Director: Shotaro
Endo
Region: Japan
Genre: Documentary
สำหรับใครที่เป็นคออาหารญี่ปุ่น โดยเฉพาะซูชิทูน่าคำโตหรือแซลมอนซาชิมิสดใหม่จากทะเล
หรือใครที่เคยมีประสบการณ์ตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อนั่งรถไปดูการประมูลปลาแบบได้กลิ่นคาวเต็มจมูก
คงเตรียมตัวไปดูสารคดีเรื่องล่าสุดที่ Documentary
นำเข้ามาฉายอย่าง
Tsukiji Wonderland
กันแล้วแน่ๆ เพราะแค่ดูทีเซอร์ก็ยั่วน้ำลายให้อยากรู้แล้วว่าหนังจะพาเราไปรู้จัก ‘ครัวที่หล่อเลี้ยงอาหารทะเลไปทั่วญี่ปุ่นและต่างประเทศ’ แห่งนี้ในแง่มุมไหนที่มากไปกว่าที่เราเคยตื่นเช้าไปดูบรรยากาศการประมูลปลาสุดตึงเครียด
แล้วยืนหนาวรอต่อคิวเข้าร้านซูชิแถวนั้น
ยิ่งในวาระที่ตลาดสึกิจิกำลังจะย้ายจากที่ตั้งเดิมซึ่งอยู่มาตั้งแต่ปี
1935 ไปยังย่านโทโยสึช่วงปลายปีนี้ เพื่อนำสถานที่ไปรองรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียวในปี
2020 ที่จะมาถึง
Tsukiji Wonderland จึงเป็นเหมือนบทบันทึกประวัติศาสตร์ว่าตลอด 80
ปีของตลาดแห่งนี้มีที่มา เรื่องราว และความสำคัญอย่างไรไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดูกัน
การเล่าเรื่องของ Tsukiji Wonderland อาศัยวิธีการแบ่งเป็นหัวข้อๆ คล้ายกับเรากำลังอ่านหนังสือบทต่างๆ
ซึ่งแต่ละบทอาจจะไม่ได้ลงรายละเอียดลึกมากพอสำหรับใครที่ต้องการข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์จริงจัง
แต่ประเด็นสำคัญที่เราเห็นฉายชัดไปที่ ‘ความสัมพันธ์’ ของบุคคลที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจและจิตวิญญาณในตลาดแห่งนี้
ไล่เรียงตั้งแต่ชาวประมง พ่อค้าส่ง พ่อค้าคนกลาง พ่อค้าค้าปลีก เชฟร้านซูชิชื่อดัง
ไปจนถึงคนกิน แถมยังพูดไปถึงคนส่งน้ำแข็งที่คอยรักษาให้ปลาทั้งตลาดสดใหม่เสมออีกด้วย
สารคดีเรื่องนี้ชี้ให้เห็นความผูกพันเป็นเหมือนครอบครัวของคนเหล่านั้น
ไว้วางใจในความเป็นมืออาชีพของกันและกัน พ่อค้าส่งเชื่อใจชาวประมงที่จับปลาคุณภาพดีมาให้ด้วยความยากลำบาก, เชฟร้านต่างๆ ไว้ใจให้พ่อค้าคนกลางหรือ
‘นากาโอโระชิ’ ผู้รอบรู้และเลือกสรรปลาที่ดีที่สุดมาให้
ในหนัง เราเลยมักได้ยินประโยคใจความซ้ำๆ ที่บอกว่าพวกเขาไม่ได้ซื้อขายปลาหรืออาหารทะเลเหล่านั้นเพื่อหวังผลกำไร
แต่มันคือการทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมาอย่างดีที่สุดมากกว่า
ในแง่รายละเอียด หนังพาคนดูอย่างเรา
(ผู้ยังไม่เคยไปเยือนตลาดสึกิจิ) ไปสนุกกับวิธีเลือกซื้อปลาแต่ละประเภท บรรยากาศแสนตึงเครียดในห้องประมูลราคาปลา
เห็นการทำงานที่เกิดจากความเชี่ยวชาญและเป็นระบบของทุกฝั่งฝ่าย แต่สำหรับใครที่ลืมเติมท้องก่อนเข้าไปดูอาจต้องทนกลืนน้ำลายหน่อยตอนที่หนังพาไปรู้จักอาหารประจำฤดูกาล
ดูว่าปลาแต่ละชนิดจะอร่อยที่สุดในเดือนไหนของปี พร้อมยกขบวนเมนูซูชิจากร้านชื่อดังหลายร้านมาชวนเรียกน้ำย่อยเราตลอดทั้งเรื่อง
Tsukiji Wonderland เลยพาเราไปไกลกว่าแค่พื้นที่ 280,000 ตารางเมตรของตลาดแห่งนี้
แต่ชวนไปเข้าใจที่มาของอาหารที่เรากำลังจะกินตรงหน้าว่าเริ่มมาจากไหน อาศัยความทุ่มเทที่ต้องตื่นแต่เช้าตรู่มาตลาด
ความชำนาญในการเลือกซื้อปลาซึ่งเกิดจากประสบการณ์เก๋าเกม จิตวิญญาณที่อยากส่งต่ออาหารที่ดี
และความละเมียดละไมในการสรรสร้างเมนูของเหล่าผู้คนที่อยู่ ณ ที่แห่งนั้น ทั้งหมดทำให้เราเข้าใจความหมายของคำว่าอาหารได้ลึกซึ้งขึ้นว่ามันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ของคนที่ภาคภูมิใจในงานอย่างแท้จริง
พาร์ตหนึ่งของหนังยังพยายามเล่าไปถึงวัฒนธรรมอาหารของสังคมญี่ปุ่นทุกวันนี้ที่คนรุ่นใหม่เริ่มไม่ทำอาหารกินเอง
แล้วหันไปทานอะไรง่ายๆ อย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหรืออาหารแช่แข็ง
สิ่งนี้ตกทอดไปยังเด็กๆ วัยประถมที่ไม่กล้ากินปลาเพราะกลัวก้าง จนเหล่า ‘นากาโอโระชิ’ ต้องร่วมมือกับผู้จัดหาอาหารกลางวันให้โรงเรียนและนักโภชนาการ
เพื่อถ่ายทอดความรู้และความเชื่อที่ว่าการได้กินอาหารที่มาจากธรรมชาตินี่แหละคือ ‘ของจริง’
ถึงท่าทีและภาษาที่หนังใช้อาจดูบิ้วอารมณ์ร่วมมากไปบ้าง
แต่ก็ยอมรับว่าเรารู้สึกอิ่มใจ (แต่หิวมาก) กับสิ่งที่หนังสื่อสารจริงๆ ผ่านคำพูด
แววตา และหน้าที่ประจำที่คนในตลาดแห่งนี้ทำทุกวันโดยไม่เบื่อเลย
ความหมายของคำว่า Wonderland ในชื่อหนังเลยอาจไม่ใช่วัตถุดิบสดใหม่ที่หาได้จากท้องทะเลญี่ปุ่น
ไม่ใช่วัฒนธรรมประมูลปลาสุดดุเดือด แต่คือ ‘ชีวิต’ และ ‘จิตใจ’ ของทุกคนที่เติบโตมาพร้อมกันในที่แห่งนี้
ฉากสุดท้ายของหนังเป็นภาพการปิดร้านประจำปีของตลาดที่พ่อค้าทุกร้านจะเรียกพนักงานมายืนล้อมเป็นวงกลม
แล้วขอบคุณกันและกันถึงความทุ่มเทที่ทำงานหนักมาตลอดทั้งปี
‘โย้สสสสสส!’
แล้วตามด้วยเสียงปรบมือก้อง
ทำให้ต่อจากนี้เราคงกินซูชิได้อร่อยขึ้นมากเลยล่ะ
🙂