อะไรคือเหตุผลที่ทำให้พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งหนึ่งปฏิเสธเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเสมอมา?
“เราไม่สามารถใช้เงินของรัฐบาลเพื่อดำเนินการพิพิธภัณฑ์ศิลปะของเหล่านักเรียนที่ถูกพรากชีวิตไปโดยรัฐบาลเอง” คือคำกล่าวของ Seiichiro Kuboshima ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งความเงียบ Mugonkan 無言館
ที่นี่คือหลักฐานการสูญเสียครั้งใหญ่ในแวดวงศิลปะญี่ปุ่น ซึ่งครั้งหนึ่งเคยบังคับให้เหล่าคนรุ่นใหม่ผู้มีใจรักในงานศิลป์ต้องทิ้งด้ามพู่กันไปจับปืนในสนามรบ และต้องจบชีวิตลงท่ามกลางสงครามในต่างแดน
พิพิธภัณฑ์แห่งความเงียบนี้ถูกสร้างขึ้นในปี 1997 เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแก่นักเรียนศิลปะที่ถูกรัฐบาลเกณฑ์ไปเป็นทหารและถูกสังหารในแนวหน้าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
โดยเซอิจิโระ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีความแน่วแน่ในการตามหาและรวบรวมผลงานของนักเรียนศิลปะ ผู้ซึ่งไม่มีโอกาสได้แสดงผลงานต่อสาธารณะเลยสักครั้ง เขาออกเดินทางไปยังบ้านเกิดของนักศึกษาศิลปะแต่ละคนที่มีรายชื่อในบันทึกการเสียชีวิต เพื่อขอรับงานศิลปะของนักศึกษาจากครอบครัว พร้อมทั้งถามไถ่ถึงชีวิต ความฝัน และความหวังต่ออนาคตของพวกเขาก่อนที่จะต้องเข้าร่วมสงคราม
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อรวบรวมงานศิลปะของนักศึกษาผู้ล่วงลับเพียงเท่านั้น แต่เซอิจิโระยังต้องการตอกย้ำถึงผลกระทบจากการใช้อำนาจของรัฐบาลในยุคสงคราม ซึ่งเป็นการตัดโอกาสของนักศึกษาเหล่านี้ไปโดยที่พวกเขาไม่มีสิทธิในชีวิตของตัวเองเลยด้วยซ้ำ
เซอิจิโระจึงสร้าง Mugonkan ขึ้นเพื่อให้ผู้คนได้จดจำพวกเขาไว้ด้วยภาพเขียนที่งดงาม ที่พวกเขาเขียนมันจนถึงวินาทีสุดท้ายก่อนที่จะต้องไปร่วมรบ
ดิฉันได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้กับครอบครัวศิลปินญี่ปุ่นของดิฉัน ที่นี่ตั้งอยู่บนเนินเขาสูงในจังหวัดนากาโนะ บรรยากาศโดยรอบเงียบสงัดสมกับชื่อของพิพิธภัณฑ์
สถาปัตยกรรมของ Mugonkan ถูกออกแบบเป็นรูปทรงไม้กางเขนที่เท่ากัน โดยผู้ออกแบบตั้งใจให้สถานที่แห่งนี้เปรียบดังสุสานของนักเรียนศิลปะเหล่านี้ ภายในจึงมีกฎห้ามถ่ายภาพ ห้ามพูดคุยและส่งเสียงใดๆ เพื่อเป็นการเคารพสถานที่และผลงาน
เมื่อก้าวเข้าสู่ด้านในจะพบกับภาพเขียนต่างๆ ที่ถูกจัดเรียงอยู่บนผนังปูนเปลือยเรียบง่าย ที่แผ่นป้ายของผลงานแต่ละชิ้นนั้นไม่ระบุชื่อภาพ มีเพียงแค่ชื่อของนักเรียนเจ้าของผลงานและสถานที่ที่พวกเขาถูกส่งไปจบชีวิตในสงครามเท่านั้น
ยกเว้นเพียงบางชิ้นงานที่มีการเขียนอธิบายเรื่องราวเบื้องหลังผลงานนั้นๆ ตามคำบอกเล่าของครอบครัวด้วย เช่น การตัดสินใจเขียนภาพคนรักของตัวเองในคืนสุดท้ายก่อนที่จะต้องไปเกณฑ์ทหารในวันรุ่งขึ้น หรือรูปปั้นรูปหน้าคนที่ใกล้เสร็จเต็มที ซึ่งเจ้าของผลงานพยายามปั้นจนถึงวินาทีสุดท้าย ก่อนที่ทางการจะมาเอาตัวเขาไป
การเดินชมผลงานใน Mugonkan แห่งนี้จึงเป็นการดูงานศิลปะที่คนดูอย่างเรารู้สึกหมดคำพูด ไร้ซึ่งคำถาม และในขณะเดียวกันก็ไม่มีคนที่จะตอบได้ สมกับชื่อของพิพิธภัณฑ์ที่หากเราลองแปลตัวอักษรคันจิทีละตัวดูแล้วจะพบว่า 無 คือ ไม่มี, สูญเปล่า 言 คือ คำพูด ดังนั้นคำว่า 無言 จึงหมายถึงสภาวะที่ไร้คำพูด หรือก็คือความเงียบนั่นเอง
เมื่อเงยหน้าขึ้นมาที่โถงของเพดานรูปทรงโค้ง จะเห็นภาพสเกตช์มากมายจัดวางจนเต็มเพดานโถง ทั้งหมดคือผลงานจากการฝึกฝนร่ำเรียนของเหล่านักเรียนศิลปะ ที่มีความฝันว่าตัวเองจะได้เติบโตไปเป็นศิลปินในอนาคต
นอกจากนี้ตรงส่วนกลางโถงยังมีตู้จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของเหล่าศิลปินในขณะที่เข้าร่วมสงคราม ทั้งเครื่องเขียนเล็กๆ ที่พวกเขานำติดตัวไปด้วยเสมอ ภาพสเกตช์สถานที่ต่างๆ ในระหว่างการสู้รบซึ่งปรากฏบนโปสต์การ์ดส่งถึงคนที่บ้าน รวมถึงอุปกรณ์ศิลปะอื่นๆ ที่ยังหลงเหลือ เช่น ถาดสีที่ถูกผสมไว้ในวันสุดท้ายของชีวิตการทำงานศิลปะ
มีภาพหนึ่งในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ที่ทำให้ดิฉันหยุดมองอยู่นาน เป็นภาพเขียนดอกซากุระด้วยพู่กันและหมึกสีดำภาพใหญ่ที่ดูแล้วมีมิติ ทั้งยังมีจังหวะในการลงพู่กันที่ต่างจากคนส่วนใหญ่ในยุคนั้น
เมื่อสามีเห็นดิฉันหยุดดูอยู่นานจึงเดินมาเล่าให้ฟังว่านี่คือผลงานที่ได้รางวัลที่หนึ่งในการประกวดระดับชาติของญี่ปุ่นในขณะนั้น แต่เนื่องจากเจ้าของผลงานจำเป็นต้องไปเกณฑ์ทหารเสียก่อน เธอรู้ไหมว่านักเรียนที่ได้อันดับสองในตอนนั้น ปัจจุบันได้กลายเป็นศิลปินชื่อดังของญี่ปุ่น ลองคิดดูสิว่าถ้าศิลปินคนนี้ยังมีชีวิตอยู่ ชื่อของเขาคงได้จารึกอยู่ในประวัติศาสตร์ศิลปะญี่ปุ่น ไม่ใช่มาอยู่ในรายชื่อประวัติศาสตร์ทหารที่เสียชีวิตในสงครามเช่นนี้
เมื่อได้ฟังสิ่งที่สามีกล่าวแล้ว ดิฉันก็เกิดคำถามต่อการรับใช้ชาติในหน้าที่พลเมืองคนหนึ่งขึ้นทันที การรับใช้ชาตินั้นจำเป็นที่เราต้องสละชีวิตเพื่อรักษาแผ่นดินไว้เพียงอย่างเดียวเชียวหรือ ในเมื่อเราอาจจะมีความถนัดอื่นที่จะเป็นเรี่ยวแรงหรือมันสมองในการสร้างชาติให้พัฒนาทางด้านอื่นๆ ได้
หลังจากที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นก็ไม่สามารถมีกองกำลังได้เหมือนก่อน ผู้ชายญี่ปุ่นในสมัยนี้ไม่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร และคนญี่ปุ่นสมัยใหม่ก็เห็นด้วยกับการที่รัฐไม่บังคับให้ผู้ชายต้องรับใช้ชาติด้วยการเป็นทหารอีกต่อไป
พิพิธภัณฑ์ Mugonkan แห่งนี้ได้รวบรวมผลงานนักเรียนศิลปะไว้ถึง 600 ชิ้น จากนักเรียนศิลปะที่เสียชีวิตในสงคราม 130 คน และยังคงดำเนินการเปิดให้เข้าชมอยู่แม้จะมีปัญหาทางด้านการเงินเนื่องจากมียอดผู้เข้าชมน้อย โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19
และถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น แต่ที่นี่ยังได้รับเงินบริจาคจากมหาวิทยาลัยศิลปะต่างๆ รวมถึงครอบครัวของนักเรียนศิลปะที่เป็นเจ้าของผลงานบางส่วน ซึ่งเซอิจิโระมองว่าการรับเงินบริจาคจากประชาชนนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้คนยังคงรำลึกถึงพวกเขาในฐานะประชากรที่เป็นศิลปินคนหนึ่ง
หากใครสนใจสามารถเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ได้ที่ mugonkan.jp