Siem Reap : ดูความยิ่งใหญ่และทักษะการสร้างสถาปัตยกรรมของชาวเขมรโบราณ

ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมอันร้อนระอุ เดือนที่เป็นรอยต่อระหว่างฤดูฝนและฤดูหนาว แต่ถึงอย่างนั้นความชุ่มชื้นยังผลิดอกออกผลแทรกตัวขึ้นมาในหัวใจเราได้ท่ามกลางความร้อนระดับทะเลทรายที่เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา เพราะทุกครั้งที่เราเดินเข้าไปในปราสาทโบราณแต่ละแห่ง ก็ได้เห็นความอลังการงานสร้างของสถาปัตยกรรมเขมรยุคโบราณที่สร้างจากแรงคนในยุคที่แทบจะยังไม่รู้จักคำว่าเทคโนโลยี ไม่มีนวัตกรรมทุ่นแรงสมัยใหม่ คนนับร้อยนับพันคนหรือมากกว่านั้นทุ่มแรงทุ่มใจสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมล้ำค่าให้กับเขมรและให้อยู่คู่โลกอย่างน่ามหัศจรรย์

เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา ได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองมรดกโลก เราเดินทางมาเมืองนี้เมืองเดียวก็สามารถบุกไปดูปราสาทเขมรโบราณได้หลายที่ ทริปนี้เราเลือกที่จะตะลุยกัน เริ่มต้นที่ ปราสาทบันทายศรี เป็นปราสาทหินที่สร้างจากหินทรายสีชมพู แม้ว่าปราสาทนี้จะมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก แต่บันทายศรีนับเป็นปราสาทที่เก่าแก่พันปีที่ยังเหลือความสมบูรณ์และร่องรอยความประณีตของงานช่างยุคนั้นได้อย่างดี

มุ่งหน้าต่อไปยังปราสาทที่สองที่ไม่ไกลกันนัก ปราสาทตาพรหม ถือเป็นความโชคดีของเราว่าอากาศที่นี่ไม่ร้อนอย่างที่คิด ด้วยแนวคิดการอนุรักษ์ปราสาทของรัฐบาลเขมรที่จะเก็บรักษาต้นไม้ไว้ โดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่ให้ขึ้นอยู่ในปราสาทเหมือนในสมัยโบราณ ไม่เพียงแต่ความตื่นตาของต้นไม้ยักษ์ที่ใช้รากห้อมล้อมโอบอุ้มตัวปราสาทเอาไว้แล้ว ยังช่วยยึดพยุงโครงสร้างของปราสาทและให้ความร่มรื่นกับบริเวณรอบๆ ไกด์ชาวเขมรคุยให้เราฟังอีกว่า “ปราสาทตาพรหมนี่นะ ยูวรู้มั้ยว่าดังระดับโลก เพราะหนังหลายเรื่องก็มาใช้โลเคชั่นที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นทูมไรเดอร์ หรือเจมส์บอนด์” โอววว้าววว (ว่าแล้วก็ทำตาเป็นประกายตามคำเล่าของไกด์เขมรที่พูดไทยชัดมากกก)

ก่อนพระอาทิตย์ตกดิน เราขอใช้แรงฮึดหยดสุดท้ายเดินขึ้นเขาพนมบาเค็งที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 75 กิโลเมตร เพื่อไปแกะรอยสุริยะเทพ ณ ปราสาทพนมบาเค็ง ตัวปราสาทตั้งอยู่บนยอดเขาจึงเป็นจุดชมวิวที่สามารถชมวิวได้โดยรอบเมืองเสียมเรียบ แต่เหมือนโชคไม่เข้าข้างเราเท่าไรนัก เย็นวันนั้นนักท่องเที่ยวมีจำนวนมากเป็นพิเศษ ทุกคนรอต่อแถวขึ้นไปชมพระอาทิตย์ตกดินบนยอดปราสาท และด้วยการจำกัดจำนวนคนที่จะขึ้นไปบนนั้นเป็นรอบๆ ทำให้เราคลาดกับพระอาทิตย์ที่ชิงลาเราไปเสียก่อน

แต่ดวงอาทิตย์ก็ขึ้นอีกครั้งในวันใหม่ การท่องเที่ยวในเขมรของเราวันที่สองเริ่มด้วยปราสาทที่เฝ้าฝันว่าจะมาเจอ คือปราสาทนครวัด นครธม

ขอเริ่มเล่าจากนครธม (Angkor Thom) ก่อนก็แล้วกัน แท้จริงแล้วไม่เหมือนกับปราสาทนครวัด แต่นครธมเป็นเมืองหลวงเก่าของอาณาจักรเขมร คำว่า ‘ธม’ แปลว่าใหญ่ ดังนั้นในสมัยก่อนนั้น นครธมจัดได้ว่าเป็นเมืองพระนครที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาณาจักรขอม ปราสาทของเมืองนครธมมีชื่อเรียกว่า ปราสาทบายน สร้างจากก้อนหินศิลาแลงที่แกะสลักเป็นรูปใบหน้าคนทั้งสี่ด้านของยอดปราสาท ทำให้ดูน่าเกรงขาม รอบๆ กำแพงยังมีคูน้ำล้อมรอบตามหลักการสร้างเมืองในยุคโบราณ น้ำยังสะท้อนองค์ปราสาทให้ยิ่งดูงดงามยิ่งขึ้นไปอีก

แน่นอนว่าไคลแม็กซ์ย่อมเก็บไว้เพื่อปิดทริปให้จบสวยงามอย่างที่หวัง นครวัด(Angkor Wat) ได้ชื่อว่าเป็นสถานที่ทางศาสนาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เป็นสุดยอดงานสถาปัตยกรรมในยุคสมัยเขมรรุ่งเรือง นครวัดสำคัญต่อเขมรแค่ไหนนั้น ดูได้จากการปรากฎตัวอยู่บนผืนธงชาติของประเทศกัมพูชาในปัจจุบันก็พอจะทำให้ทราบได้ว่านครวัดไม่เพียงแต่จะเป็นสัญลักษณ์ แต่ยังสำคัญกับจิตใจและเศรษฐกิจของเมืองเสียมเรียบ ตลอดจนประเทศกัมพูชาเองด้วย เพราะในแต่ละปีนครวัดรวมถึงปราสาทอื่นๆ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกเพื่อมาหลงมนต์เสน่ห์ของปราสาทเขมรได้จำนวนมาก

เพียงก้าวแรกที่เดินเข้ามา เราก็สัมผัสได้ว่านครวัดไม่ทำให้เราผิดหวังแน่ๆ ปราสาทนครวัดยิ่งใหญ่สมคำร่ำลือ ยิ่งเดินลึกเข้าไปเรื่อยๆ จะเห็นว่านครวัดครอบคลุมพื้นที่มหาศาล มีการวางผังอย่างเป็นระบบและถือเป็นวิวัฒนาการขั้นสุดของการออกแบบวางผังปราสาท เมื่อมองเข้าไปจะเห็นปราสาทหลัก 4 หลังวางโอบล้อมปราสาทประธานที่ใหญ่ที่สุดอยู่ตรงกลางบนฐานสูงตามคติความเชื่อเรื่องศูนย์กลางจักรวาล ก้อนหินทรายที่สูงเท่าตัวคนแต่ละก้อนมีน้ำหนักไม่รู้กี่ตัน ถูกวางซ้อนกันให้สูงขึ้นไป ทุกอณูบนก้อนหินทรายขนาดยักษ์ผ่านฝีมือช่างเขมรสมัยนั้นบรรจงแกะสลักอย่างวิจิตรสวยงาม ตัวปราสาทประธานเองมีความสูงถึงประมาณ 60 เมตร มีบันไดขึ้นที่ค่อนข้างชันให้นักท่องเที่ยวได้ชมวิวข้างบน วิวที่มองเห็นจากจุดนี้ทำให้เราเข้าใจถึงความคุ้มค่าของการเดินทางมาให้เห็นกับตา

ตอนนั้นเรื่องเหนื่อยเรื่องร้อนก็เหมือนจะถูกลืมไปชั่วขณะเลย

Siem Reap

how to get there: การเดินทางมีรถตู้จากหมอชิตไปลงอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง แล้วข้ามด่านปอยเปต – ต่อรถบัสหรือแท็กซี่ไปเสียมเรียบ ใช้เวลาอีกประมาณ 3 ชั่วโมง

ใครอยากส่งเรื่องสถานที่น่าเที่ยวมาลงเว็บไซต์ a day online คลิกที่นี่เลย

AUTHOR