The Lovers & The Despot : เกาหลีเหนือ ดินแดนที่แสนจะมีเสรีภาพ (ในการสร้างหนัง)

Director: Ross Adam, Robert Cannan
Region: USA
Genre: Documentary / Thriller

ถ้าจะมีเรื่องราวของใครสักคนปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์เกาหลีใต้
ชื่อของชเว อึนฮี (Choi Eun-hee)
อดีตดาราสาวซูเปอร์สตาร์ และชิน ซางอ๊ก (Shin Sang-ok)
ผู้กำกับภาพยนตร์มือทอง ก็น่าจะถูกบันทึกไว้ด้วยเหตุผลสุดเหลือเชื่อ เมื่อสองสามีภรรยาที่กำลังรุ่งโรจน์แห่งวงการภาพยนตร์ในยุคที่เกาหลีใต้ปลุกปั้นวัฒนธรรมป๊อปไว้เป็นอาวุธต่อกรกับต่างชาติ
กลับหายตัวไปอย่างไร้เงื่อนงำเมื่อปี 1978 หลังจากนั้นอีก 5
ปี คนทั้งโลกถึงได้รู้ว่าพวกเขาถูกลักพาตัวไปยังดินแดนโสมแดง ศัตรูผู้ใกล้ชิดของบ้านเกิด เพื่อไปช่วยอดีตผู้นำ
คิม จองอิล (Kim Jong-il) พัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีเหนือให้รุ่งเรือง

ฟังดูทั้งประหลาดและไม่น่าเชื่อ, แต่เหตุการณ์นั้นก็เกิดขึ้นจริงและถูกเขียนเล่าในหนังสือ
A Kim Jong-Il
Production: The Extraordinary True Story of a Kidnapped Filmmaker
ก่อนที่สารคดี
The Lovers & The
Despot
นี้จะรวบรวมคำบอกเล่าจากชเว
อึนฮี ตัวเป็นๆ และเหล่าบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สุดระทึกครั้งนี้ให้เราได้ลองสำรวจความจริง
รวมถึงสิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดคือ เทปบันทึกเสียงของคิม จองอิล ที่ดาราสาวได้แอบอัดเสียงเก็บไว้ตลอดการถูกกักขังในยุคที่แทบไม่มีใครบนโลกเคยได้ยินเสียงของอดีตท่านผู้นำคนนี้มาก่อน

สำหรับใครที่ไม่ได้ติดตามเหตุการณ์นี้อย่างใกล้ชิด
ตัวหนังก็ปูพื้นฐานในช่วงต้นเรื่องให้ได้เข้าใจอย่างไม่ลำบากนัก
ตัดสลับคำบอกเล่าของชเวในวัย 89
ปี กับฟุตเทจการแสดงของเธอในยุคเก่าๆ หนังเล่าตั้งแต่การพบเจอกันของชเวกับชิน
ไปจนถึงช่วงระหองระแหงกันที่ทำให้นางเอกสาวเลือกเดินทางไปเจรจางานแสดงคนเดียวที่ฮ่องกง ก่อนจะถูกลักพาตัวไปโดยสายลับของฝั่งเกาหลีเหนือ
จนเมื่อทั้งคู่ได้มาพบเจอกันอีกครั้งเมื่อชิน ซางอ๊กเองก็ถูกลักพาตัวตอนที่มาตามหาเธอเช่นกัน
ทั้งคู่ยอมจับมือกับท่านผู้นำและร่วมกันทำหนังในนามของเกาหลีเหนือส่งออกไปมากมายจนคล้ายจะกลายเป็นคนสนิทของคิม
จองอิล จนจบลงที่เหตุการณ์สุดตื่นเต้นเมื่อทั้งคู่เดินทางไปยังเทศกาลภาพยนตร์ที่ออสเตรีย
และวางแผนหลบหนีมาขอความช่วยเหลือกับสถานทูตสหรัฐอเมริกาในกรุงเวียนนา ชเวเล่าในหนังว่า วินาทีแห่งความอิสระเกิดขึ้นจริงในตอนนั้นเอง หลังจากต้องใช้ชีวิตอย่างหวาดกลัวมากว่า
8 ปี

ถึงจะเป็นเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ที่หาอ่านได้ทั่วไป
แต่สองผู้กำกับก็เก่งกาจในการควานหาตัวบุคคลจากหลากหลายฝ่ายมาบอกเล่าให้เรามองเรื่องนี้ได้รอบด้านหลากมิติมาก
ทั้งนักสืบชาวฮ่องกง อดีตซีไอเอที่ไม่มีชื่ออยู่ในเอกสาร
เพื่อนนักข่าวชาวญี่ปุ่นของผู้กำกับชิน รวมไปถึงคำบอกเล่าของคนสนิทกับคิม จองอิล
ที่ช่วยให้เราเห็นภาพอดีตผู้นำคนนี้เปลี่ยนไปไม่น้อย บวกกับลูกล่อลูกชนในการตัดต่อและสร้างซีนจำลองเหตุการณ์ทริลเลอร์ให้เราตื่นเต้นนิดๆ
ก็พอทำให้หนังไม่น่าเบื่อเกินไป

หากไม่นับประเด็นที่หนัง (เกือบๆ)
จงใจฉายภาพระบอบเผด็จการเต็มรูปแบบของเกาหลีเหนือในยุคนั้นแล้ว
หนังยังตั้งคำถามต่อคำว่าเสรีภาพในความหมายของแต่ละคนและชนชาติอีกด้วย บางทีภายใต้คำว่าล้างสมองและกดขี่ข่มเหงที่ทั่วโลกมอบให้ผู้นำเกาหลีเหนือ
อาจมีคำว่ายินยอมพร้อมใจแอบแฝงอยู่ในตัวประชาชนไม่มากก็น้อย อย่างที่ผู้กำกับชินเคยพูด
(ไม่ว่าจะด้วยความจริงหรือลวงหลอกคิม จองอิลให้ตายใจ) ว่าที่เกาหลีเหนือ
เขากลับมีอิสระทั้งเงินทุนและเนื้อหาที่จะสร้างสรรค์หนังได้หลากหลายกว่าตอนที่เขาอยู่บ้านเกิดเสียอีก

เราแอบเสียดายหน่อยๆ ที่หนังมีฟุตเทจช่วงที่ผู้กำกับชินทำหนังในเกาหลีเหนือไม่มากนัก
รวมไปถึงคำบอกเล่าเรื่องราวตลอดการกักขังของชเวก็ไม่ได้ทำให้เราเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นเท่าไหร่
ส่วนตัวเราเลยยังไม่สามารถลบความสงสัยที่ชาวเกาหลีใต้เคยมีต่อการลักพาตัวครั้งนี้ได้ว่าเป็นแผนการของคิม
จองอิล จริงหรือไม่ หรือเป็นแค่การกุเรื่องมาแก้ต่างให้กับการหนีไปหาเสรีภาพในการสร้างสรรค์งานของสองสามีภรรยา

สุดท้าย ฉากที่ทำให้เราขนลุกเกรียวเลยไม่ใช่ตอนที่ทั้งคู่ได้รับอิสระอย่างที่วางแผนไว้
แต่ตกไปอยู่กับซีนท้ายๆ ของหนังที่เราแอบเห็นภาพซ้อนทับบางอย่าง ระหว่างเกาหลีเหนือกับประเทศไทย

ถึงจะเบาบาง
แต่กลับตั้งคำถามให้เราได้มากมายทีเดียวล่ะ

AUTHOR