“การตัดสินใจที่ดีที่สุดของเรา มักเป็นสิ่งที่เราเลือกจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย” – ดั๊ก คูเปอร์ นักเขียนนิยายชาวอเมริกันเคยว่าไว้เช่นนั้น
ดูเหมือนว่ามันจะใช้ได้กับหลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะสังคมโซเชียล ที่หลายคนพร้อมจะกระโดดขึ้น ‘รถทัวร์’ ไปแวะใน ‘กระแสดราม่า’ ที่กำลังร้อนแรงหรือเป็นประเด็น ทั้งที่อาจไม่ได้เกี่ยวข้อง ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือเข้าใจข้อเท็จจริงจากทุกด้าน เพียงเพื่อแสดงความคิดเห็นบางอย่าง
ถึงแม้ว่าโลกโซเชียลจะเป็นพื้นที่สาธารณะที่ใครสามารถแสดงออกความคิดเห็นได้อย่างเสรี แต่ในบางกรณี เช่น กระแสดราม่า (ที่มักเป็นเหตุการณ์ของชาวบ้านทั่วไป) ที่มีตัวละครหลากหลาย มีข้อเท็จจริงจากหลายมุม การที่เราคือหนึ่งในผู้เกาะรถทัวร์เพื่อไปแสดงความคิดเห็นของตนเองทิ้งไว้ และมีคอมเมนต์อีกจำนวนมากที่มองในแบบเดียวกัน ที่เรามักเรียกกันว่า ‘วัฒนธรรมทัวร์ลง’ หลายครั้งมันก็สามารถตัดสินทิศทางของ ‘เรื่องราว’ ในกระแสดราม่าให้สังคมเชื่อได้เลย แม้ในมุมข้อเท็จจริง (จริงๆ) จะยังไม่สรุปก็ตาม
และแน่นอน เมื่อหลายครั้งข้อเท็จจริงจากทุกมุมถูกเปิดเผย เราจึงได้เห็น ‘รถทัวร์เบรกแตก’ และคนที่เคยเข้าไปคอมเมนต์ในเชิงเสียหายก็ ‘หาย’ เข้ากลีบเมฆ ทิ้งความเจ็บปวดจากข้อความในครั้งนั้นไว้ให้กับผู้ที่เคยถูกกล่าวหา ซึ่งอาจบานปลายไปในช่วงเวลาหนึ่งแล้วก็ได้
ในทางจิตวิทยา คนเราสามารถ ‘สบายใจ’ กับอะไรก็ได้ แม้ว่าเป็นสิ่งที่ควรจะเป็นเรื่องอึดอัดก็ตาม โดยเฉพาะกับเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับตนเอง เช่น ดราม่าในสังคม บางครั้งความคิดเห็นของบางคนที่มีต่อบางดราม่า จึงไปในแนวของการ ‘ผสมโรงด่า’ มากกว่าข้อเท็จจริง เพราะคิดว่าสามารถคอมเมนต์อะไรก็ได้ด้วยความคิดที่ว่า ‘มันไม่เกี่ยวกับเรา’
เหมือนกับดราม่านั้นเป็น ‘ที่ระบาย’ ให้กับอารมณ์ร่วมของชาวทัวร์ เมื่อทุกอย่าง (เหมือนจะ) จบ ก็แค่แยกย้ายไปใช้ชีวิตปกติ (บางคนแอบไปลบคอมเมนต์ตัวเอง) โดยไม่มีใครเห็นใจหรือขอโทษ ‘คนในดราม่า’ ที่เคยถูกเข้าใจผิดจากคอมเมนต์เสียหายเลย
หากวันนี้บางคนพบว่าตนเองเป็นหนึ่งในคนที่ชอบยืนรอรถทัวร์ เพื่อเตรียมขึ้นไปผสมโรงกับสถานีดราม่าถัดไป ลองใจเย็นสักนิด คิดเพิ่มสักหน่อย ว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้ตัวเองตระหนักถึงความรุนแรงของสิ่งเหล่านี้
แล้วจะทำอย่างไรดีล่ะ?
ถอยหลังไป 1 ก้าว
ดราม่ามักเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของ ‘ความถูก-ผิด’ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่นำมาซึ่งอารมณ์ร่วมจากการเสพข่าว และการเข้าไปมีส่วนร่วมกับดราม่านั้นจึงมักเป็นปฏิกิริยาที่หงุดหงิดหรือฉุนเฉียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเราเริ่มเสพดราม่านั้นมาสักพักแล้ว ซึ่งต้องบอกว่านั่นเป็นปฏิกิริยาทาง ‘อารมณ์’ ไม่ใช่การตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างรอบคอบ ดังนั้น เมื่อเราเข้าไปคอมเมนต์โต้ตอบ สิ่งที่แสดงออกมักจะขับเคลื่อนด้วยอารมณ์เป็นหลัก ทำให้พลาดนึกถึงทางเลือกอื่นๆ หรือผลที่จะตามมา
ดังนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่รถทัวร์กำลังจะมาถึงป้ายที่เรายืนอยู่ ลองถอย 1 ก้าวและคิดสักหน่อย สิ่งนี้จะช่วยให้เรามีสติมากขึ้น และสามารถตอบสนองต่อดราม่าอย่างมีเหตุผลมากกว่าเพียงแค่อารมณ์ฉุนเฉียวชั่วครู่ชั่วยาม

เชื่อมโยงร่างกายกับจิตใจ
บางครั้งเราเลือกจะตัดสินใจกระโดดขึ้นรถทัวร์ในตอนที่สมองกำลังสั่งการอย่างหุนหันพลันแล่น แต่สังเกตให้ดีว่าความรู้สึกนี้จะทำให้เรารู้สึกถึง ‘แรงกระตุ้น’ ในร่างกาย ซึ่งอาจจะเป็นอาการทางกาย ลองใช้เวลาสักครู่เพื่อ ‘สนใจ’ แรงกระตุ้นทางร่างกายนั้น และสร้างสะพานเชื่อมโยงกันระหว่างร่างกายกับจิตใจ หากทำได้ เราจึงจะเริ่มนำความตระหนักรู้มาสู่อารมณ์ของเราได้
แน่นอนว่าเมื่อมีความตระหนักรู้ เราจะมองเห็นว่า การตัดสินใจตามอารมณ์มักจะพาเราไปผิดทาง แต่การสร้างการเชื่อมโยงระหว่างจิตใจและร่างกายจะช่วยให้สามารถตัดสินใจได้ดีขึ้น

ตัวเลือกอื่นยังมีนะ
คราวต่อไปที่เราแต่งตัวยืนรอรถทัวร์เพื่อเตรียมไปแวะสถานีดราม่า ลองถามตัวเองว่า เราสามารถทำอะไรได้อีก นอกจากเข้าไปผสมโรงด่าหรือระบายอารมณ์ แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ลองนึกว่ามีทางอื่นอีกไหม ที่จะทำให้เราสามารถแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นที่สร้างสรรค์กับในเรื่องดราม่าที่เกิดขึ้น หากเราเลือกจะขึ้นรถทัวร์ไปเพียงเพื่อระบายอารมณ์สถานีแล้วสถานีเล่า สุดท้ายย่อมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย
แน่นอนว่าการห้ามความรู้สึกไม่ให้ขึ้นรถทัวร์ไปผสมโรงด่าไม่ใช่เรื่องง่าย ในเมื่อการแสดงความคิดเห็นบนโลกโซเชียลนั้นง่ายดาย แต่สิ่งที่จะส่งผลต่อจากนั้นมันอาจมากมายกับ ‘คนในเรื่อง’ เกินคาดคิด ดังนั้น หากเราต้องการเป็นคนหนึ่งที่หยุดวงจรการ ‘เกาะรถทัวร์’ สิ่งสำคัญคือต้องเปลี่ยนมุมมอง และใส่ใจกับสิ่งที่เราจะได้รับจากการไม่ตีมึนขึ้นรถทัวร์ไปกับคนอื่น

พึงระลึกเสมอว่า ทุกสถานการณ์ดราม่าที่ไม่เกี่ยวข้องกับเราล้วนมีวิธีแก้ไขหรือทางออกของมันอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีเราไประบายความคิดเห็นแย่ๆ ก็ได้