‘รักษาตารางงานและยอมรับสถานการณ์’ วิธีทำงานและจัดการกับความเครียดของชาวโปรดักชั่น

‘รักษาตารางงานและยอมรับสถานการณ์’ วิธีทำงานและจัดการกับความเครียดของชาวโปรดักชั่น

อย่างที่รู้กันว่าโควิด-19 ส่งผลกระทบและเร่งให้เราต้องหาวิธีการทำงานรูปแบบใหม่ๆ ให้สอดรับกับสถานการณ์กันแทบทุกอาชีพ อาชีพหนึ่งที่ได้รับผลกระทบไม่แพ้ใครเพราะงานที่มีต่างถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด คือชาวโปรดักชั่น

ในช่วงที่ไม่สามารถออกกองหรือทำงานได้ตามปกติ หลายๆ คนจึงต้องเปลี่ยนวิธีการทำงาน หันมาถ่ายทำกันบนโลกออนไลน์ กำกับและตัดต่อกันผ่านหน้าจอ เราขอพาไปบุกเบื้องหลังกองถ่าย ตามไปดูว่าพวกเขามีวิธีการปรับตัว รวมถึงจัดการกับความเครียดในช่วงนี้ยังไง

 

 

ลี ชาตะเมธีกุล

Film Editor, White Light Studio

“White Light Post เริ่มทำงานที่บ้านกันตั้งแต่ประมาณ 2 เดือนก่อน เราเปลี่ยนมาใช้วิดีโอคอลในการประชุมประจำสัปดาห์และจบงานส่วนใหญ่ทางออนไลน์ ขณะเดียวกันเราก็มีแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยการให้ทีมเซตอุปกรณ์การทำงานไว้ที่บ้าน เพื่อให้ทำงานได้หากปิดเมืองอย่างเต็มรูปแบบ เราเองในฐานะที่เป็นผู้บริหารก็ต้องติดตามสถานการณ์โรคระบาดและปรับแผนงานกันทุกสัปดาห์ สิ่งสำคัญคือการสื่อสารกับทีมให้มีประสิทธิภาพ จะเตรียมตัวและรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ยังไงบ้าง นอกจากนี้ก็ต้องประเมินการเงินของบริษัท ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และวางแผนสำหรับอนาคตตรงนี้ด้วย

“แต่ส่วนตัวแล้วการเปลี่ยนมาทำงานที่บ้านอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับเราขนาดนั้น เพราะทำงานตัดต่อเลยค่อนข้างชินกับการทำงานคนเดียว การทำงานทางไกลกับลูกค้าถึงจะเป็นอะไรที่ท้าทายมาก แต่เราก็ทำได้ผ่านวิดีโอคอลและ screen sharing สิ่งสำคัญที่พยายามนำมาปรับใช้ช่วงนี้จึงเป็นเรื่องการรักษาตารางเวลาทำงานเดิมของเราไว้ ยอมรับว่าสถานการณ์นี้น่าจะอยู่กับเราไปอีกสักพักและอาจจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงมากกว่า”

 

แฮม–ณัฐดนัย นาคสุวรรณ

Freelance Cinematographer

“สิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้คือพยายามพัฒนางานของเรา ช่วงนี้พอมีงานน้อยลงก็ทำให้มีเวลาเสพงานต่างๆ มากขึ้น ซื้อทีวีมาทำโซนดูหนังที่บ้าน ได้ดูแลสุขภาพและออกกำลังกายมากขึ้นตามไปด้วย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทำงานหนักจนไม่มีเวลาโฟกัสกับสิ่งนี้เลย

“แต่ก็ยอมรับว่าช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีผลกระทบกับเราและคนในอุตสาหกรรมกองถ่ายเยอะมาก กองถ่ายขนาดกลางถึงใหญ่ไม่สามารถถ่ายทำได้ ฟรีแลนซ์ขาดรายได้ หลายโปรดักชั่นเฮาส์ที่เรารู้จักต้องเลย์ออฟคนออกไปทั้งๆ ที่ไม่อยากทำ เข้าสู่ยุคที่บริษัทต้องพยายาม lean ที่สุดเพื่อให้อยู่รอดกับภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ 

“การทำงานที่บ้านจึงมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือเราสามารถประหยัดสิ่งที่ต่อให้มีเงินเท่าไหร่ก็ซื้อไม่ได้ นั่นคือเวลา การเปลี่ยนมาประชุมออนไลน์ทำให้เราลดเวลาไปได้ 1-3 ชั่วโมงต่อการประชุมหนึ่งครั้ง และประหยัดค่าเดินทางไปได้มาก รู้สึกว่าเดี๋ยวนี้คนในแวดวงก็หันมาใส่ใจกับสุขอนามัยเพิ่มขึ้นด้วย เพราะเอาจริงๆ กองถ่ายเหมือนสนามมวยเลยนะ รุมๆ กันในสถานที่เล็กๆ ไฟร้อนๆ อากาศไม่ค่อยถ่ายเท หลังจากนี้เราว่านอกจากจะทำให้ทุกคนหันมาคิดถึงตรงนี้มากขึ้น อาจจะสนับสนุนให้มีมาตรการกำหนดเวลาในการถ่ายทำให้เป็นระบบมากขึ้น เพื่อให้คุณภาพชีวิตของคนในกองถ่ายดีขึ้นและทำงานในกองถ่ายไปได้อย่างยั่งยืนด้วย ข้อเสียคือบางงานจำเป็นต้องสื่อสารกันแบบเห็นหน้า เห็นแววตา เห็นอารมณ์ประกอบ เลยเป็นเรื่องยากมากในการทำงานตอนนี้ แต่ก็พยายามแก้ด้วยการหา visual reference เพื่อให้เข้าใจตรงกันมากขึ้น” 

 

แป้ง–นิจษา สุวรรณพฤษชาติ 

Founder & Producer, เพื่อน โปรดักชั่น

“ปกติเราทำงานที่บ้านและเป็นคนตั้งใจทำงานอยู่แล้ว เลยไม่ได้มีปัญหาอะไรกับการทำงานลักษณะนี้ คิดว่าการทำงานให้มีประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับความใส่ใจและความตั้งใจของคนนั้นๆ มากกว่า จริงๆ อยู่ที่ไหนก็ทำงานให้มีประสิทธิภาพได้ อย่างเราชอบทำงานในที่เงียบๆ เย็นๆ เปิดเพลงเบาๆ ขณะทำงาน

“ในช่วงโควิด-19 รูปแบบการทำงานก็มีปรับเปลี่ยนไปบ้าง จากที่เคยประชุมหรือพรีเซนต์งานแบบต่อหน้าเป็นส่วนใหญ่ ตอนนี้ก็เปลี่ยนมาทำงานผ่านหน้าจอคอมฯ ใช้โปรแกรม Zoom, Microsoft Teams ในการวิดีโอคอลคุยกัน การประชุมงานที่มีดีเทลค่อนข้างเยอะจึงอาจทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง กับการสื่อสารเราว่ายังไงการได้เจอกัน เห็นสีหน้าท่าทาง มันก็ดีกว่าอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหากับการทำงานขนาดนั้น 

“การถ่ายงานแบบกองใหญ่ๆ 70-100 คน อย่างที่ผ่านมา ตอนนี้ก็บอกเลยว่าหมดสิทธิ์ ทุกงานถูกเลื่อนออกไป มีเฉพาะบางงานเท่านั้นที่พอทำได้ แต่ก็ต้องปรับเป็นรูปแบบการถ่ายเก็บฟุตเทจ ถ่ายเรียลที่ไม่ได้มีการเซตการแสดงใดๆ ทั้งสิ้น เดินออกไปถ่ายตามท้องถนน ตามที่ต่างๆ โดยใช้ทีมงานแค่ 5 คนเท่านั้น หรือนำ stock footage มาตัดงาน ช่วงนี้เลยต้องพยายามคิดงานออกมาให้เอื้อต่อการทำงานจริงและเข้ากับสถานการณ์มากขึ้น”

 

เฟ่ย–พิสิณี ขาวสมัย 

Freelance Director และรับจ้างรันวงการที่ RAP IS NOW 

“รูปแบบการทำงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ปกติในการทำงานทุกขั้นตอนเราต้องพบเจอผู้คนตลอด ตอนที่โควิด-19 เริ่มระบาดแล้วยังต้องออกกองอยู่ สภาพจิตใจเราย่ำแย่มาก กังวล ไม่มีสติเลย เป็นห่วงสุขภาพตัวเองและคนรอบข้าง งานอื่นๆ ที่รับมาช่วงนั้นจึงต้องยกเลิกไปก่อน

“แต่หลังจากออกกองนั้นไป งานก็ยังไม่จบเพราะต้องเข้าสู่ช่วง post-production ตอนนั้นเราเลยใช้วิธีซิตอินกับคนตัดต่อผ่านสไกป์ ฮามาก จริงๆ ลืมพาสเวิร์ดไปแล้ว แต่ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าแอพฯ อะไรจะตอบโจทย์นี้ได้ คิดว่าสไกป์นี่แหละเร็วที่สุดแล้ว แต่สำหรับเรายังไงวิธีการนี้มันก็ยังไม่ชิน เพราะการมาเจอกัน คุยกัน งานจบไวกว่าเยอะ การทำงานแบบนี้มันกระตุกมาก ไม่ได้เป็นที่แอพฯ นะ แต่บางทีการตัดต่อขึ้นอยู่กับจังหวะ ต้องดูเป็นวินาที เป็นเฟรม บางทีต้องให้เป็นจังหวะนี้เป๊ะๆ แต่ไม่รู้ว่าเป๊ะหรือยังก็ต้องให้ทีมตัดต่อเรนเดอร์มาก่อน แล้วเราคอยบอกเป็นวินาทีไปว่าให้ตัดตรงไหนออกแค่ไหน กว่าจะจบงานก็ใช้เวลาเป็นอาทิตย์ และหลังจากนั้นก็ไม่มีงานยาวๆ ไปเกือบ 2 เดือน (หัวเราะ)

“ตอนนี้เริ่มช่วง pre-production งานใหม่ เราเองจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อม เตรียมสติให้มั่น เพราะการทำงานผ่านจอต้องใช้สมาธิมากกว่าเดิมมาก เราใช้วิธีจัดระเบียบห้องให้เหมาะสมกับการทำงานมากกว่าเดิม เพราะช่วงแรกๆ เวลาทำงานเรารวนมาก ปรับตัวยาก เพราะนอนเยอะกว่าปกติ จากเดิมต้องอาบน้ำ แต่งตัว แต่งหน้า และเดินทาง รวมๆ กันหลายชั่วโมง ตอนนี้ขั้นตอนต่างๆ ลดลงทำให้เรามีเวลามากขึ้น ถ้าหลงเวลาก็จะทำให้เวลาเดินเร็วขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัวเหมือนกัน”

 

แก๊ป–สิระ สิมมี 

Director, CYPH.film

“ผมว่าความสนุกของงานช่วงนี้คือการที่ทุกคนมีเมสเซจที่อยากพูด แต่ต้องปรับรูปแบบการทำงานให้เข้ากับสถานการณ์ เราเลยได้เห็นงานของหลายๆ คนที่พยายามเล่าทุกอย่างผ่านวิธีการที่จะถ่ายจากบ้านได้ เช่น วิดีโอคอล, แชต, เพลง ซึ่งผมว่ามันสนุกดีที่ได้เห็นทุกคนต้องทำงานภายใต้โจทย์และข้อจำกัดแบบนี้ นับเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ดีที่อยู่บ้านแต่ออกกองได้

“อย่างงานล่าสุดที่ผมทำก็เป็นการกำกับจากทางบ้านเช่นเดียวกัน ส่วนที่เหนื่อยขึ้นอย่างเห็นได้ชัดคือเราต้องคิดว่าจะเล่าเรื่องยังไงให้ได้ประสิทธิภาพแบบเดียวกับช่วงเวลาปกติ ในเมื่ออาวุธบางชิ้นที่เรามีหายไปตามข้อจำกัด เช่น อุปกรณ์ก็ใช้แบบเต็มสตรีมไม่ได้เหมือนเก่า ทีมงานที่จะช่วยเราก็ไม่ได้ติดต่อกันง่ายเหมือนการอยู่ต่อหน้า ขั้นตอนการทำงานจึงวุ่นวายขึ้นมาก หนึ่งในวิธีทำงานของเราช่วงนี้คือการลุกไปอาบน้ำและแต่งตัวเหมือนได้ออกจากบ้าน จะได้รู้สึกสดชื่นและเกิดเหตุการณ์เดินไปนอนน้อยลง รวมทั้งนั่งดูบริษัทฮาไม่จำกัดฯ หรือชิงร้อยชิงล้านให้หายเครียด พอหายเครียดเราก็จะทำงานได้ปกติเหมือนเดิม” 

 

ดิว–ชัยธวัช  ไตรสารศรี

Colorist, White Light Studio

“เคล็ดลับการทำงานของเราคือการตั้งเวลาทำงานให้เหมือนอยู่ที่ออฟฟิศ เพื่อให้ยังแอ็กทีฟและมีเวลาพักเหมือนตอนทำงานปกติ

“ก่อนหน้านี้เราจะเข้าออฟฟิศเพื่อเตรียมงานแก้สีกับทีมก่อนที่จะเจอลูกค้า พอวันที่ลูกค้าเข้ามาแก้สี ทั้งผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ ตากล้อง และเรา จะดูหนังไปพร้อมๆ กัน พูดคุยเรื่องสีของหนัง อารมณ์ความรู้สึกของซีนต่างๆ พอเกิดโควิด-19 บริษัทให้ work from home เราจึงต้องเซตอุปกรณ์การทำงานไว้ที่บ้าน เวลาประชุมหรือรับบรีฟจากลูกค้าก็จะคุยผ่านวิดีโอคอล ไม่ก็อัพโหลดไฟล์ภาพหรือวิดีโอแทน พอไม่ได้เจอหน้ากันอย่างนี้เลยค่อนข้างจะเหงาๆ หน่อย อยากเจอทีมงานและลูกค้าเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียกันซึ่งๆ หน้า เพราะเมื่อเราไม่เห็นรีแอกต์ของคนนั้นๆ ทันทีที่เราดีไซน์อะไรใหม่ๆ เข้าไปในงาน บางครั้งกว่าจะรู้ว่าลูกค้าต้องการอะไรก็ใช้เวลาเยอะพอสมควร ตอนนี้เราเลยใช้วิธีดู reference และทำ key scene ส่งให้ลูกค้าดูหลายๆ แบบ ให้เกิดความหลากหลาย ซีนเดียวกันอาจจะเป็นสี 2-3 แบบก็ได้ ทำให้เรารู้ว่าเขาชอบแบบไหนได้เร็วขึ้น หรือหากลูกค้าอยากเข้ามาดูงานพร้อมๆ กันที่ออฟฟิศก็ยังทำได้อยู่ แต่จะมีมาตรการเว้นระยะห่างกัน ทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งบางทีถ้าไม่เปิดหน้ากากก็จำกันไม่ได้ (หัวเราะ)”

AUTHOR