‘ทำไมถึงรู้สึกเป็นผู้ชนะทุกที เมื่อได้ครอบครองรีโมต’ เพราะการเมืองอยู่ทุกที่ ไม่เว้นแม้แต่หน้าจอทีวีในห้องนั่งเล่น

ช่วงเวลาในความทรงจำของเด็กยุค 2000s แบบเรา คงหนีไม่พ้นการตื่นเช้ามาดูรายการดิสนีย์คลับ และเฝ้ารอละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่ฉายมาครึ่งปีก็ยังไม่จบ แต่หากใครไม่ได้เป็นลูกคนเดียว หรือเป็นเด็กคนเดียวในบ้านล่ะก็ ก่อนจะได้สุขีไปกับรายการทีวีช่องโปรด คงต้องได้เปิดศึกกับพี่น้องร่วมสายเลือดสักครั้ง เพื่อหาข้อสรุปว่าในเช้านี้ ใครกันจะได้เป็นผู้ที่ครอบครองรีโมต 

เนื่องในโอกาส ‘วันโทรทัศน์สากล’ (ที่หลายคนไม่คุ้นหู) เวียนกลับมาอีกครั้ง a day อยากชวนทุกคนมามองความสัมพันธ์น่าฉงนที่เกิดขึ้นระหว่างโทรทัศน์ รีโมตคอนโทรล และพื้นที่ในห้องนั่งเล่น แม้ในทุกๆ วันจะดูเป็นวันอันแสนธรรมดาภายในห้องที่ทุกคนต่างเพลิดเพลินไปกับสารพัดรายการทีวี แต่หารู้ไม่ว่าสิ่งนี้อาจแฝงไปด้วยการเมือง อำนาจ และสังคม ที่แฝงตัวอยู่ในชีวิตประจำวัน โดยมี ‘โทรทัศน์’ เป็นตัวกลาง และเป็นผู้เฝ้ามองสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 

ห้องนั่งเล่น ศูนย์รวมของสมาชิกทุกคนในครอบครัว 

พี่สาวที่นั่งอ่านการ์ตูนตาหวาน คุณยายและคุณแม่ที่จดจ่อกับละครหลังข่าว และคุณพ่อที่กำลังตีกล้องส่องพระเครื่อง ทุกเหตุการณ์ที่กล่าวมานี้ สามารถเกิดขึ้นได้พร้อมกันภายในห้องนั่งเล่นของครอบครัวหนึ่ง และเมื่อถึงช่วงละครพักโฆษณา ก็อาจจะเป็นตาของพ่อที่ได้เปลี่ยนช่องไปดูบอลคู่โปรดกับเขาบ้าง 

โดยพื้นฐานแล้วคนดูจะใช้โทรทัศน์ในการหลีกหนี (Escapism) โลกแห่งความเป็นจริง แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในยุคก่อนที่จะมีเทคโนโลยีอย่างอินเทอร์เน็ต โทรทัศน์ถือเป็นสื่อหลักที่สามารถให้ความบันเทิงเริงรมย์กับมนุษย์ได้มากที่สุดในช่วงเวลาหนึ่ง อีกทั้งยังก่อให้เกิดความสัมพันธ์ในพื้นที่ห้องนั่งเล่นด้วย เช่น การชวนสมาชิกคนอื่นในห้องนั่งเล่นมาร่วมต่อว่าตัวละครด้วยกัน หรือเชียร์กีฬา แต่ใครล่ะคือคนที่จะมากำหนดว่าวันนี้สมาชิกในบ้านจะได้รับความบันเทิงในรูปแบบใด

กิจกรรมการดูโทรทัศน์ เป็นลักษณะของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ

ในการศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมศึกษา (Cultural Studies) ได้ให้ข้อเสนอกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในห้องนั่งเล่นนี้ว่าเป็นลักษณะของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ (Power Relations) โดยมีโทรทัศน์เป็นศูนย์กลางในเกมช่วงชิงอำนาจนี้ และเครื่องมือที่จะทำให้สมาชิกคนใดคนหนึ่งในห้องนั่งเล่นมีอำนาจเหนือผู้อื่นก็คือ ‘รีโมตคอนโทรล’ ซึ่งผู้ที่ได้ครอบครองมัน นอกจากจะได้ควบคุมความบันเทิงที่สมาชิกทุกคนในบ้านจะได้รับแล้ว เขายังถือเป็นผู้ที่สามารถควบคุมได้ทั้งภาพและเสียงอีกด้วย

อาจดูเป็นเรื่องที่ชวนหัวเราะเมื่อมาย้อนนึก แต่ความโศกเศร้าเสียใจในวัยเด็กสามารถเกิดขึ้นได้จากการอดดูรายการเจ้าขุนทองจริงๆ มิหนำซ้ำคนที่ได้ถือรีโมตในวันนั้น ก็มักเป็นผู้ที่ช่วงชิงที่นั่งที่ดีที่สุด สบายที่สุด พัดลมเป่าถึง และตรงกับจอโทรทัศน์มากที่สุดเช่นเดียวกัน

“Guys, I’m eating junk and watching rubbish!
 you better come out and stop me!” 
-Kevin from Home Alone– 

“เฮ้ พวก! ฉันกำลังกินขนมขยะแล้วก็ดูอะไรไร้สาระ! ถ้าแน่จริงก็ออกมาหยุดฉันสิ!”

ประโยคเด็ดจากภาพยนตร์ชื่อดังเรื่อง Home Alone ซึ่งเป็นฉากที่ ‘เควิน’ โดดเดี่ยวผู้น่ารักของเรา กำลังฉลองอิสระของตัวเองหลังจากถูกทิ้งให้อยู่บ้านคนเดียว ด้วยการกินขนม และดูหนังแบบที่ปกติพ่อแม่ไม่ให้ทำ ซึ่งถือเป็นฉากที่ถือว่ากวนใช้ได้เลยทีเดียว แต่หากมองในแง่ของการใช้พื้นที่ในห้องนั่งเล่นล่ะก็ ตอนนี้เจ้าหนูน้อยกำลังท้าทายอำนาจของผู้ปกครองที่มีกฎเกณฑ์ต่างๆ ในบ้านโดยเฉพาะห้องนั่งเล่น ผ่านการดูหนังไร้สาระ แถมกินอาหารขยะ และหากใครสังเกตดีๆ เจ้าหนูน้อยคนนี้ยังเลือกที่นั่งที่ดีที่สุดในห้องนั่งเล่นอีกด้วย 

 ห้องนั่งเล่น พื้นที่ของการแบ่งชนชั้น

นอกจากพื้นที่ของห้องนั่งเล่นจะมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจแอบแฝงอยู่แล้ว พื้นที่ตรงนี้ในครัวเรือนของชนชั้นกลางยังถือเป็นพื้นที่ของการแบ่งแยกทางชนชั้นอยู่เรื่อยมา เช่น หากเป็นสาวใช้จะไม่มีสิทธิ์เข้ามามีส่วนร่วมในห้องนั่งเล่นของเจ้านาย หรือหากจะมีก็ต้องนั่งอยู่ที่พื้น หรือมุมใดมุมหนึ่งของห้องเท่านั้น ดังที่เรามักจะเห็นจากสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นละคร หรือภาพยนตร์ เป็นต้น 

สถานภาพทางสังคมที่สูงกว่าและด้อยกว่าในห้องนั่งเล่นยังถือเป็นข้อบ่งชี้ว่าสังคมไทยยังคงอยู่ในระบบศักดินาและชนชั้นอยู่เสมอ เช่น แนวคิดที่กล่อมเกลาว่าคนเราเกิดมาไม่เท่ากัน แล้วแต่บุญวาสนา ซึ่งมายาคติแบบนี้เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงให้ความไม่เท่าเทียมทางชนชั้น และสังคมศักดินายังคงอยู่ได้ในปัจจุบัน 

‘การเมืองในห้องนั่งเล่น’ เป็นประเด็นที่สุดโต่ง หรือเอาเข้าจริงๆ แล้ว เราต่างหากที่เคยชินกับการถูกใช้อำนาจและการเป็นผู้ใช้อำนาจตั้งแต่ในวัยเด็ก การที่น้องต้องยอมให้พี่ดูการ์ตูนช่องโปรด หรือการที่เด็กเห็นพี่เลี้ยงต้องนั่งดูโทรทัศน์อยู่ที่พื้น จริงๆ แล้วอาจเป็นการหล่อหลอมพฤติกรรมบางอย่างในบ้านโดยที่เด็กและสมาชิกคนอื่นๆ ไม่รู้ตัวก็ได้ 

.

.

นอกเหนือไปจากเรื่องการครอบครองรีโมตคอนโทรลที่เราว่าไปข้างต้น จริงๆ พื้นที่ในห้องนั่งเล่นและการดูโทรทัศน์ก็ยังคงเป็นโมเมนต์ในความทรงจำที่จะว่าไปก็อบอุ่น สุข เศร้า เคล้าน้ำตา ตลบอบอวลไปด้วยเสียงหัวเราะ และของกินเล่นแสนอร่อยเหมือนกัน 

แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป ทำให้ผู้คนรับชมสื่ออย่างโทรทัศน์ลดลงไปเรื่อยๆ และแม้ความทรงจำที่ชัดเจนแจ่มแจ้งจะเป็นภาพที่โดนแย่งรีโมตไปก็เถอะ แต่ในวันนี้โทรทัศน์ที่บ้านของใครหลายคนก็ยังคงเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของคุณยายเมื่อต้องอยู่บ้านตามลำพัง เป็นความสนุกของพ่อและพรรคพวกในวันที่มีศึกลูกหนัง และยังคงดังก้องไปด้วยเสียงนาฬิกาปลุกยามเช้าจากรายการ เรื่องเล่าเช้านี้ ในความทรงจำของเราเสมอ 

.

.

อ้างอิง
สมสุข หินวิมาน. (2558). อ่านทีวีการเมืองวัฒนธรรมในจอโทรทัศน์. กรุงเทพฯ: พารากราฟ. 
Home Alone (1990)
รถไฟฟ้า มาหานะเธอ (2009)

AUTHOR