บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์
เมื่อพูดถึงเทศกาลคริสต์มาส เรามักนึกถึงช่วงเวลาแห่งความสุข สมาชิกในครอบครัวที่ไปทำงานต่างบ้านต่างเมืองจะเดินทางกลับมาหากันเพื่อเลี้ยงฉลอง แลกของขวัญ และใช้เวลาอยู่ด้วยกันในช่วงวันก่อนสิ้นปี หนังฮอลลีวูดจำนวนมากนำเสนอช่วงเวลาดีๆ ในวันคริสต์มาส และ Happiest Season ก็เช่นเดียวกัน
แต่นอกจากภาพช่วงเวลาแห่งความสุขแล้ว หนังเรื่องนี้ยังพาเราไปสำรวจเรื่องราวในมุมมองที่ต่างออกไปจากหนังวันหยุดเรื่องอื่นๆ เพราะมันตั้งคำถามต่อเรื่องของความรักที่ถูกต้องตามบรรทัดฐานทางสังคม การยอมรับตัวตนของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ความสมบูรณ์แบบและความหมายของความเป็นครอบครัว
หนังเปิดเรื่องด้วยการนำเสนอซีนโรแมนติกประทับใจระหว่างฮาร์เปอร์ (Mackenzie Davis) และแอ็บบี้ (Kristen Stewart) หญิงสาวสองคนในคืนก่อนวันคริสต์มาส ก่อนที่ทั้งสองจะตกลงกันว่าคริสต์มาสนี้จะพากันไปหาครอบครัวของอีกฝ่ายเพื่อที่จะฉลองร่วมกัน แอ็บบี้นั้นมีความหลังฝังใจเพราะพ่อแม่ของเธอเสียชีวิตไปในคืนคริสต์มาส แต่ด้วยการโน้มน้าวของฮาเปอร์ เธอตัดสินใจตอบตกลง พร้อมกับวางแผนจะขอฮาร์เปอร์แต่งงานอย่างเป็นทางการ
ก่อนเข้าสู่ฉากของครอบครัวสุขสันต์ ตัวละครตั้งคำถามที่ชวนให้ผู้ชมฉุกคิด เมื่อจอห์น (Daniel Levy) เพื่อนของแอ็บบี้รับรู้ถึงแผนการขอแต่งงาน ระหว่างที่เดินออกมาจากร้านขายแหวน เขาถามแอ็บบี้ขึ้นมาว่า
“แอ็บบี้ เธอกับฮาร์เปอร์อยู่กันดีๆ ทำไมต้องทำลายมันด้วยการเข้าสู่สถาบันโคตรสมมติของมนุษยชาติ”
แอ็บบี้ตอบเพียงว่า “ฉันอยากแต่งงานกับเธอ” แต่จอห์นยังคงไม่หยุดตั้งคำถาม เขาพูดต่อไปว่า
“แต่คุณกำลังจะลวงเธอให้มาติดกับในกรงขังของเพศคู่ และเป็นเจ้าของเธอ”
แอ็บบี้ยืนกราน เธออยากให้ทุกคนรับรู้ว่าทั้งสองเป็นคู่ชีวิตกัน และเมื่อแอ็บบี้บอกว่าจะขอพ่อของฮาร์เปอร์ให้ยกลูกสาวให้ จอห์นได้แต่อุทานออกมาว่า
“ปิตาธิปไตยจงเจริญ”
ฉากสั้นๆ นี้อาจดูตลกขบขันสำหรับใครหลายคน แต่การตั้งคำถามของจอห์นนั้นเผยให้เห็นชุดความเชื่อสองแบบ แบบแรกคือการต่อต้านสถาบันการแต่งงาน จอห์นซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของแอ็บบี้ที่มักจะให้คำปรึกษากับเธอเสมอ มองว่าสถาบันการแต่งงานนั้นเป็นสิ่งสมมติ เป็นพันธนาการและส่งเสริมการทำให้มนุษย์กลายเป็นสิ่งของที่สามารถครอบครองได้ ส่วนประเพณีการขอลูกสาวจากพ่อนั้นก็เป็นวิธีคิดแบบ ‘ปิตาธิปไตย’ หรือ ‘ชายเป็นใหญ่’ ซึ่งหมายถึงระบบหรือแนวคิดที่ให้อำนาจกับพ่อ ผู้ชาย ในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในขณะที่แอ็บบี้กลับมองอีกแบบว่า การแต่งงานคือการให้เกียรติคนที่เธอใช้ชีวิตคู่ด้วยกัน คือการยอมรับถึงความสัมพันธ์ในรูปแบบที่ต่างออกไป แต่แค่สวมใส่โครงสร้างแบบรักต่างเพศเข้าไปด้วยการแต่งงาน
คำถามก็คือ ทำไมการแต่งงานจึงกลายเป็นบรรทัดฐานของการมีความรักความสัมพันธ์?
เมื่อความรักกลายเป็นความลับ
ตามสูตรของหนังทั่วไป แน่นอนว่าทุกอย่างไม่ได้ราบรื่นง่ายๆ ในตอนแรก เมื่อแอ็บบี้รู้ความจริงจากฮาร์เปอร์ว่าเธอไม่เคยบอกที่บ้านว่ากำลังคบกัน ฮาร์เปอร์ขอร้องให้แอ็บบี้เก็บความลับนี้เอาไว้จนกว่าจะผ่านพ้นช่วงเทศกาลไปก่อนเพราะพ่อของเธอกำลังหาเสียงเลือกตั้งเพื่อเป็นนายกเทศมนตรี แอ็บบี้จึงให้สัญญาอย่างเสียไม่ได้
เมื่อทั้งสองเดินทางไปถึงบ้านของฮาร์เปอร์ ผู้ชมก็สามารถรู้ได้ทันทีว่าครอบครัวนี้มีบางสิ่งที่ล้นๆ เกินๆ เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่ที่คอยจัดแจงทุกอย่างในบ้าน น้องสาวคนกลางที่พูดพร่ำแต่เรื่องที่เธอเข้าใจอยู่คนเดียวตลอดเวลา คุณพ่อที่วางตัวเป็นผู้นำครอบครัวอยู่เสมอ ครอบครัวของพี่สาวคนโตที่ดูสมบูรณ์แบบ มีสามีที่หน้าที่การงานมั่นคง ลูกฝาแฝดชายหญิงที่ปฏิบัติตามคำสั่งทุกอย่าง แอ็บบี้รู้ทันทีว่าเธอต้องเก็บงำความลับเอาไว้ให้ดีที่สุด ส่วนฮาเปอร์นั้นเมื่อกลับมาอยู่ที่บ้านก็กลายเป็นลูกสาวที่พ่อแม่ภาคภูมิใจเพราะความสำเร็จในหน้าที่การงานของเธอ ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับแอ็บบี้นั้นถูกทำให้อยู่ในสถานะของความเป็นเพื่อนสาวทั่วๆ ไป
What are you doing in the closet?
เพราะถูกแนะนำกับครอบครัวในฐานะเพื่อน ฮาเปอร์จึงถูกจับแยกห้องนอน แอ็บบี้ต้องระเห็จไปนอนในห้องรับแขกใต้ดิน คืนหนึ่งหลังจากทนคิดถึงกันไม่ไหว แอ็บบี้แอบย่องขึ้นไปหาฮาร์เปอร์ และเกือบถูกแม่ของฮาร์เปอร์จับได้ตอนที่เธอเข้าไปซ่อนตัวในห้องเก็บของ
ประโยคหนึ่งที่น่าสนใจในซีนนี้คือแม่ของฮาร์เปอร์ถามแอ็บบี้ว่า “What are you doing in the closet” ซึ่งในแง่หนึ่งก็อาจไม่ได้มีนัยถึงการเข้าไปทำอะไรอยู่ในห้องเก็บของเท่านั้น แต่อาจหมายถึงการปกปิดตัวตนทางเพศ ซึ่งในรูปประโยคภาษาอังกฤษเรามักจะได้ยินสำนวนที่ว่า ‘come out of the closet’ อันหมายถึงการเปิดเผยตัวตนทางเพศให้สังคมและครอบครัวรับรู้ว่าเรามีวิถีทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศอย่างไร จุดนี้เองสื่อว่าการ come out of the closet เป็นเส้นเรื่องหลักของตัวละคร
แอ็บบี้และฮาร์เปอร์ come out กับเพื่อนสนิทได้ แต่สำหรับครอบครัวแล้ว พวกเธอจำเป็นจะต้อง ‘ซ่อนตัว’ อยู่ในตู้ การตั้งคำถามว่า “เธอเข้าไปทำอะไรในตู้” จึงอาจเป็นคำถามที่ LGBTIQ+ หลายคนกลัวที่จะต้องตอบกับครอบครัวมากที่สุด และไม่ใช่แค่ในระดับครอบครัว แต่รวมไปถึงสังคมรอบตัวฮาร์เปอร์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน ชุมชนที่อาศัยอยู่ ผู้สนับสนุนการเลือกตั้งของพ่อฮาร์เปอร์ หรือกระทั่งการตอบคำถามกับตัวเองว่าเมื่อไหร่กันที่เราจะเดินออกจากตู้ได้เสียที ในที่นี้ closet จึงสัมพันธ์กับการรักษา secret และอาจกล่าวได้ว่า ตู้ที่เราซ่อนตัวอยู่นั้นมีไว้เพื่อที่จะซ่อนความลับให้มิดชิดจากการถูกปฏิเสธทางสังคมนั่นเอง
โลกที่โอบรับเฉพาะความสัมพันธ์แบบรักต่างเพศ
ในทุกฉากทุกตอน ผู้ชมจะได้เห็นความอึดอัดคับข้องใจของตัวละครทั้งสอง ไม่ว่าจะเป็นแอ็บบี้ที่ถูกตั้งคำถามจากแม่ของฮาร์เปอร์ว่ามีแฟน (ผู้ชาย) หรือยัง และฮาร์เปอร์ที่ถูกเซอร์ไพรส์จากครอบครัวด้วยการแอบชวนแฟนเก่า (ผู้ชาย) ของเธอมาทานมื้อค่ำด้วยเพราะอยากให้พวกเขากลับไปคบกันอีกครั้ง และการพูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ใกล้ชิดในวัยเด็กระหว่างฮาร์เปอร์กับแฟนเก่า(ผู้ชาย)บนโต๊ะอาหารก็ดูจะเป็นเรื่องปกติ รวมไปถึงการซุบซิบนินทาของครอบครัวฮาร์เปอร์ที่มีต่อครอบครัวของไรลีย์ แฟนเก่า(ผู้หญิง)ของฮาร์เปอร์ ว่าพวกเขาโชคดีแค่ไหนที่ไรลีย์เลิกพฤติกรรมน่าอับอายและมีหน้าที่การงานที่เป็นหน้าเป็นตาให้ครอบครัว ดูเหมือนว่าจะไม่มีที่ว่างสำหรับความสัมพันธ์แบบอื่นๆ ปรากฏขึ้นในการรับรู้และยอมรับของครอบครัวฮาร์เปอร์เลย
เมื่อโลกไม่มีที่ว่างให้กับความสัมพันธ์แบบรักเพศเดียวกัน เพราะความสัมพันธ์แบบรักต่างเพศนั้นคือบรรทัดฐาน การไม่สามารถแสดงออกในการเป็นตัวเองและไม่สามารถแสดงความรักต่อกันได้ในที่สาธารณะ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างฮาร์เปอร์กับแอ็บบี้ดูจะเหินห่างระหองระแหงมากขึ้น
ความเข้าใจว่าความรักชนะทุกสิ่งอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นจริงเสมอไป เมื่อแฟนเก่าของฮาร์เปอร์เริ่มรุกหนัก ฮาร์เปอร์เองเริ่มรู้สึกอึดอัดจากการถูกตั้งคำถามจากแอ็บบี้จนกลายเป็นความรู้สึกถูกจับผิด ส่วนแอ็บบี้ก็เริ่มรู้สึกถึงการถูกทอดทิ้ง ความโดดเดี่ยวของการที่บอกใครไม่ได้เรื่องความสัมพันธ์ทำให้เธอกับไรลีย์สนิทกันมากขึ้นจนนำมาซึ่งความเข้าใจผิดระหว่างฮาร์เปอร์กับแอ็บบี้ กลายเป็นความสัมพันธ์ที่ง่อนแง่นและใกล้แตกสลาย
ภาพมายาของคำว่าสมบูรณ์แบบ
เมื่อเรื่องเดินทางมาสู่จุดแตกหัก ความลับของครอบครัวฮาร์เปอร์ไม่ได้มีแค่ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับแอ็บบี้อีกต่อไป แต่เธอได้พบว่าสโลน (รับบทโดย Alison Brie) พี่สาวคนโตซึ่งไม่ลงรอยกันเพราะชอบแข่งขันกับเธอในทุกๆ ด้านมาตั้งแต่เด็ก กลับมีปัญหากับสามีจนถึงขั้นเตรียมหย่ากัน และสามีที่อบอุ่นก็ไม่ได้ซื่อสัตย์และรักครอบครัวอย่างที่ใครคิด ชีวิตคู่ของลูกสาวคนโตที่พ่อแม่ภาคภูมิใจและมักจะอวดใครๆ อยู่เสมอก็ได้พังทลายลงในคืนนั้นเอง
เมื่อทุกคนได้รู้ความจริงว่าลูกสาวคนเล็กที่เพียบพร้อมอย่างฮาร์เปอร์มีความสัมพันธ์แบบคนรักเพศเดียวกัน พร้อมๆ กับลูกสาวคนโตผู้สมบูรณ์แบบนั้นไม่ได้เพอร์เฟกต์อีกต่อไป ด้านลูกสาวคนกลางที่ไม่เคยมีใครสนใจก็ได้เผยความในใจให้ทุกคนรับรู้ว่าเธอรู้สึกอย่างไรกับการไม่ถูกมองเห็น ไม่ได้รับความสำคัญ ครอบครัวของฮาร์เปอร์เหมือนถูกพายุหิมะซัดถล่มและพังครืนภายในคืนเดียว วันคริสต์มาสที่ทุกคนควรจะมีความสุขกับงานรื่นเริงและเฉลิมฉลองด้วยกันกลับกลายเป็นคืนแห่งการสารภาพความในใจ คืนแห่งการเปิดเผยความลับ และเป็นคืนที่ตั้งคำถามกับทุกคนว่า ความสมบูรณ์แบบของครอบครัวคืออะไร? ผู้หญิงที่สมบูรณ์แบบต้องแต่งงานมีครอบครัวหรือไม่? พ่อแม่จะยอมรับได้ไหมหากลูกสาวที่เราภาคภูมิใจไม่ได้เป็นผู้หญิงในแบบที่เราต้องการ?
หลังผ่านพ้นคืนอันแสนวุ่นวายที่ไม่มีใครคาดคิด เรื่องก็เดินตามสูตรของหนังคริสต์มาสแบบไม่ผิดจากที่คาดไว้ เพราะเมื่อถึงวันรุ่งขึ้น เมื่อทุกคนกลับไปใคร่ครวญจนตกผลึกได้ว่าความรักนั้นมีหลากหลายรูปแบบ ครอบครัวที่อบอุ่นไม่ได้มีแค่คำว่าพ่อแม่ลูก ลูกสาวที่ดีก็ไม่ได้ผูกอยู่กับการมีสามีที่ดี ตัวละครทั้งหมดตระหนักได้ว่าความรักนั้น ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่ควรมีเงื่อนไข
ภาพครอบครัวสุขสันต์ถูกบันทึกใหม่ และแอ็บบี้ที่เคยอยู่นอกเฟรมของภาพถ่ายครอบครัวถูกเรียกเข้าไปร่วมเฟรมด้วยเป็นครั้งแรก
โอบกอดตัวตนของ LGBT+ ด้วยความเข้าใจ
สำหรับเรา ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือฉากท้ายๆ ที่เมื่อพ่อของฮาร์เปอร์รับรู้ความจริงว่าลูกสาวชอบพอกับผู้หญิง เขาเลยต่อว่าลูกสาวที่ทำให้ชื่อเสียงของเขาหม่นหมอง ซีนนี้สะท้อนโลกของความจริงในหลายๆ ประเทศที่เกียรติยศของครอบครัวนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่ ผู้ชายที่เป็นผู้นำครอบครัวอาจยอมแลกกับการติดคุกหรือรับโทษประหารเพื่อฆ่าลูกสาวที่เป็นหญิงรักหญิงทิ้ง เพื่อกอบกู้เกียรติยศชื่อเสียงของตนและครอบครัว ในขณะที่ครอบครัวที่มีความเข้าใจความหลากหลายทางเพศดีพอ ลูกที่เป็นหญิงรักหญิงอาจไม่โชคร้ายแบบนั้น และนี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไม ‘ครอบครัว’ จึงสำคัญมากต่อการเปิดเผยตัวตนของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะครอบครัวจะเป็นหน่วยแรกๆ ที่สามารถสนับสนุนและโอบอุ้ม ทำให้คนที่ยังอยู่ใน closet สามารถก้าวออกมาได้ เพราะมั่นใจว่ามีคนที่ยอมรับและตระหนักในตัวตนของพวกเขา
แม้ว่า Happiest Season จะเป็นหนังสูตรสำเร็จเหมือนหนังหลายเรื่อง แต่หากมองลึกลงไป นี่คือหนังที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ในครอบครัวและการสนับสนุนให้เกิดการยอมรับวิถีทางเพศของคนในครอบครัวอย่างแท้จริง หนังทำให้เราตระหนักว่าเรื่องของความหลากหลายทางเพศไม่ใช่เรื่องของอำนาจในการใช้ชีวิตในระดับส่วนบุคคลเท่านั้น แต่มันหมายรวมถึงปัจจัยทางสังคมที่มีส่วนต่อการใช้ชีวิตของคนที่มีความหลากหลายทางเพศด้วยเช่นกัน
สำหรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศแล้ว หากครอบครัวหรือชุมชนรายรอบตัวไม่อาจยอมรับในตัวตนที่พวกเขาเป็น การใช้ชีวิตในโลกที่ปฏิเสธตัวตนของพวกเขาก็ย่อมเป็นไปด้วยความยากลำบาก
การต่อสู้ผ่านภาพแทนในสื่อบันเทิง
แม้ว่า Happiest Season จะไม่ได้มีฉากที่ตั้งคำถามกับสังคมอย่างลึกซึ้ง แต่ก็ถือว่าเป็นหนังที่พูดถึงความสัมพันธ์ของหญิงรักหญิงที่ตัวละครหลักมีจุดจบที่แฮปปี้เอนดิ้ง ต่างไปจากหนังหลายๆ เรื่องที่นำเสนอความสัมพันธ์ของหญิงรักหญิงที่จบลงด้วยโศกนาฏกรรมหรือความทุกข์ระทม อย่างหนังเรื่อง Ride or Die (2021) หนังญี่ปุ่นเรื่องล่าสุดที่นำเสนอภาพความทุกข์ระทมของหญิงรักหญิง หรือ Fire (1996) หนังอินเดียอันลือเลื่องที่ว่าด้วยความรักของหญิงรักหญิงที่มีสามีแล้ว ซึ่งก่อให้เกิดข้อถกเถียงในสังคมอินเดียอย่างรุนแรง รวมไปถึงหนังแอฟริกาใต้เรื่อง Rafiki (2018) ที่นำเสนอชีวิตของหญิงรักหญิงในสังคมชายเป็นใหญ่ที่การรักเพศเดียวกันมีโทษถึงตาย
ที่ผ่านมาหนังหญิงรักหญิงส่วนใหญ่มักจบลงแบบไม่สมหวัง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงหลายปีมานี้ มีหนังที่พูดเรื่องการสนับสนุนให้ครอบครัวยอมรับความสัมพันธ์ของหญิงรักหญิงก็มีจำนวนมากขึ้นด้วย เช่น หนังอินเดียเรื่อง Ek Ladki Ko Dekha Toh Aisa Laga (2019) ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการทำให้ครอบครัวที่อนุรักษนิยมและเป็นสังคมแบบรักต่างเพศขั้นสูงสุด หันมายอมรับความสัมพันธ์ของคนรักเพศเดียวกันได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ของการต่อสู้ทางการเมืองและการเติบโตของอุตสาหกรรมหนังในประเทศซีกโลกตะวันตกหรือฝั่งคนขาว ก็เข้าใจได้ว่าภาพของการยอมรับความสัมพันธ์แบบหญิงรักหญิงกับครอบครัวนั้นย่อมนำเสนอได้ง่ายกว่าหนังในประเทศซีกโลกใต้ที่ครอบครัวมักเป็นด่านแรกๆ ในการทำลายหรือกีดกันความสัมพันธ์ของหญิงรักหญิง อันเนื่องมาจากการครอบงำของสังคมแบบชายเป็นใหญ่ที่เข้มข้น ผ่านจารีตทางศาสนาและประเพณีต่างๆ ที่ยังคงอยู่
ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนคิดว่า Happiest Season เป็นหนังฟีลกู้ดที่ย่อยง่าย เหมาะสำหรับวันคริสต์มาส หรือวันหยุดเทศกาลอื่นๆ ที่สมาชิกในบ้านอาจจะลองแกล้งๆ เปิดให้ครอบครัวดูด้วยกันได้ เผื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดใจกับครอบครัวถึงวิถีทางเพศของเราที่ไม่มีใครเคยได้รับรู้มาก่อน แต่ก็อาจจะต้องเผื่อใจไว้หน่อยว่าหนังคงไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่จะทำให้เราก้าวออกจาก closet หรือทำให้ครอบครัวยอมรับได้ทันที
การต่อสู้เรื่องการยอมรับความหลากหลายทางเพศในสังคมแบบชายเป็นใหญ่ก็ยังคงต้องดำเนินต่อไปในทุกมิติ และการนำเสนอผ่านโลกของภาพยนตร์ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ช่วยเปิดใจให้กับความสัมพันธ์อันหลากหลายนี้ด้วยเช่นกัน
สามารถชม Happiest Season ได้ทาง Netflix
Ride or Die Ek Ladki Ko Dekha Toh Aisa Laga ทาง Netflix
Rafiki ทาง Amazon Prime