมดาจึงรีบยกตัวอย่าง อธิบายให้เราเห็นถึงข้อแตกต่างก่อนเป็นอย่างแรกถ้าเป็นคลาสชาสิ่งที่ไม่เหมือนกันแน่ๆ คือเขาจะไม่ได้ขึ้นไปเก็บชาในพื้นที่จริง แต่ระหว่างที่นวดชาอยู่บ้านอาจจะทำให้เขามีสมาธิได้อยู่กับใบชามากกว่า เหมือนอยู่ด้วยกันตัวต่อตัว ไม่มีทีมงานมาแทรกกลาง

“วิธีการที่ทำให้เขาได้รับประสบการณ์คล้ายกันคือเราจะมีคู่มือวิธีการทำให้เขาเห็นเป็นขั้นเป็นตอน มีวิดีโอสาธิต เขาก็จะเห็นวิธีการนวดชาตั้งแต่ขั้นแรกจนขั้นสุดท้าย” 

ถึงบรรยากาศระหว่างคลาสจะไม่เหมือนกัน แต่เท่าที่ได้เห็นฟีดแบ็ก เขายืนยันว่าลูกค้าต่างแฮปปี้ 

ค่าวัดความสำเร็จของธุรกิจเรา คือความสนุกที่ได้รับในแต่ละวัน

“ตอนเริ่มทำ เราเริ่มจากส่งให้คนรู้จักลองก่อนว่าโอเคไหม ขนส่งนี้เป็นยังไง มันเป็นเรื่องใหม่ที่เรารู้สึกดีใจที่ได้ทำ พอค้นพบวิธีที่จะสามารถส่งไปยังพื้นที่ไกลๆ ได้โดยยังคงคุณภาพอยู่ เราตื่นเต้นนะ และคิดว่าน่าจะมีอีกหลายๆ อย่างที่ทำได้ ยิ่งทำให้เราอยากหาวัตถุดิบ หรือเรื่องที่มันน่าสนใจส่งไปให้คนที่บ้านได้ลองทำเพิ่มมากขึ้นอีก

“เดี๋ยวนี้มีคลาสออนไลน์ มียูทูบให้ทำตามเยอะแยะก็จริง แต่สิ่งที่ยากคือวัตถุดิบพวกนี้ไม่ได้ส่งตรงไปถึงบ้านง่ายๆ ไม่ได้หาวัตถุดิบได้ง่ายแบบนี้ ข้อได้เปรียบของคนยุคนี้คือระบบโลจิสติกที่ค่อนข้างโอเค การสื่อสารก็ง่ายขึ้น เราเลยอยากให้เรื่องที่อาจจะยังไม่เคยเกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นได้ยากนี้เป็นจริงขึ้นมา”

มันจะกลายเป็นว่าคนเข้าถึงได้ จนไม่ต้องมาร่วมคลาสกับ Waang pi แล้วหรือเปล่า เราถามสิ่งที่คิด ส่วนเขารีบตอบกลับทันทีว่า 

“ไม่ขนาดนั้นหรอก สิ่งที่คนที่มาคลาสเราได้กลับไปจริงๆ บางทีอาจจะไม่ใช่เรื่องของเวิร์กช็อปเป็นหลัก แต่เป็นเรื่องการสื่อสารกับชาวบ้านกับคนเมือง เขาได้เข้าถึงหมู่บ้าน ได้ไปสถานที่จริง คนส่วนใหญ่มาเวิร์กช็อปแล้วไม่ได้นั่งทำก็มีนะ บางทีมานั่งคุยกันเฉยๆ ดูเพื่อนทำ ผมมองว่าการมาร่วมเวิร์กช็อปกับเรามันเป็นการได้พักผ่อน ได้อยู่กับสิ่งของหรือวัตถุดิบในช่วงเวลาหนึ่ง ได้เห็นว่าพืชผลเหล่านั้นเป็นยังไง ชาวสวนมีวิธีการปลูก มีชีวิตอยู่กับของพวกนี้ยังไง แล้วเขานำมาทำอะไรได้บ้าง เรามีกิจกรรม มีสถานที่ มันต่างจากที่เราส่งของไปที่บ้าน แต่มันไม่น่าจะมีปัญหาอะไร จริงๆ แล้วทั้งสองอย่างนี้ก็เป็นเรื่องเดียวกันอยู่ดี”

เขาเงียบไปชั่วครู่ ก่อนจะบอกกับเราเสียงขันๆ ว่าความจริงแล้วเขาเป็นคนที่ทำธุรกิจได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ไม่ค่อยต่อเนื่องและไม่ได้มีรูปแบบชัดเจน บางทีควบคุมอะไรไม่ได้ก็ต้องชะลอเอาไว้ก่อน เพื่อรอให้พร้อมจึงจะสามารถทำต่อได้ แต่ถึงอย่างนั้นตอนนี้ก็มีข้อดีตรงที่ว่าเขาไม่เครียดเท่าไหร่ การทำงานแบบกึ่งๆ ไม่จริงจัง เลยทำให้เขาไม่ซีเรียสที่จะทำ เพลินที่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ 

“การทำธุรกิจสองอย่างนี้ขึ้นมาทำให้เราได้เรียนรู้เยอะมาก ได้เติมความรู้เรื่องอาหารที่เราสนใจ รู้เรื่องฤดูกาล รู้เรื่องการเลือกกิน รู้ขั้นตอนการทำ และในบางครั้งก็ทำให้เรารู้จักชีวิต รู้ว่าการหาเวลาว่างเป็นสิ่งสำคัญ มันทำให้เราได้พัก ทำให้เรามีพลังในการทำอะไรบางอย่าง เราเคยคิดว่าการที่มีคลาสเยอะๆ คือสิ่งที่ดี เพราะชาวบ้านจะได้ขายผลผลิตออกไปได้ทั้งหมด ไม่ต้องเหลือ แต่พอทำมากเข้าจริงๆ มันอาจจะได้อย่างที่เราว่าแหละ แต่เราอาจจะทำได้ไม่เต็มที่ บางครั้งการทำงานเยอะเลยอาจจะไม่ใช่คำตอบของสิ่งที่เรากำลังทำอยู่

และในตอนนี้ที่เขาสามารถใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงดาวได้โดยไม่ต้องกลับไปหางานในเมือง พัฒนาสิ่งต่างๆ ของสิ่งที่เริ่มมาให้ไปต่อได้โดยที่ไม่ต้องจ้างคนมาเพิ่ม และทีมยังมีเวลาให้ชีวิตในด้านอื่นๆ เขาบอกว่าแค่นั้นก็น่าจะเพียงพอแล้ว ไม่ได้คิดว่าจะไปไกลมากมายไปกว่านี้สักเท่าไหร่ 

“จุดวัดความสำเร็จของเราในวันนี้คือการที่ตื่นมาแล้วเรายังสนุกกับสิ่งนี้อยู่” เขาทิ้งท้าย และฟังจากเสียงแล้ว เราว่าเขากำลังพูดด้วยรอยยิ้ม

AUTHOR