อัมพวาในความทรงจำเดียวของผม คือการได้ไปดูหิ่งห้อยตอนอายุ 6-7 ขวบ บรรยากาศของตลาดน้ำที่อบอุ่น ผู้คนพลุกพล่าน มีก๋วยเตี๋ยวและหิ่งห้อยให้ชมในยามเย็น…
ผ่านไปหลายปี ผมได้กลับไปที่ตลาดน้ำอัมพวาอีกครั้ง เพราะอยากหลบหนีจากความวุ่นวายของเมืองกรุงเทพฯ ตั้งแต่ก้าวแรกที่เดินเข้าไป ผมก็สัมผัสได้ถึงบรรยากาศความเป็นกันเองของผู้คน ถึงแม้จะไม่มีหิ่งห้อยเยอะเท่าเมื่อก่อน แต่ความอัธยาศัยดีของผู้คนเชื้อเชิญให้ผมเข้าไปซื้อของและพูดคุยกับพวกเขาอย่างออกรส ไม่เปลี่ยนไปจากภาพจำเดิมของผมสักเท่าไหร่นัก
กาลเวลาเปลี่ยนไป ตลาดน้ำอัมพวาไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ท่องเที่ยว แต่ยังเป็นสถานที่ที่มีประวัติศาสตร์ จนได้ชื่อว่า “อัมพวาก็คือประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต” จากเสน่ห์ของบ้านเรือนและผู้คนริมน้ำที่ไม่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย แม้ตลาดน้ำแห่งนี้จะผ่านทั้งยุคที่รุ่งเรืองและซบเซา แต่ชาวบ้านก็ยังยืนหยัดที่จะทำสิ่งที่ตัวเองรักและฟื้นฟูตลาดน้ำแห่งนี้
การเดินทางครั้งนี้ผมได้พูดคุยกับชาวบ้านวัยเก๋า ที่รักและผูกพันกับตลาดน้ำอัมพวาเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะทั้งคนที่เกิดและโตที่นี่ คนที่มาลงหลักปักฐานที่นี่ หรือคนที่เลือกที่นี่มาเปิดธุรกิจของตนเอง แล้วความประทับใจก็ทำให้ผมอดที่จะถ่ายทอดความรักที่มีต่ออัมพวาของทุกท่านผ่านรูปถ่ายไม่ได้
ไม่ว่าจะเป็น คุณลุงนักขับเรือพาทัวร์สุดซิ่ง คุณลุงนักตกกุ้งยิ้มหวาน คุณลุงนักดนตรีเปิดหมวก คุณลุงเจ้าของร้านขนมฟองน้ำ คุณป้าแฟชั่นนิสตาขายผ้าขาวม้าประยุกต์ คุณป้านักเย็บกระทงมือหนึ่ง และคุณลุงขายกะปิผู้มีใจรักภาพยนตร์บอกเล่าชีวิตของพวกเขาในอัมพวาได้อย่างดี
อย่างที่เพลง ‘สาวอัมพวา’ ของสุนทราภรณ์ บอกไว้ว่า
“โออัมพวานี่หนางามจริง ทุกสิ่งเป็นขวัญตา”
ผมตกหลุมรักผู้คนและตลาดน้ำแห่งนี้ไปแล้ว และอัมพวาจะ ‘ยังอยู่ในใจ’ ของผมไปอีกนานเลย
ลุงดำรง อายุ 72 ปี คนขับเรือทัวร์ตลาดน้ำผู้เกิดและโตในอัมพวา เขาเล่าว่าเริ่มขับเรือตั้งแต่อายุ 15 เพราะที่อัมพวาเป็นเมืองท่า การไปไหนมาไหนด้วยเรือสะดวกกว่ามาก ทุกวันนี้เขายังขับเรือต้อนรับนักท่องเที่ยวและคอยบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนริมน้ำอย่างอัมพวาให้คนผู้มาเยือนฟังระหว่างทางอย่างอารมณ์ดี
คุณลุงนักตกกุ้ง อายุ 70 ปี ที่เจอระหว่างขับเรือผ่าน คุณลุงพูดน้อยแต่ยิ้มเยอะ ลุงโชว์กุ้งที่ใช้เป็นเหยื่อให้เราดู อีกทั้งยังบอกว่า เนื้อกุ้งที่ตกได้ค่อนข้างแน่นและเอาไปทำอาหารอร่อยมาก คนในอัมพวาทำอาชีพตกกุ้งเป็นทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริม
ลุงชัยรัตน์ นักดนตรีเปิดหมวกในตลาดอัมพวาที่ยังคงร้องเพลงกล่อมคนในตลาดอย่างมีความสุข เขาบอกว่า นอกจากมาเล่นที่อัมพวาแล้ว เขายังมีวงของตัวเอง ชื่อชัยรัตน์แอนด์เอเลเฟ่นด้วย!
ลุงโสภณ อายุ 73 ปี เจ้าของร้านขนมฟองน้ำ ขนมเบเกอรีเจ้าดังของอัมพวา ลุงโสภณเป็นเจ้าของร้านขายขนมนุ่มละมุนละลายในปากและขายมาหลายสิบปี แถมได้รับรางวัลหลายรายการ แกบอกอย่างภาคภูมิใจว่า แกสอนให้เด็กของแกแต่ละคนทำด้วยตนเอง จนถึงวันนี้ที่ความรักได้ก่อร่างสร้างตัว มาให้กับขนมแต่ละชิ้นและลูกค้าแต่ละคน ลุงยังบอกอีกว่าขนมแต่ละชิ้นถูกทำขึ้นด้วยความรักล้วนๆ
ป้าแอ๊ด อายุ 70 ปี แม่ค้าผู้ขายผ้าขาวม้ามา 10 กว่าปี ความน่าสนใจคือผ้าขาวม้าของคุณป้า เป็นผ้าขาวม้าประยุกต์ที่เอามาทำเป็นเดรสยาว หรือสร้อยสุดชิก ทำให้เห็นว่าความเป็นไทยนั้นสามารถนำมาปรับใช้กับความเป็นวัยรุ่นได้ คุณป้าบอกว่าตลาดอัมพวามีนักท่องเที่ยวเข้าออกมากขึ้นหลังจากช่วงโควิด ตลาดครึกครื้นมากขึ้นก็ยิ่งดี อย่าลืมแวะไปอุดหนุนป้าแอ๊ดกันล่ะ
ป้านง อายุ 65 ปีที่เย็บกระทงมาหลายสิบปี แกจะออกมาเย็บกระทงริมแม่น้ำอัมพวาทุกเย็น เพราะอากาศเย็นสบาย แต่ละวันเย็บได้หลายร้อยกระทง เอาไปส่งต่อให้ร้านขายขนมในตลาด หรือส่งออกไปขายให้ร้านในกรุงเทพฯ บ้าง
ลุงป้อ อายุ 69 ปี เจ้าของร้านขายกะปิที่ตกแต่งร้านด้วยหนังเก่าชื่อคุ้นหู ทั้งหนังไทย หนังฝรั่ง ซึ่งเริ่มต้นมาจากความชอบดูหนังของตัวเอง จนได้รับความชื่นชอบจากนักท่องเที่ยวอย่างมาก หลังจากนั้นลุงป้อเลยตั้งแผงขายโปสเตอร์หนังเองด้วย
พูดคุยกับผู้คนในอัมพวาจนหนำใจ ตกเย็นผมนั่งดูหนังกลางแปลงริมคลอง กิจกรรมที่เกิดขึ้นทุกๆ เดือนที่ตลาดน้ำอัมพวา มีคนทุกเพศทุกวัยมานั่งมุงจอกันที่ฝั่งตรงข้าม การมาดูหนังกลางแปลงไม่ได้เป็นแค่ความบันเทิงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการใช้เวลากับครอบครัวและคนใกล้ชิดในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย หากใครมีโอกาสก็อย่าลืมมาแวะเวียนอัมพวา เชื่อว่าถ้าใครได้ไปแล้วต้องหลงเสน่ห์ตลาดน้ำที่มีชีวิตแบบผมแน่นอน