ครั้งหนึ่งเราเข้าใจว่าตนเองเป็นคนหนึ่งที่มีความมั่นใจในตนเองสูง รับรู้ศักยภาพตนเอง รู้ว่าถนัดและไม่ถนัดอะไร สนุกกับการทักทายงานใหม่ๆ กล้าที่จะทดลองทำสิ่งที่ไม่คุ้น ตื่นเต้นกับการได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
จนกระทั่งวันหนึ่งเราถูกปฏิเสธความสัมพันธ์ หลังจากนั้นเรากลายเป็นคนลังเล ไม่กล้าตัดสินใจ กลัวการเริ่มต้น ไม่อยากไปสถานที่ใหม่ๆ หรือพบเจอเพื่อนใหม่ ความมั่นใจลดลงในทุกมิติทั้งด้านการใช้ชีวิต เรื่องรูปร่าง ศักยภาพ และความสามารถที่มี
เหตุการณ์นี้ทำให้เราพบว่า “ความมั่นใจ ” (self-confidence) ที่เรามีไม่แข็งแรงเพราะเราขาด “การนับถือตนเอง” (self-esteem) ที่สำคัญเรากลับมาทบทวนตัวเองและพบว่าความมั่นใจที่ผ่านมาไม่ได้เกิดจากตนเองทั้งหมด มีการผูกคุณค่าตนเองกับความคิดเห็นของผู้อื่น
ชวนเพื่อนผู้อ่านลองตอบคำถามทั้ง 2 ชุดนี้กับตัวเองดูนะคะ
คำถามชุดที่ 1
A
คุณชอบทำอะไรที่สุด?
คุณชอบอะไรในตัวเอง?
B
คุณไม่ชอบทำอะไรที่สุด?
คุณไม่ชอบอะไรในตัวเอง?
หากถามคำถามฝั่ง B หลายๆ คนน่าจะตอบด้วยความรู้สึกอย่างรวดเร็ว
แต่ถ้าเริ่มด้วยคำถามฝั่ง A เรากลับมาใช้ฐานหัวเพื่อคิดคำตอบ
ส่วนใครใช้เวลามากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับประสบการณ์แต่ละคน
คำถามชุดที่ 2
คุณรักตัวเองเป็นไหม?
คุณยอมรับตัวเองได้หรือไม่?
คุณเคยภูมิใจในตัวเองไหม?
Oxford ได้นิยามความหมายของคำว่า self-confidence ไว้ว่า confidence in yourself and your abilities และนิยามคำว่า self-esteem ไว้ว่า a feeling of being happy with your own character and abilities
self-esteem คือ การยอมรับนับถือตนเอง หรือ การรับรู้คุณค่าในตัวเอง เราขอเรียกให้เข้าใจง่ายขึ้นว่าคือ การรักตัวเอง ซึ่งเป็นความรู้สึกพื้นฐานขั้นแรกที่เราควรมอบให้ตัวเอง ทุกคนต่างรู้ว่ามันสำคัญเเละจำเป็นมากในการใช้ชีวิต แต่ในทางปฏิบัติเรากลับพบว่ามันไม่ง่ายเท่าไหร่
พวกเราเคยรู้สึกผิดกับตัวเองบ่อยๆ เมื่อทำผิดพลาด ตั้งเเต่เรื่องเล็กน้อย เช่น แอบกินเค้กทั้งๆ ที่อยากลดน้ำหนัก รวมไปถึงเรื่องการตัดสินใจครั้งใหญ่ๆ ในชีวิต ทั้งที่หลายครั้งอุปสรรคเกิดจากปัจจัยภายนอกทำให้เราไม่สามารถควบคุมได้ แต่กลายเป็นว่าเรากลับมาโกรธตัวเอง
บทความนี้ไม่มีคำตอบตายตัวว่าคุณควรจัดการความรู้สึกเหล่านั้นอย่างไร เพื่อให้เเต่ละคนกลับมายอมรับตัวเองมากขึ้น เพราะวิถีชีวิต บริบท เเละประสบการณ์ที่ผ่านมาล้วนต่างกัน การจะเฉลยคำตอบเดียวว่าคุณควรทำนู่นนี่นั่น คงดูใจร้ายไปหน่อย เพราะใจคนเรามันกว้างไร้ขอบ
คงดีไม่น้อย ถ้าเราเริ่มพูดเรื่องการยอมรับตัวเอง หรือ การรักตัวเอง ให้กับเด็กๆ เพื่อหวังให้เขาได้ฝึกรับมือกับเรื่องต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
ไม่ว่าเราในฐานะครู คุณพ่อ คุณเเม่ ที่มีความรักให้มากมายเเละมีความตั้งใจอยากดูเเลเขามากเเค่ไหน สุดท้ายเด็กๆ คงต้องเดินทางต่อด้วยตนเองเหมือนที่คาลิล ยิบราน กล่าวไว้ว่า “เราเป็นเพียงคันธนูยากเหลือเกินที่จะรับรู้เเละบังคับลูกธนูให้ไปในทิศทางที่เราต้องการ”
I LIKE ME ! by Nancy Carlson เป็นหนังสือนิทานที่ถ่ายทอดเรื่องราวการใช้ชีวิตของหมูตัวหนึ่งที่แสนเรียบง่าย เจ้าหมูมีความสุขกับเรื่องง่ายๆ เช่น ฉันชอบวาดรูป ฉันแปรงฟัน ฉันอาบน้ำ ฉันกินอาหารดีๆ ฉันชอบหางคดๆ พุงนุ่มๆ และเท้าเล็กๆ ของฉัน
สิ่งเหล่านี้คือจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในการนับถือตนเองเเละการยอมรับตัวเองที่ช่วยให้เด็กๆ เข้าใจเป็นรูปธรรมผ่านเรื่องใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน
เมื่อเขาเข้าใจเรื่องเหล่านี้ ความมั่นคงในใจของเด็กก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็นวัคซีนให้ใจเเข็งเเรง เหมือนประโยคหนึ่งในนิทานที่ว่า I have a best friend That best friend is ME
แน่นอนว่าบางวันเจ้าหมูก็มีวันแย่ๆ แต่มันให้กำลังใจตัวเองเป็น โดยในนิทานมีการยกตัวอย่างเรื่องความผิดพลาดผ่านการทำเค้ก เจ้าหมูทดลองทำซ้ำ แก้ไขในสิ่งที่พลาดจนสำเร็จ self esteem ที่มีคุณภาพจึงไม่ใช่การชวนให้เด็กอยู่ในโลกที่คิดบวกและมีความสุขตลอดเวลา แต่เป็นการชวนให้เด็กยอมรับตัวเองทั้งในวันที่ดีและวันที่แย่
โดยปกติหลังจากอ่านเล่มนี้จบ ครูไนซ์จะมีการพูดคุยกับเด็กๆ ว่าหนูชอบอะไรในตัวพี่หมู ให้เขาได้เล่าจนรู้สึกผ่อนคลาย หลังจากนั้นจะเชื่อมคำถามกลับมาในชีวิตจริง อาจเริ่มจากการถามที่ตัวครู เเล้วค่อยส่งต่อคำถามไปถึงตัวเด็กว่า “เเล้วเด็กๆ ล่ะ ชอบตัวเองตรงไหน” เริ่มจากชอบร่างกายส่วนไหน ชอบทำอะไร เน้นอะไรที่จับต้องได้เพื่อให้เด็กๆ ค่อยๆ กลับมาสังเกตตัวเองได้ หลังจากนั้นครูจะช่วยขยับมาเติมคุณลักษณะที่ละเอียดขึ้น เช่น น้อง a เป็นเด็กกล้าหาญยอมชิมผักที่ตัวเองไม่ชอบ น้อง b ใจดีช่วยดูแลน้องที่ร้องไห้ เป็นต้น ถ้าเด็กโต 7 ขวบขึ้นไป ครูไนซ์จะต่อยอดด้วยการถามด้านที่ไม่ชอบเพื่อพูดคุยต่อ จะได้ทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กับการคลายใจเด็ก
*** คำถามเเละกิจกรรมขึ้นกับวัย โปรดพิจารณาตามความเหมาะสม อย่ารีบถามหรือยัดเยียดสิ่งที่เราอยากให้ หากเขายังไม่ต้องการหรือเปิดรับ ใจเย็นๆ นะคะ เพราะผู้ใหญ่หลายๆ คนยังคงอึกอักกับการตอบคำถามข้างต้น ก่อนอื่นลองตอบคำถามในช่วงต้นกับตัวเองก่อนว่าเรามีความเข้าใจเรื่องการยอมรับเเละรักตัวเองชัดเจนเเล้วหรือยัง กล้าที่จะตอบคำถามกับตัวเองด้วยความมั่นใจเเล้วหรือยัง คำตอบไม่เน้นสวยงาม ขอเเค่ความจริงใจกับตัวเอง ค่อยๆ ลองถามตัวเองบ่อยๆ เพราะจริงๆ ทุกคนล้วนมีคำตอบให้คำถามเหล่านั้นอยู่เเล้ว เพียงเเค่ไม่มั่นใจ เหตุผลที่ย้ำประเด็นนี้ซ้ำ เพราะหากเราไม่เข้าใจเรื่องนี้มากพอ สุดท้ายเราจะโยนความคาดหวังเรื่องการรักตัวเองที่เรายังทำไม่ได้ไปให้เด็กๆ ช่วยรับผิดชอบต่อจนหนักเกินความจำเป็น
นิทานเรื่องนี้พูดประเด็นการรักตัวเอง ซึ่งเป็นประเด็นที่ร่วมสมัยมาก แต่เมื่อมาดูปีพิมพ์ครั้งแรกกลับพบว่านิทานตีพิมพ์เมื่อปี 1988 ปัจจุบัน Nancy Carlson มีผลงานนิทานและหนังสือเกี่ยวกับเด็ก มากกว่า 60 เล่ม เธอสนุกกับการแต่งนิทานและวาดนิทานด้วยสีไม้ โดยนิทานของเธอมักให้ความสำคัญกับประเด็นความมั่นใจในตนเอง การยอมรับตนเอง เพราะเธออยากเป็นกำลังใจให้นักอ่านวัยเยาว์จัดการปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตได้ด้วยตนเองอย่างมีความสุข
นิทานเรื่อง I LIKE ME ! ถือเป็นหนังสือที่ขายดีที่สุดและสร้างชื่อเสียงให้เธอ มีผู้อ่านหลายวัยต่างหลงรักนิทานเล่มนี้ รวมไปถึงนักจิตบำบัดมากมายที่ใช้นิทานเล่มนี้เป็นเครื่องมือสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ใช้บริการ ชวนให้กลับมารักตัวเองผ่านเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนทำได้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้เธอยังคงผลิตหนังสือออกมาต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น It’s Not My Fault! , Smile a Lot! , Take Time to Relax! และ Life Is Fun เป็นต้น แค่เห็นชื่อหนังสือก็อยากจะหยิบขึ้นมาอ่านแล้ว
ปีนี้เราชวนให้คุณลองออกเดตกับตัวเอง มีพื้นที่ให้ตัวเองได้เป็นอิสระจากความคาดหวังของคนอื่นสักพัก กลับมาทบทวนตนเองอย่างเต็มที่ว่าเรามีความสุขกับการเป็นตัวเองและรักตัวเองมากพอหรือยัง 😊