คนเหงา / เรา / โซเชียล เมื่อความเหงาก่อตัวขึ้นทวีคูณในโลกโซเชียล

เคยแปลกใจไหม ในโลกโซเชียลที่เราสามารถท่องไปได้ทุกแห่งเพียงแค่ปลายนิ้ว ทำไมกลับทำให้ ‘ความเหงา’ เข้มข้นขึ้น

ย้อนกลับไปในปี 2023 กระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์สหรัฐฯ ได้รวบรวมสถิติและงานวิจัยเกี่ยวกับ ‘การแพร่ระบาดของความเหงาและความโดดเดี่ยวของเรา’ (Our Epidemic of Loneliness and Isolation) ซึ่งสะท้อนได้ว่า ‘โรคระบาดของความเหงา’ นั้นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ และความโดดเดี่ยวของผู้คนเพิ่มขึ้น

ที่น่าสนใจคือ ช่วงวัยของคนที่ประสบภาวะของคลื่นความเหงานั้นคือ Gen Z หรือคนที่เกิดในช่วงปี 1996-2011 ซึ่งมีรายงานว่า ไม่ค่อยมีความสุขกับการเล่นโซเชียล เพราะแทนที่จะทำให้หายเหงา กลับทำให้เหงามากกว่าเดิม ยังไม่นับการที่คนเจนดังกล่าวต้องเผชิญหน้ากับโลกของการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป ในขณะที่ตนเองอยู่ในช่วง ‘First Jobber’ ที่เสี่ยงต่อการถูกคัดออก

ในโลกยุคของความวุ่นวายจากเทคโนโลยีดิจิทัล ความเหงากลับก่อตัวทวีความรุนแรงมากขึ้น ทุกคนแข่งกันเหงา รวมถึงภาพยนตร์ เพลง หนังสือ หรือสื่อ ที่มีส่วนจุดประกายความเหงาให้เพิ่มขึ้น 

แน่นอนว่ารวมถึงแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่เชื่อมต่อ แบ่งปัน และโต้ตอบระหว่างกันได้ง่ายดาย มีงานวิจัยจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่บ่งชี้ว่า แพลตฟอร์มเหล่านี้อาจมีส่วนที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของความเหงา เป็นความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่าง ‘โซเชียล’ และ ‘ความเหงา’

ความเหงาคืออะไรกันนะ?

หลายคนนิยามความเหงาว่าเป็นประสบการณ์ทางอารมณ์และจิตใจที่ซับซ้อน โดยมีลักษณะเป็นการรับรู้ถึงความโดดเดี่ยวและความรู้สึกว่างเปล่าอย่างลึกซึ้งหรือขาดการเชื่อมต่อทางสังคม ซึ่งหมายความว่าเราสามารถรู้สึกโดดเดี่ยวได้แม้ว่าจะอยู่ท่ามกลางผู้คนหรืออาศัยอยู่ใกล้กับผู้อื่นก็ตาม เนื่องจากมันขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ของเราเอง

ความเหงาส่งผลกระทบต่ออารมณ์ จิตใจ และลามไปถึงสุขภาพกาย สัญญาณของความเหงาอาจแตกต่างกันไป แต่มักเป็นไปในเชิงของความรู้สึกโดดเดี่ยว ความเศร้า และการขาดการเชื่อมต่อที่มีความหมาย

มีการสำรวจผลกระทบของโซเชียลมีเดียต่อความเหงา ซึ่งเผยให้เห็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนบางอย่าง มีหลักฐานบ่งชี้ว่าการใช้งานแพลตฟอร์มโซเชียลอย่างเช่นเฟสบุ๊คที่เพิ่มขึ้น สัมพันธ์กับความรู้สึกโดดเดี่ยวที่เพิ่มมากขึ้น สะท้อนว่า ยิ่งเราใช้เวลากับโซเชียลมีเดียมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งรู้สึกเหงามากขึ้นเท่านั้น มีการศึกษาชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า การใช้เวลามากขึ้นในการเลื่อนดูฟีดที่มัก ‘แสดงภาพความสุข’ ของคนอื่นบนโซเชียล แท้จริงแล้วกระตุ้นให้เกิดความเหงาและความทุกข์ ซึ่งอาจเกิดจากความ ‘อิจฉา’ ที่อยู่ภายในจิตใจเรา

แล้วเหตุผลอะไร ที่บอกว่า การใช้โซเชียลมากขึ้น อาจทำให้ความเหงาเพิ่มขึ้น?

เธอกับฉัน เราไม่เท่ากัน

อย่างที่กล่าวไปว่าโซเชียลมีโอกาสทำให้เราเกิดการ ‘เปรียบเทียบ’ มากขึ้น การเห็นโพสต์ ‘ความสุข-ความสำเร็จ’ ของคนอื่น เห็นสังคมของคนอื่น หรือเห็นวิถีชีวิต ไลฟ์สไตล์บางอย่างที่อาจดูเหมือนสมบูรณ์แบบ มักทำให้เรารู้สึกไม่ดีพอ อันนำไปสู่ความเหงาและความโดดเดี่ยว

ปฏิสัมพันธ์แบบผิวเผิน

แม้โซเชียลมีเดียจะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการเชื่อมต่ออย่างรวดเร็วต่อเนื่อง แต่การโต้ตอบบนแพลตฟอร์มเหล่านั้นมักเป็นเพียงความผิวเผิน ยิ่งในยุคนี้ที่การสื่อสารบางอย่างต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น ดังนั้น การขาดบทสนทนาที่ลึกซึ้งอาจทำให้เราขาดการเชื่อมต่อที่แท้จริง แต่กลับได้ ‘เชื่อมต่อ’ บนโลกเสมือนจริงเท่านั้น

ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ

บางครั้งการที่เรามีผู้ติดตามหรือฟอลโลวเวอร์ในแพลตฟอร์มโซเชียลเป็นจำนวนมาก อาจเป็นการ ‘เบี่ยงเบน’ ความสำคัญของการมีความสัมพันธ์ในระดับลึกซึ้งและมีคุณภาพได้ การให้ความสำคัญกับยอดคนติดตามมากกว่าคุณภาพ อาจส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ที่อ่อนแอ อันนำมาซึ่งความเหงา-เพราะไม่มีใครเข้าใจเรา นั่นเอง

ไม่ได้พบสบตา

การใช้โซเชียลมีเดียมากเกินไป อาจเป็นการ ‘ลดเวลา’ ของการมีปฏิสัมพันธ์แบบเห็นหน้าค่าตา ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อการสร้างความสัมพันธ์ที่เข้มแข็ง การไร้ตัวตนทางกายภาพในรูปแบบนี้ รวมถึงการแบ่งปันที่ไร้คำพูด (สติกเกอร์นั่นไง) อาจทำให้ความรู้สึกโดดเดี่ยวเข้มข้นและรุนแรงขึ้นไปอีก

ความเป็นส่วนตัวที่เลือนลาง

หลายครั้งเราไม่สามารถเชื่อถือ ‘ตัวตน’ ของใครบางคนบนโลกโซเชียลได้ แถมการมีตัวตนบนโลกโซเชียลก็เป็นการเปิดพื้นที่ของตัวเองในบางมุมให้คนอื่นได้รับรู้แล้ว ความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวและความน่าเชื่อถือของตัวตนบนโลกออนไลน์นี้เอง ที่เป็นตัวขัดขวางการพัฒนาความสัมพันธ์และความไว้วางใจได้ และความกลัวว่าการปฏิสัมพันธ์บนโลกออนไลน์ที่ขาดความจริงใจ ก็จะนำไปสู่ความรู้สึกเหงา

ไม่ว่าโซเชียลมีเดียจะเข้ามาทำให้ชีวิตในหลายแง่มุมเป็นเรื่องง่ายขนาดไหน แต่เหรียญมีสองด้านเสมอ ท้ายที่สุดแล้ว เราอาจไม่ได้เลือกความเหงา แต่ความเหงาต่างหากที่เลือกเรา เพราะมันต่างกับความสันโดษที่เราเป็นคนเลือกเอง

ความเหงาเกิดขึ้นได้ ยิ่งในโลกปัจจุบันที่ความเหงาดูจะย่างกรายเข้ามาในชีวิตได้อย่างง่ายดาย สิ่งที่เราต้องทำคือ รู้ทันความเหงาว่ามันสามารถเกิดขึ้นได้แหละ โดยเฉพาะกับโลกเสมือนจริงที่มีผลอย่างมาก เมื่อรู้เท่าทันแล้ว บางครั้งประสบการณ์การเผชิญหน้ากับความเหงาด้วยสายตาหรือวิธีคิดแบบใหม่นั้น อาจกลายเป็นวัตถุดิบบางอย่างในการสานต่อเรื่องราวใหม่ๆ  และทำให้เรามีพื้นที่ในการใช้ชีวิตมากขึ้นก็ได้

เมื่อความเหงาอาจเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ ‘เราจะทำอย่างไรกับความเหงา’ กับ ‘เราจะทำอะไรจากความเหงาได้บ้าง’ ลองทบทวนสองคำถามนี้ดู เราอาจพบหนทางบางอย่างเพื่อคลายเหงาก็ได้

AUTHOR

ILLUSTRATOR

banana blah blah

นักวาดภาพประกอบ ที่ชอบกินอาหารสุกๆดิบๆ เป็นชีวิตจิตใจ ส่วนชีวิตนั้นก็สุกๆดิบๆไม่ต่างกัน