แม้ไม่ใช่ ‘โหน่ง ชะชะช่า’ หรือ ‘แจ๊ส ชวนชื่น’ แต่เชื่อว่าหลายคนเคยตกเป็น ‘ตัวโดน’ ไม่ใช่ในแง่ของการเจ็บตัว แต่เป็นการ ‘ถูกพูดถึง’ แบบผิดๆ หรือถูกนินทาจากคนรอบข้าง ในสิ่งที่ไม่ใช่หรือไม่ได้เป็นสำหรับเรา
หากเรื่องราวของ ‘ข่าวลือ’ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นแล้วหายไปเป็นครั้งคราวก็อาจไม่ต้องซีเรียสขนาดนั้น แต่หลายครั้งที่เสียงลือเสียงเล่าอ้างผิดๆ เหล่านั้นถูกขยายต่อใหญ่โต และสร้างความเจ็บปวดหรือเสียใจให้กับตัวโดน มันเลยกลายเป็นปัญหา
ความจริงแล้ว นี่เป็นสิ่งละเอียดอ่อนที่สามารถสร้างผลกระทบใหญ่หลวงได้ ลองนึกเหตุการณ์เช่นว่า เราอาจไม่ได้นั่งอยู่ในกลุ่มสนทนาของเพื่อนแค่ครั้งเดียว แต่เมื่อมีชื่อของเราถูกพูดถึงขึ้นมา มีโอกาสที่เรื่องของเราจะถูก ‘พูดต่อ’ ในทางไหนก็ไม่อาจคาดเดาได้ เผลอๆ อาจกลายเป็นการนินทาด้วยซ้ำ
แล้วทำไมคนถึงนินทา? ในฐานะสัตว์สังคม ‘การเชื่อมต่อ’ คือสิ่งจำเป็น และการนินทานั้นก็ทำให้เรารู้สึกถึงความเชื่อมโยงเหล่านั้นได้เช่นกัน ไม่ว่าการสนทนาหรือการพูดถึงจะเป็นในแง่บวกหรือลบก็ตาม ยอมรับเถิดว่า ในบางครั้งเราก็อยากร่วมวงนินทาถึงคนอื่นเหมือนกัน
ในเมื่อเราอยู่ในสังคมที่ ‘รู้หน้าไม่รู้ใจ’ ที่พร้อมจะพูดถึงหรือนินทาอีกคนโดยไม่สนใจข้อเท็จจริง หรือไม่ได้รู้จักกันจริงๆ และหลายครั้งเราไม่สามารถไปพูดกับคนที่นินทาเราได้โดยตรง (แต่หากมีความกล้าพอก็ดีเลย) จะทำยังไงดีเพื่อรักษาความรู้สึกของตัวเองไว้
หาเพื่อนที่ไว้ใจเคียงข้าง
เลือก ‘เพื่อน’ สักคนที่เรารู้จักและไว้วางใจ และพูดคุยกับพวกเขาถึง ‘ข่าวลือ’ ที่เกิดขึ้น หากไม่เป็นความจริง พวกเขาจะพร้อมปกป้องหรือโต้กลับกับข่าวลือเหล่านั้นให้ หรือหากข่าวลือเป็นความจริง พวกเขายังสามารถช่วยหยุดการกระจายข่าวลือเหล่านั้นและยืนหยัดอยู่กับเราได้ นอกจากนี้ การมีเพื่อนที่ไว้ใจได้สักคน จะช่วยให้เราไม่รู้สึกหนักใจมาก หากมีคนรู้จักอื่นพูดลับหลังผิดๆ กับเรา เพราะเขาจะเป็นคนที่เข้าใจที่คอยห่วงใยและเคารพเราอยู่เสมอ

เผชิญหน้ากับต้นตอข่าวลือโดยตรง
หากรู้แน่ชัดว่า ‘ข่าวลือ’ ผิดๆ นั้นออกมาจากนาตาชาคนไหน ก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เมื่อมีโอกาส เรามีสิทธิ์ที่จะเดินเข้าไปหาต้นตอนั้นและพูดอย่างตรงไปตรงมาว่าสิ่งที่เขาพูดไม่ใช่เรื่องจริง ข้อสำคัญคือ ควรเข้าไปด้วย ‘สติ’ เพื่อหลีกเลี่ยงการมีดราม่าต่อหลังจากนั้น เพราะบางครั้งผู้ที่เริ่มข่าวลือเหล่านั้นอาจไม่ได้ตั้งใจ เช่น อาจเป็นเพื่อนใกล้ตัวที่ปล่อยให้ความลับบางอย่างหลุดไปโดยไม่ได้ตั้งใจ ในกรณีเช่นนี้ เราสามารถแสดงความผิดหวังได้ แต่เป็นไปได้ก็พยายามหลีกเลี่ยงการกระทำที่ดูเป็นการอาฆาตพยาบาทจะดีกว่า

ปล่อยให้ไหลไป
แม้การเผชิญหน้ากับต้นตอของข่าวลือนั้นสำคัญ แต่หลายครั้งการจัดการกับข่าวลือหรือคำนินทาที่ดีที่สุดก็คือการ ‘ไม่ใส่ใจ’ หรือการตอบสนองราวกับว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ได้กวนใจเรา เมื่อมีข่าวลือเกี่ยวกับเราเกิดขึ้น หากเรา ‘ไม่ให้ค่า’ กับมัน ก็มีโอกาสที่สุดท้ายแล้วเรื่องเหล่านั้นก็จะจางหายไป ที่สำคัญ คนอื่นๆ ที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงก็อาจไม่ให้ค่าเช่นเดียวกับเรา

รักษาภาพลักษณ์ของตนเองให้แข็งแรงเข้าไว้
หลายครั้งเรากังวลเกี่ยวกับข่าวลือที่เปลี่ยนความคิดของ ‘คนอื่น’ ที่มีต่อเรา แต่อย่าปล่อยให้ข่าวลือหรือการนินทาเปลี่ยน ‘วิธีคิด’ ที่เรามีต่อตนเอง จำไว้ว่า การที่มีใครบางคนพูดอะไรบางอย่างเกี่ยวกับเรา ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นเรื่องจริง และหากมีใครสักคนเลือกที่จะนินทาเราโดยไร้ข้อเท็จจริง นั่นก็แสดงชัดเจนอยู่แล้วว่าพวกเขาน่ารังเกียจพอที่จะ ‘โกหก’ อย่างแน่นอน ที่สำคัญ อย่าลืมเพิ่มความนับถือตนเองด้วยการคิดถึง ‘จุดแข็ง’ ที่ทำให้เรารู้สึกมั่นใจเข้าไว้

ยึดกิจวัตรของตนเองไว้ให้มั่น
บางครั้งเมื่อมีข่าวลือผิดๆ เกี่ยวกับเรา การใช้ชีวิตในแต่ละวันตามปกติอาจกลายเป็นเรื่องยาก พยายาม ‘ยึด’ กิจวัตรต่างๆ ที่เราทำเป็นปกติไว้ให้มั่น เพื่อไม่ให้ตนเองรู้สึกโดดเดี่ยว และการที่เรายังสามารถดำเนินชีวิต (อย่างน้อยก็กิจวัตรประจำวัน) อย่างปกติ ในแง่หนึ่งก็เป็นการแสดงให้คนอื่นเห็นว่า เราใส่ใจข่าวลือเหล่านั้นน้อยมาก และมันไม่ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตปกติของเราเลยแม้แต่น้อย

แม้การนินทาอาจเป็นเรื่องธรรมชาติของสัตว์สังคมอย่างมนุษย์ แต่แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากตกเป็น ‘ตัวโดน’ ในเรื่องนี้ สิ่งสำคัญที่สุดเมื่อวันที่ข่าวลือผิดๆ มาถึงตัวเรา คือ รักษาจิตใจไว้ให้มั่น มองหาใครสักคนที่ไว้ใจได้เพื่อพูดคุยบ้าง และกล้าที่จะเลือกหาทางแก้ไขระหว่าง ‘เผชิญ’ หรือ ‘ปล่อย’ โดยพิจารณาให้รอบคอบ และไม่ลืมที่จะนึกถึงจุดดีของตนเอง
เมื่อเราแข็งแกร่งพอที่จะไม่หวั่นไหวไปกับข่าวลือผิดๆ เกี่ยวกับตนเอง คนที่ปล่อยข่าวลือนั่นแหละ จะถูกตีกลับให้กลายเป็น ‘ตัวโดน’ แทนเอง