Lisa Taback, awards strategist ผู้กำลังวางแผนปล้นออสการ์มาให้ Roma

Highlights

  • เน็ตฟลิกซ์ลงทุนไปกับเงินค่าโปรโมตออสการ์แคมเปญให้กับ Roma ราว 30 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้หนังเรื่องนี้ให้ทะยานขึ้นสู่เวทีในลำดับสุดท้ายของพิธีรางวัลหนังที่สำคัญที่สุดของโลก เพราะหนังเรื่องนี้อาจจะเป็นหนังที่พลิกเศรษฐกิจและเสริมแบรนดิ้งขั้นเทพให้เน็ตฟลิกซ์ได้
  • เบื้องหลังในออสการ์แคมเปญของ Roma นี้ เน็ตฟลิกซ์เรียกหญิงสาวคนหนึ่งเข้ามาเป็นแม่ทัพในการเดินเกม เธอชื่อ Lisa Taback เธอคือคนที่ทำให้ Spotlight ได้รางวัล best picture แซงหน้า The Revenant ในปีนั้น เธอเป็นคนพา Moonlight ไปถึงฝั่ง best picture แซงหน้าหนังที่กำลังนอนมาอย่าง La La Land

ช่วงหาเสียงเลือกตั้งบ้านเราในตอนนี้คือช่วงเวลาเดียวกับบรรดาผู้ลงสมัครชิงออสการ์กำลังหาเสียงอยู่เช่นกัน (แม้อาจจะไม่มีอะไรเซอร์ไพรส์และเซอร์เรียลเท่าบ้านเราก็ตาม) หากใครตามอ่านมาเรื่อยๆ ในทุกๆ ปี ผมจะเล่าอยู่เสมอถึงการขับเคี่ยวรุนแรงของค่ายหนังฮอลลีวูดเพื่อที่จะทำให้หนังของตัวเองได้รางวัลสาขา best picture อันเป็นรางวัลสูงสุดมาให้ได้ แต่ดูเหมือนปีนี้จะแรงสุดเท่าที่มีกันมา โดยเฉพาะกับหนังเล็กๆ เรื่องนั้นที่ชื่อ Roma ของเน็ตฟลิกซ์

ร่ำลือกันอย่างแรงว่าตอนนี้ไม่มีใครมหากาฬเท่าทีมเน็ตฟลิกซ์อีกแล้วในการที่จะผลักดันหนังขาว-ดำที่มีนางเอกโนเนมเรื่องนี้ให้ทะยานขึ้นสู่เวทีในลำดับสุดท้ายของพิธีรางวัลหนังที่สำคัญที่สุดของโลก เพราะหนังเรื่องนี้อาจจะเป็นหนังที่พลิกเศรษฐกิจและเสริมแบรนดิ้งขั้นเทพให้เน็ตฟลิกซ์ก็ได้ ในเมื่อหวังผลแรงสูงขนาดนี้ เน็ตฟลิกซ์ยอมลงทุนไปกับเงินค่าโปรโมตออสการ์แคมเปญให้กับหนังเรื่องนี้ประมาณ 30 ล้านดอลลาร์ (เรียกได้ว่าสูงที่สุดถัดจากค่าโปรโมตของ The Social Network จำนวน 25 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจำนวน 30 ล้านนี้ มีมูลค่าสูงกว่างบผลิตหนังจริงๆ ที่จบแค่ 15 ล้าน) และยังมีทีท่าว่าจะอัดฉีดไปเรื่อยๆ โดยเงินที่พวกเขาเสียไป หมดไปกับการที่พวกเขาเอาใบหน้าของ Yalitza (นางเอกของเรื่อง) ไปติดตามบิลบอร์ดจำนวนมากเกือบจะทุกหัวถนน

ยังไม่นับการส่งโฟโต้บุ๊กเล่มใหญ่ของหนังให้กับคนสำคัญๆ ในอุตสาหกรรมมากมาย ร่วมด้วยการส่งช็อกโกแลตพร้อมจดหมายจาก Yalitza และโปสเตอร์ที่มีลายเซ็นของ Alfonso Cuarón ให้กับเพื่อนพี่น้องสมาชิกที่มีสิทธิ์โหวตต่างๆ นี่ถ้าเป็นการเลือกตั้งปกติ เราอาจจะเรียกว่าซื้อเสียงแล้วล่ะ แต่ทางฝั่งเขาแค่เรียกว่าเพิ่มโอกาสให้กับหนังดีๆ เรื่องนั้นให้มากที่สุด เพราะการที่คนโหวตเห็นหนังเรื่องมากขึ้น เยอะขึ้น ก็อาจมีสิทธิ์ทำให้พวกเขาจำหนังเรื่องนี้ได้มากขึ้น (อย่าลืมว่า Roma เป็นหนังเล็กนะเออ เมื่อเทียบกับ Black Panther หรือ Bohemian Rhapsody )

 

แต่เหนืออื่นใด เบื้องหลังในออสการ์แคมเปญของ Roma นี้ เน็ตฟลิกซ์เรียกหญิงสาวคนหนึ่งเข้ามาเป็นแม่ทัพในการเดินเกม เธอชื่อ Lisa Taback



เหตุผลที่ต้องจ้างลิซ่ามันง่ายมากเลยครับ เมื่อเรามาดูโปรไฟล์ของเธอ เราจะพบว่าเธอคือคนที่ทำให้ Spotlight ได้รางวัล best picture แซงหน้า The Revenant ในปีนั้นไปเฉยเลย เธอเป็นคนพา Moonlight ไปถึงฝั่ง best picture แซงหน้าหนังที่กำลังนอนมาอย่าง La La Land และที่สำคัญคือ เธอก็เป็นคนดูแลออสการ์แคมเปญให้ La La Land ด้วยเช่นกัน ยังไม่นับงานสารคดีอย่าง Amy ที่ได้รางวัลออสการสาขาสารคดียอดเยี่ยมไปด้วย รวมถึงการปั้นแคมเปญให้หนังเรื่อง Room จน Brie Larson ได้รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม คุณพี่เขาดั่งมีมือเสกทองขนาดนี้ ลองสืบต่ออีกนิดดีกว่าว่า เขาเป็นใครมาจากไหน

ลิซ่าเคยเป็นศิษย์เก่าของ Harvey Weinstein ที่โรงเรียน Miramax Film Schools of Oscar campaign (เซอร์มาก ผมก็เพิ่งรู้ว่ามันมีโรงเรียนเพื่อการนี้โดยเฉพาะด้วย) หลังจากนั้นเธอก็ทำงานให้กับ Miramax ไป ก่อนที่จะเริ่มแยกย้ายตัวเองออกมาเปิดบริษัท LTLA Communications และทำงานให้กับค่ายอื่นๆเช่น A24 หรือเน็ตฟลิกซ์เอง

สำหรับลิซ่าแล้ว การซื้อใจกรรมการหรือบรรดาผู้มีสิทธิ์โหวตทั้งหลายนั้นอาจจะไม่ใช่การส่งของบรรณาการไปให้พวกเขาเฉยๆ เท่านั้น สิ่งที่เธอทำคือการคิดแคมเปญหรืออีเวนต์ต่างๆ เพื่อให้หนังเรื่องนั้นได้โชว์ศักยภาพตัวเองออกมาและอธิบายให้บรรดากรรมการเห็นว่า เทคนิคการสร้างหรือความตั้งใจบางอย่างของผู้กำกับนั้นมันอยู่ตรงไหนบ้างเพื่อให้กรรมการให้ได้เห็นคุณงามความดีของมัน (ที่มีอยู่แล้ว) เด่นชัดขึ้น ตัวอย่างเช่น พวกเขาเคยเอาเซตจริงที่ใช้ถ่ายทำของหนังเรื่อง Room ไปตั้งหน้าโรงหนัง เพื่อให้คนเห็นถึงความยากลำบากในการถ่ายทำหนังเรื่องนี้ทั้งผู้กำกับและนักแสดง รวมถึงพยายามบิลด์เรื่องความแตกต่างระหว่างตัวจริงของบรี ลาร์สัน และจาคอบ เทรมบลีย์ และบทบาทตัวละครของพวกเขาที่อยู่ในหนัง เพราะสิ่งเหล่านี้มักจะเป็นสิ่งที่กรรมการใช้วัดเรื่องการแสดงที่ดี ในปีนั้น Room เข้าชิง 4 สาขารวมถึง best picture และ best director ส่วนบรี ลาร์สัน ก็ได้รางวัลนักแสดงนำหญิงไปในที่สุดจริงๆ

สำหรับการได้รางวัลออสการ์นั้น การเป็นหนังดีมันอาจจะไม่พอจริงๆ ลองจินตนาการถึงประเทศที่มีหนังออกมาหลายร้อยหลายพันเรื่องต่อปี เกือบจะไม่มีทางเลยที่คนจะมีโอกาสได้ศึกษาคุณงามความดีของหนังทีละเรื่อง หรือหนังบางเรื่องที่คนเคยชอบมากๆ อาจถูกลืมไปได้ง่ายๆ ในช่วงตัดสินรางวัล เพราะดันฉายก่อนฤดูกาลออสการ์นานเกินไป หนังบางเรื่องที่ดังในโลกออนไลน์ อาจจะเงียบกริบในโลกออฟไลน์ ดังนั้นก็ต้องมีการผลักดัน การขายของนั้นต้องเป็นตำแหน่งอาชีพของลิซ่าที่เรียกว่า awards strategist (นักวางแผนสำหรับรางวัล) จึงมีอยู่จริงในวงการฮอลลีวูด

แน่นอนว่าอิทธิฤทธิ์ของรางวัลออสการ์นั้นมีอยู่จริงๆ เมื่อหนังเรื่องหนึ่งได้ออสการ์ เศรษฐกิจของสตูดิโอผู้ผลิตหนังเรื่องนั้นก็จะดีทันที ยอดขายตั๋วจะเพิ่มขึ้นอีก 15 เปอร์เซนต์ ไหนจะคุณค่าความเป็นหนังดีทีจะนำไปทำเงินต่างๆ ได้อีกมากมาย ดังนั้นการประกวดภาพยนตร์สนามนี้จึงเหมือนสนามแห่งการลงทุนอย่างแท้จริง อาจจะมากกว่าความเป็นเวทีหนังคุณภาพที่แท้จริงด้วยซ้ำ แต่ประเด็นนี้ก็เถียงกันยากจริงๆ เพราะจะบอกว่าหนังออสการ์ไม่มีคุณภาพก็ดูจะเป็นไปไม่ได้ แต่การชนะรางวัลของมันนั้นเป็นสิ่งที่เรารู้ว่ามันมีเม็ดเงินมากมายอัดอยู่ใต้ฐานรางวัล

ว่าง่ายๆ คือ ถ้าหนังมันดีเท่ากันทุกเรื่อง มันก็อยู่ที่ว่าใครพรีเซนต์ดีกว่ากัน  หรือถ้าบอกว่าหนังเล็กอีกเรื่องดีมากกว่าหนังใหญ่อีกเรื่อง วิธีการเดียวที่จะชนะได้คือพรีเซนต์ตัวเองให้ถูกทาง อธิบายให้กรรมการให้ได้ว่าเราดีกว่าอย่างไร

หรือไม่ก็อัดเงินโปรโมต จบ.

AUTHOR

ILLUSTRATOR

22mm.t

Illustrator with fun and colorful style.