NIGHTTIME POLITICS

เวลาราชการปกติคือ 08:30-16:30 น.

นอกเวลานี้ ตามหลักแล้วเจ้าหน้าที่รัฐควรได้พักผ่อนนอนหลับและกลับไปอยู่กับครอบครัว ช่วงเวลากลางคืนไม่ควรต้องทำงาน ไม่ต้องออกกฎหมาย และไม่ต้องใช้อำนาจตามกฎหมาย

สำหรับบางหน่วยงานที่มีภารกิจจำเป็นเร่งด่วนต่อความปลอดภัยและสวัสดิภาพของประชาชน เช่น โรงพยาบาล หรือสถานีตำรวจ พวกเขาอาจจะจัดสรรกำลังบุคลากรไว้เข้าเวรกันตอนกลางคืน แต่ในกรณีพิเศษ หน่วยงานรัฐที่เคยทำงานตามเวลาราชการอาจต้องทำงานข้ามคืน ด้วยเหตุจูงใจทางการเมือง หรือด้วยแรงผลักดันเกี่ยวกับความมั่นคงของผู้มีอำนาจในแต่ละยุคสมัย

และนี่คือการทำงานข้ามคืนอย่างที่ว่า

คำสั่งพิเศษตามมาตรา 44 ทำไมชอบออกตอนค่ำ?

สังคมไทยคุ้นเคยกับวาทกรรม ‘กฎหมายลักหลับ’ ตั้งแต่เหตุการณ์ปลายปี 2556

ครั้งนั้นสภาผู้แทนราษฎรในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยกมือผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมกันกลางดึกในเวลาประมาณ 03:00 น. ท่ามกลางเสียงคัดค้านของ ส.ส.ฝ่ายค้าน นำไปสู่ความไม่พอใจของประชาชนจำนวนมากจนกระทั่งทหารเข้ามายึดอำนาจ

ภายใต้ยุคสมัยที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาปกครองประเทศได้นานกว่าสี่ปี เหตุการณ์ความวุ่นวายในสภาแบบสมัยปี 2556 ไม่มีให้เห็นอีกแล้ว เพราะสภาที่มายกมือผ่านกฎหมายแทนคือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด 250 คน ส่วนใหญ่เป็นทหารทั้งในราชการและเกษียณอายุ ดังนั้นจึงไม่ปรากฏภาพการอภิปรายโจมตีกันยืดเยื้อและทะเลาะเบาะแว้ง ในทางตรงกันข้าม สนช.พร้อมใจกันเห็นดีเห็นงาม มีมติผ่านกฎหมายต่างๆ ออกมาได้รวดเร็ว

มีอยู่บ้างที่สมาชิก สนช. (ที่อายุเฉลี่ยกว่า 63 ปี) ต้องนั่งประชุมกันกลางดึกเพราะกฎหมายบางฉบับ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง แต่ส่วนใหญ่การประชุมของ สนช.จะเริ่มในเวลาสายราว 10:00-11:00 น. และยกมือผ่านกฎหมายเสร็จกันตั้งแต่ช่วงบ่ายอ่อนๆ

จะว่าไปตามจริงแล้ว กฎหมายที่ผ่านในเวลาราชการโดย สนช.จำนวนสามร้อยกว่าฉบับ เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของระบบระเบียบที่ออกมาบังคับใช้เท่านั้น เพราะในยุคสมัยนี้หัวหน้า คสช. หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงคนเดียวก็สามารถเซ็นเพื่อออกคำสั่งอะไรต่อมิอะไรในเรื่องที่เห็นว่าสำคัญได้เลย ไม่ต้องรอให้ สนช.ยกมือเห็นชอบ โดยอาศัยอำนาจพิเศษสุดๆ ตามมาตรา 44 

สิ่งที่ผ่านอำนาจพิเศษนี้ออกมาถูกเรียกว่า ‘คำสั่งหัวหน้า คสช.’ มีผลบังคับใช้ได้ทันทีหลังประกาศ โดยที่ประชาชนไม่อาจล่วงรู้ได้ก่อนเลยว่า พล.อ.ประยุทธ์ กำลังพิจารณาเรื่องอะไร วันไหนจะใช้มาตรา 44 ออกกฎเกณฑ์มาบังคับ และบังคับด้วยเหตุผลอะไร

ประชาชนทั่วไปจะได้รู้ว่ามีคำสั่งหัวหน้า คสช. ออกมาบังคับใช้ก็ต่อเมื่อเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษานำมาเผยแพร่ (ซึ่งเราคงไม่อาจนั่งเฝ้าเว็บไซต์นี้ได้ตลอด 24 ชั่วโมงติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี) ส่วนใหญ่เราไม่ทราบเวลาแน่ชัดที่คำสั่งแต่ละฉบับถูกนำขึ้นเว็บไซต์ ต้องอาศัยเฟซบุ๊กเพจ ‘กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย’ ช่องทางประชาสัมพันธ์ผลงานบนโลกออนไลน์ของ คสช. ที่นำคำสั่งฉบับต่างๆ มาโพสต์ให้ทราบกัน และส่วนใหญ่ก็จะมาในช่วงเวลากลางคืน โดยเฉพาะช่วงค่ำถือเป็นช่วงไพรม์ไทม์ของการใช้มาตรา 44 เลยทีเดียว

ตัวอย่างเช่น วันที่ 8 มีนาคม 2560 เพจกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย เผยแพร่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2560 เรื่อง แต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ แจ้งให้ประชาชนทราบเมื่อเวลา 20:58 น.

ต่อมาวันที่ 20 เมษายน 2560 ก็เผยแพร่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 24/2560 เรื่อง ให้งดเว้นการคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามคำสั่ง คสช. ที่ 23/2560ในเวลา 21:02 น.

หรือกรณีวันที่ 10 พฤศจิกายน 2559 เพจโพสต์คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 67/2559 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยธุรกิจรักษาความปลอดภัย บนเฟซบุ๊กในเวลา 22:33 น.

มีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 เพจของ คสช.โพสต์คำสั่งที่ 35/2559 และ 36/2559 เรื่อง มาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองและใช้ประโยชน์ที่ดินป่าภูทับเบิก ในท้องที่ตำบลวังบาลและตำบลบ้านเนิน อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ และ มาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดิน ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ในเวลาเกือบ 03:00 น.

นับถึงเดือนพฤศจิกายน 2561 หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งไปแล้วอย่างน้อย 197 ฉบับ ซึ่งหลายครั้งกว่าประชาชนจะมีโอกาสได้ทราบว่ามีการใช้อำนาจเช่นนี้ในเรื่องอะไรบ้าง ก็เป็นเวลาที่คนส่วนใหญ่อาจจะเข้านอนไปแล้ว

การใช้อำนาจแบบพิเศษๆ แท้จริงแล้วไม่ได้มีเพียงมาตรา 44 เท่านั้น แต่ คสช.ยังถือความเป็นผู้ปกครองประเทศ ใช้อำนาจที่อธิบายไม่ได้ ไม่มีกฎหมายใดเขียนรองรับ ออก ‘ประกาศ คสช.’ และ ‘คำสั่ง คสช.’ อีกมากมาย รวมประกาศคำสั่งตามอำนาจพิเศษทั้งหมดได้อย่างน้อย 536 ฉบับ ในช่วงปี 2557 เราอาจพอคุ้นกับภาพที่ทหารมานั่งอ่านประกาศทางโทรทัศน์ แม้ภาพแบบนี้จะหายไปในช่วงหลัง แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีประกาศและคำสั่งพิเศษออกมาเพิ่มอีก

ตัวอย่างเช่น วันที่ 27 กันยายน 2561 เพจกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย โพสต์แจ้งข่าวประกาศ คสช. ฉบับที่ 2/2561 เรื่อง แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในเวลา 22:44 น. หรือวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 เพจเดิมก็โพสต์ถึง คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 1/2560 เรื่อง มอบอำนาจการอนุมัติให้เคลื่อนย้ายกำลัง อาวุธ กระสุน วัตถุระเบิด และยุทธภัณฑ์ควบคุม ในเวลา 20:22 น.

ก๊อกๆ มีใครอยู่ไหม

การบุกค้นบ้านเรือนหรือเคหะสถานและการบุกจับกุมตัวประชาชน ในสถานการณ์ปกติจะต้องทำในเวลากลางวัน

โดยคนที่บุกตรวจค้นต้องอาศัยหมายจากศาลเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจ และต่อให้มีหมายศาลก็ไม่สามารถเข้าไปค้นบ้านใครตอนกลางคืน เว้นแต่เหตุจำเป็นมากๆ จริงๆ เช่น ผู้ร้ายสำคัญกำลังจะหลบหนี

ทว่าภายใต้สถานการณ์พิเศษ เมื่อมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก หลักการเหล่านี้จะถูกยกเว้นทั้งหมดและให้ทหารมีอำนาจจับกุมประชาชนหรือบุกค้นบ้านใครก็ได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล ไม่จำกัดเวลา ทหารสามารถบุกเข้าไปบ้านใครตอนกลางคืนหรือดึกแค่ไหนก็ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตใคร

ในยุค คสช. กฎอัยการศึกถูกใช้ทั่วราชอาณาจักรเป็นเวลานานกว่า 10 เดือน เท่าที่บันทึกข้อมูลได้ ช่วงสามเดือนแรก ทหารใช้อำนาจพิเศษบุกเข้าไปสถานที่เอกชนอย่างน้อย 183 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นบ้านพัก และสถานีวิทยุชุมชน และจับกุมตัวบุคคลจากการบุกอย่างน้อย 53 คน ซึ่งเป็นการบุกไปตอนกลางคืนอย่างน้อย 17 ครั้ง (ตัวเลขเหล่านี้เป็นจำนวนอย่างน้อยเท่าที่มีสื่อมวลชนรายงานและบันทึกไว้ได้เท่านั้น)

ตัวอย่างเช่น กรณีของณัฐ ผู้ที่ติดตามการเมืองและแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เขาถูกเรียกให้ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. สุดท้ายณัฐไม่ได้ไปเนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัย แต่เขาก็ไม่ได้หนีไปไหน กระทั่งวันที่ 7 มิถุนายน 2557 เวลาประมาณ 01:00 น. ทหารและตำรวจหลายสิบนายพร้อมอาวุธบุกไปเคาะประตูห้องที่คอนโดมิเนียมของเขา เมื่อณัฐเปิดประตูก็เอาไม้สอดเข้ามาแล้วผลักประตูบุกเข้าไปทันที ทหารจับเขากดลงพื้นและรัดข้อมือด้วยสายเคเบิล ก่อนเอาตัวเขาไปขังไว้ในค่ายทหาร 7 วัน เพื่อดำเนินคดีฐานไม่ไปรายงานตัวตามที่ถูกเรียก

หรือ กรณีของสมศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ผู้ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดที่เวที กปปส. จังหวัดตราด เขาถูกทหารบุกเข้าจับกุมที่บ้านในช่วงประมาณ 01:00 น. ของวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 และถูกคุมขังในค่ายทหาร ระหว่างนั้นเขาเล่าว่า มีการทำร้ายร่างกายและข่มขู่เพื่อให้รับสารภาพ ต่อมาสมศักดิ์กับเพื่อนอีกสองคนถูกส่งฟ้องต่อศาลด้วยข้อหาฉกรรจ์หลายข้อหา แต่ศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องทั้งหมด เพราะพยานหลักฐานไม่เพียงพอ

แม้กฎอัยการศึกจะถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2558 และใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 (ที่ออกมาในช่วงค่ำๆ) แทน ทำให้อำนาจที่ทหารจะเข้าบ้านใครตอนกี่โมงก็ได้ถูกยกเลิก แต่ในคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง เจ้าหน้าที่ยังคงบุกค้นกันแบบหมิ่นเหม่ โดยมักจะบุกไปจับกุมผู้ต้องสงสัยกันในช่วงเวลาเช้ามืด ระหว่าง 05:00-06:00 เช่น กรณีของแปดแปดมิน ผู้ทำเพจ ‘เรารัก พล.อ.ประยุทธ์ หรือกรณีของกลุ่มแฮกเกอร์ ที่คัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 

อย่างไรก็ดี แม้พื้นที่ส่วนใหญ่ในประเทศจะไม่ใช้กฎอัยการศึกแล้ว แต่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกมาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงวันนี้นับเป็นเวลาเกือบ 15 ปีแล้ว เรื่องราวของคนนับร้อยนับพันที่ถูกปฏิบัติการสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่หลายร้อยนายพร้อมอาวุธเพื่อปิดล้อม ตรวจค้น และจับกุมในเวลากลางคืน ก็ยังคงเกิดขึ้นและดำเนินต่อไป

ศาลทหารพาร์ตไทม์ เปิดในเวลากลางคืน

กระบวนการยุติธรรมในยุคของ คสช.โดดเด่นเป็นพิเศษตรงที่มีการออกประกาศให้พลเรือนต้องขึ้นศาลทหารในคดีบางประเภทที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ที่ศาลทหารนี้ตุลาการทุกคนเป็นทหาร เรียนจบกฎหมายบ้างไม่จบบ้าง และเจ้าหน้าที่ศาลทุกคนก็เป็นทหาร

เมื่อศาลทหารเข้ามาพิจารณาและตัดสินคดีการเมือง คนที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านอำนาจของทหารก็ย่อมรู้สึกแปลกๆ กับระบบยุติธรรมที่ผู้กล่าวหา ผู้จับกุม และผู้ตัดสิน เป็นพวกเดียวกันเป็นธรรมดา และวันหนึ่งก็ยิ่งรู้สึกแปลกขึ้นอีก เมื่อศาลทหารซึ่งปกติเปิด-ปิดตามเวลาราชการ กลับเปิดทำการในเวลากลางคืนสำหรับคดีสำคัญๆ โดยมีเจ้าหน้าที่และตุลาการอยู่ต้อนรับผู้ต้องหาอย่างพร้อมเพรียง

เหตุการณ์สุดขยันของศาลทหารเกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2558 เป็นช่วงที่นักศึกษาและนักกิจกรรมในนามกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ออกมาทำกิจกรรมต่อต้าน คสช. คัดค้านอำนาจรัฐประหาร เวลาประมาณ 17:15 น. ระหว่างที่นักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ 14 คน พักผ่อนอยู่ ทหารและตำรวจหลายสิบนายก็บุกเข้าไปจับกุมเพื่อดำเนินคดีฐานชุมนุมเกินห้าคน และยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนกระด้างกระเดื่อง ตามมาตรา 116 และส่งตัวทั้ง 14 คนไปที่ สน.พระราชวัง ในช่วงเย็น

ตามกระบวนการปกติ ตำรวจที่ สน.พระราชวัง มีอำนาจควบคุมตัวได้ 48 ชั่วโมง ถ้าต้องการควบคุมตัวต่อก็สามารถนำตัวผู้ต้องหาไปศาลในวันรุ่งขึ้นหรืออีกวันถัดไปตามเวลาทำการของศาล เพื่อขอให้ศาลสั่งฝากขังและส่งตัวผู้ต้องหาเข้าเรือนจำได้ แต่เนื่องจากเป็นคดีที่มีคนสนใจติดตามจำนวนมาก ตำรวจจึงพาผู้ต้องหาทั้ง 14 คน ขึ้นรถไปที่ศาลทหารกรุงเทพในคืนวันนั้นเลย เมื่อไปถึงในเวลาประมาณ 21:30 น. ศาลก็เปิดทำการรอต้อนรับเป็นอย่างดี แต่เพื่อนๆ ญาติๆ และคนที่ตามมาให้กำลังใจถูกขัดขวางไม่ให้เข้า

ผู้ต้องหาถูกนำตัวขึ้นห้องพิจารณาคดีที่ชั้นสอง ทนายรีบตามมาในชุดลำลอง เวลาประมาณ 23:00 น. ผู้ต้องหาหลายคนลุกขึ้นแถลงคัดค้านการควบคุมตัวที่ไม่ชอบธรรม ตุลาการศาลทหารก็นั่งฟัง จดบันทึก และออกคำสั่งให้ขังทั้ง 14 คน ในเวลาประมาณ 24:00 น. ผู้ต้องหาทั้งหมดจึงถูกส่งตัวเข้าเรือนจำในกลางดึกคืนนั้นทันที

เหตุการณ์สุดขยันอีกครั้ง เกิดขึ้นที่ศาลมณฑลทหารทหารบกที่ 23 จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2559 หลังจตุภัทร์ หรือ ไผ่ ดาวดิน ถูกปล่อยตัวจากเรือนจำในคดีที่แจกใบปลิว Vote No ระหว่างการทำประชามติ เขาก็ถูกอายัดตัวและพามาดำเนินคดีอีกคดีต่อที่ศาลทหารจากการชูป้ายคัดค้านการรัฐประหาร

จตุภัทร์ถูกพามาถึงศาลทหารที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อเวลาประมาณ 19:30 น. ครอบครัวที่ตามมาให้กำลังใจถูกห้ามเข้าด้วยเหตุผลว่า ค่ายทหารที่เป็นที่ตั้งของศาลปิดแล้ว ห้ามประชาชนเข้าเวลากลางคืน ขณะที่อัยการทหารมาถึงศาลประมาณ 20:30 น. และมีคำสั่งฟ้องจตุภัทร์ในคืนนั้น ศาลทหารรับฟ้องและสั่งให้ขังจตุภัทร์ไว้ระหว่างการพิจารณา จตุภัทร์ก็ถูกส่งตัวต่อเข้าเรือนจำทันทีทั้งที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวมาจากอีกคดี

อัยการทหารอธิบายถึงเหตุจำเป็นในการยื่นฟ้องจตุภัทร์นอกเวลาราชการกับศาลว่า อัยการทหารประสานกับพนักงานสอบสวนให้นำตัวจตุภัทร์มาส่งตั้งแต่เวลา 13:00 น. แต่เนื่องจากติดขัดในระยะทาง กว่าจะนำตัวจตุภัทร์มาฟ้องต่อศาลก็เลยเวลาทำการ คดีมีเหตุจำเป็นจึงสามารถยื่นฟ้องนอกเวลาราชการได้

น่าดีใจ

ที่เรามีคนที่พร้อมทำงานกลางดึกกันมากขนาดนี้

เรื่อง ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ a day 220 ฉบับ a night สามารถพบเจอได้ตามร้านหนังสือทั่วไป หรือสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ godaypoets.com/aday220

AUTHOR