Harry Potter 20th Anniversary Return to Hogwarts : เวลา คือสิ่งที่มีเท่ากันทั้งในโลกเวทมนตร์และโลกแห่งความเป็นจริง

Harry Potter 20th Anniversary Return to Hogwarts : เวลา คือสิ่งที่มีเท่ากันทั้งในโลกเวทมนตร์และโลกแห่งความเป็นจริง

ขอต้อนรับสู่งานเลี้ยงคืนสู่เหย้าในวันครบรอบ 20 ปี แฮร์รี่ พอตเตอร์ คือถ้อยความในการ์ดเชิญจากโรงเรียนคาถาพ่อมดแม่มดและเวทมนตร์ศาสตร์ฮอกวอตส์  

แค่พริบตาเดียว ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ พ่อมดน้อยในโลกเวทมนตร์ก็เดินทางล่วงเข้าสู่ปีที่ 20 หากนับจนวินาทีเข้าสู่ 2 ทศวรรษนี้ถือว่าไม่ใช่เล่นๆ เลย ถ้าไม่มีเจ้าของผลงานนวนิยายแฟนตาซีก้องโลกเรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์ อย่าง  ‘เจ.เค. โรว์ลิ่ง’ หรือ ‘โจแอนน์ แคธลีน โรว์ลิ่ง’ นักเขียนนวนิยายชาวอังกฤษ ที่เป็นผู้สร้างเรื่องราวน่าค้นหาในโลกเวทมนตร์นี้ โดยเรื่องราวของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เกิดขึ้นจากความคิดชั่วแวบเดียวของเธอขณะโดยสารบนขบวนรถไฟที่มุ่งหน้าสู่กรุงลอนดอน จน 5 ปีต่อมาในปี 1995 ต้นฉบับ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ภาคแรกก็เสร็จสิ้น Harry Potter and the Sorcerer’s Stone (แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์) ได้ออกวางจำหน่ายเป็นวันแรก เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ปี 1997 

แฮร์รี่ พอตเตอร์ คือเรื่องราวการผจญภัยในโรงเรียนฮอกวอตส์ของพ่อมดน้อยแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเพื่อนรัก 2 คนคือ รอน วีสลีย์ และเฮอร์ไมโอนี เกรนเจอร์ เรื่องราวเต็มไปด้วยมิตรภาพ ความสัมพันธ์ โรแมนติกดราม่า และการต้องฝ่าฟันอุปสรรคหลุมใหญ่ โดยเฉพาะ ‘ลอร์ดโวลเดอมอร์’ พ่อมดศาสตร์มืดที่มีแฮร์รี่เป็นเป้าหมายเพื่อให้ตนมีชีวิตเป็นอมตะ 

ปัจจุบัน แฮร์รี่ พอตเตอร์ ทั้ง 7 ภาคซึ่งตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บลูมส์บิวรี่ในสหราชอาณาจักร ถูกซื้อลิขสิทธิ์นำไปแปลแล้วเกือบ 80 ภาษา แต่ในอีกแง่หนึ่ง เมื่อ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ถูกนำไปแปลหลายภาษาเกือบทั่วทุกมุมโลกแบบนี้ อิทธิพลของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ จึงส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะด้านสังคมและวัฒนธรรม เช่น ทำให้เกิด ’ศัพท์ใหม่’ ในพจนานุกรม เช่นคำว่า ‘มักเกิล’ ที่ได้รับการบัญญัติศัพท์ในพจนานุกรมภาษาอังกฤษฉบับออกซ์ฟอร์ด (Oxford English Dictionary) เมื่อปี 2022 โดยมีความหมายนัยว่า บุคคลไร้ซึ่งทักษะเฉพาะตัว แต่ในหนังสือจะหมายความอีกแบบหนึ่งว่า คนธรรมดาผู้ไร้เวทมนตร์ ส่วนอิทธิพลหลักๆ อีกด้านหนึ่งคือทำให้เกิดภาพยนตร์ภาคต่อและละครเวทีตามมา จะเห็นได้จากภาพยนตร์เรื่อง สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ รวมถึง แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเด็กต้องคำสาป (Harry Potter and the Cursed Child) ที่ถูกนำไปสร้างเป็นละครเวทีในกรุงลอนดอนเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ปี 2016 มาแล้วด้วย

อีกฟากหนึ่งในเวลาไล่เลี่ยกัน ฉันเป็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่รู้จัก แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ เพราะพ่อเป็นคนที่ซื้อหามาให้อ่าน ภาพจำแรกที่เธอเห็นคือ แฮร์รี่กำลังขี่ไม้กวาดจับลูกสนิตช์อย่างแข็งขัน ถือได้ว่าช่วงเวลานั้นเธอเก็บเกี่ยวเรื่องราวของแฮร์รี่ พอตเตอร์ได้อย่างสนุกสนาน ถึงขนาดจริงจังกับการจดจำชื่อตัวละครในหนังสือเอามากๆ ทั้งบรรดาคาถาเวทมนตร์ที่มีคุณสมบัติสั่งการได้ด้วยไม้กายสิทธิ์ หรือการจินตนาการจากตัวหนังสือเพื่อให้เกิดภาพจำก็สนุกขึ้นไปอีก แฮร์รี่ พอตเตอร์ จึงได้ใจเด็กผู้หญิงคนนั้นไปเต็มๆ 

Harry Potter 20th Anniversary : Return to Hogwarts คือรายการพิเศษที่ผลิตโดย Warner Bros. Unscripted Television ร่วมกับ Warner Horizon Warner Bros. Studio Tour London นำเสนอในรูปแบบ ‘สารคดี’ ด้วยการพูดคุยแบบเอ็กซ์คลูซีฟถึงเบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ทั้งเจ็ดภาคไปพร้อมๆ กับฟุตเทจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของภาพยนตร์ซึ่งครอบคลุมมาจากหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ ทั้งเจ็ดเล่ม หลักๆ คือการฉายภาพให้เห็นว่ารายการครบรอบ 20 ปี แฮร์รี่ พอตเตอร์ นั้นได้มอบสิ่งใดไว้แก่พวกเขาบ้าง 

รายการนี้เป็นเหมือนวันที่คุณมีนัดไปเจอกลุ่มเพื่อนซึ่งไม่ได้เจอกันมานาน แน่นอนว่าทุกครั้งของการกลับมาเจอกันมักมีอะไรซ่อนอยู่ ทั้งความคิดถึง กลิ่นของอดีต หรือความทรงจำที่เคยมี จนเมื่อถึงเวลาแยกย้ายเพื่อนของคุณอาจกอบเก็บช่วงเวลาที่ผ่านไปเมื่อสักครู่มาถนอมเอาไว้ในวงกลมเล็กๆ ที่เดินไปพร้อมกับช่วงชีวิตตัวเอง 

ถ้ามีความสามารถมากพอวงกลมแห่งช่วงเวลานั้นก็อยู่ได้นานหน่อย บางคนอาจเผลอทำวงกลมหล่นหาย แต่คงตัดสินไม่ได้อยู่ดีว่าความสามารถของการเก็บช่วงเวลาให้คงอยู่ต่อไปขึ้นอยู่กับสิ่งไหน หรือว่าความจริงแล้วอาจขึ้นอยู่กับเวลาอยู่แล้วในตัวของมันเอง ซึ่งในรายการพิเศษแสดงให้เราเห็นแบบนั้น ว่า ‘เวลา’ ล้วนมีคุณค่าสำหรับพวกเขา 

รายการมีผู้ร่วมทริปที่ควรจะมีครบ ได้แก่ แดเนียล แรดคลิฟฟ์ (แฮร์รี่ พอตเตอร์) เป็นผู้ดำเนินรายการหลัก ผู้กำกับคริส โคลัมบัส, รูเพิร์ต กรินต์ (รอน วีสลีย์), เอ็มม่า วัตสัน (เฮอร์ไมโอนี เกรนเจอร์), ทอม เฟลตัน (เดรโก มัลฟอย), เจมส์-โอลิเวอร์ เฟล์ปส (เฟร็จ-จอร์จ), เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์ (เบลลาทริกซ์ เลสแตรงจ์), แกรี โอลด์แมน (ซิเรียส แบล็ก) ทั้งนักแสดงที่มีบทบาทสำคัญต่อตัวละครแฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่เข้าร่วมในรายการพิเศษอย่าง ร็อบบี้ โคลเทรน (รูเบอัส แฮกริด), ราลฟ์ ไฟนส์ (ลอร์ดโวลเดอมอร์), บอนนี่ ไรต์ (จินนี่ วีสลีย์), อีวานนา ลินช์ (ลูน่า เลิฟกู๊ด), แมวธิว ลูอิส (เนวิลล์ ลองบัตท่อม), อัลเฟร็ด อีน็อค (ดีน โทมัส) ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีผู้กำกับอย่างอัลฟองโซ คัวรอน, ผู้กำกับไมค์ นิวเวลล์ และผู้กำกับเดวิด เยตส์ เข้าร่วมทริปครั้งนี้ พร้อมกับเดวิด เฮย์แมน โปรดิวเซอร์มือฉมังแห่งภาพยนตร์ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ผู้อยู่เบื้องหลังที่ทำให้การผจญภัยในโลกเวทมนตร์เป็นเรื่องวิเศษ 

จากเนื้อหาทำให้เรารู้จักทีมงาน แฮร์รี่ พอตเตอร์ ในด้านลึกมากขึ้น เราพบว่า คริส โคลัมบัส ผู้กำกับ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ภาคที่หนึ่งและสองดูจะผูกพันกับเหล่านักแสดงในภาพยนตร์เป็นพิเศษ ซึ่งเขาเคยให้สัมภาษณ์ใน Variety.com ไว้ว่า แม้ช่วงแรกเขาจะรู้สึกกดดันกับการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้มาก แต่เขาก็ได้พูดคุยกับ เจ.เค. โรว์ลิ่งถึงทิศทางของภาพยนตร์ว่าจะลงเอยในรูปแบบไหน ซึ่งถือเป็นข่าวดีที่ทั้งคู่เข้ากันได้และทุกอย่างผ่านไปด้วยดี อีกอย่างจะเห็นได้ชัดว่า คริส โคลัมบัส คือสัญญะของภาพยนตร์ แฮร์รี่ พอตเตอร์ นั่นเพราะเขาคล้ายกับคนปูทางให้ภาพยนตร์เรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์ ในภาคอื่นๆ ดำเนินต่อไป 

นอกจากนี้ในเวลาถ่ายทำภาพยนตร์เขายังเข้าไปขลุกกับนักแสดงรุ่นเด็กเพื่อละลายพฤติกรรม ซึ่งเด็กได้ชื่อว่าควบคุมค่อนข้างยาก แต่คริสมีวิธีการเข้าหานักแสดงเด็กได้ดีทีเดียว ขณะเดียวกัน ทอม เฟลตัน ก็ออกมาเล่าถึงความรู้สึกที่มีต่อคริส โคลัมบัส ว่าควบคุมสถานการณ์ยากๆ ได้ดี ทั้งที่เด็กอย่างพวกเขาก็ใช่ย่อย ความเป็นมิตรของคริสเห็นได้ชัดจากที่เขายังติดต่อกับแดเนียลและทอมอยู่เสมอ

ถัดมาในภาคที่สาม ผู้กำกับอัลฟองโซ คัวรอน เข้ามาทำหน้าที่กำกับภาพยนตร์เรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์ ต่อจากผู้กำกับคริส โคลัมบัสได้อย่างเหมาะเจาะ ด้วยบุคลิกของอัลฟองโซนั้นเหมาะกับเนื้อหาของภาพยนตร์ที่เริ่มจะหนักหน่วงขึ้น อีกทั้งนักแสดงเริ่มกระเถิบสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านของวัย จึงทำให้เห็นภาพชัดว่าจริงๆ แล้วพวกเขาเริ่มเติบโตขึ้น

ต่อจากภาคที่สามเรื่อยมาจนถึงภาคที่ห้า ถือเป็นช่วงที่สิ่งเร้าด้านลบคืบคลานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของนักแสดงทั้งในภาพยนตร์และชีวิตจริง ตรงจุดนี้เองเลยทำให้หนึ่งในนักแสดงอย่างเอ็มม่า วัตสัน เคยคิดอยากถอนตัวจากการเป็นนักแสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์ โดยเธอเล่าว่า การเป็นนักแสดงในภาพยนตร์ แฮร์รี่ พอตเตอร์ มันสร้างชื่อเสียงอันโด่งดังให้กับเธอก็จริงซึ่งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ลึกๆ แล้วเธอมีความคิดอยากจะถอนตัวจากการเป็นนักแสดง สำหรับเราคิดว่าเหตุผลที่เธอยังเดินทางต่อไปในโลกเวทมนตร์น่าจะเดาได้จากภาพฟุตเทจในรายการที่ฉายชัดให้เห็น คือแดเนียล รูเพิร์ต และเธอต่างกำลังเดินกรุยกรายตรงไปยังบรรดาแฟนคลับที่มาปักหลักรอพวกเขาอยู่อย่างล้นหลาม 

เอาเข้าจริง พลังของแฟนคลับที่พวกเขามีต่อ แฮร์รี่ พอตเตอร์ คล้ายกับบุคคลผู้ที่คอยหนุนหลังแฮร์รี่ พอตเตอร์ อย่างเฮอร์ไมโอนี รอน ดัมเบิลดอร์ ฯลฯ แต่ในเมื่อมีคนคอยหนุนหลังและพร้อมจะช่วยเหลือแฮร์รี่อยู่ตลอด ภาพยนตร์อาจดูราบเรียบไป ดังนั้น นอกจากลอร์ดโวลเดอมอร์จึงจำเป็นต้องมีนักแสดงหนึ่งคนที่สวมบทบาทอันร้ายกาจพอๆ กับลอร์ดโวลเดอมอร์ นั่นคือ เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์ (เบลลาทริกซ์ เลสแตรงจ์) 

เบลลาทริกซ์ เลสแตรงจ์ เป็นตัวละครที่ดำเนินในภาคที่หกไปจนถึงภาคสุดท้าย เธอคือทาสรับใช้คนสนิทของลอร์ดโวลเดอมอร์ โดยทาสรับใช้จะมีอีกหนึ่งความหมายคือผู้เสพความตาย การปรากฏตัวแต่ละครั้งของเบลลาทริกซ์จะฉายภาพให้เห็นถึงความมืดมนของสิ่งรอบๆ และพร้อมจะสูญสลายลงตรงหน้าได้ทุกเมื่อ อีกทั้งยังเป็นแม่มดผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้คำสาปกรีดแทง (คำสาปโทษผิดสถานเดียวที่ทำให้เหยื่อเหมือนถูกอาวุธแหลมกรีดแทง) เสียด้วย โดยบทบาทการแสดงของเฮเลนานี้ทำให้แดเนียลปลื้มอกปลื้มใจเธออย่างหนัก การกลับมาเจอกันในรายการพิเศษของทั้งคู่เลยดูสนุกสนานกว่าช่วงไหนๆ

ฉากท้ายๆ ของรายการพิเศษ แดเนียล รูเพิร์ต เอ็มม่า รวมไปถึงร็อบบี้ กล่าวถึงความประทับใจพร้อมน้ำตา นั่นทำให้ตอกย้ำได้ชัดว่าภาพยนตร์เรื่องนี้แทรกซึมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพวกเขาแค่ไหน ซึ่งฉากที่ทำงานกับความรู้สึกเราอย่างมาก คือช่วงท้ายของรายการ มันเป็นฉากที่ทั้งสามคนกล่าวถึงความประทับใจตลอดการเดินทางที่มีให้ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ตรงนี้เราพานไปนึกถึงคำถามช่วงต้นรายการ โดยแดเนียลเป็นฝ่ายถามเอ็มม่าและรูเพิร์ตว่ารู้สึกยังไงบ้างกับการกลับมาเจอกันครั้งนี้

เอ็มม่า : ตื้นตันใจมาก 

รูเพิร์ต : เหมือนฝันไปเลย รู้สึกเหมือนเวลาไม่ได้ผ่านไปนานเท่าไหร่

แดเนียล (เสริม) : ความทรงจำและเรื่องราวต่างๆ ที่มีร่วมกันเหมือนย้อนกลับไปวันก่อนๆ 

เอ็มม่า : ฉันรู้สึกได้เลยว่าเมื่อเราสามคนอยู่ด้วยกันทุกอย่างมันลงตัวมาก 

ในที่สุดงานเลี้ยงคืนสู่เหย้าถึงเวลาปิดฉาก ภาพของทั้งสามค่อยๆ รางเลือน แต่แล้วภาพแรกในวันวานของเด็กหญิงคนนั้นเริ่มฉายชัดขึ้นมาแทน มันคือภาพที่พ่อเธอยื่นหนังสือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ มาให้ ทันใดเธอรีบกระโจนเข้าไปผจญภัยในโลกเวทมนตร์โดยไม่รู้จักเหนื่อย และไม่ว่านานแค่ไหน เด็กหญิงในวันนั้นยังคงเติบโตพร้อมกับแฮร์รี่ พอตเตอร์ ต่อไปไม่มีหยุด

อ้างอิง

https://www.prachachat.net/spinoff/entertainment/news-805541

https://thepeople.co/bellatrix-lestrange

https://www.bbc.com/thai/international-40410968

https://www.muggle-v.com/29595

https://th.wikipedia.org

 

AUTHOR