JIMMY LIAO : ผมก็เหมือนคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีแสงสว่างในชีวิต 1/4


จิมมี่ เลี่ยว
คือ นักเขียนชาวไต้หวันที่โด่งดังระดับโลก

A Chance of Sunshine หนังสือภาพสุดโรแมนติกของเขาถูกแปลไปแล้ว 11 ภาษา ขายไปแล้วกว่า 1 ล้านเล่มทั่วโลก

เขาคือผู้ให้กำเนิด ‘หนังสือภาพสำหรับผู้ใหญ่’ หนังสือหมวดหมู่ใหม่ที่กลายเป็นกระแสในไต้หวัน งานของเขาสวย หวาน สีสันสดใส แต่เต็มไปด้วยความหงอยเหงาและเศร้าโศก ขณะที่สไตล์ลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์เกิดจากการวาดรูปเพื่อบำบัดตัวเองในช่วงป่วยเป็นโรคลูคีเมียขั้นรุนแรง

เขาไม่คิดว่าตัวเองจะมีชีวิตรอด แต่เขารอด

ที่ไต้หวัน, เราเห็นภาพวาดเขาได้ตั้งแต่บนบัตรรถไฟฟ้า โฆษณาข้างรถเมล์ ไปจนถึงบนรถยนต์รุ่นพิเศษที่ทำออกมาเจาะตลาดกลุ่มผู้หญิง และบนผลิตภัณฑ์อีกหลายร้อยชนิด น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก จิมมี่ เลี่ยว

จิมมี่เป็นคนเก็บตัว ไม่ออกงานสังคม ไม่ค่อยให้สัมภาษณ์ใครง่ายๆ แต่ชื่อ ‘นักเขียน’ อย่างเขาก็ยังโด่งดังได้ไม่ต่างจากดารา

ไม่อยากรู้หรือว่า ทำไม?

14 ตุลาคม 2549 อากาศเย็นเหมือนเป็นฤดูหนาว

“คุณเป็นนักเขียนหรือ”

นี่คือประโยคแรกที่ผมได้รับการทักทายจากไต้หวัน ผ่านปากของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองในสนามบินเจียงไคเช็ค โทษฐานที่ผมดันกรอกอาชีพใน Arrival Card ว่าเป็น ‘Writer’

“ใช่” ผมสบตาเจ้าหน้าที่คนนั้น

“คุณมาเขียนเรื่องอะไร” น้ำเสียงของเขาคล้ายจะเป็นการถามไถ่สารทุกข์สุกดิบผู้มาเยือนจากต่างแดนมากกว่าตั้งใจจะจับผิด

“ผมมาสัมภาษณ์จิมมี่ เลี่ยว” ชื่อนักเขียนระดับขวัญใจคนไต้หวันทั้งชาติที่เอ่ยไปน่าจะช่วยให้ผมผ่านโต๊ะนี้ไปได้เร็วขึ้น

“ขอโทษ เขาคือใครหรือ” เจ้าหน้าที่คนนั้นขมวดคิ้ว แม้ผมจะลองผันเสียงชื่อจิมมี่ในอีกหลายวรรณยุกต์ เจ้าหน้าที่หนุ่มคนนั้นก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะพยักหน้า สุดท้ายผมก็ตัดสินใจหยิบเอาหนังสือ A Chance of Sunshine ที่อยู่ในเป้บนหลังออกมายื่นให้เขาดู

“จี๋หมี่” เจ้าหน้าที่คนนั้นออกเสียงชื่อของจิมมี่ในสำเนียงจีนพร้อมรอยยิ้ม “เขาเป็นนักเขียนที่ดังมาก ผมชอบหนังสือเล่มนี้ของเขามาก คุณนี่โชคดีจัง ได้เจอตัวจริงของเขา”

บริษัทจิมมี่สปา (Jimmy S.P.A.) เป็นสำนักงานขนาด 2 ชั้น ภายในเต็มไปด้วยภาพผลงานของจิมมี่ที่ถูกขยายใหญ่เอามาติดแต่งไว้แทนวอลล์เปเปอร์ทั่วสำนักงาน ‘กาลาเทีย’ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจของบริษัทจิมมี่สปาพาผมเดินผ่านออฟฟิศไปยังโต๊ะประชุมที่อยู่ด้านใน ทุกโต๊ะทำงานที่ผมเดินผ่านล้วนมีข้าวของเครื่องใช้ที่มีลวดลายผลงานของจิมมี่วางอยู่ทุกโต๊ะ

หลังโต๊ะประชุมเป็นชั้นขนาดใหญ่เต็มผนัง สิ่งที่เรียงอยู่บนชั้นคือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มาจากผลงานในหนังสือของจิมมี่ คะเนด้วยสายตาน่าจะเกินกว่า 200 แบบ

ก่อนจะเริ่มการพูดคุย กาลาเทีย แอนนี่ และยูซาน 3 เจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานเรื่องการสัมภาษณ์จิมมี่ยื่นนามบัตรของพวกเธอให้ผม ครึ่งขวาของนามบัตรเป็นพื้นที่ของข้อมูลที่นามบัตรควรจะมี ส่วนครึ่งซ้ายเป็นรูปตัวละครน่ารักๆ จากหนังสือของจิมมี่พิมพ์ 4 สีสวยสด แทนรูปถ่ายของเจ้าของนามบัตร

เมื่อถามถึงรูปบนนามบัตรของจิมมี่ กาลาเทียบอกว่าจิมมี่ไม่มีนามบัตร และไม่เคยร้องขอที่จะทำ

จิมมี่สปา เป็นบริษัทตัวแทนของจิมมี่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องลิขสิทธิ์งานของจิมมี่ทั้งหมด หลักใหญ่ใจความของบริษัทนี้ก็คือพยายามจะไม่ลงมือผลิตอะไรเอง แต่ใช้วิธีให้ลิขสิทธิ์คนที่ถนัดในด้านต่างๆ เอาไปทำ หนังสือของจิมมี่ก็ปล่อยให้สำนักพิมพ์มืออาชีพพิมพ์ ของที่ระลึกประเภทต่างๆ ก็แล้วแต่ว่าจะมีสินค้าตัวไหนติดต่อมาขอเอาไปทำ รวมไปถึงการให้ลิขสิทธิ์เนื้อเรื่องเพื่อเอาไปสร้างหนังหรือทำละครโทรทัศน์ บริษัทนี้บริหารงานโดยทีมงานมืออาชีพจำนวนสัก 20 คน

หน้าที่หลักและหน้าที่เดียวของจิมมี่ก็คือวาดรูปและเขียนเรื่อง

จิมมี่เข้าออฟฟิศแค่ปีละ 1 – 2 ครั้งเท่านั้น เขาชอบนั่งทำงานที่บ้านมากกว่า จะได้อยู่เป็นเพื่อนคุณแม่ด้วย ทีแรกผมติดต่อมาว่าอยากขอไปสัมภาษณ์จิมมี่ที่บ้าน เผื่อจะได้เยี่ยมชมห้องทำงานของเขาด้วย แต่จิมมี่บอกว่าไม่สะดวก พร้อมกับยืนยันว่า ห้องทำงานของเขาธรรมดามากจริงๆ เคยมีสื่อมวลชนรายหนึ่งไปเยี่ยมห้องทำงานของเขาแล้วถึงกับผิดหวัง เพราะมันไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นเลย

ชีวิตจริง, จิมมี่ก็เป็นคนเรียบง่ายที่แสนจะสมถะไม่ต่างอะไรจากห้องทำงานของเขา จิมมี่เลือกที่จะนั่งรถเมล์และรถไฟใต้ดิน เพราะเขาไม่ค่อยได้ออกจากบ้านก็เลยไม่รู้ว่าจะซื้อรถไปทำไม

กาลาเทียบอกว่า จิมมี่ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อน้อยมากๆ เพราะเขาไม่อยากมีชื่อเสียง ดังนั้นก่อนจะตกลงให้สัมภาษณ์ก็ต้องคัดกรองกันอย่างดี เลือกเฉพาะสื่อที่เหมาะจริงๆ สื่อจากต่างประเทศที่เคยมาสัมภาษณ์จิมมี่ก็มีจากประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย และนี่เป็นครั้งแรกของสื่อจากประเทศไทย แล้วในช่วงนี้ช่อง Discovery ก็กำลังตามบันทึกภาพทำสารคดีชีวิตของจิมมี่ เลี่ยว เพื่อออกอากาศทั่วเอเชียด้วย

ผมกางลิสต์ที่ต้องการความช่วยเหลือจากกาลาเทียออกมาเล่าให้เธอฟังทีละข้อ จนมาถึงข้อที่ขอถ่ายภาพร่างงานที่จิมมี่ยังวาดไม่เสร็จ กาลาเทียออกตัวว่า คงเป็นไปได้ยากเพราะไม่มีใครเคยเห็น พวกเธอจะได้เห็นเฉพาะรูปที่จิมมี่วาดเสร็จแล้วเท่านั้น

ยังไม่ทันเอ่ยปาก, กาลาเทียก็เดินไปหยิบภาพวาดต้นฉบับ 3 ภาพของจิมมี่มาให้ดู มันเป็นงานสีน้ำบนกระดาษร้อยปอนด์ผิวเรียบขนาดประมาณ A2 ใส่รวมกันอยู่ในซองพลาสติก ผมจำได้ว่ามันเป็นภาพจากหนังสือเรื่อง Moon, Forgets ที่ใหญ่กว่ารูปในหนังสือเกือบ 2 เท่า กาลาเทียอธิบายว่า ภาพงานทั้งหมดของจิมมี่จำนวนนับพัน เขาเก็บมันไว้ที่บ้าน ส่วนรูปที่หลงมาอยู่ในมือผมตอนนี้เป็นรูปที่ทางกาลาเทียขอนำมาสแกนเพื่อเอาไปใช้ทำอะไรสักอย่าง

ข้อมูลสุดท้ายที่ผมได้รับจากกาลาเทียก็คือ จิมมี่เป็นคนขี้อายมาก พูดน้อย และไม่ถนัดในการใช้ภาษาอังกฤษ เราเลยต้องสนทนากันผ่านล่าม

ถ้ามีคนสงสัยว่าจิมมี่ เลี่ยว คือใคร? บนปกหน้าของหนังสือรวมผลงานของเขาเขียนบอกไว้ว่า

จิมมี่ เลี่ยว คือ นักเขียน, นักทำภาพประกอบ, กวี, นักเล่าเรื่อง, พ่อ และ เด็ก

16 ตุลาคม 2549 แดดสาด

บ่าย 2 โมงตรง ผม กาลาเทีย แอนนี่ และคเชนทร์ ช่างภาพที่เพิ่งบินตามมาสมทบเมื่อไม่กี่นาทีก่อนหน้านี้ และคุณสุนีย์ ล่ามไทย-จีน นั่งรอจิมมี่พร้อมอยู่ในห้องประชุมของสำนักพิมพ์โลคัสเรียบร้อย

จิมมี่โทรมาบอกกาลาเทียว่าจะมาถึงช้าประมาณครึ่งชั่วโมง คเชนทร์ขอตัวเดินลงไปดูโลเคชันสำหรับถ่ายรูป เขาสนใจมุมหนึ่งในสวนสาธารณะตรงเกาะกลางถนน เขาว่ามันคล้ายกับบรรยากาศในหนังสือหลายๆ เรื่องของจิมมี่

ผมถามกาลาเทียว่าจิมมี่จะยอมเดินลงจากตึกไปถ่ายรูปข้างล่างไหม เธอบอกว่าไม่รู้จริงๆ อันนี้ต้องแล้วแต่จิมมี่ ถ้าเขายอมก็จบ แต่ถ้าไม่ยอม เธอยินดีส่งไฟล์รูปถ่ายที่มีอยู่แล้วให้เรา เธอว่าให้ผมลองขอจิมมี่ดูเองตอนสัมภาษณ์ก็แล้วกัน

เหตุผลเดียวที่จะทำให้เขาไม่ยอมลงไปถ่ายรูปกับเราข้างล่างก็คือ ‘เขาอาย’

บ่าย 2 โมง 25 นาที จิมมี่มาแล้ว

เสียงของจิมมี่ดังผ่านประตูเข้ามาก่อนตัว จิมมี่เป็นผู้ชายร่างเล็ก สวมเสื้อยืด กางเกงยีนส์ รองเท้าผ้าใบ สะพายกระเป๋าผ้า ดูสมกับเป็นอดีตอาร์ตไดเรกเตอร์บริษัทโฆษณาจริงๆ

จิมมี่เดินเข้ามาหาพวกเรา เขาก้มหัวขอโทษที่มาสายอยู่หลายหน แล้วค่อยเริ่มต้นเอ่ยปากทักทายกัน ผมนั่งติดกับจิมมี่ ตรงข้ามเราคือล่าม ก่อนอื่น ผมเริ่มแนะนำ a day ให้เขารู้จัก

เท่าที่ผมสังเกตได้ จิมมี่เป็นผู้ชายที่ร่าเริง หัวเราะสนุกตลอดเวลา ไฮเปอร์นิดๆ แล้วก็ดูเป็นผู้ชายนิ่มๆ ที่มีแววตาซุกซนเหมือนเด็กๆ

“ได้ยินมาว่าคุณไม่ชอบให้สัมภาษณ์เพราะไม่ชอบการมีชื่อเสียง ไม่ชอบเป็นที่รู้จักของคน ชื่อเสียงมันไม่ดีตรงไหนหรือ” ผมถามจิมมี่ผ่านล่าม

“คุณเริ่มสัมภาษณ์แล้วใช่ไหม” จิมมี่หัวเราะอย่างอารมณ์ดี “ผมอยากให้ผู้อ่านรู้จักแค่ผลงานของผม รู้แค่ว่าคนทำชื่อจิมมี่ก็พอ ไม่ต้องรู้หรอกว่าคนทำเป็นใคร หน้าตาเป็นยังไง ตัวผมไม่มีอะไรน่าสนใจ ผลงานของผมน่าสนใจมากกว่า”

จิมมี่ตอบแบบอายๆ

จิมมี่จะเขินมากกว่านี้หลายเท่าถ้ามีผู้อ่านทักเขาในที่สาธารณะ “แต่ไม่ค่อยมีคนทักผมหรอก มีคนจำหน้าผมได้ไม่เยอะ เวลาผมไปยืนตรงจุดที่วางหนังสือผมในร้านหนังสือยังไม่มีคนรู้จักผมเลย อย่างนี้ก็ดี” สิ่งที่จิมมี่สังเกตได้จากการยืนดูกลุ่มแฟนหนังสือของเขาก็คือ หนังสือของเขาไม่เหมือนหนังสือทั่วไปที่มีแต่ตัวหนังสือซึ่งต้องอ่านคนเดียว แต่หนังสือภาพของเขาอ่านด้วยกันได้ เขาเลยมักเห็นคู่รักหนุ่มสาวยืนอ่านหนังสือของเขาด้วยกันบ่อยๆ อ่านไปคุยกันไป แต่ถ้าใครมองว่าหนังสือของเขาเป็นเหมือนกามเทพชั้นดีที่ช่วยให้คนรักกัน เขาขอปฏิเสธ “หนังสือของผมออกไปทางโศกเศร้า เป็นสีดำๆ หม่นๆ ไม่น่าจะนำความรักมาให้ผู้อ่านได้หรอก”

เสียงโทรศัพท์มือถือของจิมมี่ดังแทรกขึ้นมา เขารีบรับสายแล้วตอบว่าไม่สะดวกคุยตอนนี้ เดี๋ยวโทรกลับ แล้วเขาก็ปิดโทรศัพท์มือถือโนเกียรุ่น 2100 เครื่องเก่าตัวเครื่อเรียบๆ ไร้ลูกเล่น ก่อนจะวางมันลงบนโต๊ะ

มิถุนายน 2505 เมฆหนาฟ้าครึ้ม

เมื่อพูดถึงชีวิตในวัยเด็ก สิ่งแรกที่จิมมี่คิดถึงก็คือ ‘ความเหงา’

“ผมรู้สึกว่าตัวเองเหงา พ่อแม่พาผมไปอยู่กับย่าที่ชนบท ภาพที่ผมจำได้ก็คือ ผมอยู่กับย่าในบ้านหลังใหญ่ แล้วทุ่งนาก็กว้างมากแต่ไม่มีเพื่อน รอบๆ บ้านไม่มีใครเลย ช่วงฤดูร้อนมีญาติๆ ที่เป็นพี่ๆ น้องๆ มาเล่นด้วยบ้าง แต่เวลาอื่นผมอยู่คนเดียว วัยเด็กของผมไม่ค่อยมีความสุขสักเท่าไหร่ ไม่ได้มีอะไรไม่ดีนะ มันแค่เงียบเหงา ผมไม่ค่อยมีความทรงจำในวัยเด็ก จำได้คร่าวๆ ว่าโตที่ชนบท แม่บอกว่าเป็นช่วงเวลาที่สั้นมาก แต่ในความทรงจำของผมรู้สึกว่ามันนานมาก”

จิมมี่เคยเขียนความทรงจำในวัยเด็กของเขาไว้ในเรื่อง The Moments ว่า ช่วงอายุก่อน 4 ขวบ ผมว่าก็น่าจะมีความสุขนะ แต่เรื่องที่จำได้แม่นที่สุดกลับมีแต่เรื่องเสียใจเป็นส่วนใหญ่ เรื่องความสุขสนุกสนานเล็กๆ น้อยๆ กลับดูเป็นเรื่องที่ค่อนข้างรางเลือน มีแต่อดีตอันทุกข์ระทมเท่านั้นที่มักจะวนเวียนอยู่ในใจไม่เลิกรา

“ตอนเด็กๆ ผมเคยตกน้ำ 2 ครั้ง” จิมมี่หัวเราะเสียงดังเมื่อย้อนคิดถึงวัยเด็ก “มีครั้งนึงที่ม้าแกะสลักบนหลังตู้ตกมาใส่ ผมจำได้ว่าตอนถูกเข็นเข้าไปในโรงพยาบาล เส้นผมของผมมีแต่เลือด อีกเรื่องที่จำได้ก็คือ ตอนเทศกาลไหว้บรรพบุรุษ น้องชายผมหายตัวไป แถวนั้นมีสระน้ำ แล้วข้างๆ สระน้ำก็มีรองเท้าของเด็กคู่หนึ่ง แม่คงคิดว่าน้องอยู่ในนั้น ภาพที่ผมจำได้ก็คือ แม่นั่งคุกเข่าอยู่ตรงนั้นแล้วก็ลงไปหาน้องในน้ำ 2 วันถัดมาถึงหาเจอ” เล่าจบจิมมี่ก็รีบเสริมว่า เรื่องสนุกสนานในวัยเด็กก็มีบ้างเหมือนกัน เช่น ได้เล่นในทุ่งนา จับกบ แต่เขาจำเรื่องเศร้าได้แม่นกว่า

จิมมี่กลับเข้ามาเรียนชั้นประถมในเมืองที่ไทเป เขาบอกว่าทุกปีครูจะพานักเรียนไปเที่ยวสวนสัตว์แล้วก็ให้นักเรียนวาดภาพสัตว์ จิมมี่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมเขาถึงวาดแต่ภาพยีราฟเหมือนเดิมทุกปี ทำให้ตอนนี้เขาไม่อยากวาดยีราฟอีกต่อไปแล้ว

อีกเรื่องที่เขาจำได้แม่นก็คือ เขาชอบวาดภาพประกวด แต่ไม่เคยได้รางวัล “ผมไปถามครูว่าทำไมผมถึงไม่ได้รางวัล ครูบอกว่าผลงานของผมมันเกินวัยเหมือนผลงานของผู้ใหญ่ก็เลยไม่ให้รางวัล แต่ผมคิดว่าครูคงหลอกผมมากกว่า” จิมมี่หัวเราะร่วน เขาบอกว่าช่วงประถมเป็นช่วงเวลาที่เขามีความสุขมาก

“ช่วงมัธยมไม่มีความสุขแล้ว เพราะถูกตีทุกวัน ผมต้องเรียนหนังสือทุกวัน สอบทุกวัน แล้วก็โดนตีทุกวัน” จิมมี่เล่าว่า ผลการเรียนของเขาไม่แย่มาก แต่ก็ไม่ถึงกับดี ตอน ม.1 เขาเคยแข่งขันวาดรูประดับโรงเรียนแล้วได้ที่ 1 ตอน ม.2 ได้ที่ 2 ม.3 ได้ที่ 3

ก่อนสอบเข้ามหาวิทยาลัย จิมมี่มีเพื่อนใหม่คนหนึ่งเพิ่งย้ายมาจากโรงเรียนอื่น เพื่อนคนนี้บอกว่าอยากเรียนต่อมหาวิทยาลัยด้านศิลปะ จิมมี่ถึงได้รู้ว่ามันมีสาขานี้ในมหาวิทยาลัยด้วย เขาเลยไปเรียนพิเศษด้านการวาดรูปเพิ่มเติมอยู่ 3 – 4 เดือน

ในที่สุดเขาก็สอบติดคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาทัศนศิลป์ มหาวิทยาลัยวัฒนธรรมของไทเป

“ผมอยากให้ผู้อ่านรู้จักแค่ผลงานของผม รู้แค่ว่าคนทำชื่อจิมมี่ก็พอ ไม่ต้องรู้หรอกว่าคนทำเป็นใคร หน้าตาเป็นยังไง ตัวผมไม่มีอะไรน่าสนใจ ผลงานของผมน่าสนใจมากกว่า”

(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 75 พฤศจิกายน 2549)

ภาพ คเชนทร์ วงศ์แหลมทอง

คลิกอ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่
ตอนที่ 2
ตอนที่ 3
ตอนที่ 4

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

คเชนทร์ วงศ์แหลมทอง

หัวหน้าช่างภาพของ a day และ HAMBURGER ผู้เชี่ยวชาญการถ่ายภาพพอร์เทรตและแฟชั่น สิ่งที่เขาทำได้ดีที่สุดคือการดึงตัวตนของคนหน้ากล้องให้ออกมาผ่านภาพถ่าย