“ตอนนี้ครบรอบ 2 ปี พอดีเลย” กฤษณ์ อนรรฆกุล บอกในวันธุรกิจที่ปลุกปั้นชื่อ Sleep Industry Bed & Coffee ถึงคราวจุดเทียนฉลองขวบวัยที่เพิ่มขึ้น
ย้อนกลับไป 6 ปีที่แล้ว ก่อนที่เขาจะมาลงหลักกับธุรกิจห้องพักที่ให้บริการลักษณะ Airbnb เขาเคยทำงานสื่อมาเป็นเวลากว่า 10 ปี และเคยมีช่วงชีวิตของการทำงานประจำเป็นพนักงานออฟฟิศมาก่อน
หลังจากปลดเน็กไทเป็นที่เรียบร้อย ช่วงนั้นธุรกิจอย่าง Airbnb กำลังเริ่มเป็นที่นิยม ประจวบเหมาะกับที่เจ้าตัวเคยประทับใจเมื่อได้ลองใช้บริการห้องพักสไตล์นี้ จึงตัดสินใจที่จะเริ่มสร้างธุรกิจห้องพักอย่างที่ตัวเองวาดหวังโดยเริ่มต้นจากให้เช่าคอนโดตัวเอง ยิ่งทำยิ่งได้รับกระแสตอบรับที่ดีมากขึ้น จนเป็นจุดเริ่มต้นของ Sleep Industry Bed & Coffee ในเวลาต่อมา
จากเดิมอาคารหลังนี้เคยเป็นร้านขายเสื้อผ้า จังหวะที่เจ้าของร้านเดิมตัดสินใจย้ายออกไปเปิดสาขาที่อื่น อาคาร 4 ชั้น จึงได้ฤกษ์ปรับเปลี่ยนจากเดิมที่ฉาบผนังด้วยสีเขียวให้กลายเป็นบรรยากาศคุมโทนสีขาว เทา ดำ เป็นหลัก มีความดิบและความเปลือย โดยเจ้าของไอเดียนิยามสไตล์การตกแต่งนี้ว่า Industrial Loft
“เหตุผลที่เลือกอาคารนี้เพราะว่า หนึ่ง พื้นที่ห้องว่างโล่ง อยากได้อะไร จะใส่อะไร เราสามารถทำได้โดยไม่ต้องรื้อถอน เลยตัดสินใจว่างั้นทำตรงนี้ ตอนเริ่มแรกคิดว่าจะสร้างเป็นห้องพักทั้งหมด แต่เมื่อคิดไปคิดมาแล้ว พื้นที่บริเวณชั้นหนึ่งไม่เหมาะต่อการทำเป็นที่พักผ่อนอย่างยิ่ง เพราะติดพื้นเกินไปและยังอยู่ริมถนนด้วย งั้นเอาเฉพาะชั้นบน และมาคิดต่อว่าชั้นล่างสุดจะทำอะไร ช่วงนั้นสนใจเรื่องกาแฟจึงไปเรียน และตัดสินใจเปิดเป็นคาเฟ่เพื่อเอาไว้เสิร์ฟให้นักเดินทางที่มาพัก”
ชื่อของ Sleep Industry Bed & Coffee นั้นเชื่อมโยงกับจุดประสงค์ตั้งต้นที่ว่า อยากทำสถานที่นี้ให้คนได้มาพักผ่อนคำแรกที่คิดได้จึงเป็นคำว่า Sleep จากนั้นจึงหาคำอื่นเพิ่มโดยยึดโยงจากสไตล์การออกแบบ
หากลองเดินสำรวจไล่มาตั้งแต่ทางเข้า เชื่อว่าทุกคนไม่ต้องสังเกตก็คงได้เห็นนกฟลามิงโกสีชมพูเด่นเตะตา ยืนเรียงรายต้อนรับแขกผู้มาเยือน ดูผิดแปลกกับโทนสีของร้าน แต่สิ่งนี้มีความเกี่ยวข้องกับกฤษณ์เมื่อครั้งที่ไปเรียนทำกาแฟ หลังจากตระเวนชิมรสชาติของกาแฟอันหลากหลายแล้ว เขาถูกใจรสเปรี้ยวของเมล็ดเอธิโอเปีย ซึ่งมีสัญลักษณ์คือ นกฟลามิงโกสีชมพู เขาจึงตั้งมันไว้เป็นสัญลักษณ์ของประเทศที่ชื่นชอบในรสชาติของเมล็ดกาแฟ
บริเวณชั้นหนึ่งคือ คาเฟ่ เปิดขึ้นเพื่อไว้บริการอาหาร เครื่องดื่ม ให้กับนักเดินทางผู้มาเยือน ผสมผสานการตกแต่งที่ให้ความเป็นลอฟท์ ตั้งแต่พื้นปูนขัดมัน ผนังก่ออิฐสีขาว เฟอร์นิเจอร์ลายหินอ่อน เก้าอี้สีเทาเข้มตัดสลับสีน้ำตาล เคาน์เตอร์บาร์ที่สร้างด้วยโครงไม้รูปทรงจั่ว ส่วนของชั้นล่างสุดนี้รอบๆ มีต้นไม้ประดับประดาสบายตา
ว่ากันว่าคาเฟ่นี้เด่นในเรื่องการเสิร์ฟเมนูอาหารเช้าสไตล์อเมริกัน และขนมหวาน ขนมเค้กต่าง ๆ รวมถึงเครื่องดื่มหลากหลายเมนู ไม่ต้องมองหาว่ารายการไหนคือซิกเนเจอร์ เพราะที่นี่ไม่มี ด้วยเน้นเมนูง่ายๆ แต่ใส่ใจเรื่องของวัตถุดิบเป็นสำคัญกว่า โดยมีเพื่อนร่วมทางของกฤษณ์ โอม–ธีรรัชต์ แสงเรือง พาสทรีเชฟหลากชั่วโมงบินที่ผ่านงานมาแล้วทั้งในไทยและต่างประเทศ เป็นผู้ดูแลในส่วนนี้
ขยับตัวเดินต่อไปที่บันไดทางขึ้นชั้น 2 จะพบกับชั้นลอยเป็นพื้นที่ไว้ทำงานหรือใช้รองรับแขกที่ล้นจากด่านล่าง และเมื่อก้าวขึ้นบันไดต่อไปอีกชั้นจะเป็นในส่วนของห้องพัก ที่นี่จะมีเพียงแค่ 2 ห้องเท่านั้น แบ่งเป็นชั้น 3-4 ขนาดของห้องไม่เล็กและไม่ใหญ่ไป จัดวางตำแหน่งของเฟอร์นิเจอร์สีไม้ตัดสลับกับโทนสีหลักที่มีความดิบ เปลือย เก่า มีดีไซน์และออกแบบจัดวางตำแหน่งเครื่องใช้ชิ้นเล็กชิ้นน้อยได้อย่างเป็นระเบียบ
“ส่วนตัวเป็นคนชอบรีโนเวตของเดิม คือไม่ใช่ไม่ชอบของใหม่นะ แต่เราจะมองว่าของเดิมมีอะไรอยู่แล้ว นำมาปรับปรุงทำเป็นอะไรอย่างอื่นได้บ้าง ผมว่าผมไม่ใช่วินเทจ ผมชอบความเก่าที่ยังคง comfortable อย่างเตียงสมัยก่อนอาจจะดูแข็ง กระด้าง เราเองก็ชอบแบบแข็งแต่ยังไงก็ต้องสบายไว้ก่อน”
ห้องพักแม้จะมีขนาดความกว้างประมาณ 30 ตารางเมตร แต่ด้วยการตกแต่งที่เผยให้เห็นความเปลือย ความดิบ และดึงเทรนด์ยุค Minimalism มาใช้ในการออกแบบ เราจึงได้รู้สึกผ่อนคลายไปกับความเรียบ โล่ง รู้สึกว่าไม่อึดอัด
สีขาว เทา ดำ นั้นมาจากความชอบและสะท้อนออกมาเป็นการตกแต่ง กฤษณ์ เล่าให้ฟังว่า จากการเลือกซื้อของส่วนใหญ่ สีเทาจะเข้ามาเป็นสีแรกๆ ในตัวเลือก ไม่สกปรกง่าย สะดวกต่อการใช้ และสามารถเข้ากับทุกสภาพ อยู่ได้กับทุกสไตล์
“ผมเป็นคนชอบมอง รู้สึกว่ามันสบายตา มันทำให้เกิดความกว้าง เปิดโล่ง ไม่อึดอัด”
แล้วเขาบาลานซ์ยังไงระหว่างงานที่ดูคล้ายยังทำไม่เสร็จกับความดิบที่ตั้งใจเผย เราสงสัย
“ผมคิดว่ามันยากนะ ช่วงที่ปรับปรุงร้านใหม่ๆ ก็คุยกับช่างว่ามีตัวอย่างมาให้ดูนะ อย่างผนังไม่เรียบแต่ไม่ใช่ไม่เสร็จหรือทำให้ปูนล่อนออกเหมือนผ่านการใช้งานมา ซึ่งช่างก็ไม่เข้าใจและก็ได้คำตอบกลับมาอย่างเช่นว่า แล้วมันจะสวยเหรอครับ”
“แล้วความงามของการตกแต่งสไตล์ลอฟท์อยู่ตรงไหน”
“ผมว่ามันมีเรื่องราวนะ ร่องรอยต่างๆ มันสามารถบอกอะไรกับเรา เป็นความทรงจำให้เราได้ ว่ารอยนี้มันเกิดจากอะไร ปีไหน ยังไง พอได้มองก็มักจะเตือนสติ เตือนความจำ ให้คิดถึงว่ารอยนี้นั้นมาจากการเปิดร้านเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ถ้าสมบูรณ์ทั้งหมดก็จะไม่มีอะไรเลย อาจจำไม่ได้ว่าตอนนั้นใครเป็นคนทำให้เกิด เปรียบเหมือนชีวิตที่เป็นการเรียนรู้ลองผิดลองถูก เรียนรู้จะสร้างสิ่งนี้ขึ้นมาด้วยตัวเอง ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างพื้น บางทีเราไปเห็นว่าที่อื่นเขาทำได้ แต่ไม่รู้หรอกว่ากลวิธีการทำเขาทำกันยังไง เราก็ลองผิดลองถูกหาวิธีจนเราทำได้
“สุดท้ายแม้ว่าเราจะไปทำร้านอื่นๆ ผมว่ายังไงก็ยังมีกลิ่นของอะไรพวกนี้อยู่ดี เหมือนมันเป็นธรรมชาติที่ออกมาจากตัวเราเอง”
________________________________________________________________________
The Series of Loft Places คอลัมน์ที่เราคัดสรรสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน คาเฟ่ ออฟฟิศ ที่มีความโดดเด่นในสไตล์ลอฟท์ ทั้งการออกแบบและเรื่องราว เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการตกแต่งสไตล์ลอฟท์ โดยคุณก็สามารถทำเองได้ง่ายๆ กับ TOA Loft ปูนฉาบขัดมันสำเร็จรูป เป็นสูตรน้ำ ปลอดภัย ไร้กลิ่นฉุน พร้อมกับตัวเคลือบสูตรพิเศษในเซต ที่จะช่วยปกป้องผนังลอฟท์ให้มีความทนทานเสมือนการเคลือบแก้ว อีกทั้งยังมีคุณสมบัติเช็ดล้างง่าย และยังไม่อมฝุ่น ปลอดภัยต่อสุขภาพอีกด้วย