‘Sound of Happiness’ นิยามเสียงแห่งความสุขเมื่อต้องอยู่บ้านของ 4 ศิลปินไทยที่จะส่งถึงคุณในงาน JOOX World Music Day 2020

‘Sound of Happiness’ นิยามเสียงแห่งความสุขเมื่อต้องอยู่บ้านของ 4 ศิลปินไทยที่จะส่งถึงคุณในงาน JOOX World Music Day 2020

Highlights

  • สำรวจกิจกรรมของเหล่านักดนตรีเมื่อต้องกักตัวอยู่กับบ้านว่าพวกเขาสร้างความสุขให้กับตัวเองยังไง และนิยาม sound of happiness ของแต่ละคนคืออะไร
  • วิธีการลดความเครียดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจชอบดูหนัง บางคนอาจชอบฟังเพลง บางคนอาจชอบออกกำลังกาย แต่ที่สำคัญคือ การเปลี่ยนบรรยากาศไปทำอย่างอื่นบ้างที่จะช่วยให้เราไม่ต้องจมปลักอยู่กับความเครียด

ในช่วงภาวะโควิด-19 ที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้อย่างชัดเจนคือนักดนตรี เมื่อการแสดงสดกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรคระบาด และเมื่อคอนเสิร์ตจำเป็นต้องถูกระงับชั่วคราวจนกว่าโควิด-19 จะคลี่คลาย จากที่นักร้องหลายๆ คนเคยยุ่งจนแทบจะไม่มีเวลาอยู่บ้าน กลับกลายเป็นว่าพวกเขาเลยมีเวลาว่างอยู่บ้านกันมากขึ้น 

เมื่อไม่สามารถออกไปเล่นดนตรีได้อย่างเคย เราเลยอยากรู้ว่าศิลปินที่เราชื่นชอบเขาใช้เวลาว่างในช่วงโควิด-19 ไปกับกิจกรรมอะไรบ้าง เมื่อต้องหยุดอยู่บ้านทุกวัน พวกเขาแต่ละคนสร้างความสุขยังไง แล้วพอต้องห่างหายจากการแสดงดนตรีไป พวกเขาค้นพบ ‘เสียงแห่งความสุข’ ใหม่ๆ กันบ้างไหม?

 

ส้ม มารี

สิ่งที่ทำ

“ในช่วงแรกๆ เราแฮปปี้กับการอยู่บ้าน มันเหมือนได้พักผ่อน จากที่ก่อนหน้านี้เราแทบจะไม่ได้อยู่บ้าน ต้องออกไปทำงานทุกวัน กว่าจะกลับบ้านก็ดึกๆ ช่วงแรกเราเลยทำทุกอย่างบ้าระห่ำ ดูซีรีส์ยันตีสี่ตีห้าไปเลย แล้วก็ได้ทำอะไรที่ไม่เคยทำ เช่น ปลูกต้นไม้ แต่พอถึงจุดหนึ่ง แค่เปิดเน็ตฟลิกซ์เราก็ไม่อยากเปิดแล้ว หรือช่วงแรกๆ เราก็ไลฟ์ทุกวันในอินสตาแกรมเพราะรู้สึกเหงา แต่พอถึงจุดหนึ่งเราก็เอียน หลังๆ เลยแทบไม่ไลฟ์เลย

“ปกติถ้ามีเวลาว่างเราไม่ค่อยชอบไปไหนอยู่แล้ว ชอบอยู่บ้านมากกว่า แต่การอยู่บ้านก็อาจขาดอะไรบางอย่าง เช่น ตอนที่คอนเสิร์ตแคนเซิลเราก็เสียใจนิดหน่อย เพราะคอนเสิร์ตเป็นสิ่งที่เติมพลังใจให้เราได้”

เสียงแห่งความสุข

“เราชอบเสียงลูกหมาที่บ้าน แต่ไม่ใช่เสียงเห่านะ ต้องเป็นเสียงอ้อนๆ เวลาที่ลูกหมามาหาแล้วทำเสียงบ่นๆ แง้วๆ ประจวบเหมาะคือช่วงโควิดหมาของเราคลอดลูกพอดีก็เลยทำให้ชีวิตเราต้องเลี้ยงหมา 24 ชั่วโมง ถ้าไม่นับที่มันมาปลุกตอนตีสี่ตีห้า การได้ยินเสียงลูกหมาก็เป็นความสุขของเราในทุกๆ เช้า (หัวเราะ)”

 

เล็ก พงษธร 

สิ่งที่ทำ

“ผมก็เล่นดนตรี ซ้อมดนตรีในบ้าน มีไลฟ์ร้องเพลงให้พี่ๆ แฟนคลับ ทีแรกก็ไม่ได้ทำจริงจัง ลองไลฟ์ดูเล่นๆ แต่ปรากฏว่ากระแสตอบรับมันดี มีคนเข้ามาฟังเยอะแล้วเขาชอบ มันเลยจุดประกายให้ผมเริ่มกำหนดวันไลฟ์มากขึ้น 

“แต่การไลฟ์มันไม่มีรายได้ ผมเลยคิดว่าจะทำยังไงให้มีรายรับเข้ามาบ้าง ทีนี้ก่อนหน้าที่จะมาเป็นนักร้องผมเคยออกเรือกับพ่ออยู่ประมาณ 5-6 ปี พ่อกับผมเป็นคนออกเรือ ส่วนแม่เป็นคนขาย ผมเลยคิดว่า ทำไมไม่ลองทำอาชีพค้าขายแบบแม่บ้างล่ะ ก็เลยทำเพจเล็กๆ ขึ้นมาชื่อ ‘เล็กประมง’ โดยเอาของจากแม่จากพี่ป้าน้าอานี่แหละมาขาย แล้วด้วยตัวพี่ๆ แฟนคลับเขาก็ช่วยเหลือด้วย ช่วยแชร์เพจของเราไป ผมไม่ได้อายเลยนะที่มาขายปลาแบบนี้ แฟนคลับเองเขาก็แฮปปี้นะ เขาบอกว่าเราเป็นคนขยัน แล้วมันช่วยให้เราคลายเครียดจากโควิดด้วย 

เสียงแห่งความสุข

“พอได้ร้องเพลงให้แฟนคลับฟังบ่อยๆ แล้วเขารู้สึกว่าเสียงของเราเพราะมันก็ทำให้เรามีความสุข มีแฟนคลับหลายๆ ท่านมาบอกว่า เสียงของเราเยียวยาพวกเขา หลายคอมเมนต์บอกว่าพอได้ฟังเสียงเราแล้วหายเครียดเลย ไลฟ์แบบนี้ไปนานๆ นะ มันเป็นกำลังใจสำหรับผมมากๆ เสียงแห่งความสุขของผมคือเสียงจากพี่ๆ แฟนคลับนี่แหละครับ”

 

นนท์ ธนนท์

สิ่งที่ทำ

“ผมทัวร์คอนเสิร์ตหลายปีมาก ไม่ค่อยได้อยู่บ้าน พอต้องอยู่บ้านเลยได้ทำในสิ่งที่อยากทำแต่ไม่มีโอกาส เช่น ผมเป็นคนชอบเล่นเกมมากก็เลยถือโอกาสเล่นเกมยาวเลย แล้วก็ได้คุยกับเพื่อนๆ ที่ก่อนหน้านี้เวลาออนไลน์เราไม่ตรงกัน หรือพอช่วงโควิดผมไปสนามยิงธนูไม่ได้ก็เลยลองหากีฬาอื่นๆ เล่น เลยไปเจอกับ electric unicycle เป็นจักรยานล้อเดียว ช่วงนี้ก็ฝึกเล่นอยู่ แต่แน่นอนว่าความสุขหลักของเราก็คือดนตรี เราก็ยังเล่นกีตาร์ ร้องเพลง รวมถึงทำเพลงใหม่ที่ต้องใช้เวลาพอสมควร เอาจริงๆ ก็แทบไม่ว่างเลย วุ่นๆ เหมือนเดิม”

เสียงแห่งความสุข

“ในช่วงที่เกิดโควิด ผมได้อยู่นิ่งๆ ได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น ชอบเสียงลม ชอบเสียงใบไม้แห้ง ชอบเสียงน้ำที่มันผ่านกระบอกไม้ไผ่หน้าบ้าน ชอบเสียงน้ำไหล และชอบที่สุดคือเสียงหัวเราะ ยิ่งเป็นเสียงเด็กหัวเราะผมจะชอบมาก และแน่นอนเสียงที่ผมชอบที่สุดคือเสียงดนตรี”

 

เล็ก–อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร (Greasy Cafe)

สิ่งที่ทำ

“เราได้ทำกับข้าวบ่อยขึ้น ทดลองทำเมนูใหม่ๆ ที่ไม่เคยลอง พยายามมองหาอะไรสนุกๆ ทำ แล้วก็ได้ทำเพลงมากขึ้นทั้งที่ไม่คิดว่าจะทำได้ในช่วงนี้ โดยเฉพาะอัลบั้มใหม่ที่ใกล้เสร็จแล้ว เพราะถ้ายังทัวร์อยู่เราก็ไม่รู้เลยว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ แต่ก็ยอมรับว่าช่วงแรกมันติดๆ ขัดๆ บ้าง มึนๆ อยู่กับสถานการณ์อยู่พักหนึ่ง แต่พอหลังจากนั้นมันก็มาเรื่อยๆ 

“การอยู่กับบ้านมันทำให้เรานิ่งขึ้นในการมองกลับไปยังเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้น หรือกับสถานการณ์บางอย่างที่เรามองผ่านๆ ทำให้เราใส่ใจในรายละเอียดเพื่อเป็นข้อมูลในการเขียนเพลงต่อไป”

เสียงแห่งความสุข

“งานของเราต้องใช้เสียงอยู่แล้ว ดังนั้นเวลาอยู่บ้านเราชอบอยู่เงียบๆ มากกว่า เสียงที่ทำให้เรามีความสุขน่าจะเป็นเสียงของความเงียบและเสียงธรรมชาติ มันไม่ใช่การบำบัดนะ แต่มันเป็นเสียงที่ทำให้เราสงบ”

แม้ว่าจะต้องกักตัวอยู่กับบ้าน แต่ศิลปินเหล่านี้ก็ล้วนมีวิธีสร้างความสุขให้กับตัวเองแตกต่างกันไป แน่ล่ะว่าการได้หยุดอยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำงานก็อาจถือเป็นความสุขได้ในช่วงเวลาหนึ่ง แต่เมื่อวิกฤตโควิด-19 ดูจะยืดขยายต่อไป เมื่อไม่ได้ทำงานนานๆ หรือไม่ได้เปลี่ยนบรรยากาศไปที่ใหม่ๆ ความรู้สึกเบื่อหน่ายและตึงเครียดก็ค่อยๆ มาเยือน 

 

นอกจากศิลปินทั้ง 4 คนแล้ว บัณฑิต แก้ววันนา หัวหน้าฝ่าย Production & Event เองก็ได้แบ่งปันเรื่องราวของสิ่งที่เป็นเสียงแห่งความสุขของเขา

“ด้วยความที่เราทำงานกับแวดวงของเสียงเพลง คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเสียงเพลงคือเสียงแห่งความสุขจริงๆ มันทำให้คนมีพลัง หัวเราะ ร้องไห้ หรือมีแรงฮึกเหิมลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง มันคือเสียงที่สร้างความสุขและบำบัดผู้คนได้จริงๆ แต่อีกหนึ่งเสียงแห่งความสุขที่ผมเพิ่งค้นพบเมื่อไม่นานมานี้คือเสียงของบรรยากาศยามค่ำคืนในช่วงเคอร์ฟิวที่ผ่านมา ในช่วงของ ‘ยามวิกาล’ ที่บนถนนไม่มีเสียงรถวิ่งเลย ทุกอย่างเงียบสงบมาก  ได้ยินแค่เสียงกระทบกันของขวดแก้วจากคนเก็บขยะ เสียงหมาเห่าอยู่ไกลๆ มันคือเสียงผสมผสานของสรรพสิ่งรอบข้าง อธิบายไม่ได้ว่ามันไพเราะยังไง แต่พอได้ยินแล้วมันรู้สึกสงบ และตระหนักได้ว่า …ภายใต้ความนิ่งเงียบ มันจะมีสิ่งมีชีวิตบางอย่างที่ดำเนินอยู่เสมอ”

 

แล้วเราควรจะทำยังไงดีล่ะ? ด้วยความสงสัย เราต่อสายตรงหา ดร. นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เพื่อขอคำแนะนำในประเด็นนี้

“คุณต้องรู้ก่อนว่ากำลังเครียด กำลังเศร้า กำลังหมดไฟ ถ้าคุณไม่รู้คุณจะไม่มีวันจัดการได้ แต่การจะรู้ตัวเองได้คือคุณก็ต้องหมั่นตรวจสอบ ต้องเช็กตัวเองว่าสภาพจิตใจเราเปลี่ยนแปลงไปไหม” ดร. นพ.วรตม์เล่า

“เมื่อเรายอมรับตรงนี้แล้วมันก็จะไปสู่ขั้นต่อไปคือการแก้ปัญหา แต่ถ้ามันเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ เป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือการควบคุม เช่น โรคระบาด เราก็ต้องหาวิธีการลดความเครียดลง ซึ่งส่วนนี้เป็นเรื่องของแต่ละคน ต่างก็ไม่เหมือนกัน บางคนอาจชอบดูหนัง บางคนอาจชอบฟังเพลง บางคนอาจชอบออกกำลังกาย เหล่านี้เป็นอะไรที่ไม่ตายตัว ซึ่งเราก็จะบอกว่าคุณควรเปลี่ยนบรรยากาศไปทำอย่างอื่นบ้าง ยิ่งถ้าเป็นปัญหาที่คุณไม่อาจแก้ไขได้ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปจมอยู่กับมัน”

 

เพราะการเปลี่ยนบรรยากาศคือหนึ่งในกุญแจสำคัญในการจะช่วยบำบัดสภาพจิตใจในช่วงโควิด-19 แต่ถ้าการเดินทางไปยังสถานที่ใหม่ๆ ยังไม่ใช่เรื่องง่ายนัก งั้นเรามาเปลี่ยนบรรยากาศจากหน้าจอแทนไหมล่ะ?

เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง ‘วันแห่งดนตรีสากล’ ในวันที่ 21 มิถุนายนของทุกๆ ปี JOOX จึงได้จัดงาน JOOX World Music Day ขึ้น ในฐานะงานแสดงดนตรีที่จะมอบความสุขให้กับทุกๆ คนผ่านเสียงเพลง โดยเฉพาะในปีนี้ที่ทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังจากที่ผู้คนผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากและกำลังปรับตัวเข้าสู่วิถีชีวิตรูปแบบใหม่ JOOX จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการบำบัดและเยียวยาจิตใจให้กับผู้คนมากมายได้กลับมามีความสุขอีกครั้ง

19-21 มิถุนายนนี้ พบกับงาน JOOX World Music Day คอนเสิร์ตออนไลน์ที่จัดต่อเนื่องกว่าสามวัน กับศิลปินกว่า 30 ชีวิต ไม่ว่าจะเป็น Slot Machine, อิงค์ วรันธร, MEAN, Greasy Cafe, เล็ก พงษธร, ส้ม มารี และนนท์ ธนนท์ รวมถึงศิลปินจากต่างประเทศอย่าง Ruel, mxmtoon และ JC Stewart ภายใต้คอนเซปต์ ‘The Sound of Happiness’ ที่จะส่งมอบความสุขด้วยเสียงถึงหน้าจอโทรศัพท์ ผ่านแอพพลิเคชั่น JOOX โดยความพิเศษของคอนเสิร์ตครั้งนี้คือทุกๆ 2 gifts ที่กดส่งให้ศิลปินที่ชอบจะถูกเปลี่ยนเป็นเงิน 1 บาท เพื่อมอบให้กับยูนิเซฟ ประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อีกด้วย

เรียกว่าไม่ต้องออกจากบ้านไปไหนก็สามารถสัมผัสเสียงแห่งความสุขที่ส่งตรงจากเหล่าศิลปินชื่อดังได้ง่ายๆ เลย

AUTHOR