มายด์ ภัสราวลี : ถามได้ ตอบได้ ไขข้อข้องใจเรื่องการเมืองและการม็อบจากชาวเน็ต

Highlights

  • 'มายด์–ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล' แกนนำราษฎร กับการตอบตรงๆ ถึงข้อสงสัยที่เธอและผู้ชุมนุมมักเจอบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง 3 ข้อเรียกร้อง, สิทธิในการชุมนุม, ผู้อยู่เบื้องหลังการชุมนุม, ระบอบประชาธิปไตย, ความเหลื่อมล้ำ และอนาคตที่คนรุ่นใหม่อยากจะเห็น
  • "ต้องบอกก่อนว่าตอนนี้ทุกคนเป็นแกนนำ ราษฎรทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันที่จะเรียกร้องหรือส่งเสียงถึงปัญหาของตนเอง ซึ่งเรามีข้อเรียกร้องทั้งหมด 3 ข้อ คือ 1. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออก 2. ต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความยึดโยงและสะท้อนเจตจำนงของประชาชนอย่างแท้จริง 3. ต้องมีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์"
  • "อย่าไปปิดกั้นและดูถูกพวกเขาด้วยคำที่ว่า 'คนพวกนี้มีคนชักใยหรือเปล่า' มันเป็นการลดทอนกำลังใจและยิ่งทำให้พวกเราอยากออกมาแสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้ถูกชักจูงโดยใคร นี่คือความคิดของพวกเราเองจริงๆ และพวกเรามีความปรารถนาดีที่อยากจะเห็นสังคมนี้ดีขึ้น ไม่ใช่แค่เพื่อพวกเรา แต่เพื่อคนรุ่นหลังเราด้วย พวกคุณเคยคิดอย่างนี้หรือเปล่าล่ะ"

เร็วๆ นี้ เราเห็นการปะทะของอุดมการณ์เกิดขึ้นทุกที่

มันเกิดขึ้นทั้งทางออฟไลน์ (ม็อบชนม็อบ) และออนไลน์ (ช่องคอมเมนต์ตามเพจต่างๆ) ซึ่งต้นเหตุของการปะทะไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ล้วนมาจากความไม่เข้าใจและไม่เปิดใจให้กัน ดังนั้นคงจะดีไม่น้อยหากข้อสงสัยมากมายจะได้รับการไขความเข้าใจอย่างตรงไปตรงมา

ด้วยเหตุนี้เราจึงชวน มายด์–ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักกิจกรรมและแกนนำราษฎร มานั่งตอบคอมเมนต์และคำถามที่เธอมักเจอจากคนรอบตัวด้วยตัวเอง

อันที่จริงเรานัดคุยกับมายด์ตั้งแต่ช่วงเดือนที่แล้วแต่เพราะเธอถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อหาจนต้องไปรายงานตัวทำให้มายด์เราไม่สามารถเจอกันได้ กระทั่งถึงตอนนี้ที่เจอกัน มายด์ยังต้องระมัดระวังตัวเป็นพิเศษและดูเหน็ดเหนื่อย นั่นทำให้เราตระหนักได้ว่าถ้าตัดเรื่องบทบาทการเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองออกไป เธอก็ยังเป็นแค่คนวัย 25 ปีที่ควรจะได้ใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการภายใต้สภาพสังคมที่ดี

แม้ว่ามายด์จะเพิ่งก้าวเข้าสู่แวดวงนักกิจกรรมทางการเมืองอย่างเต็มตัวเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่หากย้อนไปในปี 2558 หนึ่งปีหลังการรัฐประหารโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครอบครัวของเธอคือหนึ่งในผู้ได้รับความเดือดร้อนจากเศรษฐกิจที่ดิ่งลงเรื่อยๆ และเมื่อได้รู้ว่ามีกลุ่มนักศึกษาถูกจับกุมเพียงเพราะไปทำกิจกรรมยืนรอเวลาครบรอบรัฐประหารที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ ก็ทุบสะเทือนให้เธอเริ่มตั้งคำถามและทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับการเมืองไทย

“ทั้งที่เราบอกว่าบ้านเราเป็นประชาธิปไตยแต่ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เรามีอำนาจมากน้อยแค่ไหนกันในประเทศนี้ คำถามมันเกิดขึ้นมาเองเลยว่าแค่ยืนมองเวลาเฉยๆ ยังทำไม่ได้แล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง” เธอเล่าด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

ข้อเรียกร้องของม็อบ สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม หน้าที่ของรัฐบาลและประชาชน และหลากหลายความเป็นไปได้ในประเทศไทยหากเพียง #ถ้าการเมืองดี เหล่านี้คือตัวอย่างข้อสงสัยที่เราคัดเลือกมาจากชาวเน็ตเพื่อให้มายด์ตอบในบรรทัดต่อไปนี้

เธอไม่ได้คาดหวังอะไรมากมาย อย่างน้อยแค่อยากให้คุณเข้าใจจุดประสงค์ของการเคลื่อนไหวครั้งนี้มากขึ้นสักนิดก็พอ

สรุปแล้ว 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมคืออะไรกันแน่

เรามีข้อเรียกร้องทั้งหมด 3 ข้อ คือ 1. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออก 2. ต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความยึดโยงและสะท้อนเจตจำนงของประชาชนอย่างแท้จริง 3. ต้องมีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ข้อนี้เป็นข้อที่มีคนถกเถียงเยอะ บางคนไม่ค่อยเข้าใจคำว่าปฏิรูป ต้องบอกว่าการปฏิรูปไม่ใช่ล้มล้าง ตามความหมายของคำว่าปฏิรูปคือทำให้ดีขึ้นเหมาะสมขึ้น ไม่ใช่คำที่มีความหมายในแง่ลบ แต่เป็นคำในแง่บวกที่เรามีความปรารถนาจะทำให้ดีขึ้น

ใน 3 ข้อเรียกร้อง การร่างรัฐธรรมนูญใหม่กับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประเด็นที่ต้องขยายความให้เข้าใจตรงกัน แต่เรื่องที่ทุกคนเข้าใจอยู่แล้วทำได้แน่นอน และทำได้เร็วคือประยุทธ์ต้องลาออก เขาควรต้องรู้ถึงศักยภาพของตัวเอง รู้ว่าประชาชนรู้สึกยังไงกับการที่คุณเป็นนายกรัฐมนตรีมาตลอด 6 ปี รู้ว่าตอนนี้ประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศและอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริงทนไม่ไหวแล้ว เขาไม่ต้องการให้นายกฯ คนนี้มาผลักดันประเด็นใดๆ ต่อจากนี้ แต่ต้องการนายกคนใหม่ที่มีศักยภาพ มีความสามารถมากพอที่จะมาผลักดันการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างจริงใจ

ประเทศก็ใช้ระบอบประชาธิปไตยอยู่นี่ พวกคุณจะมาเรียกร้องประชาธิปไตยอะไรกันอีก

การปกครองบ้านเราเป็นระบอบประชาธิปไตยก็จริง แต่ตอนนี้เหมือนเป็นแค่ชื่อ การบริหารจัดการจริงมันไม่ได้เป็นประชาธิปไตย คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อการรัฐประหารเข้ามาเมื่อปี 2557 ใช้อำนาจและกำลังยึดอำนาจประชาชน ฉีกรัฐธรรมนูญ นั่นคือเขาทำลายความเป็นประชาธิปไตยไปแล้ว ทั้งเขายังบริหารประเทศด้วยวิธีแบบเผด็จการ มีการใช้มาตรา 44 จับกุมผู้เห็นต่างทางการเมือง อุ้มคนเข้าไปในค่ายทหาร นี่เหรอเป็นประชาธิปไตย

เขาอาจจะปรับเปลี่ยนตัวเองโดยให้มีการเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งนั้นเราทุกคนต่างสงสัยว่าทำไมถึงมีบัตรที่งอกเงยในกล่อง มีการนับคะแนนที่งงๆ ยังไม่ค่อยเข้าใจกันด้วยซ้ำ ทำไมคนที่ไม่ได้มาจากประชาชนถึงได้เป็นนายกฯ หลายๆ อย่างตอบด้วยตัวของมันเองว่าการบริหารจัดการในปัจจุบันไม่ใช่ประชาธิปไตย ประชาชนไม่ได้เป็นคนสำคัญในการกำหนดโครงสร้างอำนาจตั้งแต่เริ่ม

อีกอย่างที่บอกได้ชัดเจนคือในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญต้องกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าคนที่มีอำนาจสูงสุดในประเทศนั้นคือใคร ซึ่งตามระบอบประชาธิปไตยต้องเป็นประชาชน แต่ในกรณีของประเทศไทย รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 256 บอกว่าหากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีเสียงยืนยันจาก ส.ว.จำนวน 1 ใน 3 แต่ ส.ว.ชุดนี้ไม่ได้มาจากประชาชน

 

ส.ว.ไม่ได้มาจากประชาชนได้ยังไง ในเมื่อเขาผ่านประชามติมา

คราวนี้เราต้องย้อนกลับไปดูรัฐธรรมนูญ​ปี 2560 มาตรา 269 ระบุไว้ว่าที่มาของ ส.ว. 250 คน มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ชัดเจน ส.ว.มาจากคณะรัฐประหารไม่ได้มาจากประชาชน แต่มีอำนาจเกินขอบเขตของประชาชน ดังนั้นหากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราต้องเปลี่ยนระบบให้รัฐธรรมนูญต้องมาจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากประชาชนหรือการเลือกตั้งทั้งหมด นี่คือการยึดโยงกับประชาชน

เราต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่สะท้อนความเป็นประชาธิปไตยจริงๆ รัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าอำนาจในการแก้ไขกฎหมายและเลือกคนมาบริหารบ้านเมืองต้องมาจากประชาชน เอาให้ชัดกว่านั้นอีกคือ การแสดงออกทางความคิดของประชาชนต้องไม่ถูกปิดกั้นหรือจำกัดด้วยกฎหมาย แต่ทั้งนี้ทุกคนต้องมีขอบเขต ในเมื่ออยากแสดงความคิดเห็นของตัวเองเราก็ควรเคารพและให้เกียรติความคิดเห็นของผู้อื่นด้วยเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะคิดเห็นเหมือนหรือต่างจากเราก็ตาม

ก่อนจะเรียกร้องให้ประเทศทำอะไรให้ น้องทำอะไรให้ประเทศบ้างหรือยัง

ประชาชนทุกคนไม่สามารถเข้าไปนั่งในสภาแล้วทำหน้าที่บริหารประเทศได้ แต่สิ่งที่ประชาชนทำได้คือเข้าใจถึงกลไกการทำงานและการบริหารประเทศ แล้วเลือกคนที่คิดว่าเหมาะสมเข้าไปทำงานแทน นี่คือหน้าที่ของประชาชน ถ้าจะถามว่าเราทำให้ประเทศหรือยัง เราอาจจะเกิดมาบนโลกนี้แค่ 20 กว่าปี แต่การที่เราตื่นตัวทางการเมือง ออกมาบอกให้ทุกคนตระหนักถึงสิทธิของตัวเอง มันสำคัญมากในการขับเคลื่อนและปกป้องประชาธิปไตย เพราะถ้าหากประชาชนไม่เข้าใจและตระหนักถึงสิทธิของตัวเอง ไม่รู้ว่าเขาทำอะไรในประเทศนี้ได้บ้าง เขาจะไม่รู้เลยว่าเมื่อไหร่ที่รัฐบาลเอาเปรียบหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพอยู่

การทำให้ทุกคนเข้าใจถึงสิทธิของตัวเองว่าเราทำอะไรได้บ้างในประเทศนี้ก็เป็นช่องทางหนึ่งในการทำอะไรให้ประเทศอย่างที่เขาว่า

 

เรียกร้องจะให้รัฐทำให้ทุกอย่าง ทำไมไม่เริ่มที่ตัวเองก่อน เป็นคนดีก่อนสิ

ในฐานะพลเมืองของประเทศ หน้าที่อย่างหนึ่งคือการจับตาดูการทำงานของรัฐบาล และหน้าที่หนึ่งของรัฐบาลคือการบริหารงานเพื่อประเทศ เพื่อประชาชน

บางคนอาจจะมองว่าให้ทำตัวเองให้เป็นคนดีก่อน แล้วแบบไหนถึงเรียกว่าดี ดีคืออะไร เราจำกัดความคำว่า ‘คนดี’ ให้เป็นรูปธรรมไม่ได้ การที่เราพยายามทำงานหาเงินมาดำรงชีพด้วยตัวเองในทุกวันๆ มันก็คือหน้าที่ที่ต้องทำอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ไม่ควรละเลย ไม่ควรลืมไปคือหน้าที่การเป็นพลเมืองของประเทศ เราต้องตระหนักตลอดเวลาว่าเราไม่ควรปล่อยให้รัฐบาลทำอะไรตามอำเภอใจโดยที่เราไม่เข้าไปดูอะไรเลย จะหวังพึ่งแค่รัฐบาลหรือทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องทำหน้าที่ในฐานะประชาชนคนหนึ่งเพื่อปกป้องสิทธิของคนส่วนรวมด้วย

แล้วไปชุมนุมในรูปแบบที่ไม่เดือดร้อนคนอื่นไม่ได้เหรอ

ต้องเรียนว่าการชุมนุมเป็นสิทธิสากล หมายความว่าประเทศที่มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย การชุมนุมบนท้องถนนสามารถทำได้ หนูอยากให้มองอย่างนี้ วันที่มีคนออกมาเยอะมากๆ จนสามารถปิดถนนได้ นั่นสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนส่วนหนึ่งทนไม่ไหว อึดอัดใจ ยอมที่จะสละเวลาส่วนตัวออกมาแสดงจุดยืนบนถนน ว่าเขาต้องการเรียกร้องอะไร ไม่พอใจอะไร และสิ่งไหนในสังคมที่ต้องแก้ไขบ้าง หนูว่ามันสำคัญมากกว่าการที่เราไปปิดถนน เราไม่ได้มีเจตนาสร้างความเดือดร้อน แต่เราต้องการส่งเสียงให้รัฐบาลที่เมินเฉยกับเสียงของเรามานานมากๆ ได้ยินว่าเราต้องการอะไร พวกเขาทำผิดอะไรบ้าง

การลงถนนอาจมีผลกระทบกับประชาชนคนอื่นบ้าง โดยส่วนตัวก็ต้องขออภัยจริงๆ แต่การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในปัจจุบัน หนูมองว่าหลายคนรู้วินัยของตัวเอง เรามีเวลาเริ่ม-เลิก ไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน แล้วก็แยกย้ายกลับบ้าน เราขอรบกวนเวลาบางส่วนในบางวันปิดพื้นที่เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลได้ฟังเสียงของเราบ้าง อยากให้ทุกคนมองว่าไม่มีใครที่อยากจะสร้างความเดือดร้อนหรือความปั่นป่วนให้สังคมหรอก แต่เมื่อรัฐบาลไม่ยอมฟังเสียง ไม่ยอมตอบสนองต่อข้อเรียกร้อง ไม่ยอมแสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาต่อประชาชน เราจึงต้องใช้วิธีการกดดันและเรียกร้องกับรัฐบาลอย่างจริงจังว่าเขาต้องเปลี่ยนเพื่อเราได้แล้ว

เอาเงินจัดม็อบมาจากไหน มีใครอยู่เบื้องหลังหรือเปล่า

คนถามเยอะมากว่ามีใครอยู่เบื้องหลังไหม มีท่อน้ำเลี้ยงหรือเปล่า มุมหนึ่งก็คิดว่าทำไมดูถูกพวกเราจังวะ ทำไมพวกคุณถึงดูถูกประชาชนด้วยกันเองได้ขนาดนี้ ทำไมถึงไม่คิดว่าพวกเราสามารถเรียกร้องแบบนี้ได้ มันไม่ได้ยากเย็นวุ่นวายอะไรมากเลย แค่มีการจัดการบ้าง แล้วเราก็เป็นคนจัดการเองด้วยนะ ไม่ได้จ้างใครมา ในตอนแรกเราต้องการแค่เครื่องเสียงและเวที แต่ตั้งแต่รัฐบาลได้มีการจับกุมผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ยึดเครื่องเสียงเราไปหมด ตอนนี้ก็เลยไม่มีเครื่องเสียงใช้แล้ว เครื่องเสียงที่เอามาทดแทนก็เป็นแค่เครื่องเสียงอันเล็กๆ ถ้าเรามีคนอยู่เบื้องหลังป่านนี้เราก็คงมีเวทีเบิ้มๆ ไปตลอดแล้วไม่ว่ารัฐบาลจะขัดแข้งขัดขาเราแค่ไหนก็ตาม

 

ผู้ชุมนุมก็แค่เด็กที่โดนล้างสมองโดยคนอีกพวกที่ต้องการมีอำนาจ

เอาจริงๆ อย่าดูถูกกันเลย คนที่ออกมาเป็นปากเป็นเสียงมีเยอะแยะ ตอนนี้เราอาจจะเห็นคนที่ออกมาพูดเป็นคนรุ่นใหม่ซะเยอะ แต่ถ้าดูจริงๆ ก็มีคนหลายวัยปะปนกัน มีทั้งคนอายุเยอะที่ต่อสู้มาก่อนหน้านี้และยังมีอุดมการณ์ หรือคนที่เด็กมากๆ อย่างเด็กมัธยมต้นที่มองว่าต้องออกมาเรียกร้องเพื่ออนาคตของตัวเอง ทั้งหมดไม่ได้เรียกร้องเอามันแต่เขากำลังเรียกร้องอนาคตที่ดี บางคนก็คิดว่าถ้าไม่ทำแบบนี้แล้วจะฝากฝังอนาคตของตัวเองไว้กับประเทศนี้ได้ยังไง เพราะเห็นอยู่ว่าการบริหารงานของรัฐบาลมันไม่เวิร์ก ซึ่งมันเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องออกมาเรียกร้อง

ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่ออะไรเลยแต่เพื่ออนาคตของประเทศชาติ พวกเขาต้องอยู่กับประเทศนี้ไปอีกนานซึ่งปัจจุบันมันยังดูไม่มั่นคงและบิดเบี้ยวอยู่ แล้วเราจะส่งต่อสังคมแบบนี้ให้ลูกหลานเราจริงเหรอ อย่าไปปิดกั้นและดูถูกพวกเขาด้วยคำที่ว่า “คนพวกนี้มีคนชักใยหรือเปล่า” มันลดทอนกำลังใจและยิ่งทำให้พวกเราอยากออกมาแสดงให้เห็นเลยว่าเราไม่ได้ถูกชักจูงโดยใคร นี่คือความคิดของพวกเราเองจริงๆ พวกเรามีความปรารถนาดีที่อยากจะเห็นสังคมนี้ดีขึ้น ไม่ใช่แค่เพื่อพวกเราแต่เพื่อคนรุ่นหลังเราด้วย

เด็กสมัยนี้อ่อนไหว โดนอะไรนิดหน่อยก็ต้องออกมาร้องแรกแหกกระเชอ

หนูว่ามันเป็นเพราะคนยุคนี้เริ่มตื่นตัวทางการเมืองมากกว่า เริ่มเข้าใจถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น เริ่มรู้แล้วว่าจริงๆ ฉันไม่จำเป็นต้องโดนตีในโรงเรียนก็ได้นะ เริ่มตั้งคำถามว่าทำไมเด็กในโรงเรียนต้องตัดผมสั้น หรือในเมื่อเราเห็นว่าทางม้าลายมันไม่ใช่ที่ที่เราจะเดินข้ามได้อย่างที่ควรจะเป็น ทำไมเราถึงจะเรียกร้องไม่ได้ มีหลายเรื่องในสังคมที่คนเริ่มเห็นแล้วว่ามันไม่เมคเซนส์ ไม่ถูกต้อง และคนก็เริ่มเข้าใจว่าในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่อยู่ในประเทศที่บอกว่าเป็นประชาธิปไตย เรามีสิทธิพูดในสิ่งที่เห็นและไม่พอใจได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องพูดอยู่ในกรอบที่ไม่ไปละเมิดสิทธิของคนอื่น

ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องยอมจำนนกับสิ่งที่เคยเจอ ค่านิยมหรือวัฒนธรรมที่เป็นสิ่งดีควรดำรงไว้ แต่หนูว่าค่านิยมหรือวัฒนธรรมบางอย่างที่ปิดกั้น ลิดรอน หรือละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่นต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทสังคมมากขึ้น สังคมหนึ่งไม่สามารถใช้กฎเกณฑ์เดิมๆ ไปตลอดกาลได้ ต้องมีการปรับปรุงให้เหมาะสมตามกาลเวลา

 

ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทุกรัฐบาลก็เป็นเหมือนกันหมด ทำไมเพิ่งมาเดือดร้อน

ที่ว่าเหลื่อมล้ำมาตั้งนานแล้ว ถูกต้อง ทุกการชุมนุมที่เคยเกิดขึ้นก็มีการพูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำมาโดยตลอด คำถามคือทำไมถึงไม่มีการแก้ไขให้ช่องว่างความความเหลื่อมล้ำตรงนี้มันลดลงสักทีต่างหาก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีโอกาสทำงานมาตั้ง 6 ปีแต่ไม่ทำ สิ่งนี้เราไม่ได้เห็นแค่ภาพแต่เห็นจากข้อมูลจากสภาพัฒน์ที่บอกว่าตั้งแต่ช่วงปี 2553-2563 ช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนมีเงินกับคนจนห่างกันถึง 20 เท่า ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเมื่อสิบปีก่อน ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีเวลาทำงานตั้ง 6 ปี ทำไมช่องว่างความเหลื่อมล้ำขยายไปเป็น 20 เท่า ดังนั้นม็อบจะไม่พูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ได้เพราะมันเห็นชัดในสังคม

คนที่เป็นชนชั้นกลาง คนในเมืองที่มีเงินเดือนประจำ มีรายรับอย่างมั่นคง คนส่วนนี้ควรจะเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศแต่กลับไม่ใช่ คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้เป็นคนชนชั้นแรงงานที่คนไทยเรียกติดปากว่าคนรากหญ้าซึ่งมีจำนวนเยอะมาก บางคนอดอยากถึงขนาดที่เงินค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงครอบครัว บางคนต้องเจียดเงินซื้อข้าวสาร 5 กิโลกรัมมาหุงให้คน 10 คนในบ้านกิน ทำไมถึงยังมีภาพบรรยากาศแบบนั้นอยู่

เราไม่อยากเห็นภาพแบบนั้นแล้ว เราไม่ควรให้มันเกิดขึ้นด้วย ทุกคนควรมีความสามารถในการยืนได้ด้วยรายรับของตัวเอง ประเด็นคือถ้ามีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและโครงสร้างความเหลื่อมล้ำนี้ในอนาคต เราต้องทำยังไงก็ได้ให้ช่องว่างระหว่างชนชั้นลดลงมาหรือขยับเข้าใกล้กันให้ได้มากที่สุด คนส่วนใหญ่ของประเทศควรเป็นชนชั้นกลางที่สามารถดำรงชีพได้ด้วยตนเอง คนจนที่เป็นคนส่วนใหญ่ในประเทศตอนนี้ก็ต้องมีจำนวนลดลงและได้รับการเยียวยาด้วยสวัสดิการที่ทั่วถึงอย่างการช่วยเหลือในเรื่องรักษาพยาบาล การศึกษา และคุ้มครองสิทธิต่างๆ ทั้งหมดนี้จะช่วยทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำลดลงมาได้และจำเป็นต้องแก้ไขอย่างรวดเร็วด้วย

ไม่เกี่ยวกับประชาธิปไตยหรือการเมืองหรือเปล่า คนจนจนเพราะไม่ยอมขยันทำงานเก็บเงินเอง

การมาตัดสินคนว่าจนเพราะเขาไม่ทำงานมันผิดมากเลยนะ เราไม่รู้ว่าแต่ละคนมีลักษณะในการหารายได้ยังไง ทำงานเหนื่อยยากยังไงในแต่ละวัน ดังนั้นจะไปตัดสินว่าคนที่จนอยู่ตอนนี้คือคนที่ไม่พยายามหาเงินไม่ได้ แต่สิ่งที่ทำได้คือการบอกรัฐบาลว่าตอนนี้มีปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ มีปัญหาเรื่องการกระจายสวัสดิการที่ไม่เท่าเทียมกัน เราบอกคนที่จะเป็นคนแก้ปัญหาให้ส่วนรวมได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปบอกคนอื่นว่า “เธอต้องทำงานเยอะๆ สิ เธอถึงจะรวย” อันนั้นคุณนั่นแหละที่ไม่ถูกต้อง

บางคนอาจยังมองว่าไม่ว่าใครก็รวยได้ อันนั้นไม่ผิด แต่สภาพสังคมตอนนี้มันเอื้อให้คนเราได้โชว์ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่มากพอหรือเปล่า การจัดการตรงนี้มันไม่ได้อยู่ที่ประชาชน มันอยู่ที่รัฐบาลที่ต้องอำนวยความสะดวก เปิดพื้นที่เสรีให้ประชาชนได้โชว์ความสามารถ โชว์ศักยภาพของตัวเอง แล้วเขาจะได้ใช้ความสามารถตรงนั้นหารายได้มาดำรงชีพของตัวเองได้มากขึ้น

ถ้าไม่พอใจนายกฯ แล้วออกมาไล่ได้ อีกหน่อยก็วนลูปแบบนี้ ไม่พอใจใครก็ต้องออกมาไล่

การชุมนุมที่มาจากความไม่พอใจหรือการออกมาเรียกร้องของประชาชนเป็นเรื่องที่ต้องมองว่าปกติ เพราะบ้านเราเป็นประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพที่จะเรียกร้องได้ จะมองว่ามันวนลูปก็ได้นะ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือจะทำยังไงให้มันไม่วนลูปล่ะ ดังนั้นเราต้องเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ยึดโยงกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ส่วนตัวเรามองว่ารัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนและสะท้อนเจตจำนงของประชาชนอย่างแท้จริงจะเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเข้มแข็งพอในการเป็นเครื่องมือบริหารประเทศต่อไปและมันจะส่งผลให้การเมืองไทยเข้มแข็งขึ้น ทั้งนี้รัฐบาลชุดต่อไปที่จะเข้ามาบริหารในกรอบของรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนต้องเข้าใจและตระหนักถึงหน้าที่ของตัวเองตลอดเวลาว่าเข้ามาทำเพื่อประชาชน จุดประสงค์และผลประโยชน์สูงสุดต้องเป็นไปเพื่อประชาชน รัฐธรรมนูญที่ดีและรัฐบาลที่รู้หน้าที่ของตัวเองจะส่งเสริมให้การเมืองมั่นคงมากขึ้น

เมื่อการเมืองมั่นคงแล้วจะทำให้การบริหารงานประเทศในส่วนอื่นพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ รัฐบาลที่เข้ามาไม่ต้องมัวเสียเวลากับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจทางการเมืองอีกต่อไป สามารถเอาเวลาไปปรับปรุงเรื่องอื่นๆ ในประเทศ เช่น การศึกษา การคมนาคม การนำเข้า แล้วประเทศเราจะเดินหน้าต่อไปได้ โดยไม่ต้องวนอยู่ในลูปเดิมๆ แบบที่เคยเกิดขึ้นอีก ซึ่งจริงๆ จะหวังพึ่งแค่รัฐบาลอย่างเดียวก็ไม่ได้เพราะกระบวนการทั้งหมดนี้ถ้าจะเกิดขึ้น ประชาชนต้องตระหนักถึงสิทธิของตัวเองตลอดเวลาและคอยบำรุงดูแลกระบวนนี้ให้มั่นคงเพื่อส่งต่อให้ลูกหลานเราในอนาคต

 

โตไปเดี๋ยวก็รู้ว่าอุดมการณ์มันกินไม่ได้ ผู้ใหญ่เขาผ่านกันมาก่อน เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้หรอก

เราจะคิดว่า​ “ยังไงก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้” เลยจะไม่ทำอะไรเหรอ หนูว่ามันไม่ใช่ ในเมื่อเรารู้แล้วว่าเรามีสิทธิแค่ไหนในประเทศนี้ เรามีอำนาจมากพอในการเรียกร้อง รู้ว่าอะไรถูกไม่ถูก อะไรควรไม่ควร เมื่อยึดมั่นในหลักตรงนี้เราก็ต้องเชื่อว่าวันหนึ่งต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นเราต้องเริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงจริงๆ เริ่มขยับตัวเพื่อให้สังคมได้รับรู้ว่ามีปัญหาเกิดขึ้นและเราร่วมกันแก้ไขมันได้

ถ้าไม่เริ่มทำก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย เพราะฉะนั้นอย่าไปมองว่าเราไม่สามารถทำอะไรได้ แต่ให้มองว่าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ถ้าเราเริ่มสร้างมันก่อน

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone

Video Creator

ชาคริต นิลศาสตร์

อดีตตากล้องนิตยสาร HAMBURGER /ค้นพบว่าตัวเองมีความสุขและสนุกทุกครั้งที่ได้ทำงานภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว