Café Society : สังคมขมปี๋ ดีแต่ฝันหวาน

Director: Woody Allen
Region: USA
Genre: Comedy / Drama / Romance

วู้ดดี้ อัลเลน เป็นคนทำหนังที่ยิ่งแก่ยิ่งร้ายกาจ เพราะไม่ว่าจะเขียนบทหนังที่เสียดสีชีวิตอันเจ็บปวดชวนขันของมนุษย์หน้าไหน มันก็จะออกมารื่นรมย์เกินเหตุเสียทุกครั้ง ฟิลเตอร์การมองโลกของลุงแว่นหนาวัย 80 ได้เปลี่ยนเรื่องน่าเศร้าใดๆ ให้กลายเป็นความหอมหวานหนึ่งของการมีชีวิต (แถมเรายังไม่เบื่อเสียทีด้วยสิ) ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องเกินคาดหมายหากเราดู Café Society หนังเรื่องล่าสุดของลุงจบ แล้วจะเดินออกจากโรงด้วยยิ้มระเรื่อ ทั้งที่ตอนจบของหนังปราศจากสุขสมหวัง

ดนตรีแจ๊ซย้อนยุค ความลื่นไหลของบทสนทนา และชั้นเชิงในการเล่าเรื่องแบบจิกกัดของอัลเลนทำให้เราเปิดรับและตามติดชีวิตตัวละครหลักไปแบบเพลินๆ ไม่หนักสมองเช่นเคย หนนี้ตัวเอกคือบ๊อบบี้ หนุ่มยิวที่ยังไร้อนาคต ผู้เกิดและโตในย่านเดอะบรองซ์ นิวยอร์ก เขาเดินทางไปลอสแองเจลิสเพื่อหวังฝากอนาคตไว้กับน้าของเขาซึ่งเป็นคนสำคัญของวงการฮอลลีวู้ดอันเฟื่องฟูในยุค 1930 ช่วงเวลานั้นเขาได้ตกหลุมรักกับวอนนี่ เลขาฯ ของน้าผู้ทั้งสวยและฉลาด แถมยังทำให้ความคิดขบถของเขามีตัวตน แต่เธอดันมีคนรักเสียแล้ว และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของ บลาบลาบลา อีกมาก…

ถ้าเทียบกับหนังเรื่องก่อนหน้าของอัลเลน Café Society โดนเราหักคะแนนในเรื่องย่อยบางตอนที่อุตส่าห์ปูมาตอนต้นแต่ดันทำหล่นหายไปตอนใกล้จบเสียดื้อๆ น่าเสียดายมาก แต่ยังดีที่ความปากจัดของอัลเลนนั้นเป็นส่วนผสมหลักที่กอบกู้สถานการณ์ไว้ได้ เสียงบรรยายที่เหมือนกำลังนินทาชีวิตผู้คน ทัศนคติแอนตี้วงการฮอลลีวู้ด ตัวละครที่ถูกสร้างมาเสียดสีคนอเมริกันเชื้อสายยิว ความลุ่มหลงในความรักของมนุษย์ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ความย้อนแย้งชวนหมั่นไส้ อะไรทำนองนี้คือรายละเอียดที่ผู้กำกับวัยดึกไม่เคยทำให้เราผิดหวัง แถมยังเนียนขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งที่ทำปฏิกิริยาต่อวัยกลางคนอย่างเราที่สุด คือตอนจบของหนังที่คล้ายกับตบหน้า ว่าที่แท้การไขว่คว้าหาตัวตนทั้งในชีวิตและความรักอาจเป็นเพียงของมายาคติของวัยและสังคมที่ฉาบฉวย เมื่อพบความไม่สมหวัง เราก็แค่ตระหนักว่าชีวิตต้องดำเนินต่อไป สุดท้ายแล้วชีวิตไม่ใช่อย่างที่ฝัน เราอาจต้องลงเอยกับตัวตนที่เราเคยไม่ชอบ อยู่กับคนที่ไม่ได้รักมากที่สุด อยู่ในสังคมที่เราค่อนขอด บางครั้งคราวเมื่อวันผันผ่าน เราอาจนึกหลับตาฝันหวานถึงความสวยงามสมหวังที่ต้องการพานพบ สุขกับการจินตนาการถึงชีวิตอื่นที่เราไม่เคยมี นี่แหละหนามนุษย์

การแสดงที่พราวเสน่ห์ของตัวละครหลักทั้งสามคืออาวุธร้ายกาจที่อัลเลนเลือกมาสะท้อนความน่าขันของมนุษย์ แต่ที่ร้ายที่สุดคือสายตาเฉียบขาดในการหยิบจับเอาความรู้สึกที่อยู่ตรงกลางระหว่างความหดหู่และยินดี ความสุขบนความทุกข์ ความขมขื่นอันกลมกล่อม การฝันหวานถึงสิ่งที่ตัวเองไม่มีวันได้ ความซับซ้อนย้อนแย้งทำนองนี้คือรายละเอียดที่ดึงดูดให้เรารักหนังเรื่องนี้ชะมัด และคงไม่มีใครทำออกมาได้ดีเท่าอัลเลนในวัยที่ผ่านโลกมามากมายถึงเพียงนี้

AUTHOR