MOTHER! : ดูแล้วต้องร้อง “โอ้…พระมารดา!”

Director: Darren Aronofsky
Cast: Jennifer Lawrence, Javier Bardem, Ed Harris, Michelle Pfeiffer
Region: USA
Genre: Drama / Horror / Mystery

หากคุณกำลังเบื่อหน่ายหนังที่เล่าเรื่องราวในกระแสหลักอย่างฉาบฉวย ตรงไปตรงมา และกำลังมองหาหนังที่มีเนื้อหาอันชวนให้ขบคิดตีความ กระตุ้นเซลล์สมองให้ทำงานตลอดเวลากระทั่งหนังจบ ออกจากโรง และกลับถึงบ้าน หรืออาจจะตื่นขึ้นมาทบทวนถึงมันต่อในเช้าของอีกวัน … “Mother!” งานกำกับชิ้นใหม่ล่าสุดของผู้กำกับ ดาร์เรน อโรนอฟสกี้ (Requiem for a Dream, Black Swan) คือคำตอบข้อนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย

อย่างที่ทราบกันจากสื่อโฆษณาและหนังตัวอย่างซึ่งจงใจให้ข้อมูลเพียงน้อยนิดว่า มันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสามี-ภรรยาคู่หนึ่ง (รับบทโดย ฮาเวียร์ บาร์เดม และ เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์) ที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังใหญ่ห่างไกลผู้คนอย่างสงบสุข ก่อนการมาของแขกไม่ได้รับเชิญทั้งหลาย (นำโดย เอ็ด แฮร์ริส และ มิเชลล์ ไฟฟ์เฟอร์) ที่ก่อให้เกิดเรื่องราวระทึกขวัญสั่นประสาทตามมาอย่างคาดไม่ถึง ทว่านั่นเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมาทั้งหมดเท่านั้น

หนังเปิดเรื่องด้วยฉากเล็กๆ บางอย่างที่เหมือนไม่สลักสำคัญ ก่อนจะเริ่มเดินหน้าอย่างมั่นใจด้วยท่าทีเรียบนิ่ง เน้นการสร้างบรรยากาศอันไม่น่าไว้วางใจให้โอบล้อมตัวละครทีละน้อย แล้วค่อยๆใส่เหตุการณ์ไม่ชอบมาพากลเข้ามาเป็นระยะ พร้อมกันนั้นยังแทรกด้วยภาพอันสื่อถึงนัยบางประการเพื่อให้คนดูนำไปปะติดปะต่อและเชื่อมโยงเข้าด้วยกันอย่างเปี่ยมไปด้วยชั้นเชิง

หนังยังเลือกเล่าผ่านมุมมองของตัวละคร มาเธอร์! (ลอว์เรนซ์) ตลอดทั้งเรื่อง ด้วยเทคนิคการถ่ายภาพในมุมมองแทนสายตาตัวละคร, ภาพระยะประชิด และภาพข้ามไหล่ เพื่อรับรู้ถึงเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นรายรอบ ส่งผลให้เกิดความรู้สึกราวกับเรากำลังอยู่ข้างตัวละคร และ/หรือ เป็นหนึ่งเดียวกับตัวละครนี้ไปโดยปริยาย นับเป็นความจงใจชี้นำและดึงดูดให้คนดูกลายเป็นผู้สังเกตการณ์และร่วมเผชิญหน้ากับสถานการณ์ต่างๆ ที่ถาโถมเข้าใส่ตัวละครดังกล่าวอย่างไม่บันยะบันยัง กระทั่งอดที่จะเห็นใจและเอาใจช่วยเธอไม่ได้ เรียกได้ว่านี่เป็นการตัดสินใจอันชาญฉลาดของ แมทธิว ลิบาทีค ผู้กำกับภาพซึ่งเคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์จาก Black Swan (2010) ในการเลือกใช้มุมกล้องเหล่านี้เพื่อกดดันทั้งตัวละครและคนดูอย่างหนักหน่วงรุนแรง

อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้เลยก็คือการผูกโยงเรื่องราวเข้ากับประเด็นในคริสตศาสนา ซึ่งกระจายตัวอยู่อย่างเข้มข้นในแทบทุกอณูของหนัง จนอาจพูดได้ว่านี่คือหนังที่นำเสนอวิถีชีวิตของชาวคริสต์ในบริบทร่วมสมัย ผนวกเข้ากับตำนาน ความเชื่อ และคำสอนในพระคัมภีร์ไบเบิลได้อย่างแนบเนียน

น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือหนังเรื่องนี้ไม่มีดนตรีประกอบโดยสิ้นเชิง แรกทีเดียวผู้กำกับ อโรนอฟสกี้ ตัดสินใจเลือก โจฮานน์ โจฮานส์สัน (Arrival, Sicario, The Theory of Everything) มาเป็นผู้แต่งดนตรีประกอบให้ แต่เมื่อทั้งคู่ได้เห็นผลลัพธ์ที่ออกมาในห้องตัดต่อ ต่างก็เห็นตรงกันว่าการเลือกที่จะไม่ใส่ดนตรีประกอบเข้ามาน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ซึ่งก็เป็นจริงดังว่าและน่าเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการไร้เสียงดนตรีเข้ามาชี้นำอารมณ์และเรื่องราวต่างๆ ในแต่ละช่วง กลับช่วยเพิ่มบรรยากาศให้ดูลึกลับ น่าค้นหา และเปิดโอกาสในการตีความสารที่หนังกำลังสื่ออยู่ตรงหน้าได้กว้างขวางมากขึ้น

นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าตลอดเวลา 2 ชั่วโมงเต็มของหนัง ล้วนเกิดขึ้นและดำเนินไปในบ้านทรงแปดเหลี่ยม (ที่ถูกออกแบบและสร้างขึ้นมาใหม่โดย ฟิลิป เมสซินา ผู้ออกแบบงานสร้าง เพื่อถ่ายทำหนังเรื่องนี้โดยเฉพาะ) ทั้งสิ้น จนนับได้ว่าบ้านหลังดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งตัวละครสำคัญของเรื่อง และเลข 8 ยังมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับไคลแมกซ์ในตอนท้ายได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในหน้าที่พื้นฐานของความเป็นภาพยนตร์ซึ่งมักถูกมองเป็นสื่อบันเทิงชนิดหนึ่งด้วยแล้ว นับว่าผู้กำกับ ดาร์เรน อโรนอฟสกี้ ยังคงตอบโจทย์ข้อนี้ได้ดีไม่แพ้กัน เขาไม่เพียงเป็นผู้กำกับที่มีวิสัยทัศน์แปลกใหม่และน่าสนใจในการเลือกนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างลึกซึ้ง คมคาย ทว่ายังสามารถบอกเล่ามันออกมาได้อย่างน่าติดตาม บีบคั้นความรู้สึก และกระตุกอารมณ์คนดูเป็นระยะด้วยจังหวะที่แม่นยำชัดเจน ก่อนจะนำไปสู่จุดคลี่คลายที่สรุปปิดท้ายได้อย่างสมบูรณ์ หนำซ้ำยังดึงเอาความสามารถเฉพาะตัวของนักแสดงออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่อีกด้วย

ในกรณีของ เอ็ด แฮร์ริส อาจทำหน้าที่ได้ดีตามมาตรฐานเท่าที่บทจะเอื้ออำนวย ขณะที่ มิเชลล์ ไฟฟ์เฟอร์ นั้น เรียกได้ว่าเป็นการกลับมาที่สมศักดิ์ศรี แม้ระยะเวลาในการปรากฏตัวบนจอจะไม่มากนัก แต่เธอก็สามารถตรึงความสนใจจากคนดูให้ไม่อาจละสายตาไปจากเธอได้ทุกครั้ง ทางด้าน ฮาเวียร์ บาร์เดม ก็สามารถสร้างสรรค์ตัวละครของเขาให้ออกมาดูน่าเกรงขามและยากจะลืมเลือน อย่างไรก็ตาม คนที่ได้รับโอกาสในการแสดงฝีไม้ลายมือมากที่สุดคงจะหนีไม่พ้น เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ เธอสามารถแบกหนังทั้งเรื่องเอาไว้ได้อย่างน่าทึ่ง ผ่านการแสดงที่เก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ทั้งจากสีหน้าแววตา ซึ่งถูกจับจ้องผ่านกล้องที่คอยตามประกบเธออยู่แทบตลอดเวลา (ว่ากันว่า ในความยาวทั้งหมด 121 นาทีของหนัง มีช็อตที่เป็นภาพโคลสอัพตัวเธอ ตั้งแต่ระยะครึ่งตัวไปจนถึงระยะโคลสอัพใบหน้า นานถึง 66 นาทีด้วยกัน!) นี่จึงนับเป็นบทบาทใหม่ของ ลอว์เรนซ์ ที่แตกต่างไปจากที่คุณเคยเห็นมาก่อนทั้งหมดโดยสิ้นเชิง

Trailer:

AUTHOR