Kanomlyloir ร้านขนมไทยที่ขายความน่ารักนุบนิบใจและเชื่อว่าขนมไทยไม่จำเป็นต้องราคาถูก

เคยไถๆ อินสตาแกรมไปแล้วต้องกลืนน้ำลายลงคอ เพราะรูปอาหารมันยั่วไหม 

สำหรับเรา ‘Kanomlyloir’ คือร้านขนมไทยในอินสตาแกรมที่ทำให้เราเกิดอาการแบบนั้นมาตลอด

เริ่มตั้งแต่รูปขนมชั้นดูนุ่มนิ่มที่แค่เห็นก็ชวนจินตนาการถึงรสชาตินุ่มนวล หอมมัน ไหนจะรูปข้าวโพดเรียงเม็ดสวยผสานความหนึบหนับของสาคูต้นที่เดินทางไกลมาจากใต้ ไส้สีน้ำตาลของขนมต้มที่ชวนให้คิดถึงรสหวานกำลังดีจากน้ำตาลมะพร้าวและกลิ่นมะพร้าวหอมคลุ้งหากได้ลิ้มลอง

(/เสียงท้องร้องเป็นพยาน อยากชวนทุกคนไปพิสูจน์กันเองสักครั้งในอินสตาแกรมชื่อ kanomlyloir)

นอกจากขนมจะหน้าตาดีดึงดูดใจ คำบรรยายที่เขียนอธิบายถึงกรรมวิธีการทำกว่าจะได้เป็นขนมไทยชิ้นจิ๋ว และสารพัดองค์ประกอบสุดน่ารักกว่าจะประกอบร่างสร้างเป็น ‘ขนมที่มีส่วนผสมของความน่ารัก’ ตามคำโปรยของร้านก็ทำเอาเราอยากรู้จัก Kanomlyloir และ ข้าวฟ่าง–วิรงรอง ทองประกอบ เจ้าของร้านผู้อยู่เบื้องหลังเพิ่มเติม

ไม่ต้องรอให้ร้านขนมแห่งนี้เปิดรับออร์เดอร์ ไม่ต้องจองขนมแข่งกับใคร ตามเราไปทำความรู้จักร้านขนมไทยชวนหิวร้านนี้กัน

อาชีพที่ตอบโจทย์ทุกความชอบของชีวิต

ก่อนจะมาประจำการเป็นแม่ค้าขนมไทยแห่งร้าน Kanomlyloir ข้าวฟ่างทำงานอย่างอื่นมาแล้วสารพัด ทั้งนักเขียน, home stylist, เล่นโฆษณา, พิธีกร กระทั่งขายเสื้อผ้า แต่แม้จะผ่านอาชีพมานับไม่ถ้วน เธอก็ยังรู้สึกว่าไม่มีอาชีพไหนโดนใจและเป็นตัวเองมากที่สุด 

จนเมื่ออายุล่วงเลยเข้าวัยที่ตั้งคำถามว่า ฉันอยากทำอะไรกันแน่ นี่เรามีสิ่งที่ถนัดอยู่จริงๆ หรือเปล่า เธอก็ได้เจอกับการทำขนมไทย

สำหรับข้าวฟ่าง การทำขนมเป็นเหมือนจุดตัดที่พอดี ของทุกๆ สิ่งที่เธอชอบ ทั้งการเขียน สไตล์ลิ่งจัดสิ่งของ และการค้าขาย

“มันเหมือนที่เขาบอกจริงๆ ว่าให้ลิสต์แต่ละจุดในชีวิตเอาไว้ แล้วสักวันมันจะเชื่อมกันเป็นเส้นเอง เราไม่รู้หรอกว่ามันจะมาเชื่อมกันตอนไหน เวลาทำงานอื่นๆ เราจะมาร์กไว้ในใจตลอดว่ามีจุดไหนที่เราชอบ หรือไม่ชอบ จนมาเจอการทำขนมนี่แหละที่เหมือนเข้าแล้วออกไม่ได้ เป็นงานที่ทำให้เราปลดอาชีพก่อนหน้าไปทีละอย่าง จนทุกวันนี้เหลือแค่อาชีพเดียวให้เรานิยามตัวเองได้แล้วว่าเป็นแม่ค้าขนม” หญิงสาวว่าด้วยแววตาเป็นประกาย ก่อนจะเล่าย้อนให้ฟังถึงจุดที่ทำให้ตัวเองค้นพบอาชีพที่ใช่นี้

ที่จริงขนมไทยกับข้าวฟ่างไม่ใช่สิ่งแปลกหน้าต่อกันซะทีเดียว หากจะให้นิยามคงต้องเรียกว่าเป็นเพื่อนที่เห็นหน้าค่าตากันมาตลอด แต่ไม่สนิท

ข้าวฟ่างเล่าให้ฟังว่าแม่ของเธอก็ทำขนมไทยขายมาแล้วกว่า 30 ปี เธอเองยังเคยเป็นลูกมือช่วยแม่เตรียมวัตถุดิบมาตลอด เพียงแต่ก่อนหน้านี้ไม่ได้อินกับขนมไทยเท่าไหร่ เพิ่งมาเริ่มรู้สึกว่าการทำขนมไทยสนุกก็ตอนได้ลองทำขนมต้มเองเป็นครั้งแรก

“เราเป็นคนเรื่องมากกับการกินขนมไทย ขนมต้มที่เราชอบไส้ต้องไม่หวาน หอม แป้งต้องไม่หนามาก นุ่ม ไม่กระด้าง มะพร้าวข้างนอกก็ต้องไม่แข็ง เคยกินขนมต้มที่กรุงเทพฯ มาแล้วหลายเจ้าแต่ส่วนใหญ่มักจะหวาน พอไม่เจอที่ถูกใจสักทีเราเลยลองทำเอง คิดว่าคงไม่น่าจะเหนื่อยมาก สรุปทำตั้งแต่ 9 โมงเช้า 4 โมงเย็นเพิ่งจะได้กิน แถมหน้าปากซอยว่าไม่อร่อยแล้ว ทำเองกลับไม่อร่อยยิ่งกว่า” 

ด้วยความเจ็บใจและยอมไม่ได้ที่ลูกแม่ค้าขนมไทยจะทำไม่อร่อย เธอจึงลงมือทำใหม่ในอีกหลายๆ ครั้งที่มีเวลาว่าง โดยเริ่มต้นตั้งแต่การเสาะแสวงหามะพร้าวอร่อย หาน้ำตาลมะพร้าวคุณภาพดี ทดลองผสมแป้งเอง ค่อยๆ เทสต์ไปเรื่อยๆ จนได้เป็นขนมต้มแป้งคล้ายโมจิ ที่องค์ประกอบของแป้งและไส้หนากำลังพอดี จากคนไม่อินกับการทำขนมไทยจึงเริ่มกลายเป็นสนุกที่ได้ทดลองทำ 

คล้ายว่าขึ้นหลังเสือแล้วลงไม่ได้ เมื่อระหว่างทางมีคนทักเข้ามาในไอจีสตอรีว่าอยากลองกินมากขึ้นเรื่อยๆ Kanomlyloir จึงถือกำเนิด

“ขนมต้มออร์เดอร์แรกๆ ที่เราขายหน้าตาขี้เหร่มาก ไม่รู้เอาความมั่นใจมาจากไหนเหมือนกัน มันไม่ได้ดีหรอกตอนนั้น แต่เราเป็นคนตัดสินใจไว พอคิดว่าน่าจะขายได้แล้วก็ขายเลย เราถือคติว่าเรามีหน้าที่นำเสนอ ให้ลูกค้าเป็นคนปฏิเสธ เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวไปก่อน อยากทำก็ทำเลย” 

ก่อนจะทำให้เชื่อตัวเองเยอะๆ แต่พอทำไปแล้วให้เชื่อลูกค้าเยอะๆ เธอว่าแบบนั้น

ร้านอยู่ได้ เกษตรกรต้นทางก็อยู่ได้ด้วย

ขนมไทยที่ข้าวฟ่างขายต่างจากภาพของขนมไทยที่เราเคยเห็นทั่วไป หนึ่งคือราคาสูงกว่าปกติ และสองคือน่ารักเป็นพิเศษ

สำหรับเรื่องราคาเธอให้เหตุผลว่าจริงๆ แล้วขนมไทยบ้านเราตั้งราคาถูกเกินกว่าที่มันควรจะเป็นต่างหาก

“เราใช้เวลาเป็นปีเลยกว่าจะทำให้แม่ยอมรับได้ว่าขนมไทยราคาร้อยกว่าบาทที่เราขายมันขายได้จริงๆ ตอนเราบอกแม่ว่าจะทำขนมไทยขาย แม่ไม่สนับสนุนเลย เพราะเขาไม่อยากให้เราลำบากเหมือนเขา แม่เคยขายขนมต้ม 6 ลูก 20 บาท ตะโก้ 4 ชิ้น 10 บาท เรายังแปลกใจเลยว่าแม่ตั้งราคานี้ได้ยังไง ทั้งๆ ที่วิธีการทำมันแฮนด์เมดทุกอย่างเลย สำหรับเราขนมไทยมันแทบจะไม่ใช่ขนมแล้วมันคืองานฝีมือมากกว่า ซึ่งเราว่างานฝีมือมันมีมูลค่าในตัวเอง”

เธอมองว่าบางครั้งราคาที่ตั้งไว้ก็ไม่อาจระบุว่าถูกหรือแพง ทุกอย่างเป็นความพอใจระหว่างคนซื้อและคนขายมากกว่า 

“ระหว่างทางเราสื่อสารกับลูกค้าตลอดว่าเราทำอะไรอยู่ กำลังเริ่มทำขนมใหม่ กำลังเริ่มทดลองใช้สีธรรมชาติ กำลังเริ่มหาวัตถุดิบใหม่ๆ มาใช้ กำลังปรับปรุงแพ็กเกจ เราเล่าให้ลูกค้าฟังตลอด จนพอเขาเห็นกระบวนการทั้งหมดที่เราทำออกมาเป็นของจริง เลยกลายเป็นว่าขนมนั้นๆ มีราคาของมันเอง โดยที่คนไม่ได้มองว่าถูกหรือแพง

“ตอนทำเราไม่ได้คิดเลยว่าเราใช้ต้นทุนไปเท่าไหร่ แต่เราเริ่มต้นจากการเลือกใช้วัตถุดิบที่เราอยากจะใช้ก่อนแล้วค่อยมาตั้งราคาขาย โดยที่ก็ไม่ได้คิดว่าเราจะต้องได้กำไร 5 เท่าจากการขายสิ่งนี้” 

เธออธิบายว่าหัวใจของขนมไทยอยู่ที่วัตถุดิบ หากใช้วัตถุดิบที่ดีก็เหมือนกลัดกระดุมถูกเม็ด แค่รสหวาน มันธรรมชาติ จากตัววัตถุดิบก็สามารถชูรสอร่อยของขนมได้ เธอจึงพยายามสรรหาวัตถุดิบคุณภาพจากเกษตรกรที่ใส่ใจดูแลวัตถุดิบตั้งแต่ต้นทางมาใช้ทำขนม ไม่ว่าจะเป็นมะพร้าวจากครอบครัวเกษตรกรที่บ้านแพ้ว ข้าวโพดหวานจาก Cornlily ฟาร์มข้าวโพดที่เริ่มต้นจากคนเป็นพ่อที่อยากปลูกข้าวโพดให้คนในครอบครัวกิน เจ้าของร้านกะทิคุณภาพดีที่ตั้งใจทำกะทิออกมาหวาน มัน กลมกล่อม หรือกระทั่งดอกไม้กินได้จาก young smart farmer เกษตรกรรุ่นใหม่จากชลบุรี 

“การได้เจอคนต้นทางที่ตั้งใจผลิตวัตถุดิบดีๆ มันทำให้เรารู้ว่าเขาตั้งใจ เขามีแพสชั่นในการทำและมีความหวังดีอยากให้คนปลายทางได้กินอะไรดีๆ เราเลยรู้สึกว่าเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของวงจรนั้นด้วยการซื้อวัตถุดิบเหล่านั้นมาแปรรูปให้มีมูลค่า แล้วส่งต่อไปยังผู้บริโภคได้อีกทางหนึ่ง”

และการที่เธอตั้งราคาขนมไว้เท่านี้ก็เพื่อที่เธอจะได้มีแรงไปสนับสนุน อุดหนุนคนอื่นๆ ต่อนั่นเอง 

“เราเคยอ่านเจอเรื่องหนึ่งแล้วชอบมากจนเอามาปรับใช้ในการทำงานและการใช้ชีวิต เป็นเรื่องเกี่ยวกับนักมานุษยวิทยาไปชนเผ่าหนึ่งในแอฟริกาแล้วเขาชวนเด็กๆ มาเล่นเกม ใครวิ่งไปถึงตะกร้าที่ใส่ผลไม้ไว้เร็วที่สุดคนนั้นจะได้กินผลไม้ทั้งหมดในตะกร้า แต่ปรากฏว่าสิ่งที่เด็กๆ ทำคือเขาคล้องแขนเรียงกันเป็นหน้ากระดานแล้ววิ่งไปพร้อมๆ กัน พอถึงตะกร้าก็แบ่งกันกิน เขาเลยถามว่าทำไมถึงทำแบบนี้ เด็กๆ ก็พากันตะโกนคำหนึ่งที่แปลว่า ‘เราจะสุขได้ยังไง ถ้าคนอื่นเศร้า’

“คล้ายกันคือการที่เราขายขนมได้คนเดียวมันไม่เวิร์กเท่าการที่เราทำให้คนอื่นขายได้ด้วย แบบนั้นแฮปปี้กว่าเยอะเลย เวลาเกษตรกรมาบอกว่ามีคนรู้จักเขาเยอะขึ้น มีคนมาฟอลโลว์เพจเพิ่มขึ้น เราก็ดีใจ เราเป็นแค่คนทำขนมเอง แต่การที่เราเอาเรื่องราวของเขามาป้ายยาต่อ เอาวัตถุดิบของเขามาใช้กลับทำให้เขาสามารถขายของได้เยอะขึ้นได้ ในขณะที่เราเองก็ขายของได้ สำหรับเราการตั้งราคาแบบนี้มันมีเหตุผล”

ความน่ารักคือเอกลักษณ์ที่ทำให้ต่างจากร้านอื่น

นอกจากคุณภาพที่อัดแน่นจนไม่กังขากับราคา อีกสิ่งที่ทำให้ลูกค้าของ Kanomlyloir ยินดีปรีดาที่สุดก็คือความน่ารักชวนนุบนิบใจ ที่ข้าวฟ่างบรรจงใส่ไว้ในทุกๆ ขั้นตอน 

เธอบอกว่าหากเป็นเรื่องความประณีต ความดั้งเดิมของขนม เธอคงไม่อาจรับประกันได้ว่ากรรมวิธีการทำของเธอจะซับซ้อนและประณีตมากเท่าร้านอื่นหรือเปล่า แต่สิ่งที่รับประกันได้แน่ๆ คือร้านของเธอขายขนมที่มีส่วนผสมของความน่ารัก 

“กลุ่มลูกค้าเราจะเป็นกลุ่มคนที่เรียกขนมไทยว่าน้อง เป็นคนกุ๊กกิ๊ก ปุ๊กปิ๊ก ถามว่าร้านเราต่างจากร้านขนมไทยอื่นๆ หรือมีเอกลักษณ์ตรงไหน เราว่าคืออันนี้แหละ มันเป็นขนมไทยที่น่ารัก” 

เมื่อมีความน่ารักเป็นธงในใจทุกสิ่งที่เธอทำจึงเป็นไปเพื่อทำยังไงก็ได้ให้คนเห็นความน่ารักที่ว่า ไม่เพียงแค่ขนม แต่ยังรวมไปถึงแพ็กเกจจิ้งที่คนจะได้รับและภาพที่ใช้โปรโมตในอินสตาแกรม

“คนไม่ค่อยถ่ายรูปขนมไทยเว้นแต่จะอยู่ในคาเฟ่ต่างๆ เราเลยอยากทำสิ่งต่างๆ ให้มันออกมาน่ารัก โดยผสมความชอบของเราลงไป อาจจะตกแต่งหน้าขนมด้วยดอกไม้กินได้ เพราะเราชอบดอกไม้ แต่จะไม่ไปเปลี่ยนความเป็น traditional ของขนมไทย เรายังห่อใบตองเหมือนเดิม ยังทำขนมต้มรสชาติเดิม แค่เพิ่มโจทย์ว่าจะทำยังไงให้มันน่ารักขึ้น ความน่ารักมันเลยค่อยๆ เพิ่มเข้ามาเป็นส่วนผสมทีละนิด ซึ่งพอเป็นแบบนี้เราก็ไม่ต้องทำการตลาดเลย คนจะถ่ายรูป แชร์ และป้ายยากันต่อเอง ถ้าของเราตรงปกและดีจริง”

ข้าวฟ่างแชร์ให้ฟังว่าแม้ร้านจะเปิดมาเพียงแค่ 2 ปี แต่เธอก็เปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งสำหรับใส่ขนมไปแล้วถึง 5 แบบ เพราะบางอันก็น่ารักจริง แต่พอจัดส่งไปให้ลูกค้าแล้วกลับเจอปัญหาว่าขนมเด้งไปติดอยู่ที่ฝากล่อง หรือแม้กระทั่งว่าแพ็กเกจน่ารักมาก แต่หากแกะแล้วลูกค้าจะไม่สามารถห่อกลับมาให้สวยเท่าเก่าได้ 

“หลักในการออกแบบแพ็กเกจจิ้งของเราตอนนี้คือต้องน่ารักและใช้งานได้ดี เวลาคิดเราเลยไม่ได้ตั้งโจทย์ไว้ว่ามันต้องเป็นรูปทรงแบบกล่องขนมเท่านั้นแต่จะเปิดรับทุกอย่างเลยว่าอะไรจะนำมาใช้ได้บ้าง อย่างกระปุกกลีบลำดวน เราก็เริ่มจากการหา candle packaging หรืออย่างขนมเทียนก็เป็นที่ใส่ข้าวสารของญี่ปุ่น มันเลยออกมาน่ารักและแปลกตา”

ปณิธานของร้านคือการทำให้คนอื่นมีความสุข

อย่างที่ข้าวฟ่างบอกว่าชีวิตคือการต่อจุด องค์ประกอบหลายๆ อย่างของ Kanomlyloir ก็ประกอบสร้างมาจากความชอบของเธอที่คอยมาร์กไว้ตามแต่ละช่วงของชีวิต

ยกตัวอย่างเช่นภาพสวยๆ ในอินสตาแกรมก็เป็นส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ในงานฟู้ดสไตล์ลิสต์ที่เธอเคยทำ สิ่งเหล่านั้นค่อยๆ สั่งสมเป็นองค์ความรู้ให้เธอหยิบจับและนำมาปรับใช้งาน ผสมกับความเป็นตัวของเธอเองในวัยเด็กที่เป็นคนชอบดูรูปภาพมาก

“เราไม่เปิดร้านในเฟซบุ๊ก เพราะชอบการเรียงกันของรูปภาพในอินสตาแกรม สิ่งหนึ่งที่เรามาร์กความชอบไว้คือเราเป็นคนชอบดูภาพ ตอนเด็กๆ จะชอบเข้าห้องสมุดประชาชนไปนั่งดูหนังสือภาพทั้งวัน พอมี pinterest เราก็เล่นมาตลอด รูปที่อยู่ในอินสตาแกรมเลยเหมือนกรองมาแล้วจากประสบการณ์ว่าถ่ายมุมนี้จะดี ถ่ายมุมนี้จะน่ารัก

หรืออย่างการตกแต่ง แพ็กของ ก็เป็นสิ่งที่เธอค้นพบว่าชอบตั้งแต่สมัยต้องเขียนเฟรนด์ชิปให้เพื่อนสมัยเรียน 

“ทุกอย่างมันเป็นจุดที่มาเชื่อมกันได้ทั้งหมดเลย แค่ต้องเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ทดลอง และรอเวลาที่เราจะได้ไปเส้นทางใหม่ๆ

“2 ปีที่เราทำร้านนี้มา มันสอนให้เรารู้ว่า อยากทำอะไรทำเลย อย่าเพิ่งไปกลัว เพราะกลัวแล้วจะไม่ได้ทำ และเมื่อเราลงมือทำแล้ว ลำดับต่อมาเราก็ต้องเอาใจใส่และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพราะบางครั้งความรักอย่างเดียวอาจไม่พอ แต่ต้องมีความอดทนและใส่ใจประกอบกันด้วย

“ถ้าเราทำเพื่อตัวเองอย่างเดียวเราอาจจะเลิกทำไปนานแล้วก็ได้ เพราะคงมีงานอื่นที่สบายและได้เงินเยอะกว่านี้ แต่สิ่งที่เราเจอคืองานนี้มันทำให้คนอื่นมีความสุขได้ มันกลายเป็นว่าเราไม่ได้ทำในสิ่งที่ชอบเพื่อตัวเองแล้ว แต่เราอยากทำสิ่งนี้ให้คนอื่นมีความสุข อยากให้คนที่รับขนมไปรู้สึกดี 

“เราได้ทำขนมให้เขาเอาไปส่งต่อเป็นของขวัญให้คุณแม่ คุณยาย ให้ลูกได้ลองกินขนมไทย ได้สนับสนุนเกษตรกรที่ตั้งใจจริง การเปิดร้านนี้ทำให้เราได้อะไรที่ใช้เงินซื้อไม่ได้กลับมา”

AUTHOR