จากรักแห่งสยาม สู่ GELBOYS การเปลี่ยนผ่าน Culture เด็กหยาม ที่คนทุกรุ่นควรจับตา

เลิกเรียนแล้ว ไป ‘เดินสยาม’ กัน! 

เดินสยาม ไม่ใช่แค่วลีธรรมดา แต่เป็น Culture ของวัยรุ่นกรุงเทพฯ ที่ชาวเมืองทุกคนต้องเคยสัมผัส หรือต่อให้ไม่เคย ก็ต้องคุ้นตากับภาพของตึกแถวสูง ถนนคนเดิน หรือกิจกรรมเปิดหมวกเล่นดนตรี ที่ปรากฏในสื่อบันเทิงวัยรุ่นมาแทบจะทุกยุค 

ไม่ว่าจะ ‘รักแห่งสยาม’ หรือล่าสุดกับ ‘GELBOYS’ ผลงานจากผู้กำกับมากฝีมือ บอส กูโน ที่ขอกลับมารันวงการซีรีส์วัยรุ่นอีกครั้งกับเรื่องราวความสัมพันธ์สุดกั๊กของแก๊งชายแท้เล็บเจลที่มีฉากหลังเป็นสยามสแควร์ นี่เป็นอีกครั้งที่แสดงให้เห็นว่าต่อให้จะผ่านมากี่ยุค หมุนเวียนไปกี่เจน ‘สยาม’ ก็ยังคงเป็นจุดกำเนิดของวัฒนธรรมป็อปที่ไม่มีใครหน้าไหนมาล้มแชมป์ได้

แต่กว่าจะกลายมาเป็นสยามที่สว่างไสวไปด้วย แสง สี เสียง ในอดีตพื้นที่ทองคำแห่งนี้ เคยเป็นแค่ตึกแถวแออัดที่ห่างไกลคำว่า ‘เจริญ’ อยู่หลายขุม แต่อะไรทำให้สยามกลายเป็นสยามอย่างทุกวันนี้ ตามไปย้อนเวลา หาคำตอบไปด้วยกัน~

เริ่มต้นจากตึกแถวรกร้าง

สยามสแควร์อาจรุ่งเรืองเกรียงไกรในปัจจุบัน แต่ถ้าย้อนกลับไปในอดีต ยุคที่ BTS ยังคงเป็นแค่เรื่องเพ้อฝัน สถานที่เที่ยวเพียงแห่งเดียวของคนยุคนั้น คือ ‘วังบูรพา’ ย่านสุดชิคเขตพระนครของวัยรุ่นยุค 1950 

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่พลิกหน้าประวัติศาสตร์ คือเหตุการณ์เพลิงไหม้ในปี 1962 เมื่อชุมชนแออัดแถบปทุมวันถูกปกคลุมไปด้วยเปลวเพลิง จนทำให้ผู้คนละแวกนั้นทยอยย้ายออก จากความคึกคัก จึงถูกแทนที่ด้วยความรกร้างรอการบูรณะ 

เมื่อประกอบกับช่วงนั้นมีนโยบายพัฒนาประเทศของ ‘นายกจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์’ ทางจุฬาฯ เจ้าของพื้นที่บริเวณนั้น จึงเริ่มโครงการพัฒนาพื้นที่บนถนนพระราม 1 ให้เป็นแหล่งพาณิชยกรรม โดยจับมือกับบริษัทเซาท์อีสท์เอเชียก่อสร้าง คืนชีพห้องแถวบริเวณนั้นให้กลายเป็นศูนย์การค้าเชิงราบ และเติมความครึกครื้นด้วยโรงหนัง ลานโบว์ลิง ไปจนถึงลานไอซ์สเกต พร้อมเปิดตัวภายใต้ชื่อ ‘ปทุมวันสแควร์’ แต่แค่ปทุมวันอาจไม่ยิ่งใหญ่พอสำหรับความตั้งใจจะสร้างพื้นที่ระดับประเทศ ชื่อจึงถูกเปลี่ยนเป็น ‘สยามสแควร์’ ในที่สุด 

ความเจริญเริ่มเข้าทักทายสยามสแควร์ เมื่อมีการเปิดตัวโรงภาพยนตร์สำคัญถึง 3 ที่ เริ่มตั้งแต่โรงภาพยนตร์สยามในปี 1967, โรงภาพยนตร์ลิโด้ในปี 1968 และโรงภาพยนตร์สกาลาในปี 1970 จากนั้นสยามจึงถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นสวรรค์ของเหล่าคนรักหนัง และต่อมาในปี 1973 ห้างสยามเซ็นเตอร์ก็ได้เปิดตัวขึ้นพร้อมๆ กับการแข่งขันวงดนตรี ‘วงชาโดว์’ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากวง The Shadows ของอังกฤษ จากนั้นทุกตรอกและซอกซอยของสยาม จึงถูกห้อมล้อมไปด้วยเสียงเพลงและบทหนัง 

จากตึกแถวที่ถูกปล่อยทิ้งร้าง ถูกแต่งเติมด้วยเสียงหัวเราะและรอยยิ้มของเหล่าวัยรุ่นที่ตบเท้ากันเข้ามาเสพความบันเทิง ใช้เวลาเพียงไม่นาน สยามสแควร์ก็กลายเป็นศูนย์กลางความเจริญในที่สุด

เมื่อการเปลี่ยนผ่านมีมูลค่าต้องแลก

ถ้าเปรียบสยามสแควร์กับหนัง Coming of Age สักหนึ่งเรื่อง เมื่อกราฟพุ่งขึ้นถึงจุดพีก ก็ต้องมีอุปสรรคมาขัดขวาง เพื่อสร้าง New Wave ระลอกใหม่ที่ทำให้ตัวเอกแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม 

ตัวร้ายในเรื่องนี้ไม่ใช่ใครที่ไหนไกล แต่เป็นโควิด-19 ธานอสในโลกความเป็นจริงที่ทำทั้งโลกหยุดชะงักได้โดยไม่ต้องมี Infinity Stones โรคระบาดทำให้คนต้องกักตัวอยู่บ้าน และความเงียบเหงากลับมาเยือนสยามแห่งนี้อีกครั้ง

ความเศร้าของการหยุดชะงักในครั้งนี้ คือสยามต้องเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ เมื่อโรงภาพยนตร์ที่เคยสร้างชื่อให้กับพื้นที่นี้อย่าง ‘สกาลา’ ประกาศปิดตัวอย่างเป็นทางการ นี่ไม่ใช่แค่การยุติกิจการธรรมดา แต่มันคือการสูญเสียมรดกทางวัฒนธรรมไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ 

หมอกความซบเซาปกคลุมพื้นที่กว่า 60 ไร่ จนเกิดเป็นคำถามขึ้นมาในใจใครหลายคนว่า ‘สยามจะกลับมารุ่งเรืองเหมือนอย่างอดีตได้หรือไม่ ?’ คำตอบได้ถูกพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สยามก็ยังเป็นสยามอยู่วันยันค่ำ เมื่อมันถูกปัดฝุ่นแปลงโฉมใหม่อีกครั้ง กับโปรเจกต์กระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ 

เริ่มตั้งแต่เอาเสาไฟฟ้าลงดิน สร้างแลนด์มาร์กแห่งใหม่อย่าง SIAMSCAPE พร้อมเปลี่ยนถนนใจกลางสยามสแควร์ให้กลายเป็น Walking Street ทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ รวมถึงการเติมความเงียบเหงาด้วยเสียงดนตรีของวงมัธยมเปิดหมวก จนในที่สุดความคึกคักก็กลับมาเยือนสยามอีกครั้ง 

พื้นที่ที่โอบกอดความหลากหลาย

จากวัฒนธรรมดูหนังที่สยาม ถูกเปลี่ยนผ่านสู่ Culture เดินเที่ยวสยาม พื้นที่อิสระที่เปิดกว้างให้เราได้แสดงตัวตน ความชอบ และความสนใจ การเดินสยามจึงไม่ใช่แค่การช็อปปิงธรรมดา แต่เป็นการเติมพื้นที่ว่างในใจของเหล่าวัยรุ่น ให้พวกเขาได้เป็นตัวเองโดยที่ไม่มีใครมาตีกรอบ

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา สยามกลายเป็นไอคอนิกของคำว่า ‘วัยรุ่น’ และมีอิทธิพลอย่างมากกับสื่อบันเทิงไทยในหลากหลายด้าน มีภาพยนตร์วัยรุ่นจำนวนมากที่เลือกใช้สยามเป็นฉากหลักของเรื่อง หนึ่งในนั้นคือ ‘รักแห่งสยาม (2007)’ เรื่องราวความสัมพันธ์ของ ‘มิว’ กับ ‘โต้ง’ เพื่อนสนิทสมัยเด็กที่วนกลับมาเจอกันอีกครั้ง ภายใต้บรรยากาศของสยามสแควร์ และด้วยแสง สี เสียง องค์ประกอบสุดโรแมนติกในสยามก็ช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ที่มากเกินกว่าเพื่อนให้แก่เขาทั้งสอง 

ความน่าสนใจคือสยามสแควร์ มักถูกใช้เป็นสัญญะที่สื่อถึง ‘พื้นที่แห่งความหลากหลาย’ ไม่ว่าจะด้านความคิด วัฒนธรรม ไปจนถึงความรักในกลุ่ม LGBTQIA+ ที่อยู่นอกกรอบของสังคมไทย นอกจาก รักแห่งสยาม แล้ว ซีรีส์มาแรงล่าสุดอย่าง GELBOYS (2025) ที่เล่าเรื่องราวของกลุ่มชายรักชายภายใต้บริบทเจน Z ก็ได้ใช้สยามสแควร์เป็นฉากหลักของเรื่องเช่นเดียวกัน

 

นอกจากอิทธิพลในด้านสื่อแล้ว สยามสแควร์ยังได้ฉายาว่า ‘รันเวย์วัยรุ่นไทย’ ที่สะท้อนเทรนด์แฟชั่นการแต่งตัวของคนแต่ละยุคได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะสตรีตแฟชั่น, Y2K, Korean Style หรือแม้กระทั่งวินเทจ รวมถึงกระแสไวรัลอย่างการถ่ายชาเลนจ์ในยุค TikTok ฟีเวอร์ ที่ทำให้สยามกลายเป็นทำเลทองในการทำคอนเทนต์ของครีเอเตอร์

นโยบายพัฒนาพื้นที่อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้สยามสแควร์เจริญจนคนหลั่งไหลเข้ามา แต่สิ่งที่สร้างเสน่ห์และเอกลักษณ์ให้กับสถานที่แห่งนี้ กลับเป็น ‘ผู้คน’ ที่เข้ามาช่วยแต่งเติมสีสันที่หลากหลาย เปลี่ยนแหล่งช็อปปิง สู่พื้นที่ทางวัฒนธรรม ที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุค ก็ยังคงสว่างไสวไปด้วยเสียงหัวเราะและรอยยิ้มเฉกเช่นเดิม 

สยามสแควร์ไม่ใช่แค่สถานที่ 

แต่มันคือช่วงเวลาของชีวิตวัยรุ่นที่ไม่มีวันหวนกลับมา

AUTHOR