ไขความสำคัญของห้องสมุดที่มีอะไรมากกว่าแค่ที่ยืมตำรามาเขียนรายงาน

Highlights

  • บ้านเมืองเราไม่ค่อยพูดถึงความสำคัญของห้องสมุดสักเท่าไร เราอาจให้ความสำคัญกับร้านหนังสือสวยๆ หรือการมีห้องสมุดเปิดใหม่ แต่ไม่เคยลงรายละเอียดว่าห้องสมุดที่ดีควรเป็นอย่างไร
  • ห้องสมุดไม่ได้เป็นเพียงแหล่งรวบรวมข้อมูลอ้างอิงหรือที่นั่งทำงานทางวิชาการเท่านั้น แต่ยังรองรับวิถีชีวิตของชุมชนที่ต้องการทางเลือกมากกว่าเข้าห้างสรรพสินค้าหรือนั่งอยู่หน้าจอทีวี
  • ที่สำคัญคือไม่ใช่นักอ่านทุกคนจะมีกำลังในการซื้อหนังสือใหม่จากร้านหนังสือ และนี่เองคือหน้าที่ของห้องสมุดที่จะช่วยสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เข้มแข็ง เพราะสิทธิ์ที่จะได้อ่านในสิ่งที่ต้องการเป็นสิทธิ์ของทุกคน

ถ้าการอ่านคือรากแก้วของวัฒนธรรมหนังสือ ร้านหนังสือก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่พยุงวัฒนธรรมนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไปไม่น้อยกว่ากันคือห้องสมุด

ในระยะเวลาหลายปี หรืออาจจะตลอดมาตั้งแต่เริ่มมี disruption วัฒนธรรมการอ่าน การอ่านหนังสือโดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวแปร เราพูดถึงการอ่านที่น้อยลง จำนวนร้านหนังสือที่น้อยลง แต่เราไม่เคยพูดถึงความสำคัญและความเป็นไปของห้องสมุดในปัจจุบัน ทั้งยังไม่เคยถามถึงหน้าที่ที่แท้จริงของห้องสมุดเลย

ในความเป็นจริง ห้องสมุดเป็นจุดเชื่อมระหว่างคนในชุมชนกับองค์ความรู้ต่างๆ ในรูปแบบที่เข้าถึงง่าย นอกจากนี้ยังเป็นสะพานเชื่อมธุรกิจอย่างร้านหนังสือให้มีความแข็งแรงยิ่งขึ้น ดังนั้นเมื่อมองย้อนกลับไปเราจะเห็นว่าห้องสมุดคือจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมการอ่านและร้านหนังสืออย่างแท้จริง

ที่ผ่านมาเรามักสร้างห้องสมุดโดยไม่มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนว่าสร้างขึ้นเพื่ออะไร เราอาจให้ความสำคัญกับร้านหนังสือสวยงามหรือห้องสมุดที่สร้างใหม่ แต่เราไม่มีการประเมินผลเรื่องคุณภาพ เราอาจจะมีรางวัลให้ร้านหนังสือที่สวยที่สุด แต่เราไม่มีรางวัลให้ห้องสมุดที่ดีที่สุด

ขณะที่เรามีวิชาบรรณารักษ์ เราก็ยังตอบไม่ได้ว่าคุณภาพของบรรณารักษ์ที่เรียนจบออกมามีมาตรฐานหรือสามารถเป็นผู้ชี้นำคุณภาพห้องสมุดได้หรือไม่ บรรณารักษ์จะทำอะไรได้มากกว่าที่เคยเป็นหรือไม่

ถ้าพูดถึงมาตรฐานการเข้าใช้ห้องสมุดโดยทั่วไป เรามักนึกถึงการวัดจำนวนผู้เข้าใช้ห้องสมุด แต่ประเด็นจำนวนการยืมหนังสือจากห้องสมุดไม่เคยได้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพของห้องสมุดนั้น บางคนก็มีคำถามว่าเราจะอนุญาตให้คนยืมหนังสือออกจากห้องสมุดได้มากแค่ไหน แต่ห้องสมุดกับการยืมหนังสือคือของคู่กัน

ในฐานะวัฒนธรรมหนึ่งของสังคม ห้องสมุดจำเป็นต้องมีองค์ประกอบมากกว่าการเป็นห้องเก็บหนังสือที่เปิด-ปิดตามเวลาราชการและไม่อนุญาตให้ยืมหนังสือ

ห้องสมุดประจำเมืองลิเวอร์พูลเพิ่งกลับมาเปิดอีกครั้งในปี 2013 หลังปิดปรับปรุง แถมยังเพิ่งได้รางวัลห้องสมุดดีเด่นไปครองด้วย เหตุผลที่ห้องสมุดแห่งนี้กลับมาเปิดใหม่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปีหนึ่งๆ ห้องสมุดแห่งนี้มีคนเข้าเยี่ยมชมสูงถึง 750,000 คน หรือโดยเฉลี่ย 3,000 คนต่อวันทีเดียว

ความน่าสนใจคือสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงหลังการกลับมาครั้งใหม่ของห้องสมุดนี้คือเวลาเปิด-ปิดที่มีความยืดหยุ่น ให้บริการ 7 วันต่อสัปดาห์แบบไม่มีวันหยุด และนั่นหมายความว่า ห้องสมุดแห่งนี้ไม่ได้อยากเป็นเพียงแหล่งรวบรวมข้อมูลอ้างอิงหรือที่นั่งทำงานทางวิชาการเท่านั้น แต่ยังรองรับวิถีชีวิตของชุมชนที่ต้องการทางเลือกมากกว่าเข้าห้างสรรพสินค้าหรือนั่งอยู่หน้าจอทีวีเล่นอุปกรณ์ไอที

ฉะนั้น การที่ห้องสมุดประจำเมืองลิเวอร์พูลกลับมาเปิดบริการตลอด 7 วันก็คือคำตอบว่าผู้ที่ต้องการทางเลือกย่อมได้สิทธิ์ที่เขาต้องการ

เรื่องที่สองที่น่าคิดคือสัดส่วนการอ่าน การยืมหนังสือจะเพิ่มขึ้นไม่ได้เลย ถ้าเราต้องการแค่จำนวนผู้ใช้มากขึ้นแต่สต็อกหนังสือใหม่ๆ ไม่ได้มีการจัดซื้อจัดหาเข้ามาอย่างเพียงพอ ห้องสมุดไม่ใช่สถานที่ที่มีแต่ผู้อ่านขาจรหรือคนนอกชุมชนเข้ามาใช้บริการ ส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นบุคคลในชุมชนรอบๆ เข้ามาใช้ซ้ำ

ฉะนั้นถ้าไม่มีหนังสือใหม่ จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้เข้าใช้ห้องสมุดจะลดน้อยลงหรือคนไม่อยากหยิบหนังสือออกมาอ่าน นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญว่าทำไมห้องสมุดจำเป็นต้องมีหนังสือใหม่ตลอดเวลา

ไม่ใช่นักอ่านทุกคนจะมีกำลังในการซื้อหนังสือใหม่จากร้านหนังสือ พวกเขามีห้องสมุดเป็นทางเลือกที่จะมาอ่านหนังสือเหล่านั้น

และนี่เองคือหน้าที่ของห้องสมุดที่จะช่วยสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เข้มแข็ง เพราะการอ่านเป็นสิทธิ์ของทุกคน สิทธิ์ที่จะได้อ่านในสิ่งที่ต้องการ

หนึ่งในสิ่งที่ห้องสมุดประจำเมืองลิเวอร์พูลให้ความสำคัญคือการหมุนเวียนหนังสือผ่านช่องทางหลากหลาย เช่น ทำงานร่วมกับร้านหนังสือในท้องถิ่น การรับข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ การแนะนำจากสมาชิกหรือกลุ่มบุ๊กคลับผ่านมิติการจัดกิจกรรม

ที่นี่ไม่ได้คัดเลือกหนังสือโดยบรรณารักษ์คนเดียวที่ดูแลทุกส่วน แต่แบ่งหมวดหมู่คัดเลือกคล้ายคลึงกับหมวดหมู่ร้านหนังสือ ตัวอย่างเช่น หนังสือเด็กจะมีบรรณารักษ์ที่เชี่ยวชาญหนังสือเด็กเป็นผู้คัดเลือก ส่วนของหนังสือนวนิยายก็มีบรรณารักษ์ผู้เชี่ยวชาญหนังสือนวนิยายเป็นผู้คัดเลือก

การสั่งซื้อหนังสือเหล่านี้ไม่ได้มองเพียงแค่เป็นหนังสือใหม่ที่ออกมา แต่มองถึงการสร้าง complete list ของหนังสือนั้นๆ (การสร้างหมวดหนังสือให้สมบูรณ์) หรือไม่ก็แบ่งตามผู้แต่ง ห้องสมุดจำเป็นจะต้องมีหนังสือของผู้เขียนคนนั้นที่แต่งหนังสือหลายเล่มให้ครบ ทำให้สามารถย้อนไปอ่านงานก่อนหน้าได้ นี่คือการสร้างที่พิเศษและดูเหมือนจะมีเพียงห้องสมุดเท่านั้นที่ทำได้ ผู้อ่านอาจไม่พบสิ่งนี้ตามร้านหนังสือ

ห้องสมุดแบบที่เราคุ้นเคยอาจเป็นการเปิดประตูและพบบรรณารักษ์นั่งอยู่ที่เคาน์เตอร์ รอตรวจสอบหนังสือก่อนการยืม ทำงานคัดเลือกหนังสือไปพร้อมๆ กัน หรืออาจรับผิดชอบตอบคำตอบว่าหนังสือเล่มนี้อยู่ที่ไหน ดีหรือไม่ แต่ห้องสมุดที่ดี บรรณารักษ์จะมีหน้าที่มากกว่านั้น

บรรณารักษ์จะทำหน้าที่ curate หรือคัดสรรหนังสือให้ผู้อ่านที่มีความสนใจต่างกัน เพราะผู้อ่านบางคนที่ยังไม่ทราบว่าตัวเองต้องการอะไรก็ต้องการคำแนะนำในการเลือกหนังสือที่ดีให้ตัวเอง หรือหนังสือเล่มเริ่มต้นสำหรับลูกหลานหรือสมาชิกในครอบครัวควรเป็นเล่มไหน นั่นก็คือหน้าที่ของบรรณารักษ์เช่นกัน ฉะนั้น Qualified Librarian หรือบรรณารักษ์ที่มีคุณสมบัติมากเพียงพอในการทำงานในห้องสมุดจึงจำเป็นอย่างยิ่งในการเป็นผู้นำห้องสมุดที่มีคุณภาพในปัจจุบัน

เราจะเห็นว่าสิ่งที่นอกเหนือไปจากการมีหนังสือให้คนยืมคือกิจกรรมเสริมต่างๆ เช่น ชั่วโมงการอบรม เวิร์กช็อป การมีบุ๊กคลับ สิ่งเหล่านี้ทำให้ห้องสมุดมีชีวิตและทำให้ห้องสมุดเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอย่างแท้จริง ที่นี่จะกลายเป็นแหล่งรวบรวมคนในชุมชนที่มีความสนใจเดียวกันมาร่วมกิจกรรมนันทนาการ กิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ นี่คือภาพห้องสมุดคุณภาพที่เรายังไม่ค่อยเห็นในห้องสมุดรอบตัวที่คุ้นเคยกันเท่าไร

ถ้ามองการทำงานของห้องสมุดดีๆ เราจะพบว่า ห้องสมุดที่มีคุณภาพมีลักษณะงานที่คล้ายคลึงกับการทำร้านหนังสืออย่างมาก หมายถึงมีการแบ่งหมวดหมู่ตามลักษณะของผู้อ่านหรือลูกค้าในชุมชนนั้นๆ ขณะเดียวกันก็ต้องจัดหมวดหมู่เพื่อให้ความรู้แก่ผู้เข้ามาเลือกซื้อหนังสือในร้านด้วยเช่นกัน

จะเห็นได้ว่าสินทรัพย์หรือสิ่งที่สำคัญที่สุดและมีค่าที่สุดของร้านหนังสือก็คือคนขายหนังสือที่มีความรู้หรือบรรณารักษ์ที่มีความรู้ในการแนะนำหนังสือที่ดี หนังสือที่ตรงกับความต้องการของผู้อ่านหรือผู้ซื้อ งานของทั้งสองเปรียบดัง curator ทางการอ่านที่มีความสำคัญ

จากคำบอกเล่าของ supply chain ธุรกิจการอ่านหรือธุรกิจสิ่งพิมพ์ไม่ได้มีอยู่แค่ในสำนักพิมพ์ ร้านหนังสือ ผู้แต่ง และคนอ่าน รากฐานสำคัญหนึ่งของมันคือห้องสมุดที่ทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน สิทธิ์ที่จะได้เข้าถึงองค์ความรู้เดียวกันโดยปราศจากปัจจัยวัดทางด้านเศรษฐกิจ

ตอนนี้อาจถึงเวลาแล้วที่เราต้องหยิบยกปัญหามาคุยกันว่า ทำอย่างไรจึงจะสร้างการอ่านให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยที่หยั่งรากลึกลงอย่างมีคุณภาพ ผ่านองค์กรที่ทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกันอย่างห้องสมุด

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ฟาน.ปีติ

ปีติชา คงฤทธิ์ นักออกแบบภาพประกอบประจำนิตยสาร a day งานอดิเรกคือการทำอาหารคลีน, วิ่ง และต่อกันพลา