Midlife Crisis BKK ค็อกเทลบาร์ที่อยากให้คนเข้าถึงค็อกเทลได้สนุกขึ้นผ่านชื่อเมนูและแคปชันสุดปั่น

Midlife Crisis คือชื่อของค็อกเทลบาร์ซึ่งเปิดขึ้นที่เชียงใหม่เมื่อประมาณ 2 ปีก่อน โดยกลุ่มหุ้นส่วนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ นำทีมโดยบาร์เทนเดอร์ดีกรีแชมป์ Diageo World Class ปี 2019 กอล์ฟ-กิติบดี ช่อทับทิม

ผ่านไปสักระยะ เมื่อร้านที่เชียงใหม่เริ่มอยู่ตัว พวกเขาจึงนำ Midlife Crisis มาเปิดเพิ่มอีกสาขาที่กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ พร้อมกับเมนูซิกเนเจอร์ไอเดียสนุกๆ ที่จะมาเพิ่มสีสันให้กับซีนค็อกเทลบาร์ในเมืองหลวง

a day มีโอกาสได้ไปนั่งจิบค็อกเทลรสชาติดีๆ ในมุมสงบๆ สบายๆ ของ Midlife Crisis BKK กลางซอยสุขุมวิท 16 มาแล้ว และเก็บเรื่องราวที่เป็นจุดเด่นของร้านมาฝากกัน  

ช่วงโควิด ไม่มีใครไม่ crisis หรอก

กอล์ฟเล่าที่มาของชื่อร้านให้ฟังว่า คำว่า Midlife Crisis นั้น ได้มาตอนที่พวกเขาเริ่มทำร้านที่เชียงใหม่ 

“เราคิดชื่อร้านกัน แล้วอยู่ๆ หุ้นส่วนคนหนึ่งก็พูดขึ้นว่า ‘แม่ง ชีวิตช่วงนี้ midlife crisis เนอะ’ มันเป็นช่วงโควิดด้วยแหละ ผมเชื่อว่าช่วงโควิด ไม่มีใครไม่ crisis หรอก มากหรือน้อยแค่นั้นเอง พอป็อปคำนี้ขึ้นมา เราเลยรู้สึกว่าชื่อนี้แหละที่เราอยากได้ เรียกว่ามองหน้ากันเองแล้วมีแค่คำๆ นี้ที่เป็นคำที่บ่งบอกถึงตัวตนพวกเรา”

ส่วนคอนเซ็ปต์ของร้านนั้น Midlife Crisis ที่เชียงใหม่ จะแบ่งเป็น 2 สี คือสีแดงกับสีน้ำเงิน

“คือเราตีความคำว่า Midlife Crisis เป็น 2 ช่วง ช่วงแรกคือ เวลาที่เราเจอปัญหาจะเป็นช่วงของการแพนิก เราเลยคิดว่าเป็นเรดไลน์ของเรา ก็คือชั้นล่างที่ Midlife Crisis เชียงใหม่จะเป็นสีแดง ส่วนชั้นบนคือ พอเราเจอปัญหา ช่วงแรกเราตื่นตระหนก เราลนลานก็จริง แต่ว่าพอผ่านไป เราให้เวลากับมัน ปัญหายังอยู่ ปัญหาไม่ได้ไปไหนเลย เรายังแก้ไม่ตก แต่ว่าเราจะนิ่งขึ้น ตกตะกอนขึ้น ชิลล์กับปัญหามากขึ้น กลายเป็นฟีลบลู ซึ่งชั้นสองของเราที่ Midlife Crisis เชียงใหม่ ก็จะเป็นสีน้ำเงิน ฟีลที่เราจะมานั่งตกตะกอนกัน นั่งคิด อาจจะไม่ใช่ปัญหาที่หนักมาก แต่ว่ามันก็จะยังคาอยู่ในหัวนี่แหละ

“ส่วนที่กรุงเทพฯ เราก็จะให้เป็นฟีลบลูทั้งหมดตามลักษณะพื้นที่ แล้วก็สะท้อนไปถึงยูนิฟอร์มของทุกคนด้วย ว่าทำไมต้องใส่แจ็กเก็ตยีน ทั้งๆ ที่กรุงเทพฯ ก็ร้อนจะตายอยู่แล้ว (หัวเราะ)”

จะตั้งชื่อเมนูแบบนี้จริงๆ เหรอ

ชื่อของเมนูที่นี่จะเป็นทั้งชื่อเครื่องดื่มและแฮชแท็กไปในตัว แต่ละชื่อนั้นสุดปั่น อ่านไปยิ้มไป พลางคิดว่า เอาชื่อแบบนี้จริงๆ เหรอ ตัวอย่างเช่น 

#ต้องลดกี่องศาถึงจะเย็นชาเท่าใจคุณ #ascoldasyourheart 

#เห็นเธอมากดไลค์แล้วใจมันฟู #loveatfirstLIKE

#ดื่มง่ายเหมือนใจเธอ #easylover

#แตงโมแตงโมแตงโม (ห้ามใส่ทำนอง) #watermelon3times

#ลิ้นจี่ที่ไหนหนอ #whenyouseelycheeatall

บาร์เทนเดอร์หนุ่มเล่าความคิดเบื้องหลังเมนูต่อไปว่า 

“เมนูที่ทุกคนเห็น เป็นเมนูที่ผมดีไซน์มาโดยการมองลูกค้าเป็นศูนย์กลางมากขึ้น คือด้วยความเป็นบาร์เทนเดอร์ เรามีแพสชันในการทำ ในการพัฒนาตัวเองตลอดเวลา จนบางทีลืมไปว่า ลูกค้าอาจจะต้องการแค่นี้ แต่พอเราทำมากกว่านี้ให้ลูกค้า สิ่งที่เกิดขึ้นคือลูกค้าไม่เข้าใจ เหมือนเราพยายามส่งข้อความของเราผ่านแก้วไป แต่สุดท้ายข้อความนั้นไม่ถูกส่งไป แล้วสิ่งที่ผมโดนมากที่สุดก็คือ เราส่งแก้วไปปุ๊ป เราพยายามมาก เรามีคอนเซ็ปต์ที่ยาวเฟื้อยเลย อธิบายให้ฟังเสร็จ สุดท้าย เขาถ่ายรูปเราแล้วก็มีแคปชันอะไรก็ไม่รู้ที่ไม่เกี่ยวกับรูป คือรูปไม่เคยตรงกับแคปชันเลย ก็เลยรู้สึกน้อยใจตั้งแต่ตอนนั้นว่า โอเค ในเมื่อชอบแคปชันกันมาก เดี๋ยวสักวันหนึ่งจะทำแคปชันไว้ให้ ซึ่งก็ได้ออกมาเป็นเมนูนี้ 

“จะเห็นว่าแคปชันแต่ละชื่อ บางทีก็รู้สึกว่าเอางี้จริงเหรอ แต่ว่าจริงๆ ทุกๆ ชื่อมันจะมีคีย์เวิร์ดเล็กๆ ที่อยู่ข้างใน ที่บอกว่าทำไมค็อกเทลตัวนี้ถึงชื่อนี้ อย่าง #เห็นเธอมากดไลค์แล้วใจมันฟู คีย์เวิร์ดมีแค่คำเดียวเลย คือคำว่าฟู ผมก็จะ represent ให้เห็นว่า นั่นคือใจฟู พอเราเสิร์ฟไปปุ๊ป อ๋อ มันฟูขึ้นมา ลูกค้าก็จะ โอเค ยอม อะไรประมาณนี้ หรือแม้แต่ #ลิ้นจี่ที่ไหนหนอ อันนี้มันชัด คีย์เวิร์ดมีแค่ลิ้นจี่ แต่ที่เหลือเราหาคำหาวลีอะไรมาประกอบให้มันดูสนุก ดูน่าสนใจ และดูน่าอ่าน”

 นอกจากชื่อแล้ว ไอเดียที่เราชอบมากๆ คือ การแก้ pain point เรื่องการอ่านเมนูของลูกค้า ด้วยการดีไซน์รูปเล่มให้ออกมาเป็นแบบ 1 แผ่นต่อ 1 เมนู 

“เมนูถูกดีไซน์ขึ้นเป็น 1 แผ่น 1 เมนู เพราะนิสัยของคนไทยโดยส่วนมากที่อ่านหนังสือไม่เคยเกิน 8 บรรทัด ลองนึกสภาพว่าถ้าเมนูเกือบ 20 ตัวบรรจุอยู่ในกระดาษ A4 มันจะมีเมนูที่ไม่ถูกอ่าน สุดท้ายคือลูกค้าอาจจะอ่านประมาณ 3-4 ตัวแล้วก็จะเงยหน้าขึ้นมาถามเราว่า มีอะไรแนะนำบ้าง มีอะไรอร่อยบ้าง เราก็เลย โอเค งั้นค่อยๆ อ่านทีละอัน ผมเชื่อว่าเมนูที่นี่ เป็นเมนูที่ลูกค้าอ่านตั้งแต่อันแรกจนจบได้ เพราะว่าพอเขาสั่งแก้วแรก แก้วที่สองเขาจะสนุกกับแคปชั่น เขาอาจจะไม่ได้สนใจว่า ingredients ข้างในเป็นยังไง แต่ว่าเขาจะดูแคปชันก่อน ดูแคปชันเสร็จแล้ว ก็อาจจะค่อยๆ เห็นว่า ตัวนี้ซ่อนคีย์เวิร์ดอะไรเอาไว้ คือเป็นการเล่นสนุก เป็นการ interact กับลูกค้าด้วย” 

“จริงๆ เมนูทั้งหมด เกือบทุกตัวจะเป็นตัวใหม่ แต่ว่าถ้าเกิดไปที่เชียงใหม่ บางชื่อเป็นชื่อเดียวกัน แต่ว่ามันไม่เหมือนกัน ด้วยความที่เราเล่นกับความเป็นแฮชแท็ก เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเขียนแฮชแท็ก #ดื่มง่ายเหมือนใจเธอ มันก็จะเด้งขึ้นมาโดยอัตโนมัติว่าดื่มง่ายเหมือนใจเธออยู่ตรงไหนบ้าง ลูกค้าก็จะเห็นทั้งเชียงใหม่ ทั้งกรุงเทพฯ ผมเลยรู้สึกว่า ในเมื่อมันเป็นซิกเนอเจอร์ของเรา ผมอยากได้ชื่อที่เป็นชื่ออยู่แบบนี้ แต่ข้างในผมสามารถเปลี่ยนได้ เพราะผมมีคอนเซ็ปต์แค่คีย์เวิร์ด แต่ว่าส่วนผสมสามารถปรับเปลี่ยนอะไรตลอดเวลา ไม่แน่อีกประมาณ 3-4 เดือน ดริงก์ที่อยู่ตรงนี้ ยังเป็นชื่อเดิมอยู่ แต่ข้างในจะถูกเปลี่ยน โดยยังอิงคีย์เวิร์ดเดิมก็เป็นได้” 

cocktail bet โยกครั้งเดียว ได้อะไรต้องกิน 

อีกหนึ่งกิมมิกของที่นี่ คือตู้สล็อตเครื่องเล็กๆ ที่เอาไว้เสี่ยงทายว่าคุณจะได้เมนู customized แบบไหน 

“อันนี้เป็นคัสตอมค็อกเทลของผม” กอล์ฟเล่า “เรียกว่าเป็น cocktail bet คือเวลาลูกค้าขออะไรนอกเมนู เราจะมาเล่นสล็อตกัน มันจะมีช่องที่เป็น spirit, flavor profile แล้วก็เป็นสไตล์ของดริงก์ ซึ่งตัวนี้กฎมีข้อเดียวเวลาเล่นกับผมคือ โยกครั้งเดียว ได้อะไรต้องกิน แล้วก็ไม่ใช่ความผิดของผม เพราะว่าบางทีเวลาลูกค้าเข้ามา ยิ่งในช่วงปัจจุบัน คำว่า customized cockail มันเยอะมาก เยอะจนผมรู้สึกว่า ผมอยากให้ความสำคัญกับซิกเนเจอร์ก่อน แต่ว่าถ้าต้องการ customized จริงๆ ผมสร้างให้ได้ แต่การสร้างอย่างนี้ เราเจอคนละครึ่งทางนะ ผมก็จะไม่คิดไม่สร้างสตรักเจอร์ใหม่ให้ แต่จะสร้างจากตรงนี้ เป็นการชาเลนจ์ตัวเอง แล้วก็ชาเลนจ์ลูกค้า เปิดโลกลูกค้าด้วย เพราะบางคนบอกว่าขออะไรก็ได้ที่เปรี้ยวหวาน ซึ่งสำหรับบาร์เทนเดอร์ บางทีมันเป็นเรื่องยากมาก แค่ความเปรี้ยว บอกเปรี้ยวแพสชันฟรุต เปรี้ยวสัปปะรด เปรี้ยวส้ม เปรี้ยวมะนาว มันต่างกันหมด แต่ยังอยู่ในคำว่าเปรี้ยวหวานอยู่ ซึ่งบางทีลูกค้าไม่สามารถที่จะบอกละเอียดขนาดนั้นได้ 

“ถ้าบอกละเอียดผมทำให้ได้นะ แต่ถ้าเกิดว่าบอกไม่ละเอียด เราก็มาเล่นเกมกันดีกว่า ง่ายดี” 

ว่าแล้วบาร์เทนเดอร์หนุ่มก็โยกสล็อตหนึ่งครั้ง เตรียมเสิร์ฟเมนูที่มีส่วนผสมแบบสุ่มให้กับใครบางคนที่ต้องการชาเลนจ์ตัวเองในค่ำคืนนั้น

#เห็นเธอมากดไลค์แล้วใจมันฟู
#กาแฟหรือแกฟะ
#ลิ้นจี่ที่ไหนหนอ
#แตงโมแตงโมแตงโม (ห้ามใส่ทำนอง)

ติดตาม Midlife Crisis BKK ได้ที่

IG: midlifecrisis.bkk

FB: m.facebook.com/Midlifecrisisbar

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชญุตม์ คชารักษ์

ชีวิตหลักๆ นอกจากถ่ายภาพ ชอบชกมวยเป็นชีวิตจิตใจ ฟังเพลงที่ดนตรีฉูดฉาดกับเบียร์เย็นๆ