เพราะเราทุกคนคือคิมจียอง ‘คิมจียอง เกิดปี 82’ หนังสือแห่งความหวังในสังคมชายเป็นใหญ่

Highlights

  • ในสังคมเกาหลี ผู้หญิงถูกกดทับและเผชิญกับความไม่เท่าเทียมต่างๆ มาอย่างยาวนาน จนเมื่อไม่นานมานี้ การต่อสู้เรียกร้องสิทธิของผู้หญิงได้เกิดขึ้น กลายเป็นการต่อสู้ของผู้หญิงเกาหลีที่เข้มข้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน
  • ‘นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์’ ชวนอ่าน คิมจียอง เกิดปี 82 เพื่อร่วมสัมผัสความจริงที่ผู้หญิงเกาหลีต้องเผชิญ ความเจ็บปวด ความอัดอั้น การสิ้นไร้พลังแห่งการต่อต้าน ถูกอัดแน่นอยู่ในหนังสือเล่มนี้

ราวๆ 2-3 ปีที่ผ่านมา ความเท่าเทียมทางเพศคือหนึ่งในประเด็นอันร้อนแรงที่สุดของประเทศเกาหลีใต้ การถกเถียงเกิดขึ้นทุกหัวระแหงในสังคม จนเรียกได้ว่าเป็นสงครามระดับย่อมๆ

เชื้อไฟแห่งปรากฏการณ์การออกมาเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงชาวเกาหลีนั้นปะทุขึ้นจากเหตุการณ์ที่หญิงสาวคนหนึ่งถูกแทงจนถึงแก่ความตายในห้องน้ำของสถานีกังนัม ย่านที่ได้ชื่อว่าหรูหราและปลอดภัยที่สุดในกรุงโซล โดยเหตุผลของผู้กระทำผิดคือ เขาถูกผู้หญิงมากมายเมินเฉย เขาทนไม่ได้อีกต่อไป จึงตัดสินใจลงมือก่ออาชญากรรม

หลังจากนั้น การมาถึงของหนังสือ คิมจียอง เกิดปี 82 ก็จุดประเด็นนี้ให้แผ่ขยายไปไกลกว่าเดิม ซึ่งแน่นอนมันยกระดับความขัดแย้งระหว่างเพศให้รุนแรงยิ่งขึ้น ผู้หญิงหลายคนที่ออกมาบอกว่าตนเองอ่านหนังสือเล่มนี้จะถูกโจมตีอย่างหนัก ยกตัวอย่างเช่น Irene แห่งวง Red Velvet หลังจากเธอบอกในงานแฟนมีตติ้งว่าอ่านหนังสือเล่มนี้ เหล่าแฟนคลับชายก็บอยคอตเธอ เผารูปและสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเธอ รวมถึงส่งข้อความไปคุกคามเธออีกด้วย

(แต่น่าแปลก เมื่อดาราชายอย่าง RM แห่งวง BTS กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ เขากลับไม่ต้องเจอกระแสเชิงลบเหมือนดาราหญิง)

หรือเมื่อหนังสือเล่มนี้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ แล้ว ซูจี อดีตสมาชิกวง miss A โพสต์ภาพโปสเตอร์หนังเรื่องนี้ในอินสตาแกรมของเธอ พร้อมแคปชั่น ‘นี่คือเรื่องของพวกเราทุกคน’ เธอก็พบกับคอมเมนต์ก่นด่ามหาศาล 

และล่าสุด ชายเกาหลีจำนวนมากพากันบอกเลิกแฟนสาวของตัวเองที่ไปดูหนังเรื่องนี้

คิมจียอง เกิดปี 82 เกี่ยวกับอะไร ทำไมมันจึงส่งแรงกระเพื่อมอย่างมหาศาลในสังคม จนกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงในเกาหลี?

หนังสือเล่าเรื่องของ คิมจียอง สาวชาวเกาหลีวัย 30 กลางๆ คนหนึ่ง เธอมีครอบครัวที่อบอุ่น มีสามีที่มีหน้าที่การงานมั่นคง รักครอบครัว เขาและเธอมีลูกสาวด้วยกันหนึ่งคน ทุกสิ่งดูถูกต้องและสุขสงบ 

แต่วันหนึ่ง หลังลูกสาวมีอายุครบ 1 ขวบได้ไม่กี่วัน คิมจียองก็เปลี่ยนไป เธอกลายเป็นใครหลายต่อหลายคนที่ไม่ใช่ตัวเธอ จู่ๆ เธอก็กลายเป็นแม่ของเธอ จู่ๆ เธอก็กลายเป็นรุ่นพี่ผู้หญิงที่เคยอยู่ชมรมเดียวกับเธอสมัยเรียน จู่ๆ เธอก็กลายเป็นเด็กอมมือ ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้สามีตัดสินใจพาเธอไปพบจิตแพทย์ 

แล้วชีวิตที่ผ่านมาของคิมจียองก็ค่อยๆ คลี่กางให้เราได้รับรู้ผ่านตัวอักษรที่เป็นคำบอกเล่าจากจิตแพทย์ของเธอ โดยประกอบเอาสิ่งที่เธอและสามีเล่าให้ฟังเข้าด้วยกัน

คิมจียองเกิดในครอบครัวชนชั้นกลางธรรมดา เธอใช้ชีวิตทุกอย่างตามครรลองและเดินตามเส้นที่สังคมขีดไว้อย่างเคร่งครัด ผ่านการศึกษาขั้นพื้นฐาน หางานทำ แต่งงาน มีครอบครัว ฟังดูเป็นชีวิตอันแสนสามัญที่สุดที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะมีได้

แต่ในความปกติธรรมดานั้น เธอต้องเผชิญความผิดปกติที่เรียกว่า ‘ความไม่เท่าเทียม’ ตลอดทั้งชีวิตของเธอ

ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นเพียงเพราะเธอเป็น ‘ผู้หญิง’

ตั้งแต่ในบ้าน เธอและพี่สาวก็ได้รับการปฏิบัติที่ด้อยกว่าน้องชายอย่างเห็นได้ชัด 

เธอและพี่สาวไม่มีสิทธิแม้แต่จะเอานมผงของน้องชายมาป้ายปากเพื่อให้ได้รสหวาน เพราะย่าของเธอจะตีพวกเธออย่างแรงเพื่อเป็นการบอกว่า อย่าบังอาจแตะต้องของของหลานชายหัวแก้วหัวแหวน และทำให้เธอรู้ว่าตัวเธอและพี่สาวด้อยค่าและสำคัญน้อยกว่าน้องชายของเธอเพียงใด

คิมจียองเกือบจะได้มีน้องสาวอีกคน ซึ่งในตอนนั้นแม่ของเธอมีลูกสาว 2 คนแล้ว มีอีกคนคงจะไม่ดีแน่ เพราะแม่ของสามีคอยกดดันเธอเสมอว่าให้มีลูกชาย และเมื่อถามสามีว่าถ้าท้องนี้เป็นลูกสาวอีกจะทำยังไง

สิ่งที่สามี–พ่อของคิมจียองบอกแม่ของเธอคือ “เลิกพูดจาพาซวย แล้วนอนเสียที”

เมื่อปรากฏว่าท้องนี้ก็เป็นผู้หญิงจริงๆ แม่ของเธอจึงไปทำแท้ง ซึ่งในหนังสือบอกว่า สมัยก่อนการทำแท้ง ‘เพราะได้ลูกสาว’ แทบเป็นเรื่องปกติในสังคมเกาหลี

เมื่อเข้าโรงเรียน ความไม่แฟร์ต่างๆ ก็ยังเกิดขึ้นด้วยเหตุผลเดิม นั่นคือเธอเป็นผู้หญิง

แต่ในสังคมที่กว้างขึ้น เธอได้เห็นว่าไม่ใช่แค่เธอ แต่เพื่อนๆ ผู้หญิงคนอื่นก็กำลังเผชิญกับความกดทับและความอยุติธรรมทั้งหลายแหล่ และคนที่มีสิทธิมีเสียงมากกว่ามักจะเป็นผู้ชายเสมอ

บางครั้งความไม่ยุติธรรมนั้นมาในรูปแบบของการคุกคาม เด็กชายที่เรียนพิเศษที่เดียวกันเกือบจะทำร้ายเธอ เพราะเขาคิด (ไปเอง) ว่าเธอชอบเขาและทอดสะพานให้ เมื่อไม่เป็นไปดังที่คิด ความอับอายก็กลายเป็นโทสะและเกือบจะกลายเป็นการใช้ความรุนแรงกับเธอ 

แต่สิ่งที่ทำให้คิมจียองเจ็บปวดที่สุดไม่ใช่เด็กชายคนนั้น แต่เป็นพ่อของเธอเอง ที่ดุด่าเธออย่างรุนแรงว่าไม่รู้จักระวังตัว คุยกับคนแปลกหน้าง่ายไป แถมใส่กระโปรงสั้น คนที่ไม่รู้จักระวังตัวเองต่างหากที่เป็นคนผิด

หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย คิมจียองก็ต้องเผชิญด่านหินที่สุดในชีวิตอีกหนึ่งด่าน นั่นคือการหางาน

การหางานในเกาหลีถือเป็นเรื่องยากมากๆ อยู่แล้ว โดยเฉพาะถ้าเป็นผู้หญิง ความยากก็ยิ่งทบทวี แม้ผู้สมัครหญิงจะมีความสามารถหรือเก่งกาจเพียงใด สุดท้ายบริษัทก็มีแนวโน้มจะเลือกผู้ชายมากกว่า

ด้วยเหตุผลต่างๆ นานาอย่างผู้หญิงทำงานสักพักก็ต้องไปแต่งงานมีลูก ผู้ชายสู้งานมากกว่า ผู้ชายต้องเข้ากรม นี่จึงเป็นการชดเชยให้ ต่อไปผู้ชายต้องเป็นหัวหน้าครอบครัว หรือแม้แต่เหตุผลที่เชื่อว่าทำให้คนอ่านต้องหัวร้อนไปตามๆ กัน นั่นคือ ‘ถ้าผู้หญิงฉลาดเกิน บริษัทจะตกที่นั่งลำบาก’

หลังฝ่าฟันจนได้งาน การเลือกปฏิบัติต่างๆ ก็ยังตามติดคิมจียองไม่ห่างหายคล้ายเงาทะมึนที่ห่มคลุมชีวิตในทุกย่างก้าว สุดท้ายเมื่อถึงจุดหนึ่งเธอก็ลาออกมาสร้างครอบครัว เธอกลายมาเป็นแม่บ้าน เพื่อจะได้ทุ่มเทเวลาให้กับลูกอย่างเต็มที่ แต่สุดท้ายแล้วก็ดูเหมือนเธอจะไม่สามารถหนีจากการกดทับ การเหยียดหยามในความเป็นผู้หญิงของเธอ ไม่ว่าเธอจะเป็นแม่และภรรยาผู้อุทิศตนเพียงใด 

สุดท้ายทุกสิ่งก็ผลักให้ตัวตนของคิมจียองนั้นปริแตก เธอจึงกลายเป็นคนอื่น เป็นใครก็ได้ที่ไม่ใช่เธอ เพราะการเป็นเธอนั้นเจ็บปวดจนเกินจะทานทน

คิมจียอง เกิดปี 82 ตีแผ่ชีวิตของผู้หญิงที่ถูกกดทับภายใต้แนวคิดชายเป็นใหญ่ในสังคมเกาหลี ผู้เขียนตั้งใจตั้งชื่อตัวเอกว่า คิมจียอง เพราะในปี 1982 ชื่อนี้คือชื่อที่คนเกาหลีนิยมตั้งให้กับลูกสาวมากที่สุด มันจึงเป็นการสื่อว่านี่ไม่ใช่เรื่องของคิมจียองในนิยายเท่านั้น แต่มันเป็นเรื่องของผู้หญิงเกาหลีทุกคน 

เหมือนข้อความในหน้าแรกของนิยาย ที่บอกว่า เพราะเราทุกคนคือคิมจียอง’

และในระหว่างเรื่อง ผู้เขียนจะสอดแทรกสถิติความไม่เท่าเทียมที่ผู้หญิงเกาหลีต้องเจอลงไป ไม่ว่าจะด้านการศึกษา รายได้จากการทำงาน และสิทธิด้านต่างๆ อีกมากมาย เป็นการยืนยันว่าเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นกับผู้หญิงเกาหลีทุกคน

คิมจียอง เกิดปี 82 บรรยายถึงสิ่งที่ผู้หญิงเกาหลีทุกคนต้องเผชิญอย่างแจ่มชัด

จนแทบจะเป็นกระจกสะท้อนสังคมในปัจจุบัน ผู้หญิงหลายต่อหลายคนเห็นตัวเองในหนังสือเล่มนี้ และฉุกคิดได้ว่าสิ่งที่พวกเธอกำลังเผชิญอยู่นั้นไม่เป็นธรรมเพียงใด จึงเป็นที่มาของการเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงเกาหลีในตอนนี้

ถึงเป็นอย่างนั้น การจะเปลี่ยนแปลงยังคงเป็นไปได้ยาก เพราะแนวคิดชายเป็นใหญ่ฝังรากลึกอย่างมากในสังคมเกาหลี ซึ่งได้รับแนวคิดมาจากลัทธิขงจื๊อที่ยกผู้ชายเป็นใหญ่และกดสถานะของผู้หญิงให้ต่ำลง พวกเธอต้องอ่อนน้อม พร้อมรับใช้ปรนนิบัติสามี พ่อแม่สามี ผลิตลูกให้เขา และต้องเป็นลูกชายเท่านั้นจึงจะเป็นผู้หญิงที่ดี หากไม่สามารถให้กำเนิดลูกชายได้จะถือเป็นความผิดของฝ่ายหญิง

ห้ามรู้หนังสือ สามีสามารถขอหย่าได้ ในขณะที่ภรรยาไม่สามารถทำได้ เมื่อออกจากบ้านผู้หญิงก็ต้องปิดใบหน้าทุกครั้ง สารพัดแนวคิดในการกดทับผู้หญิงดำเนินสืบต่อมานับร้อยปีจนถึงปัจจุบัน

เมื่อหนังสือเล่มนี้ไปสั่นคลอนรากอันแข็งแกร่ง ย่อมนำมาซึ่งแรงต้านอันเชี่ยวกราก เหมือนกระแสโจมตีที่ผู้สนับสนุนแนวคิดของหนังสือต้องเผชิญในขณะนี้ ไม่ใช่แค่จากผู้ชาย แต่ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยก็ยังโจมตีผู้หญิงด้วยกันเองที่ออกมาเรียกร้องสิทธิ เพราะเชื่อว่าเป็นการขัดขนบธรรมเนียมและพยายามทำลายแบบแผนอันดีงาม

ถึงการเปลี่ยนแปลงอาจจะยังไม่มาถึงภายในชั่วยาม หรือแม้แต่ในช่วงชีวิตของคนหนึ่งคน แต่สิ่งที่นิยายเล่มนี้ทำให้เกิดขึ้นแล้วคือการจุดประกายให้ผู้หญิงลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิที่พวกเธอไม่เคยรู้ว่าควรจะได้รับ

นั่นคือการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง เพื่อมันจะเติบโตขึ้นเป็นความจริงในสักวันหนึ่ง

วันที่ไม่มีใครต้องเจ็บปวดเพียงเพราะเป็นผู้หญิง เหมือนที่คิมจียอง ผู้เกิดในปี 82 ต้องเผชิญอีก


อ่านเพิ่มเติม

bbc.com

booooks.co

jazminemedia.com

jazminemedia.com

medium.com

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

วริทธิ์ โพธิ์มา

รักหมูกรอบ และข้าวมันไก่