ทำไมดื่มนมแล้วปวดท้อง คนเอเชียแพ้นมจริงไหม? ไขความลับของ ‘นม’ เรื่องต้องรู้ก่อนตัดสินใจเลิกดื่ม

Highlights

  • ความจริงคนไทยกว่า 96% ดื่มนมวัวไม่ได้ และคนเอเชียมีภาวะพร่องแอนไซม์แลคเตสมากกว่าชาวตะวันตกที่ร่างกายปรับตัวกับการดื่มนมมาอย่างช้านาน ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชาวเอเชียอาจเกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ รวมถึงท้องเสียได้หลังจากดื่มนม
  • ไม่ใช่ว่าหลังจากรู้ความจริงเรื่องนี้แล้วชาวเอเชียจะอร่อยกับนมไม่ได้ เพียงแต่ต้องหัดควบคุมปริมาณการดื่มต่อครั้ง หมั่นจิบทีละน้อยๆ เพื่อให้ร่างกายย่อยน้ำตาลแลคโตสได้ทัน ที่สำคัญคือห้ามดื่มนมวัวตอนท้องว่างเด็ดขาด

เป็นที่รู้กันดีว่านมเป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์มากมายมหาศาล ไม่ว่าจะช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอในร่างกาย เสริมสร้างภูมิต้านทาน อุดมไปด้วยวิตามิน B1 ที่ช่วยบำรุงประสาทและหัวใจ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีวิตามิน B2 ที่ช่วยเสริมสร้างการทำงานให้ระบบเซลล์ผิวหนังทำให้ผิวสวย หน้าใส และดูอ่อนเยาว์อยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้นมกลายเป็นเครื่องดื่มขวัญใจคนทุกเพศ ทุกวัย 

แต่ชีวิตการดื่มนมของหลายๆ คนก็ต้องสะดุดเมื่อเกิดอาการบางอย่างกับร่างกาย เช่น ท้องอืด ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ ไปจนถึงอาเจียนหลังจากการดื่มนม จนเริ่มคิดว่าเป็นอาการ ‘แพ้นม’ แน่ๆ  แต่อาการผิดปกติลักษณะนี้จะเป็นชนวนที่ทำให้เราต้องเลิกดื่มนมไปเลยจริงๆ หรือไม่ วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจนี้ไปพร้อมๆ กัน 

อาการผิดปกติที่เกิดหลังดื่มนมเกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุนั่นคือ ร่างกายแพ้โปรตีนในนม (allergy) และร่างกายไม่ย่อยน้ำตาลแลคโตส (Lactose Intolerance) ซึ่งคนที่จัดอยู่ในกลุ่มอาการไม่ย่อยน้ำตาลแลคโตสยังสามารถดื่มนมวัวได้ เพียงแค่ต้องดื่มในปริมาณที่พอเหมาะ แต่สำหรับคนที่แพ้โปรตีนในนมจนเกิดอาการแพ้รุนแรงจำเป็นต้องงดการดื่มนมวัวและหันไปดื่มนมประเภทอื่น อย่างนมทดแทนจากพืชชนิดต่างๆ แต่การดื่มนมทดแทนในลักษณะนี้ก็อาจทำให้เราไม่ได้รับสารอาหารที่ต้องการครบถ้วนเหมือนการดื่มนมวัวปกติ


เริ่มจากสำรวจร่างกายตัวเอง

หากใครอ่านมาถึงตรงนี้แล้วยังไม่แน่ใจว่าอาการที่เราเป็นหลังจากดื่มนมเกิดจากสาเหตุไหนกันแน่ แนะนำให้ทุกคนใช้วิธีสังเกตอาการเบื้องต้นของร่างกายในการแยกประเภทอาการ เนื่องจากอาการทั้ง 2 แบบมีการแสดงออกที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน 

การแพ้โปรตีนในนม (allergy) นั้น ร่างกายจะแสดงอาการแพ้ออกมาอย่างชัดเจนจนเห็นได้ชัด โดยมีอาการผื่นลมพิษ น้ำมูกไหล และหายใจครืดคราดร่วมอยู่ด้วย สำหรับคนที่แพ้อย่างรุนแรงอาจเกิดอาการช็อกและหมดสติได้ สำหรับอาการไม่ย่อยน้ำตาลแลคโตส (Lactose Intolerance) ไม่ใช่อาการที่อันตรายร้ายแรงเหมือนอย่างที่เข้าใจกัน แต่เป็นอาการที่เกิดจากร่างกายย่อยน้ำตาลแลคโตสไม่ได้


ลองจินตนาการว่าในการดื่มนมแต่ละครั้ง ร่างกายจะรับเอาน้ำตาลแลคโตสจำนวนหนึ่งเข้ามาวิ่งเล่นเดินทางผ่านกระเพาะอาหารมุ่งไปสู่ลำไส้เล็ก ผู้พิทักษ์ประจำลำไส้เล็กอย่าง ‘เอนไซม์แลคเตส’ ต้องคอยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงประกบและย่อยน้ำตาลแลคโตสเพื่อให้กลายเป็นสารอาหารให้ลำไส้เล็กดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย เพราะฉะนั้นถ้าร่างกายใครย่อยน้ำตาลไม่ได้ก็จะเกิดปัญหาขึ้น 

อย่างไรก็ตามการที่ชาวเอเชียจำนวนหนึ่งจะรู้สึกว่าร่างกายของตัวเองไม่ถูกโรคกับการดื่มนมนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะจริงๆ แล้วชาวเอเชียมีภาวะพร่องแอนไซม์แลคเตสมากกว่าประชากรในประเทศโซนอื่น โดยวารสาร Nature ได้เผยผลการสำรวจจากแหล่งข้อมูลทั่วโลกว่า ในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียและยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือพบผู้มีภาวะพร่องเอนไซม์แลคเตสเพียง 3-8% เท่านั้น ในขณะที่ประเทศในกลุ่มเอเชียพบมากเกือบ 100% 


ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

จากผลสำรวจของวารสาร Nature บ่งบอกว่าสาเหตุเป็นเพราะพันธุกรรม รวมถึงระยะเวลาการปรับตัวที่ชาวเอเชียเริ่มดื่มนมช้ากว่าชาวตะวันตก ย้อนกลับไปเมื่อ 9,000 ปีที่แล้วที่ชาวยุโรปเพิ่งเริ่มดื่มนม เชื่อหรือไม่ว่า ณ เวลานั้นร่างกายของพวกเขาก็ไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลคโตสได้เช่นเดียวกัน ร่างกายพวกเขาใช้เวลาปรับตัวกว่า 4,000 ปีจนสามารถผลิตเอนไซม์แลคเตสเพียงพอสำหรับการย่อยแลคโตสในนม ชาวเอเชียที่ไม่ได้นิยมดื่มนมมาตั้งแต่ต้น เพิ่งเริ่มดื่มในช่วงที่วัฒนธรรมแบบตะวันตกเดินทางเข้ามาในทวีป ทำให้ระบบร่างกายของชาวเอเชียเรียนรู้และปรับตัวได้ช้ากว่า 

เมื่อร่างกายของชาวเอเชียผลิตเอนไซม์แลคเตสได้น้อยและไม่เพียงพอสำหรับการย่อยน้ำตาแลคโตสที่มากับนม ภาระจึงตกไปอยู่กับแบคทีเรียในลำไส้ที่ต้องเข้ามาช่วยย่อยน้ำตาลแลคโตส ทำให้เกิดก๊าซในลำไส้กลายเป็นอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ถ้าย่อยไม่ได้ดีเท่าทีควรก็อาจเกิดอาการท้องเสียและอาเจียนเพื่อจัดการกับน้ำตาลแลคโตสส่วนเกินได้

ตามสถิติแม้จะมีคนไทยที่เป็นผู้ใหญ่เพียง 10% เท่านั้นที่ไม่มีภาวะพร่องเอนไซม์แลคเตสและสามารถดื่มนมวัวได้อย่างสบายใจ แต่นั่นไม่ได้แปลว่าคนอื่นจะไม่มีวิธีรับสารอาหารที่มีประโยชน์มากมายจากนมได้ 


ถ้ายังอยากได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์จากนมให้ลองทำตามนี้

แพทย์หญิงณิชา สมหล่อ อาจารย์ประจำหน่วยโภชนาการคลินิกฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ผู้ชื่นชอบการเดินทางและการชิมอาหารเป็นงานอดิเรก เป็นอีกคนที่ร่างกายไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลคโตสได้ จึงได้ทดลองหลากหลายวิธีเพื่อให้ร่างกายสามารถดื่มนมได้ ไม่ต้องงดไปเสียทีเดียว

เธอค้นหาจนพบวิธีและได้แนะนำคนที่มีปัญหาในลักษณะเดียวกันว่า ทุกคนยังคงสามารถดื่มนมวัวได้ เพียงแต่ต้องรู้จักควบคุมปริมาณการดื่มต่อครั้ง ควรจิบทีละน้อยๆ แทนการดื่มรวดเดียวหมดแก้วเพื่อให้เอนไซม์ค่อยๆ ทำงาน ที่สำคัญห้ามดื่มนมวัวตอนท้องว่างเด็ดขาด นอกจากนี้ในต่างประเทศยังมีเอนไซม์แลคเตสรูปแบบเม็ดและน้ำขายเพื่อช่วยบรรเทาอาการ โดยต้องทานพร้อมกับการดื่มนมคำแรก

ส่วนถ้าใครชื่นชอบการทานนมเป็นอย่างมากก็ให้ลองหานมประเภทอื่นๆ มาทดแทนความอยาก เช่นนมถั่วเหลืองหรือนมอัลมอนด์แต่รสชาติก็อาจไม่เหมือนนมวัวเสียทีเดียว แต่สำหรับคนที่ชอบดื่มกาแฟ การใส่นมชนิดอื่นอย่างนมถั่วเหลือง หรือนมอัลมอนด์ในกาแฟแทนนมวัว กลิ่นเฉพาะตัวของนมเหล่านี้อาจทำให้รสชาติของกาแฟเปลี่ยนไป หลังจากทดลองอยู่นานคุณหมอก็ได้พบกับผลิตภัณฑ์นมปราศจากน้ำตาลแลคโตสที่มีรสชาติอร่อยกลมกล่อม และสามารถดื่มได้สบายท้อง ไม่ต้องกลัวจะปวดท้องหรือท้องเสีย


อีกหนึ่งตัวเลือกเพื่อแก้ปัญหา

สำหรับใครที่อ่านจนมั่นใจว่าตัวเองมีอาการไม่ย่อยน้ำตาลแลคโตสและอยากจะลองปรับเปลี่ยนวิธีการดื่มนมให้เข้ากับร่างกายตัวเองเพิ่ม ปัจจุบันตลาดก็มีผลิตภัณฑ์นมที่คนไม่ย่อยน้ำตาลแลคโตสสามารถดื่มได้เยอะขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการย่อยน้ำตาลด้วยเอนไซม์แลคเตสมาให้เรียบร้อยพร้อมดื่มอย่าง Meiji Lactose Free ที่มีทั้งรสจืดและรสดาร์กช็อกโกแลต มาพร้อมคุณประโยชน์ครบถ้วน และรสชาติหวานกลมกล่อมจากนมโคแท้ๆ เรียกได้ว่าดื่มง่ายสบายท้องแบบไม่ต้องกลัวอ้วน ให้คนที่ไม่ย่อยน้ำตาลแลคโตสทั้งหลายโบกมือบ๊ายบายอาการผิดปกติที่คอยกวนใจและสามารถเอร็ดอร่อยกับนมได้อย่างเต็มที่

 


อ้างอิง

bangpakokhospital.com

cpmeiji.com

lovefitt.com

medthai.com

nutriciaexpert.com

personal.sut.ac.th

popsci.com

AUTHOR

ILLUSTRATOR

พิราวรรณ น้ำดอกไม้ เบคเกอร์

เชื่อเรื่องตรรกะในงานศิลปะ พลังงานในงานกราฟฟิก เรื่องวิญญาณ และอภินิหารของคาเฟอีน