สัมผัสชีวิตปลอดขยะท่ามกลางหุบเขา ในคามิคัตสึ เมืองต้นแบบ Zero Waste อันดับหนึ่งของโลก

ญี่ปุ่นเป็นประเทศหมุดหมายอันดับหนึ่งของคนไทย พอพูดถึงประเทศนี้หลายคนอาจจะนึกถึงเมืองใหญ่ๆ อย่าง โตเกียว ชิบะ โอซาก้า เกียวโต ฮอกไกโด ฯลฯ แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่ายังมีเมืองเล็กๆ ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นคือจังหวัดโทคุชิมะ จังหวัดที่ดึงดูดใจผู้คนด้วยแนวคิด Zero Waste

ไม่ต้องแปลกใจหากชื่อนี้ทำให้คุณไม่คุ้นหู ด้วยความที่โทคุชิมะเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในชิโกกุ เกาะเล็กๆ ทางตะวันตก ซึ่งประกอบไปด้วย 4 จังหวัด และต้องใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์หรือเครื่องบิน ทำให้หลายคนเลือกจุดหมายปลายทางที่เป็นเมืองใหญ่ใกล้เคียงกันอย่างโอซาก้าหรือเกียวโตแทน 

อันที่จริงจังหวัดโทคุชิมะไม่ได้โดดเด่นแค่เรื่องกรีนๆ เท่านั้น แต่เมืองนี้มีผลผลิตที่โด่งดังทั้ง มันหวาน ส้มสุดาจิ หรือปลาทะเลอย่างปลาไทนารูโตะ หรือปลาหางเหลืองสุดาจิ และยังเป็นต้นกำเนิดของระบำ ‘อาวะโอโดริ’ การเต้นรำที่คนญี่ปุ่นรู้จักกันดี 

แต่ที่โดดเด่นและน่าจะถูกใจนักท่องเที่ยวสาย Eco-life ที่สุดคงเป็นหมู่บ้านคามิคัตสึ (Kamikatsu) หมู่บ้านเล็กๆ ที่ชวนทุกคนมาใช้ชีวิตแบบ Zero Waste ท่ามกลางธรรมชาติแบบไม่รู้สึกเบื่อ

ในวันที่ a day มีโอกาสได้มาเยือนเมืองต้นแบบของการแยกขยะ เราเลยขอชวนทุกคนแพ็กกระเป๋าเตรียมไปเดินเล่นที่ Zero Waste Center เรียนรู้กิจกรรมการใช้ชีวิตแบบปลอดขยะเป็นศูนย์ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงฟ้ามืดพร้อมกัน

Zero Waste Center โรงแยกขยะที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้

เบื้องหน้าเราคือ Zero Waste Center ซึ่งเป็นทั้งศูนย์คัดแยกขยะเพียงแห่งเดียวในเมือง พร้อมโรงแรม HOTEL WHY ที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน ชื่อที่มีความหมายเพื่อให้แขกที่มาเข้าพักได้ตั้งคำถามถึงความจำเป็นของขยะทุกชิ้นอยู่เสมอ

สิ่งที่เราเพิ่งเข้าใจหลังจากที่ได้มาเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้คือการแยกขยะไม่ใช่เรื่องง่าย แม้แต่คนญี่ปุ่นเองก็ตาม

พูดถึงเรื่องแยกขยะ ตอนอยู่ที่ไทยเราก็คงเหมือนกับคนทั่วไปที่รู้จักขยะไม่กี่ประเภท นั่นคือ ขยะรีไซเคิล ขยะอินทรีย์ (เศษอาหารที่ย่อยสลายได้) ขยะทั่วไป และขยะอันตราย 

แต่ที่คามิคัตสึแยกขยะกันถึง 45 ประเภท! แม้แต่พื้นที่อื่นๆ ของญี่ปุ่นเองก็อาจจะไม่ได้แยกได้มากเท่านี้ อาคารไม้สีแดงตรงหน้าออกแบบโดย ฮิโรชิ นากามูระ (Hiroshi Nakamura) สถาปนิกชื่อดังชาวญี่ปุ่นที่หลงใหลในแสงธรรมชาติ ตกแต่งอย่างเก๋ไก๋ด้วยวัสดุรีไซเคิลทั้งหมด อย่างหน้าต่างหลากหลายรูปแบบกว่า 700 บานที่เราเห็นก็ได้รับบริจาคจากคนในเมือง

นอกจากนี้ พื้นที่นี้ยังมีเอกลักษณ์ด้วยการวางตำแหน่งอาคารคล้ายกับเครื่องหมาย Question Mark พอดิบพอดี ช่างเป็นการออกแบบที่ทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเองในทุกส่วนจริงๆ

ด้านนอกเราจะเห็นพื้นที่แยกขยะที่แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วนหลักคือ กระดาษ พลาสติก เหล็ก และขวดแก้ว ที่แยกย่อยได้อีกถึง 45 ชนิด ซึ่งนอกจากจะรองรับขยะชาวบ้านแล้ว แม้แต่แขกที่มาพักในโรงแรมก็มีโอกาสได้สัมผัสประสบการณ์แยกขยะนี้เช่นกัน และถ้าหากใครมีคำถามเกี่ยวกับการแยกขยะ ไม่แน่ใจว่าขยะชิ้นนี้ควรอยู่ประเภทไหนดี ที่นี่ก็มีเจ้าหน้าคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดด้วย

ตรงที่เรายืนอยู่เป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะแต่ละประเภท แม้จะเป็นศูนย์คัดแยกที่รวมขยะของบ้านทุกหลังในหมู่บ้านนี้ แต่กลับไม่มีกลิ่นเหม็น แถมยังสะอาดมากๆ ต่างจากที่แยกขยะที่เราเคยรู้จัก 

นอกจากพื้นที่แยกขยะที่แบ่งเป็นสัดส่วนแล้ว ยังมีสเตชันสำหรับส่งต่อของสภาพดีที่ไม่ใช้แล้วให้คนที่ต้องการด้วย ในร้านก็มีทั้งจาน ชาม ถ้วย เสื้อผ้า ของเล่น เครื่องเขียน ฯลฯ วางเรียงรายอยู่ นอกจากจะเป็นที่พักสำหรับของที่ไม่ใช้แล้ว ใครที่ถูกใจชิ้นไหนก็สามารถนำกลับไปได้ด้วยเช่นกัน

กิมมิกเล็กๆ ของที่นี่เรายังสามารถทิ้งโน้ตสิ่งที่ต้องการไว้ที่หน้าร้าน หากใครที่มาอ่านเจอแล้วมีของสิ่งนั้นพอดีก็สามารถนำของมาฝากไว้ที่ร้านนี้เพื่อส่งให้เจ้าของคนใหม่ พื้นที่นี้จึงเป็นเหมือนเป็นร้านขายของเล็กๆ ที่ให้คนในเมืองมาเลือกช้อปปิ้งนั่นเอง 

INOW กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เชื่อมโยงคามิคัตสึกับชุมชนโลก

เราได้พบกับกลุ่ม INOW (อ่านว่า อิโนอุ) กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นคนกลางคอยเชื่อมประสานระหว่างนักท่องเที่ยวภายนอกกับคนในชุมชน ผ่านโปรแกรมการท่องเที่ยว ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมาของขยะในเมืองคามิคัตสึ แถมยังชักชวนคนจากนอกเมืองเข้ามาเรียนรู้ปรัชญา Zero Waste และตระหนักถึงปริมาณขยะที่เกิดขึ้นแต่ละวัน รวมทั้งทำความรู้จักกับวิถีชีวิตของคนชุมชนไปในตัว

ทันทีที่มาถึงศูนย์เรียนรู้เราพบกับ ซิล ฟาน เดอ เวลด์ (Sil Van de Velde) หรือ ซิล ชายหนุ่มชาวเบลเยียม ท่าทางกระฉับกระเฉง และคานะ วาตันโดะ (Kana Watando) หญิงสาวเชื้อสายญี่ปุ่นที่เกิดและเติบโตในแคนาดา ก่อนย้ายมาที่คามิคัตสึตั้งแต่ปี 2020 ตัวแทนจากกลุ่ม INOW ที่จะพาเราไปรู้จักการแยกขยะแต่ละประเภทในเมืองนี้ 

ซิลและคานะเล่าย้อนกลับไป เมืองคามิคัตสึไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก แต่จู่ๆ เมืองนี้ก็กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก หลังจากประกาศตัวว่าเป็นหมู่บ้านในญี่ปุ่นที่ทำเรื่อง Zero Waste เป็นที่แรกตั้งแต่ปี 2003 โดยมีเป้าหมายในการลดขยะจากการเผาและฝังกลบจากเมืองเป็นศูนย์ 

แต่ก่อนที่คามิคัตสึจะลุกขึ้นมาจริงจังกับการแยกขยะขนาดนี้ เมืองนี้ก็เคยเหมือนกับเมืองอื่นๆ ในญี่ปุ่น ที่กำจัดขยะด้วยการเผาและการฝังกลบ แต่ระบบนี้ก็ทำให้เห็นว่าไม่คุ้มต้นทุนแถมยังไม่ยั่งยืนด้วย ทำให้ต้องปรับปรุงใหม่ทั้งหมด 

จนตอนนี้ที่คามิคัตสึไม่มีรถเก็บขยะตามบ้านอีกแล้ว แต่ชาวเมืองกำจัดของเสียด้วยการแยกขยะเอง ไม่ว่าจะเป็นขยะเปียกที่นำไปหมักเป็นปุ๋ย ส่วนที่เหลือก็นำไปแยกขยะทั้ง 45 ประเภทที่นี่ เพื่อนำไปรีไซเคิลหรือรียูสต่อไป ทำให้เหลือขยะที่ต้องนำไปเผาเป็นส่วนเล็กๆ เนื่องจากไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้

ปัจจุบันเมืองนี้สามารถรีไซเคิลขยะได้ถึง 80% เทียบกับค่าเฉลี่ยทั้งประเทศที่สามารถรีไซเคิลได้เพียง 20% เท่านั้น ซึ่งก้าวต่อไปยังเตรียมจะลดการใช้ขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง

หลังจากพูดคุยเล็กน้อย ซิลก็เดินไปหยิบกล่องมา 1 ใบ ในนั้นบรรจุขยะที่เราพบเจอในชีวิตประจำวันหลายสิบชิ้น ไม่ว่าจะเป็นกระดาษลัง กระดาษหนังสือพิมพ์ ขวดแก้วสีใส ขวดแก้วสีขุ่น ฝาขวดพลาสติก ฝาขวดแยม กระป๋องสเปรย์ ฯลฯ และอีกหลากหลายชนิด 

ซิลชวนเราแยกขยะตามความเข้าใจก่อนในตอนแรก สารภาพตามตรงว่าเราแทบไม่รู้เลยว่าแต่ละประเภทต่างกันอย่างไร สลิปใบเสร็จต่างจากหนังกระดาษนิตยสารไหม ในเมื่อที่ไทยเราอาจจะทิ้งสิ่งนี้ได้ในถังขยะใบเดียวกัน

หลังจากให้เราทดลองแยกขยะตามความเข้าใจแล้ว ซิลและคานะก็อธิบายความแตกต่างของขยะแต่ละประเภท เราอดทึ่งในความละเอียดของการแยกขยะไปด้วยไม่ได้ ในบรรจุภัณฑ์ชิ้นหนึ่งประกอบไปด้วยวัสดุหลากหลายประเภท ยิ่งทำให้การทิ้งขยะครั้งต่อไปต้องคิดทบทวนก่อนทิ้งให้มากขึ้น

เดินช้อปสินค้า Upcycling จาก Kurukuru ร้านขายของที่ระลึกไม่เหมือนใคร

“ของฝากจากเมืองอื่นอาจจะเป็นพืชผลไม้ขึ้นชื่อ แต่ที่คามิคัตสึมีงานคราฟต์จากวัสดุเหลือใช้เป็นของที่ระลึก” 

ซิลบอกกับเราระหว่างที่เดินไป Kurukuru ร้านขายสินค้า Upcycling ของเมืองคามิคัตสึ

แรงจูงใจอีกอย่างที่ทำให้คนในเมืองนี้ตั้งใจแยกขยะ แม้ว่ามีถึง 45 ประเภท นั่นคือการรู้ว่าปลายทางของขยะเหล่านี้สามารถสร้างรายได้ให้กับพวกเขาได้

หนึ่งในปัญหาใหญ่ของคนในเมืองนี้คือส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ 65 ปี เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ในญี่ปุ่นคือการเป็นสังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้เกิดการจ้างงานน้อยไปด้วย และลูกหลานคนในเมืองต้องออกไปทำงานนอกเมือง 

เพื่อให้ผู้สูงอายุในชุมชนมีงาน ร้าน Kurukuru จึงเกิดขึ้นมาเพื่อขายสินค้าจากงานฝีมือของคนในชุมชน โดยใช้วิธี Upcycling ทั้งหมด นั่นคือการใช้วัสดุที่ไม่ใช้แล้วมาสร้างงานชิ้นใหม่ (ซึ่งซิลอธิบายว่าบางครั้งพวกเขาก็ได้สินค้าเหลือใช้เหล่านี้จาก Zero Waste Center ที่คนนำสิ่งของที่ไม่ต้องการแล้วมาวางไว้) สินค้าส่วนใหญ่ในร้าน Kurukuru มีหลากหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นรองเท้า กระเป๋า หมวก ของกระจุกกระจิก ฯลฯ ให้ทั้งคนในเมืองและผู้มาเยือนซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้าน

ภายในร้านนอกจากจะแบ่งโซนขายสินค้าแล้ว ยังมีพื้นที่สำหรับทำงานฝีมือด้วย วันที่เราแวะไปที่ร้านนี้ก็มีโอกาสได้เจอกับคุณป้ากำลังตัดเย็บจากของเหลือใช้เหมือนกัน สิ่งที่เราคิดว่าน่ารักที่สุดคือการสร้างความใกล้ชิดระหว่างคนซื้อและคนขาย เพราะที่ร้านนี้ใช้วิธีวางขายสินค้าจากคนในชุมชน ทำให้บางครั้งเราไม่ได้เจอเจ้าของผลงานนั้นจริงๆ แต่ร้านนี้นอกจากจะมีป้ายบอกราคาแล้ว ยังมีป้ายบอกชื่อเจ้าของผลงานด้วย ทำให้เรารู้สึกผูกพันกับงานชิ้นนั้นได้อย่างง่ายดาย

HOTEL WHY  โรงแรมที่ชวนคนมาใช้ชีวิตแบบขยะเป็นศูนย์

คงมีโรงแรมไม่กี่แห่งที่ชวนให้แขกที่มาพักแยกขยะของตัวเอง

HOTEL WHY ที่เรากำลังจะพักคืนนี้คือหนึ่งในนั้น 

นอกจากจะพื้นที่แยกขยะและร้านของมือสองแล้ว ในพื้นที่เดียวกันยังมีโรงแรมที่ชวนให้แขกที่มาพักได้สัมผัสการใช้ชีวิตแบบ Zero Waste ด้วยตัวเองกับกิจกรรมต่างๆ ที่หาไม่ได้จากโรงแรมที่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมแยกขยะของตัวเองก่อนเช็กเอาต์ หรือการตัดสบู่สำหรับล้างมือด้วยตัวเอง 

โรงแรมนี้โดดเด่นด้วยอาคารเล็กจิ๋วสีแดง ที่ใช้วัสดุรีไซเคิลทั้งหมดเช่นกัน เมื่อก้าวเข้าไปเราจะพบกับห้องพักที่มีทั้งหมด 4 ห้อง ซึ่งแต่ละห้องสามารถมองเห็นวิวภูเขาและทะเลสาบที่แตกต่างกันออกไป เหมาะสำหรับใครที่ต้องการมาพักผ่อนใจในชนบทอันเงียบสงบ

ภายในห้องเป็นเหมือนบ้านไม้ 2 ชั้น ให้ความอบอุ่นและรู้สึกผ่อนคลาย ชั้นล่างมีโซฟาสีมินต์น่านั่งที่สามารถมองออกไปเห็นวิวภายนอกได้พอดี พร้อมโต๊ะทำงาน ถัดไปคือตู้เสื้อผ้าบิลด์อินและห้องอาบน้ำ เมื่อเดินขึ้นมาชั้นสองจะพบกับเก้าอี้พักผ่อนและห้องน้ำ ความพิเศษคือเราจะได้สัมผัสบรรยากาศบ้านพักชนบทญี่ปุ่น ด้วยที่นอนฟุตง หรือฟูกนอนพับได้ที่เราสามารถนำออกมาปูเอง โดยเลือกนอนที่โซฟาชั้นล่างได้ตามใจชอบ แต่ครั้งนี้เรายกมาปูนอนด้านล่างเอง ให้ความรู้สึกเหมือนมาค้างบ้านญาติที่ต่างจังหวัดอยู่เหมือนกัน

ทั้งซิลและคานะบอกกับเราว่าเมื่อมาถึงคามิคัตสึสิ่งที่พลาดไม่ได้คือ ชาอาวะบันฉะ ซึ่งเป็นชาหมักรสชาติและกลิ่นเป็นเอกลักษณ์ ความพิเศษคือใบชาทั้งหมดได้มาจากสวนของคนในชุมชนที่นำมาขายให้กับที่นี่ ทำให้รสชาติแตกต่างกันออกไป ซึ่งแขกที่มาพักสามารถตวงชาหรือกาแฟกลับไปชงดื่มระหว่างที่พักอยู่ที่นี่ได้

ด้วยความที่เป็นโรงแรมแนวคิด Zero Waste เราจึงแทบไม่เห็นพลาสติกใช้แล้วทิ้ง หรือ Single-use Plastic นอกจากนี้ยังลดน้ำเสียจากการซักรีดด้วยการขอให้แขกที่พักเตรียมชุดนอนมาเอง ต่างจากโรงแรมอื่นๆ ที่ญี่ปุ่นซึ่งจะเตรียมไว้ให้ รวมไปถึงข้าวเช้าแบบปิกนิกที่โรงแรมเตรียมไว้ให้ ซึ่งรวมเอาวัตถุดิบจากเมืองคามิคัตสึ และจังหวัดโทคุชิมะให้เราได้ทานในตอนเช้าด้วยบรรยากาศสบายๆ 

ส่วนขยะอื่นๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างที่พักเราสามารถแยกทิ้งไว้ในตะกร้าที่โรงแรมเตรียมไว้ให้ ซึ่งแบ่งเป็น 6 กล่อง ได้แก่ พลาสติกสะอาด พลาสติกหรือกระดาษสกปรก ขวดน้ำ กระดาษหรือโลหะ เศษอาหาร และขยะเผาได้ ซึ่งเราต้องถือตะกร้านี้ออกมาทิ้งในตอนเช้าโดยมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำอยู่ตลอด

เรียกได้ว่าการลดการใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้งและการต้องแยกขยะเองทุกชิ้น ทำให้เราต้องคิดแล้วคิดอีกในการทิ้งขยะครั้งต่อไป ขณะเดียวกันก็ทำให้เราลดการใช้ขยะไปแบบไม่รู้ตัว เพราะสุดท้ายแล้วในวันนั้นเรามีขยะที่ต้องทิ้งเพียงแค่ 5 ชิ้นเท่านั้นเอง

แม้คามิคัตสึจะเป็นเมืองเล็กๆ ในจังหวัดโทคุชิมะ ซึ่งเคยมีปัญหาเรื่องขยะและมลพิษไม่ต่างจากพื้นที่อื่นๆ แต่ด้วยความเอาจริงเอาจังและความร่วมมือของทุกคน ทั้งคนรุ่นใหม่ที่เป็นตัวกลางเชื่อมชุมชนกับคนภายนอก การสนับสนุนจากรัฐ หรือแม้แต่คนในชุมชนเองที่ตั้งใจแยกขยะถึง 45 ประเภทซึ่งอาจจะต้องยุ่งยากกว่าเดิมก็ตาม แต่ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่าเราสามารถเปลี่ยนเมืองให้ดีขึ้นได้ จนกลายเป็นเมืองปลอดขยะต้นแบบของโลกที่รอให้ทุกคนมาสัมผัสประสบการณ์นี้ด้วยกัน 

ภาพ: กุลธิดา สิทธิฤาชัย

AUTHOR