คนทำศาลพระภูมิ

ช่วงนี้กระแสละคร เจ้าบ้านเจ้าเรือน กำลังมาแรง เพราะได้พระเอกสุดหล่อตลอดกาล ติ๊ก-เจษฎาภรณ์ ผลดี มารับบทเป็นวิญญาณสิงสถิตในบ้านคอยคุ้มครองนางเอก เราเลยอยากลองมาทำความรู้จักกับคนทำศาลพระภูมิดูบ้าง นอกจากเหตุผลว่าจะได้ดูละครอย่างอินมากขึ้นแล้ว เผื่อคราวนี้ขับรถผ่านศาลพระภูมิที่ไหน จะได้รู้ที่มาที่ไปและเข้าใจตัวแทนความศรัทธาแบบไทยๆ ได้ไม่ผิดเพี้ยนอีกด้วยนะ

1. มองตลาดศาลให้ออก
ความเชื่อเรื่องพระภูมิเจ้าที่ในไทยได้อิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 แล้ว ในท้องตลาดปัจจุบันจะแบ่งศาลออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ หนึ่ง ศาลเทพ อย่างศาลพระพรหม ศาลพระพิฆเนศ สอง ศาลพระภูมิสำหรับเทวดาคอยปกปักษ์รักษาบ้านเรือน และสุดท้ายคือศาลเจ้าที่หรือศาลตายาย ที่เราเชิญวิญญาณผู้อาศัยที่นี่มาก่อนให้ดูแลเรา (วิญญาณเจ้าบ้านไรวินท์อย่างพี่ติ๊กก็อาศัยอยู่ในศาลเจ้าที่นี่แหละ) จะเลือกตั้งศาลประเภทไหนต้องให้เหมาะสมกับขนาดของพื้นที่ หรือประเภทของกิจการ เช่น โรงงานใหญ่ๆ ตั้งศาลพระพรหมก็เข้าท่า แต่ถ้าเป็นบ้านพักอาศัยปกติ มีแค่ศาลพระภูมิก็พอแล้ว

2. ร่างศาลจากกรมศิลป์
นอกจากศาลเจ้าที่ที่เป็นบ้านไม้ทรงไทยโบราณแล้ว ศาลพระภูมิที่เราเห็นกันบ่อยๆ ก็แกะแบบมาจากสถาปัตยกรรมไทยดังๆ ที่สวยงาม อย่างพระราชวังบางปะอินที่อยุธยา พระปรางค์สามยอดที่ลพบุรี หรือศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ นอกจากจะได้แบบตรงตามหลักพราหมณ์โบราณแล้ว ก็ช่วยเพิ่มความขลังให้ศาลน่าเคารพบูชาเพิ่มไปอีก ความเจ๋งคือในยุคแรกๆ ที่ยังไม่มีช่างฝีมือ ก็ได้ช่างจากกรมศิลปากรมาเขียนแบบให้เลยนะ

3. ศาสสั่งได้ตามใจฉัน
ศาลพระภูมิแบบโมเดิร์นเรียบๆ คลีนๆ ทรงเหลี่ยมทรงจั่วก็เกิดขึ้นตามยุคสมัย เพราะบ้านที่เราอยู่กันมีทั้งสไตล์ลอฟต์บ้าง ปูนเปลือยบ้าง ติดกระจกใสรอบด้านบ้าง ครั้นจะให้ตั้งศาลทรงไทยไว้ข้างหน้าก็อาจไม่เข้ากันเท่าไหร่ กรณีนี้ ร้านทำศาลพระภูมิจะเลือกแบบบ้านที่เราอยากได้ให้สถาปนิกมืออาชีพช่วยแกะแบบหลังคา คาน หน้าต่าง ให้มีขนาดเหมาะสม ลองสร้างขึ้นมาหลังหนึ่งเพื่อให้พราหมณ์หลวงเช็กความถูกต้องอีกที

4. ข้าแต่งศาลที่เคารพ
ร้านทำศาลพระภูมิแต่ละเจ้าจะมีแบบศาลให้ลูกค้าได้เลือกมากมาย หลังคาทรงแบบไหน ความกว้างภายในเท่าไหร่ ลูกค้าอาจเลือกสีที่ถูกใจได้ซึ่งมีทั้งสีมาตรฐานอย่างขาว-ทอง น้ำตาล-ทอง ขาว-แดง แต่ก็สามารถเลือกสีสว่างๆ อย่างฟ้าเข้ม เขียวเข้ม ได้เช่นกัน แต่ส่วนที่จะปรับตามใจเจ้าของให้ไม่ได้คือความสูงของศาล เพราะเมื่อลงดินแล้วยังต้องให้อยู่เหนือระดับสายตา ให้ตำแหน่งเท้าองค์เทพที่อยู่ในศาลเลยคางเราขึ้นไป

5.สร้างศาลให้เหมือนสร้างบ้าน
เราอยากอยู่บ้านที่สบาย แข็งแรงไม่ทรุดง่าย ก็ควรให้พระภูมิเจ้าที่อยู่อย่างนั้นเหมือนกัน สมัยที่คนไทยยังอยู่บ้านไม้ ศาลก็สร้างขึ้นง่ายๆ จากไม้ในราคาไม่แพง แต่ข้อเสียคือพังง่ายและต้องตั้งศาลใหม่ลูกเดียว ศาลพระภูมิส่วนใหญ่ในยุคนี้เลยทำจากปูนซีเมนต์เหมือนบ้านทั่วๆ ไป แตกร้าวตรงไหนก็ซ่อมแซมได้ง่าย แต่ก็มีศาลที่มีวัสดุเป็นกระจกหรือหินอ่อน แต่ก็ยังไม่ค่อยนิยมเพราะราคาแพง และไม่ทนแดดทนฝนเท่าที่ควร

6. ศาลเหยียบแสน
เอาเข้าจริง ขั้นตอนการสร้างศาลพระภูมิก็ไม่ต่างจากการสร้างบ้านที่เราอยู่กัน เริ่มจากหล่อปูนขึ้นเป็นเสา โป๊วให้เรียบ ประกอบโครงสร้างต่างๆ ของศาล ทาสีและเขียนทองตกแต่งช่อฟ้า ใบระกาตามแบบ หลังเล็กๆ อย่างศาลเจ้าใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ถ้าเป็นศาลเทพขนาดใหญ่อย่างศาลพระพรหมอาจใช้เวลาเป็นเดือนก็มี ราคาก็ว่ากันไปตามขนาด เริ่มต้นที่หลักพันไปถึง 500,000 บาท!!!

7. คนส่งต่อความศรัทธา
เวลาเราผ่านร้านขายศาลพระภูมิที่มีศาลตั้งเรียงราย ต้องบอกว่าศาลเหล่านั้นยังเป็นแค่แท่นปูนซีเมนต์ธรรมดาๆ ไม่ได้มีเทพ มีพระภูมิเจ้าที่ มาสิงสถิต เพราะพิธีตั้งศาลต้องทำกันหน้างานเท่านั้น ซึ่งหลายร้านก็มีบริการจัดหาพราหมณ์มาทำพิธีตั้งศาลให้เสร็จสรรพด้วยเลย อาชีพคนทำศาลพระภูมิจึงไม่ใช่แค่คนก่อสร้างที่ทำตามแบบไปเฉยๆ แต่คือคนที่เชี่ยวชาญและพร้อมอธิบายกฎเกณฑ์ที่ถูกต้อง เพื่อส่งมอบความศรัทธาให้เราบูชาเทพยดาได้อย่างสบายใจนั่นเอง

ขอบคุณ
ภูมิพงศ์ หิรัญพฤกษ์ ร้านศาลพระภูมิอินทรศิลป์

AUTHOR