SCRUBB : วงดนตรีที่เขียนบทเพลงธรรมดาที่ว่าด้วย เวลา สถานที่ และความสัมพันธ์

รู้ตัวอีกที
เราก็ฟังเพลงของวงดนตรีของสองหนุ่มดูโอ้ Scrubb มาเกือบ 17 ปีแล้ว

บทเพลงจังหวะเบาสบาย บอกเล่าความหมายแสนดีที่เอากลับมาฟังวนซ้ำได้บ่อยๆ
คือนิยามที่เรามอบให้กับเพลงที่
เมื่อย-ธวัชพนธ์ วงศ์บุญศิริ และ บอล-ต่อพงศ์
จันทบุปผา
ตั้งใจประกอบเนื้อร้อง ทำนอง
และเรื่องราวที่อยากบอกเล่าผ่านเสียงดนตรีได้เข้ากันดี เป็นเหตุผลว่าทำไม Scrubb ถึงยืนระยะในวงการเพลงไทย
แถมยังมีแฟนเพลงทุกเพศทุกวัยคอยติดตามเพลงใหม่ของพวกเขาอยู่เสมอ

สำหรับเรา บทเพลงของ Scrubb ประกอบด้วยชุดคำธรรมดาที่จับกลุ่มเรียงกันอย่างถ่อมตัว
ใช้คำง่ายๆ ที่ฟังแล้วติดหูแถมร้องตามได้ติดปาก
แต่ยากที่จะอ่านเนื้อร้องแล้วเข้าใจความหมายที่ต้องการสื่อได้ทันที
ไม่แปลกที่เราเคยได้ยินใครหลายคนพูดกันว่า เพลงของ Scrubb ต้องตั้งใจฟังในวันและเวลาที่พอดี
เมื่อเราผ่านเรื่องราวเดียวกันกับในเพลง ตอนนั้นเองเพลงที่เคยฟังไม่เข้าใจจะทำปฏิกิริยากับสมองและหัวใจจนเราจดจำฝังแน่น

เราพกความสงสัยนี้เข้าไปนั่งพูดคุยกับเมื่อยและบอล
ย้อนเวลาพาเรากลับไปในบทเพลงเหนือกาลเวลาของพวกเขา

เขียนจากการเลียนแบบ

เมื่อย: จุดเริ่มต้นก็เหมือนวัยรุ่นทั่วไปที่ชอบฟังเพลง ตอน ม.ปลาย
เราเป็นคนที่เข้าไปแทนนักร้องคนเก่าของวงดนตรีเพื่อนเราเพราะเขาไม่มา แล้วกลายเป็นว่าวงก็ไล่คนเก่าออกด้วยเหตุผลอะไรไม่รู้
เราตอนนั้นไม่มีอะไรเลยก็คิดว่าถ้าไม่ทำอะไรสักอย่าง เราต้องโดนไล่ออกเหมือนคนที่แล้วแน่
เลยลองเริ่มแต่งเพลงดู แรงบันดาลใจก็มาจากวงดนตรีที่ชอบ ตอนนั้นเราชอบโยคีเพลย์บอยมากๆ
อยากเขียนเพลงแบบนั้น ก็เปิดหนังสือเพลงแล้วดูว่าใช้คอร์ดอะไรบ้าง
แล้วเอาคอร์ดมาแต่งเป็นทำนองเพลงใหม่

เล่าจากเรื่องส่วนตัว

เมื่อย: ส่วนตัวเราเป็นคนที่แต่งเพลงตามโจทย์ไม่ได้เท่าไหร่
สมมติอยากให้แต่งเพลงอารมณ์นี้ๆ ไปทำมานะ จะทำไม่ค่อยได้ ที่ถนัดคือไปเจอประสบการณ์อะไรก็เอามาแต่ง
เป็นความรู้สึกของเราที่อยากเก็บเอาไว้ ซึ่งเนื้อร้องและเมโลดี้จะมาพร้อมๆ กัน
เพราะเราเป็นคนจำเมโลดี้ไม่เก่ง แต่โชคดีที่คำภาษาไทยเวลาร้องมันจะเป็นเมโลดี้อยู่แล้ว
เลยอาศัยหาคำต่างๆ จากหนังสือที่อ่านหรือเพลงที่ฟังให้เหมาะกับเมโลดี้นั้นๆ
ยังไม่สนใจความหมายเท่าไหร่ จะพูดว่ามั่วก็ได้นะ เราก็ยอมรับ (ยิ้ม)

รวมกันเป็นงานกลุ่ม

เมื่อย: Scrubb เป็นเหมือนงานกลุ่มครับ เราทำยังไงก็ได้ให้มีเพลงที่พี่บอลสะดุดหูแล้วหยิบไปเขียนต่อ
ซึ่งไม่ใช่ 100 เปอร์เซ็นต์แน่นอน เพราะเราเป็นคนเขียนเอง
ไม่รู้หรอกว่าคนที่ฟังต่อจากเราจะรู้สึกยังไง
ถ้าพี่บอลเอาไปทำต่อโดยไม่อินก็ไม่มีประโยชน์ อีกด่านหนึ่งก็ต้องทำต่อให้พี่ฟั่น
(โกมล บุญเพียรผล โปรดิวเซอร์ของวง) สะดุดอีกที เป็นวิธีการทำงานที่แอบประชาธิปไตยเหมือนกันนะ
แต่ข้อเสียคือเราก็ไม่รู้ว่าจะได้เพลงอย่างนั้นเมื่อไหร่

ส่วนตัวผมคิดว่าเวลาเราทำอะไรบ่อยๆ
อย่างแต่ก่อนผมเริ่มแต่งเพลงจากการลอกคอร์ดไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งก็เจอทางคอร์ด
เมโลดี้ ที่เป็นของเราเอง จนพี่บอลยังทักเลยว่า เฮ้ย เป็นแบบนี้อีกแล้ว
คำแบบนี้อีกแล้ว พูดเนื้อหาเรื่องนี้อีกแล้ว ทั้งสามคนก็ต้องมาช่วยกันบิดเมโลดี้
เลือกคำให้เป็นสิ่งที่เรายังอยากพูดถึงอยู่ แต่ฟังแล้วไม่รู้สึกว่าย่ำอยู่กับที่ บางทีเราก็วนอยู่ในเรื่องของตัวเอง
แต่ Scrubb ไม่ใช่แค่เราคนเดียว
มีพี่บอล พี่ฟั่นช่วยกันมองและทำยังไงก็ได้ให้เรา 3
คนเห็นว่าดีพร้อมกันโดยไม่เสียตัวตนของเราไป

เลือกเพลงจากความกระทบใจ

บอล: เพลงของเมื่อยที่มักถูกช็อปไปใช้ก่อนคือเพลงที่แต่งเนื้อเพลงกับขึ้นคอร์ดพร้อมกัน
วิธีนี้เป็นวิธียากที่สุดแต่ผลลัพธ์จะออกมาเป็นเพลงที่ดีที่สุด ปกติถ้าไม่ขึ้นเนื้อร้องก่อนแล้วฮัมให้ได้เมโลดี้
ก็มีวิธีง่ายที่สุดคือเล่นกีตาร์ หาคอร์ดแล้วค่อยไปใส่เนื้อตามที่ไกด์ไว้
แต่เมื่อยทั้งขึ้นทำนองและเขียนเนื้อร้องด้วยตัวเองในเวลาเดียวกันได้ เนื้อเพลงที่เขียน
ณ เวลานั้นเลยเป็นเนื้อที่เกิดขึ้นเพื่อใช้สำหรับเพลงนี้จริงๆ
มันจะกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน

ประเภทต่อมาคือบางทียังมาไม่จบเพลง
แต่เป็นทำนองที่เราสะดุดและจำได้ อย่างเพลง
เก็บไว้ให้เธอ เมื่อยเล่นตอนไปเชียงใหม่ที่
Gallery Seescape ยังมาแค่ท่อนกลางว่า
‘รอได้ไหมหัวใจของเรา ผ่านความเหงาและความคิดถึงไป’ ฟังแล้วก็ชอบ ขับรถกลับมาแล้วยังต้องโทรไปถามว่าจำได้ไหมว่าเล่นเพลงอะไร ขุดกันอยู่นานมากเพราะเมื่อยมีเดโมเยอะมากจนเจ้าตัวเองก็จำไม่ได้
พอจำได้ก็ให้เขาอัดเสียงใส่โทรศัพท์ส่งมาแล้วมาเติมกันต่อเลย นอกนี้ก็เป็นเพลงที่ทีแรกไม่ได้ตั้งใจจะใช้กับวง
มีบางเพลงแต่งให้เพลง (ต้องตา จิตดี จากวง Plastic Plastic) แต่เราไปนั่งฟังแล้วชอบยึดมาก็มี
ที่เหลือคือเพลงที่ทำด้วยกัน หรือเรานึกดนตรีออกก็ทำมาก่อนแล้วส่งให้เมื่อยใส่เมโลดี้
ซึ่งมีน้อยมากๆ เพราะชอบรอเพลงที่ขึ้นจากเมื่อยมากกว่า

เมื่อย: เราลองมาทุกวิธีการแล้วครับ ทำยังไงก็ได้ให้ได้เพลงออกมา

แต่งให้เป็นบทเพลงสำหรับทุกคน

เมื่อย: เนื้อหาเพลงของ Scrubb ก็เปลี่ยนไปทุกอัลบั้ม
สับสนมากน้อยกันไป ส่วนตัวเราอยากบอกเรื่องง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ฟังแล้วเข้าใจบ้างหรือไม่เข้าใจบ้างก็ไม่เป็นไร
แต่ไม่จำเป็นต้องสอนอะไรเยอะ ไม่ได้ต้องการเป็นพระเอกหรืออะไรที่อุดมคติเกินไป เราแค่รู้สึกว่าบางอย่างถ้าเขียนให้ไม่ครบประโยคมันจะน่าฟังกว่า
ฟังได้นานกว่า หรือประโยคที่พูดโดยบอกความหมายไม่ครบ 100 เปอร์เซ็นต์
ก็อาจเป็นเพลงที่ไม่เลี่ยน

บางเพลงน้องๆ ที่ยังเด็กอาจฟังไม่เข้าใจ
แต่เราเชื่อว่าเพลงที่เราแต่งจากสิ่งที่เราเจอมา
พอถึงจุดหนึ่งที่คนฟังเจอประสบการณ์แบบนั้น เขาจะเข้าใจมันเอง อยากให้เพลงของเราเป็นตัวแทนของคนธรรมดาคนหนึ่งที่เจอเรื่องนั้นเรื่องนี้
ดีบ้างร้ายบ้าง

บอล: ถ้าวิเคราะห์จากสิ่งที่เมื่อยเล่า คือเพลง Scrubb
เกือบทั้งหมดพูดโดยไม่ได้อิงกับยุคสมัยหรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เช่น
ไม่ได้พูดถึงสยามสแควร์ตอนปี 2540 แฟชั่นในปี 2550 เคยมีพี่นักวิจารณ์เพลงเขียนไว้ว่า
เพลงของเมื่อยเป็นเพลงที่พูดถึงเวลา สถานที่ และความสัมพันธ์
ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวันเราอยู่แล้ว นั่นทำให้เพลงของเรา timeless
เพราะต่อให้เวลาผ่านไป คนเอามาฟังแล้วรู้สึก นั่นแปลว่าเขารู้สึกถึง
เวลา สถานที่ และความสัมพันธ์ของตัวเอง
เมื่อยไม่เคยผูกมัดว่านี่เป็นเรื่องเล่าของเมื่อย
ไม่เคยเขียนเพลงมีบทสรุปว่าต้องจบลงแบบนี้ แต่สิ่งที่เมื่อยเล่าเป็นสิ่งที่เขาเจอเองและเล่าในมุมเท่าที่เล่าได้
ตัวเพลงมีความปลายเปิดอยู่จนทุกคนสามารถเอาเพลงไปผูกกับประสบการณ์ตัวเองได้

เรายิ่งมั่นใจในการทำงานแบบนี้ตอนที่ทำอัลบั้มพิเศษ
ชุดเล็ก และนำเพลง
เธอหมุนรอบฉัน ฉันหมุนรอบเธอ ของพี่จิก-ประภาส ชลศรานนท์
มาทำใหม่ เพลงนี้ก็เป็นตัวอย่างของเพลงที่ไม่ผูกกับเวลา สถานที่ โดยเฉพาะความสัมพันธ์
เพลงนี้ไม่บอกเพศด้วย ไม่บอกว่าชายพูดถึงหญิง พ่อพูดถึงแม่ เพื่อนพูดถึงเพื่อน หรือกิ๊กพูดถึงกัน
พอไม่ได้บอกว่าเขียนเพื่อใคร กลับกลายว่าเป็นเพลงตัวแทนความรู้สึกของใครก็ได้
พอเล่นเพลงนี้ คนที่มาฟังเพลงเราก็มีทั้งวัยรุ่น คุณลุง คุณป้า เห็นเลยว่าเพลงนี้มีพลังมหาศาลเพราะครองใจคนอายุไหนก็ได้
พอไม่มีเพศนี่ชนะทุกเพลงที่เราเคยทำมาทั้งหมดเลย เพราะเพลงยุคแรกของเราอย่าง
เข้ากันดี
ทุกอย่าง ใกล้ ยังระบุอะไรบางอย่างมากน้อย
เรามีตัวอย่างเพลงที่ดีเป็นโมเดลให้เห็นว่าเพลงที่ไม่ยึดติดกับอะไรเลย
ก็สามารถอยู่ในใจใครก็ได้เมื่อเวลาและโอกาสเหมาะสม
ถ้าเราอยากทำเพลงที่แม้แต่เราเองก็อยากฟังได้นานๆ วิธีการทำเพลงให้มันไปอยู่ ณ
ช่วงเวลาไหนก็ได้ก็เป็นวิธีที่ดี


5 บทเพลงในความทรงจำที่ไม่หายไปในเวลาและสถานที่ใด

01 artbar (อัลบั้ม
SSS..S..S / ปี 2546)

เมื่อย: ส่วนตัวชอบเพราะเป็นหนึ่งในเพลงที่ไม่ได้ตั้งใจแต่ง
เราไปนั่งเล่นกีตาร์ที่บ้านของน้องชื่ออาร์ตที่เรียนคณะมัณฑนศิลป์
เรียกบ้านมันเล่นๆ ว่า art bar จำได้ลางๆ
ว่าจะเช้าแล้วก็นั่งตีคอร์ดซ้ำไปซ้ำมา จนได้ท่อนหนึ่งที่เราแต่งเก็บไว้ว่า ‘อยู่ด้วยกันตอนนี้ คงไม่มีเบื่อ สุขอารมณ์อย่างนี้ คงต้องเมาสักวัน’ ประโยคนี้วนอยู่ในหัวเราก็เลยได้นำมาทำต่อ เป็นโมเมนต์ที่เราพบว่าถ้าเรารู้สึกกับเพลงยังไง
คนฟังก็น่าจะรู้สึกได้

02 เธอ (อัลบั้ม SSS..S..S / ปี 2546)

เมื่อย: เป็นเพลงที่นับว่าเป็นจุดแรกที่เริ่มทำงานกับพี่บอลเป็นเรื่องเป็นราว
เราเขียนเนื้อร้องแล้วส่งไปให้พี่บอลเรียบเรียงต่อจนได้กลับมาเป็นเพลงเวอร์ชั่นที่มีกีตาร์
เบส กลอง ครบ ความหมายส่วนตัวในเพลงนี้ก็คงเป็นจุดเริ่มต้นของวง
และเป็นกำลังใจให้เราว่ามีแนวร่วมแล้ว และอยากทำต่อ

03 See Scape (อัลบั้ม club / ปี 2548)

เมื่อย: พอทำอัลบั้มแรกเสร็จ วัตถุดิบที่มีในหัวก็หมดแล้วและไม่รู้ว่าจะทำยังไงดี
เลยไปหาพี่หนึ่ง Sleeper 1 (เกรียงไกร วงษ์วานิช)
บอกว่าช่วยผมด้วย อยากจะทำงานแต่คิดไม่ออกเลย พี่หนึ่งก็เลยบอกว่าเดี๋ยวพาไปเชียงใหม่
เราก็นั่งรถไฟไปเชียงใหม่คนเดียว ได้เจอเพื่อนใหม่ พอขากลับนั่งรถไฟกลับมา อยู่ดีๆ
ประโยคที่ว่า ‘ออกไปมองฟ้าและน้ำที่กว้างใหญ่
ให้ได้กลิ่นดินและลมที่พัดเข้ามา’ มันก็ออกมาเอง เหมือนเราไปเจอเรื่องราวจนอิ่มก็ล้นออกมาเอง
กลับมาปุ๊บ อีกวันหนึ่งก็เขียนส่งให้พี่บอลทำต่อเลย

04 ย้อนเวลา (อัลบั้ม mood / ปี 2550)

เมื่อย: ส่วนตัวเพลงนี้คือเพิ่งทะเลาะกับแฟนและห่างกันไป
ความรู้สึกนี้ก็เกิดขึ้นจนออกมาเป็นเพลงความหมายว่าอยากเอาบางสิ่งบางอย่างกลับคืนมา
ทั้งหมดที่อยากให้แฟนได้ยินก็คือประโยคในเพลงนี่แหละ

05 รอยยิ้ม (อัลบั้ม clean / ปี 2556)

บอล: เพลงนี้เป็นเพลงที่ช่วยกันแต่งด้วยนิดหนึ่ง เราทำอัลบั้ม
clean เสร็จแล้ว เมื่อยก็ส่งเดโมเพลงนี้มาให้บอกว่าไว้ใช้ในอัลบั้มหน้า
มีไกด์แค่ 2 verse สั้นๆ คือ ‘รอยยิ้มของเธอแค่ครั้งเดียว
ทำฉันให้ลืมเรื่องราวที่ผ่านเข้ามา’, ‘เสียงของเธอแค่ครั้งเดียว
ทำฉันให้ลอยล่องไปไกลสุดสายตา’ พอฟังแล้วก็รู้เลยว่าต้องเอามาใส่ในอัลบั้มนี้แหละ
(หัวเราะ) โทรไปบอกค่ายว่าขอเวลา 2 อาทิตย์ ให้เมื่อยเขียนเมโลดี้มาจนครบ
ผมก็ขึ้นโครงให้มีคีย์คอรัสเสร็จสรรพจนมาดูกันว่ามีจุดไหนที่ต้องเขียนเพิ่ม ช่วงนั้นทัวร์คอนเสิร์ตพอดี
ก็เป็นครั้งแรกที่มานั่งคุยกันก่อนแยกห้องนอน ลองช่วยกันแต่ง 2 คน พอผมแยกไปนอน เมื่อยก็ไลน์มาบอกว่าใช้คำนี้ไหมพี่
ช่วยกันแต่งในไลน์เลย กลับมากรุงเทพฯ ก็เสร็จแล้ว เป็นเพลงที่ด่วนที่สุดและเป็นเพลงที่เราช่วยประกอบร่างกัน

ภาพ ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

AUTHOR