เราทำอะไรได้บ้างกับการจากไปของ จงฮยอน SHINee

ถ้าให้ลองสรุปภาพรวมการแข่งขันของวงการ K-pop ในปี 2017 ปีนี้ยังคงดุเดือดไม่แพ้ปีก่อนๆ แต่ก่อนส่งท้ายปีกลับมีเรื่องเศร้าที่ทุกคนไม่คาดคิด นั่นคือการจากไปของ คิม จงฮยอน นักร้องหลักวัย 27 ปีของ SHINee วงบอยแบนด์ชื่อดังของประเทศเกาหลีใต้

หลังการสูญเสีย เราจะพบเรื่องราวที่ทุกคนจะได้รับจากการสูญเสีย นอกจากความทุกข์ เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ การมองว่าเรา คนธรรมดาที่เป็นแฟนคลับของศิลปินจะทำอะไรจากการจากไปของบุคคลในแสงไฟผู้เป็นที่รักได้บ้าง

เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ ต่อ-คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง อาจารย์พิเศษด้านภาพยนตร์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์ เพลง ละครเวที คอนเสิร์ต ซึ่งเป็นผู้ที่ติดตามวงการเคป๊อปมานาน และ ส้ม-อรอุมา โหมดนอก แฟนคลับผู้ก่อตั้งและดูแล เด็ก.ชาย.แสง กลุ่มแฟนคลับอายุ 9 ปีที่เหนียวแน่นของวง SHINee นอกจากดูแลเพจเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์เด็ก.ชาย.แสง ส้มยังเป็นตัวแทนคนไทยจัดงานไว้อาลัยให้จงฮยอนที่วัดสุทธิวรารามเป็นครั้งสุดท้ายด้วย

เราชวนทั้งสองคนมาทบทวนว่านอกจากการเสียจงฮยอนไป เราทำอะไรจากเหตุการณ์นี้ได้บ้าง ด้วยความหวังว่าการจากไปของใครสักคนจะไม่เสียเปล่า

ตรวจสอบข่าว

ขณะที่คนกำลังให้ความสนใจข่าวการฆ่าตัวตายของจงฮยอนในรอบสัปดาห์ที่แล้ว มีการนำเสนอข้อมูลของเหตุการณ์นี้ออกมาจำนวนมาก เมื่อเรากดเข้าไปอ่านเนื้อหาต่างๆ เราจะรู้ได้ว่าสื่อสำนักไหนหรือเพจต่างๆ นำเสนอข้อมูลอย่างไร เพจใดเชื่อถือได้หรือไม่ได้ ในขณะที่บางสำนักข่าวหรือบางเพจนำเสนอข่าวที่มีแหล่งข้อมูลชัดเจน แต่ตรงกันข้าม มีบางเพจที่นำเสนอข่าวจากการที่คนทวีตในเว็บไซต์ทวิตเตอร์ ทำให้ผู้อ่านเชื่อถือกันไปโดยยังไม่มีการตรวจสอบ เช่น มีข่าวลือว่าจงฮยอนยังไม่เสียชีวิต แพทย์กำลังนำออกซิเจนเข้าร่างกายเพื่อล้างพิษคาร์บอนไดออกไซด์ หรือในคืนที่จงฮยอนเสียชีวิต มีเจ้าของทวิตเตอร์นิรนามทวีตบอกว่าเพื่อนของเขาฆ่าตัวตายตามนักร้องหนุ่มไปแล้ว แต่ทั้งหมดกลับไม่เป็นความจริงเลย ซึ่งในช่วงเวลาที่เลวร้ายนี้ แฟนคลับบางคนเลือกเชื่อเพราะสิ้นหวัง เกิดการส่งต่อข้อมูลผิดๆ แบบไฟลามทุ่งทำให้ข่าวลือแพร่สะพัดไปเรื่อยๆ

เมื่อเกิดสถานการณ์ที่น่าอึดอัดและชวนตึงเครียดแบบนี้ การรู้เท่าทันสื่อและข้อมูลในโซเชียลมีเดีย (media literacy) จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ในฐานะแฟนคลับ เราได้บทเรียนว่าไม่ควรเชื่อใครง่ายๆ ควรมีสติและกลั่นกรองการรับข้อมูลแต่ละครั้ง เพราะถ้าข่าวไม่เป็นจริงจะทำให้สถานการณ์กลับยิ่งแย่ นอกจากการตรวจสอบข้อมูล เรายังสามารถร้องเรียนสื่อที่นำเสนอข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงให้มีจรรยาบรรณมากยิ่งขึ้นด้วย

ตรวจสอบค่ายเพลง

กรณีความกดดันและความเครียดของจงฮยอนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาธุรกิจที่เราได้เห็นในวงการเคป๊อป ในอุตสาหกรรมนี้มีการแข่งขันและการทำงานที่เคร่งเครียดสูง นักร้องเกาหลีทำงานหนักเต็มตารางเวลา ด้วยความเหนื่อยอ่อนจากการแสดง บ่อยครั้งทำให้เกิดการป่วยทางกาย หรืออาจเกิดอาการทางจิตใจที่บ่อยครั้งดูจากภายนอกไม่ได้

โดยปกติค่ายเพลงมักเน้นการดูแลภาพลักษณ์ภายนอกของศิลปิน อาทิ การมีหน้าตา ร่างกาย ผิวพรรณ และการแต่งกายที่ดี แต่เหตุการณ์ของจงฮยอนสร้างความตระหนักว่าค่ายควรเข้าไปดูแลศิลปินเป็นพิเศษในเรื่องสภาพทางจิตใจ กรณีของจงฮยอนนั้น ต้นสังกัดของเขาได้รับผลกระทบและได้บทเรียนใหญ่ เพราะในปีหน้า SHINee จะมีคอนเสิร์ตใหญ่ระดับโดมทัวร์ที่ญี่ปุ่น แสดงสดรอบหนึ่งมีผู้เข้าชมจำนวน 50,000 คน ในตอนนี้ S.M. Entertianment ต้นสังกัดยังไม่มีการประกาศยกเลิกคอนเสิร์ตดังกล่าว เพราะฉะนั้นในอนาคตค่ายอาจต้องมองหาทางออกที่ดีเพื่อให้ทุกฝ่ายมีความสุขที่สุด

นอกจากจงฮยอน ในความเป็นจริงวงไอดอลเคป๊อปอีกหลายวงและหลายค่ายกำลังได้รับความไม่เป็นธรรมด้านการประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมบันเทิง มีคนในอีกหลายๆ คนที่อยากพักและเลิกเดินบนเส้นทางบันเทิง แต่ก็ติดปัญหาเรื่องสัญญาค่ายที่เซ็นครั้งหนึ่งยาวนานถึง 5 ปี หรือ 10 ปี ดังนั้นนอกจากการเรียกร้องความเป็นธรรมด้วยตัวศิลปิน แฟนคลับ สื่อ และรัฐบาล เราสามารถเริ่มเป็นส่วนหนึ่งในการตรวจสอบและเรียกร้องความเป็นธรรมให้ศิลปินที่เรารักและชื่นชอบได้ด้วยตัวเอง

ทำใจว่าอนาคตไม่แน่นอน

ในแง่ปรัชญาชีวิต ทุกอย่างมีเกิดและดับตามวัฏจักร ดังนั้นจึงต้องยอมรับความสูญเสียที่เกิดขึ้นให้ได้ แฟนคลับจะได้เรียนรู้ว่าชีวิตไม่มีอะไรที่เราควบคุมและคาดการณ์ได้ อุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เมื่อเรารักที่จะทำอะไรเราก็ไม่ควรปล่อยเวลาผ่านไป ส้ม ผู้ดูแลกลุ่ม เด็ก.ชาย.แสง เล่าให้เราฟังว่า ‘SHINeeCONCERT “SHINee WORLD V” in BANGKOK’ ในวันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน 2560 ณ ธันเดอร์โดม เมืองทองธานี เป็นการแสดงครั้งสุดท้ายที่แฟนคลับชาวไทยได้เห็นจงฮยอน และเป็นครั้งสุดท้ายที่สมาชิกทั้ง 5 คนมีคอนเสิร์ตใหญ่และอยู่บนเวทีพร้อมเพรียงกัน ฉะนั้นการเห็นว่าทุกอย่างดูปกติและยังอยู่ร่วมกันดีไม่ได้แปลว่าเขาจะมีอายุยืนยาวเพื่อรอให้เราชื่นชมตลอดไป

ทำให้ใจเข้มแข็งกว่าเดิม

SHINee คือวงยุคบุกเบิกเคป๊อปในตลาดโลก แฟนคลับของจงฮยอนทุกคนเสียใจ บทเรียนหนึ่งคือเราต้องรับมือและการเยียวยาตัวเองให้กลับเป็นปกติได้อีกครั้ง

เมื่อรู้ข่าวการเสียชีวิตของจงฮยอน แฟนคลับหลายคนกำลังจิตใจอ่อนแอ แต่สุดท้ายเราก็ต้องเลิกร้องไห้และลุกขึ้นมาเข้มแข็ง ในกรณีของส้ม เธอเปิดโหวตเพื่อหาคำตอบว่าคนไทยอยากทำอะไรให้จงฮยอนเป็นครั้งสุดท้าย เสียงส่วนมากลงความเห็นให้จัดงานอาลัยให้ศิลปินหนุ่มที่วัดสุทธิวราราม นอกจากจะเป็นการแสดงความเสียใจต่อผู้ที่จากไปเป็นครั้งสุดท้าย ข้อดีของงานนี้คือการปลอบโยนหัวใจที่บอบช้ำของแฟนคลับด้วยกันเอง

ทำความเข้าใจว่าโรคซึมเศร้าอันตรายกว่าที่คิด

ในอนาคตโรคนี้อาจจะทำให้เราสูญเสียคนรอบข้างได้ง่ายกว่าเดิม ถึงแม้ว่าวงการแพทย์และคนทั่วไปให้ความสำคัญกับโรคนี้มากขึ้น เราต้องยอมรับว่ายังมีอีกหลายคนที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ ดังนั้นการจากไปของจงฮยอนจึงเป็นกรณีศึกษาว่าการป่วยเป็นโรคนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ โดยเฉพาะคนที่เราเห็นว่าภายนอกดูปกติ แต่เมื่อเขาอยู่คนเดียว เขาอาจตัดสินใจด่วนจากเราไปง่ายๆ โดยที่เรายังไม่ทันตั้งตัวเสียด้วยซ้ำ

เคารพการตัดสินใจของคนอื่น

ทุกคนที่เป็นแฟนคลับไม่มีใครอยากที่จะยอมรับในทันทีว่าศิลปินที่ตนรักเสียชีวิต ขณะที่มีหลายคนกล่าวโทษว่าการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องผิดบาปและไม่ควรทำ แต่สุดท้ายทางออกที่ดีที่สุดอาจเป็นการลองเปิดใจเพื่อทำความเข้าใจและยอมรับการตัดสินใจของคนที่ต้องการจากไป ส้ม แฟนคลับวง SHINee ให้แง่มุมที่น่าสนใจว่าการรั้งจงฮยอนให้อยู่ บางครั้งอาจเป็นการสร้างบาดแผลและความทุกข์ให้ศิลปินมากกว่าเดิม และที่สำคัญข้อความในจดหมายก่อนจงฮยอนจากไปสะท้อนว่าเขาต้องการให้แฟนคลับมีความสุขและไม่ต้องกล่าวโทษใครทั้งนั้น

หยุดวงจรการฆ่าตัวตายตาม

หลายครั้งเมื่อศิลปินตัดสินใจฆ่าตัวตายจะเกิดพฤติกรรมการฆ่าตัวตายเลียนแบบ (suicide contagion) ในหมู่แฟนคลับที่มีความเครียดสูง เคยมีการเก็บสถิติในสังคมเกาหลีแล้วว่าเมื่อมีไอดอลฆ่าตัวตายครั้งหนึ่ง จะมีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นนาน 9 สัปดาห์ ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น คนรอบข้างแฟนคลับที่รักศิลปินจึงควรสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลาน เพื่อน หรือคนสนิท และให้กำลังใจมากกว่าการซ้ำเติมให้ย่ำแย่ไปกว่าเดิม

ทำความเข้าใจว่าศิลปินคือมนุษย์

จงฮยอนได้รับการให้คำปรึกษาด้านความเครียดมาพักใหญ่ แต่ถึงอย่างนั้นปัญหาของจงฮยอนก็เรื้อรังจนเกินกว่าจะเยียวยาได้อย่างทันท่วงที เขาเดบิวต์ตั้งแต่อายุ 18 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยังเด็กมากถ้าเปรียบเทียบกับบอยแบนด์ยุคเดียวกันที่เดบิวต์ออกมา เราอาจรับรู้กันว่าจงฮยอนเองดูเป็นคนร่าเริ่งแจ่มใส แต่แท้จริงความสดใสก็เป็นหน้าที่ของเขาอย่างหนึ่ง เพราะส่วนมากค่ายเพลงมักวางคาแรกเตอร์ให้สมาชิกแต่ละคนแสดงออก ดังนั้นเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเขาร่าเริงจริงหรือแค่ทำตามหน้าที่

ในฐานะที่เราเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนศิลปินและวงจรอุตสาหกรรมบันเทิงเหล่านี้ นอกจากมองเขาเป็นไอดอล เป็นฮีโร่ เป็นมนุษย์ที่มีแต่แง่ดีงาม เราควรมองว่าเขาคือมนุษย์คนหนึ่งที่มีเลือดเนื้อ มีชีวิตจิตใจ เจ็บได้ร้องไห้เป็นไม่ต่างไปจากเรา ดังนั้นนอกจากการสนับสนุน เราไม่ควรทำร้ายจิตใจเขาด้วยการด่าทออย่างสนุกปากหากไม่เป็นอย่างที่เราหวัง

ใส่ใจสุขภาพสมาชิกวงที่เหลืออยู่

ไม่ผิดที่จะโฟกัสการสูญเสียของจงฮยอน แต่สิ่งสำคัญคือการโฟกัสและให้กำลังใจกับคนที่ยังอยู่ โดยเฉพาะสมาชิกอีก 4 คนอย่าง อนยู คีย์ มินโฮ และ แทมิน เพราะพวกเขาทุกคนเปรียบเสมือนครอบครัว SHINee ใช้เวลาอยู่ด้วยกันมากกว่า 13 ปีตั้งแต่ขั้นตอนการเป็นเด็กฝึก พวกเขาใช้เวลาครึ่งชีวิตอยู่ด้วยกัน ดังนั้นเราสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการเยียวยาสมาชิกที่เหลืออยู่ด้วยการสนับสนุนต่อและเห็นใจพวกเขาให้มากกว่าที่เคยเป็นมา

ทำความเข้าใจสังคมเกาหลีผ่านเหตุการณ์นี้

ต่อ นักวิจารณ์เพลงที่ติดตามวงการเคป๊อปเล่าให้เราฟังว่า เกาหลีเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความเครียดและการฆ่าตัวตาย ผลสะท้อนส่วนหนึ่งแสดงออกผ่านเรียลลิตี้ หนัง และซีรีส์ ที่มีความดราม่าสูง อย่างสารคดีที่ฉายในไทยเรื่อง Reach for the Sky สะท้อนให้เห็นว่าเรื่องภาพลักษณ์และหน้าตาทางสังคมของชาวเกาหลีเป็นเรื่องที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ในขณะที่การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมเกาหลี กำลังเจริญรุดหน้า คนก็ยิ่งเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ การฆ่าตัวตายจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในทุกวงการ ทว่ารัฐบาลเกาหลีก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการหามาตรการป้องกันคนฆ่าตัวตาย ซึ่งไม่แน่ว่าเหตุการณ์ของจงฮยอนอาจจะทำให้สังคมหรือรัฐบาลเกาหลีสนใจเรื่องพวกนี้มากขึ้นและไม่ให้เกิดเรื่องซ้ำรอยแบบนี้ขึ้นอีก

AUTHOR