Kimi no Suizo wo Tabetai : หนังสะท้อนปัญหาและภาพฝันที่ไม่มีวันเป็นจริงของสังคมญี่ปุ่น

Director: Sho Tsukikawa
Region: Japan
Genre: Drama

ปกติแล้ว เราเป็นคนที่ดูภาพยนตร์ญี่ปุ่นน้อยมาก และบอกตามตรงว่า เราสนใจหนังเรื่องนี้เพราะชื่อเรื่องไทยแสนสะดุดตาว่า ตับอ่อนเธอนั้น ขอฉันเถอะนะ เราอ่านทวนชื่อหนังซ้ำๆ พลางคิดว่า มันจะเป็นหนังเกี่ยวกับความรักได้ยังไงนะ หรือคนญี่ปุ่นเวลาชอบใครเค้าจะขอกินตับอ่อนอีกฝ่ายกัน ในเมื่อเราสงสัย เราก็ต้องไปดูให้หายสงสัยสักที

君の膵臓をたべたい (Kimi no Suizo wo Tabetai) เป็นภาพยนตร์โรแมนติก-ดราม่าที่สร้างจากนิยายชื่อเดียวกันกับหนัง เล่าเรื่องราวของชิกะ (รับบทโดยทะคุมิ คิตะมุระ และชุน โอกุริ รับบทเป็นชิกะตอนโต) หนุ่มหนอนหนังสือผู้ไม่สนใจสิ่งรอบข้างและเป็นกรรมการห้องสมุดของโรงเรียนมัธยม ซากุระ ยามากูจิ (รับบทโดยมินะมิ ฮะมะเบะ) หญิงสาวขวัญใจหนุ่มๆ เพื่อนร่วมชั้นของชิกะ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกันโดยบังเอิญ เนื่องจากชิกะพบไดอารี่ของซากุระที่มีชื่อว่า บันทึกร่วมโรค จนได้รู้ความลับว่าเธอมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับตับอ่อน และกำลังจะเสียชีวิตในไม่ช้า เขาจึงคอยอยู่ดูแลซากุระจนถึงวาระสุดท้ายในชีวิตเธอ 12 ปีต่อมา ชิกะทำงานเป็นครูในโรงเรียนที่เขาจบการศึกษา ในขณะนั้นเอง เขาก็ได้พบความลับบางอย่างที่แอบซ่อนไว้ในห้องสมุดของโรงเรียน

*Spoiled Alert บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์*

ความแตกต่างสุดขั้วของตัวละคร

พระเอกอย่างชิกะเป็นคนเงียบๆ ไม่สุงสิงกับใคร เขามองว่าตัวเองค่อนข้างไร้ค่า ขณะเดียวกันก็เป็นไอ้ขี้แพ้ในสายตาคนอื่น ลักษณะทั้งหมดนี้เป็นลักษณะบุคลิกภาพแบบอินโทรเวิร์ต (introvert) ที่มักเก็บงำความรู้สึกและระแวดระวังการพุดคุยกับคนอื่น ถ้าเขาจะมีเพื่อนสักคนจึงต้องใช้ระยะเวลาที่นาน ผิดกับซากุระ นางเอกที่เป็นหญิงสาวร่าเริง สนุกสนาน มีเพื่อนมากมาย เธอเข้าสังคมเก่งหรือเรียกว่าเป็นคนที่มีบุคลิกภาพแบบเอ็กซ์โทรเวิร์ต (extrovert) เมื่อจับสองบุคลิกภาพนี้มาเจอกัน ทำให้เราเห็นขั้วตรงข้ามของคนทั้ง 2 รูปแบบได้อย่างชัดเจน

สำหรับเรา เรารู้สึกว่าตัวละครไม่ค่อยเกื้อหนุนความรู้สึกต่อกันสักเท่าไหร่ กลับกัน เราคิดว่าการเข้ามาของนางเอกต่อพระเอกยิ่งเป็นการผลักไสพระเอกให้ไปอยู่ในดินแดนคนชายขอบมากขึ้น อย่างการถูกเพื่อนในห้องกลั่นแกล้งเมื่อเพื่อนรู้ว่าพระเอกสนิทกับนางเอก และยิ่งทำให้พระเอกไม่อยากเข้าสังคมมากกว่าตอนแรกเสียอีก

ปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไขของสังคมญี่ปุ่น

นอกเหนือจากความเจ็บป่วยของนางเอกแล้ว สิ่งที่หนังทำให้เรารู้สึกสะเทือนใจมากๆ ก็คือฉากการตายของนางเอก ซึ่งเธอตายเพราะถูกฆาตกรต่อเนื่องใช้มีดแทง หนังพยายามปูเรื่องให้เราคิดว่าซากุระจะตายด้วยโรคในตอนสุดท้าย แต่สุดท้ายคนเขียนบทก็หักหลังคนดู

เมื่อกลับมาคิดอีกที การฆ่าคนตายในลักษณะนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยในสังคมญี่ปุ่น การฆาตกรรมแบบสุ่มเพื่อความสะใจยังคงเป็นปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข เนื่องด้วยสภาพสังคมญี่ปุ่นที่กดดัน บีบรัดวิถีชีวิตจนไร้ทางออก ทำให้การฆ่าคนเป็นหนทางระบายอารมณ์ หรือเป็นหนทางที่เกิดจากคนที่สติวิปลาส ปัญหานี้ยังรวมไปถึงการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน หรือสภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่ไม่มีเวลาให้หยุดพักจนเกิดความเครียด ส่วนตัวเราคิดว่าการเก็บกดที่ไม่ระบายให้ถูกที่ถูกทางก็เป็นปัญหาทางสังคมที่รัฐบาลควรหันมามองและแก้ไขเช่นกัน

ดังนั้น ภาพที่ Kimi no Suizo wo Tabetai ทำได้ดีคือการสะท้อนความรู้สึกของคนรอบตัวเหยื่อที่ต้องสูญเสียบุคคลที่รักไปก่อนวัยอันควร แต่ที่น่าเสียดายคือเราอุตส่าห์จะอินแล้วว่าซากุระจะตายด้วยโรคร้าย แต่กลับไม่เป็นอย่างที่คาด การเข้ามาของฆาตกรจึงดูไม่เป็นเหตุเป็นผลนัก แม้จะปูเรื่องด้วยข่าวการโดนแทงในเมืองมาอย่างต่อเนื่องในตอนต้นเรื่องแล้วก็ตาม

ความแฟนตาซีที่เหนือจริง

เนื่องจากหนังเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากนิยายขายดีในญี่ปุ่น พอมาเป็นหนัง live-action จริงๆ จะให้มันจริงไปหมดมันก็ไม่ใช่ ทำให้มู้ดโทนของหนังมีอารมณ์เหมือนการ์ตูน หรือนิยายรักหวานแหววประโลมโลก ถ้าคุณไม่ชอบหนังรอมคอมจากญี่ปุ่น แน่นอนว่าคุณจะไม่ถูกจริตกับหนังเรื่องนี้สักเท่าไหร่ แต่จากรายได้ของหนังในประเทศตัวเองที่ถล่มทลายกว่า 252 ล้านเยน สะท้อนให้เราเห็นว่าคนญี่ปุ่นกำลังเสพเรื่องราวที่สวยงาม ผิดกับสภาพสังคมตอนนี้ที่เศรษฐกิจตกต่ำและมีปัญหาคั่งค้าง

มีบางประเด็นในหนังที่เรารู้สึกว่าประดักประเดิดไปหน่อย อย่างตอนที่นางเอกป่วยตลอดมา แต่พ่อแม่ไม่เคยมาเฝ้าเลย ตรงนี้ถ้ามองกันในพื้นฐานความเป็นจริงนั้นผิดธรรมชาติมาก หรือว่าการที่อนุญาตให้ซากุระออกไปเที่ยวกับเพื่อนตามลำพังในช่วงที่กำลังป่วยหนัก

รักแต่ไม่มีคำว่ารัก

ตัวหนังดำเนินไปอย่างเรียบง่าย ไม่รวดเร็ว แต่ไม่น่าเบื่อ ส่วนการเล่าเรื่องสไตล์ non-linear ก็ทำได้ดีเช่นกัน คือตัดสลับช่วงเวลาในอดีตกับปัจจุบันได้อย่างไม่สะดุด งานภาพสวยจนเราอยากจะกดจองตั๋วไปญี่ปุ่นซะเดี๋ยวนี้ ตอนนี้ ตัวหนังยังแฝงไปด้วยการรับมือกับความตายอย่างสงบและงดงาม การเติบโตเพื่อค้นหาความหมายในชีวิตและมิตรภาพความเป็นเพื่อน

เรื่องที่เราชอบคือการใช้วลีที่ถูกผลิตจากความเชื่อดั้งเดิมของคนญี่ปุ่นที่ว่า ถ้าเจ็บป่วยส่วนไหนก็ให้กินอวัยวะส่วนนั้นของสัตว์อื่น ซากุระก็เลยขอกินตับอ่อนของชิกะเอาเสียดื้อๆ และในตอนท้าย วลีนี้ก็ถูกตอกย้ำให้สะท้อนภาพแทนความผูกพันกันมากขึ้นเรื่อยๆ จนเหมือนจะเป็นคำบอกรักในตอนท้ายเสียด้วยซ้ำ ประมาณว่ารักนะแต่ไม่แสดงออกยังไงยังงั้นเลย

AUTHOR