คุยกับก้อง H 3 F และเอ Safeplanet ว่าด้วยเรื่องการแสดงจุดยืนของนักดนตรี

H 3 F

รายการ EARGASM LONG AND DEEP ใน a day podcast ตอนล่าสุด โฮสต์อย่าง ‘แพท บุญสินสุข’ ได้มีโอกาสสนทนากับ ก้อง–เทพวิพัฒน์ ประ​ชุมชนเจริญ หรือ ก้อง H 3 F และ เอ–ฐิติภัทร อรรถจินดา หรือ เอ Safeplanet ว่าด้วยเรื่องการออกมาแสดงจุดยืนของนักดนตรี

H 3 F

ในคราวนั้น การพูดคุยเกิดขึ้นไม่กี่วันหลังจากพวกเขาไปปรากฏตัวในสภาเพื่อแสดงพลังสำหรับวาระการยื่นเรื่องร้องเรียนโดยสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง แต่หลังจากนั้นไม่นาน พวกเขาและพี่น้องศิลปินอีกหลายคนได้รวมตัวกันเกิดเป็น ชมรมคนดนตรีแห่งประเทศไทย (MCAT) และเข้าไปยื่นข้อร้องเรียนต่อสภาอีกครั้งเมื่อวานนี้

แม้การช่วยเหลือจากรัฐจะยังไม่มีออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน แต่การขยับเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมของพวกเขาครั้งนี้ก็เริ่มได้รับการจับตามองและเป็นที่พูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคม และยังส่งผลต่อเนื่องให้กับวงการอื่นๆ ทางอ้อม ในประเด็นว่าถ้ากลุ่มอาชีพสามารถรวมตัวกันได้มากพอ การต่อสู้เรียกร้องในสิทธิก็สามารถเกิดขึ้นได้เพื่อสร้างแสงสว่างเล็กๆ ในสังคมที่ไม่เป็นธรรมนี้

เพื่อเป็นการเพิ่มแสงสว่างนั้น เราจึงคิดว่าคงเป็นการดีที่จะย่อยบทสนทนาในพ็อดแคสต์ เรียบเรียงออกมาเป็นตัวอักษร เพื่อส่งต่อเนื้อความของพวกเขาให้ไปไกลยิ่งขึ้น

H 3 F

ทำไมชีวิตของนักดนตรีจึงควรได้รับการเยียวยา ทำไมชีวิตของคนกลางคืนควรได้รับการเหลียวแล และทำไมศิลปินเบอร์ใหญ่ๆ ควรออกมาเป็นกระบอกเสียงให้กับกลุ่มคนในสายอาชีพเดียวกัน

ทั้งก้องและเอเผยคำตอบในมุมของพวกเขาให้เราฟังแล้วในบรรทัดถัดไป

H 3 F

อัพเดตสถานการณ์ปัจจุบันของทั้งสองวงกันหน่อย ตอนนี้เป็นยังไงบ้าง

ก้อง : ถ้าเรื่องสถานะทางการเงินก็ค่อนข้างนิ่งนิดหนึ่ง เพราะปกติวงผมเล่นกลางคืนเป็นหลัก เฉลี่ยอาทิตย์ละ 5 วัน พอเจอโควิดแบบนี้รายได้เลยหายไป แต่ตอนนี้ก็อยู่ได้ด้วยเงินเก็บและการขายสินค้าของวง

เอ : ปกติรายได้หลักของวงผมก็มาจากโชว์เหมือนกัน ดังนั้นตอนนี้ก็แย่เลย แต่คนที่เดือดร้อนที่สุดไม่ใช่พวกผมนะ แต่เป็นทีมงาน อย่างทีมเทคนิค ทีมซาวนด์ หรือคนขับรถ เพราะรายได้หลักของพวกเขามีแค่ทางเดียวคืองานโชว์ ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือหลายคนต้องไปทำงานที่ตัวเองไม่เคยทำด้วยซ้ำเพื่อเอาตัวรอด อย่างคนขับรถวงผมก็ไปขายหวย คนอื่นๆ ก็ไปสมัครทำงานร้านกาแฟ แต่โดยรวมแล้วรายได้ก็ไม่พอหรอก

เห็นหลายคนบอกว่า ‘ต้องปรับตัวสิ พลิกแพลงสิ รู้จักคิดหน่อย’ สำหรับพวกคุณประโยคนี้เป็นคำพูดที่ถูกไหม

ก้อง : สำหรับผม มันทั้งถูกและไม่ถูก ถูกเพราะผมเชื่อว่าคนเราปรับตัวได้ถ้าใจอยาก แต่ที่ไม่ถูกคือสำหรับผมประโยคนี้เหมือนการมาบอกให้เราลดคุณค่าในสายอาชีพตัวเอง 

ในมุมหนึ่งผมเข้าใจว่าคนที่บอกอาจหวังดี และผมก็เชื่อว่าทุกคนเรียนรู้ที่จะปรับตัวได้ แต่สำหรับผมคือทุกอาชีพมีค่าเท่ากัน แต่พอเกิดวิกฤตแทนที่จะมีอะไรมาเยียวยาหรือรองรับ ทำไมพวกเราต้องมาดิ้นรนทำในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเองอย่างที่คนบอกด้วย สำหรับผมคือมันไม่ใช่เรื่อง ทำไมล่ะ อาชีพนักดนตรีเป็นอาชีพที่ทำเล่นๆ เหรอ ทำไมถึงพูดแบบนี้ ผมว่ามันไม่แฟร์ในหลายๆ ด้าน

เอ : ผมเห็นด้วยกับก้อง ที่สำคัญคือผมว่าคุณค่าของคนเราไม่เหมือนกัน และคุณค่าสำหรับบางคนมันก็ไม่ได้อยู่ในงานที่เราถูกบังคับให้เปลี่ยน

H 3 F

แล้วมีคำพูดไหนที่ได้ยินแล้วเจ็บปวดบ้างไหม

ก้อง : ของผมคงเป็นที่นายกฯ พูดว่า ‘ไม่มีงานทำก็เรียนจบให้ตรงสายสิ’ เพราะผมรู้สึกว่าคุณเองมาบริหารประเทศก็ไม่ได้มาถูกต้องตามครรลอง แล้วก็ทำไม่ได้ดีเด่อะไรเลย แต่นี่ยังมาดูถูกคุณค่าในสายอาชีพของคนในประเทศตัวเองอีก เท่ากับว่าคุณไม่เห็นหัวคนที่จ่ายภาษีเลย ทำไมผมต้องมาทนฟังคุณพูดกับผมแบบนี้ แม่ผมยังไม่พูดกับผมแบบนี้เลย ดังนั้นสำหรับผมคือคนนี้แม่งสุด แม่งยอดมนุษย์

เอ : ผมเห็นด้วย คือต่อให้เป็นผู้ใหญ่ใกล้ตัวพูดยังเจ็บเลย แต่ที่อันนี้มันเจ็บกว่าเพราะเขาคือหนึ่งในคนที่มีอำนาจที่สุดในประเทศ ซึ่งถ้าทัศนคติเขาเป็นแบบนี้แล้วประเทศจะไปยังไงต่อ สำหรับผมคือมันมืด

safeplanet

ย้อนกลับไปหน่อย ช่วงโควิดระบาดรอบแรก ตอนนั้นพวกคุณมองยังไง

เอ : ผมตกใจ รู้สึกว่าตัวเองกำลังอยู่ในประวัติศาสตร์ การที่นักดนตรีไม่สามารถทำงานจริงจังได้เพราะโรคระบาดมันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งตอนนั้นก็เผื่อใจไว้แล้วว่าคงนานแน่ๆ เพราะด้วยหลักการแล้วคือต้องรอวัคซีน

ก้อง : ส่วนผมจำได้ว่าระลอกแรกเป็นช่วงคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้มของวงพอดี ก็ลุ้นมากว่าจะรอด-ไม่รอด แต่ปรากฏว่าก็ผ่านมาได้ แต่งานนั้นแหละเป็นงานสุดท้ายของปีที่ได้เล่น หลังจากนั้นก็ยาวเลย

เอ : ผมโชคดี จัดคอนเสิร์ตใหญ่ก่อนหน้านั้นแป๊บเดียวเหมือนกัน

ก้อง : แต่ตอนนั้นผมคิดต่างจากพี่เอหน่อย คือผมมองว่าวิกฤตนี้คงแป๊บเดียว ใช้เงินเก็บก็น่าจะพารอดไปได้ คิดเข้าข้างตัวเองด้วยซ้ำว่าก็ดีนะ ถือโอกาสพัก อยู่บ้านใช้เงิน ขอเบรกหน่อย (นิ่งคิด) ซึ่งก็ยอมรับว่าการคิดแบบนี้มาจากการที่ผมเกิดในครอบครัวที่มีต้นทุนอยู่พอสมควร เลยไม่ลำบากเท่านักดนตรีกลางคืนที่หาเช้ากินค่ำ ผมว่าพวกเขาต่างหากคือคนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้เต็มๆ

ช่วยอธิบายกลไกของชีวิตนักดนตรีกลางคืนที่ได้รับผลกระทบให้ฟังหน่อย

ก้อง : นักดนตรีกลางคืนที่ผมรู้จักส่วนใหญ่ต้องปากกัดตีนถีบ หลายคนเป็นคนต่างจังหวัดที่เข้ากรุงเทพฯ มาทำสิ่งที่รัก เล่นดนตรีคืนละ 2-3 ร้าน ได้เงินร้านละพัน ตื่นมาตอนบ่ายก็แกะเพลง ซ้อม เพลงในลิสต์มี 200-300 เพลง กลางคืนก็ออกไปทำงาน ต้องวิ่งหลายรอบ ดังนั้นชีวิตเขาไม่ได้ง่าย นี่ยังไม่นับว่ากว่าเขาจะมาถึงขนาดนี้ เขาต้องใช้เวลาในชีวิตไปอีกไม่รู้เท่าไหร่ในการฝึกซ้อม ต้นทุนที่แต่ละคนจ่ายเลยแพงมาก ดังนั้นพอเขาไม่มีรายได้แบบนี้เลยหนักสำหรับพวกเขา เพราะนี่คือแหล่งรายได้เดียว

แต่หลังจากการระบาดระลอกแรกก็มีช่วงที่ดีขึ้น ตอนนั้นล่ะ พวกคุณมองยังไง

เอ : ว่าตามตรงตอนนั้นผมก็แอบหวังกับรัฐบาลนิดหนึ่ง เพราะมันเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นทั่วโลก ผมเลยรอดูว่าเขาจะจัดการเหมือนที่ทั่วโลกเขาทำกันไหม ซึ่งสุดท้ายอาจไม่ได้ออกมาเป๊ะอย่างที่หวังเท่าไหร่ แต่โดยรวมสถานการณ์มันก็ค่อยๆ ดีขึ้นมา ดังนั้นช่วงปลายปีที่แล้วสำหรับผมเหมือนเป็นช่วงทองเลย ทุกคนกลับมามีความหวัง เมืองกำลังเปลี่ยนกลายเป็นสีสดใส นักดนตรีกลางคืนทุกคนเริ่มกลับมาได้ ยิ่งช่วงปลายปีงานก็ยิ่งเยอะอยู่แล้วด้วย

แต่ทุกอย่างก็ไม่เป็นอย่างที่หวัง

ก้อง : (พยักหน้า) ผมจำได้ดีเลย ตอนนั้นคือช่วงต้นๆ ธันวาฯ ผมไปเล่นที่เชียงใหม่ ระหว่างรอเล่นก็นั่งไถเฟซบุ๊กจนเจอข่าวคลัสเตอร์ที่สมุทรสาคร ผมคิดในใจนะว่า โห เอาอีกแล้วเหรอวะ มาแน่ ไม่รอดแน่ และรอบนี้คงยาวแน่ เหมือนผมเริ่มปลงมากขึ้นถ้าเทียบกับครั้งแรก ซึ่งสุดท้ายแม่งก็ไม่รอดจริง ยาวจริง ยาวมาจนถึงตอนนี้ที่ยิ่งดูทรงแล้วก็แทบไม่มีทางไหนเลยที่จะดีขึ้น มีแต่ถอยหลัง

เอ : ส่วนผมในช่วงเดียวกันนั้นกำลังเล่นอยู่ที่เชียงราย ซึ่งเป็นงานที่มีผู้ป่วยโควิดลักลอบเข้ามาจากช่องทางธรรมชาติ แม้จะอยู่ในจุดที่ห่างแทบเป็นกิโลฯ แต่วงผมก็ต้องโดนกักตัว เท่ากับงานหายไปทั้งเดือน ยิ่งพอกลับมาสถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น สารภาพว่าช่วงนั้นผมเริ่มเตรียมตัวตายอีกรอบแล้ว เอนจอยกับทุกโมเมนต์ในงานโชว์ที่เหลือ เพราะคิดกับตัวเองว่าคงอีกไม่นานหรอกเดี๋ยวก็ต้องหยุดอีก จำได้ว่างานสุดท้ายก็ไปที่เดียวกับ H 3 F นี่แหละ คือช่วงมีนาฯ หลังจากนั้นก็หยุดยาวจนถึงตอนนี้

ยังจำความรู้สึกหรือภาพการเล่นคอนเสิร์ตแบบเดิมได้เท่าเดิมไหม

เอ : (นิ่งคิด) ผมเองไม่เท่าเดิมแล้วนะ ทุกวันนี้เวลาดูรูปคอนเสิร์ตที่คนแน่นๆ เยอะๆ ก็รู้สึกว่าเป็นรูปเก่าแล้ว

ก้อง : เหมือนกัน หรืออย่างเวลาผมดูหนังแล้วเห็นคนในหนังไม่ใส่แมส ทุกวันนี้ผมก็รู้สึกแปลกแล้วนะ ทั้งที่หนังนำเสนอความจริงของโลก แต่เรากลับกลายเป็นมนุษย์โลกที่ต้องใส่แมสทุกวันไปแล้ว 

ถามจริงพวกคุณมีท้อหรือคิดอยากเลิกบ้างหรือเปล่า

เอ : สำหรับผมนี่ไม่เชิงท้อ แต่เป็นเหมือนการยอมตายมากกว่า ผมคิดกับตัวเองไว้แล้วด้วยว่าถ้าเรื่องนี้ทำให้ Safeplanet ต้องจบจริงๆ ผมทำใจแล้ว

เอางี้ดีกว่า ที่ล็อกดาวน์รอบล่าสุดเนี่ย ในโน๊ตบุ๊กผมเขียนเพลงที่ชื่อว่า The End of Safeplanet ไว้แล้วด้วย มันเป็นเพลงที่ผมคิดว่าถ้าสุดท้ายวงต้องจบจริงๆ นี่จะเป็นเพลงบอกลา ผมเขียนเพลงนั้นไว้แล้ว คล้ายๆ กับซ้อมตาย ดังนั้นนี่ไม่ใช่การท้อ ผมมองว่ามันเป็นการคิดเผื่ออนาคตมากกว่า

ก้อง : ผมเองก็เหมือนพี่เอ คือไม่มี plan B เลย เพราะเราอยากทำสิ่งนี้

H 3 F

แล้วในสถานการณ์แบบตอนนี้ที่ยากลำบากมากๆ แล้ว ในมุมมองพวกคุณคนในวงการดนตรีควรปฏิบัติตัวยังไง

ก้อง : (นิ่งคิด) ผมว่าเราน่าจะคุ้นกับความคิดที่ว่าวงดนตรีที่อยู่ภายใต้ค่ายใหญ่ต้องผูกพันกับสปอนเซอร์ ผมเลยเข้าใจว่าเรื่องการเมืองเป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับพวกเขานะ ตรงนี้ผมเข้าใจ แต่อย่างล่าสุดที่สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจกลางคืนเข้าไปเดินเรื่องและยื่นทุกอย่างเพื่อเรียกร้องการเยียวยาจากรัฐ พูดตรงๆ มันไม่ใช่เรื่องการเมืองเลย มันคือเรื่องปากท้องของคนในสายอาชีพนี้ และมันไม่ใช่การแสดงออกที่เยอะแยะเกินไปด้วย

อย่างที่พวกผมไป ผมมองว่ามันก็แค่การไปสร้างแรงกระเพื่อมในฐานะวงดนตรีวงหนึ่งที่อยู่ในแวดวงสังคมเดียวกัน ซึ่งแวดวงสังคมนี้ไม่ได้มีแค่คนที่อยู่บนจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร แต่วงสังคมนี้ยังมีทีมงาน ไปจนถึงแม่ค้าร้านเกี๋ยวเตี๋ยว แม่ค้าขายลูกชิ้นที่อยู่หน้าร้านเหล้าเวลาวงดนตรีไปทัวร์ ดังนั้นแท้จริงแล้วที่เรียกร้องกันอยู่ไม่ใช่แค่เรื่องที่นักดนตรีไปเล่นแล้วได้เงิน แต่การที่นักดนตรีมีอาชีพและมีที่ยืนในสังคมล้วนมาจากคนเหล่านี้ทั้งนั้น 

ดังนั้นพอถึงเวลาที่พวกเขาอยากให้เราพูดเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน ถ้าเราไม่แคร์หรือบอกว่า ‘ผมพูดไม่ได้ มันเป็นเรื่องการเมือง’ สำหรับผมมันเป็นเรื่องตลกนะ มันไม่ใช่เรื่องที่พูดไม่ได้ ดังนั้นกับสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าถามผม โดยส่วนตัวผมโกรธนะ เพราะลองคิดดูว่าถ้าการไปรัฐสภาไม่ได้มีแค่พวกผมแค่นั้น แต่เป็นคนที่เสียงดังกว่า อิมแพ็กต่อสังคมกว่า มันจะต่างกันขนาดไหน ผมเลยอยากให้คนในวงการคิดถึงคนในสายอาชีพมากกว่านี้

เอ : บอกไว้ก่อนว่าสำหรับพวกเราไม่ได้ต้องการให้ออกไปทุกคนนะ แต่ขอแค่มีเฮดใหญ่ๆ โผล่ไปบ้าง ผมว่านั่นก็เป็นพลังแล้ว อย่างน้อยมันทำให้สื่อจากทั่วประเทศสนใจได้ ถึงคนที่จุดประกายเรื่องนี้คือแก๊งพี่ลูกเต๋า (นนทเดช บูรณะสิทธิพร–ผู้บริหารร้าน The Rock Pub) แต่เขาก็เป็นผู้ประกอบการคนหนึ่งที่ไม่ได้เสียงดังเท่าศิลปิน ดังนั้นเสียงของศิลปินคือสิ่งที่คนต้องการ และผมว่าเราก็ควรทำหน้าที่นั้น

ถ้ามาคิดกันจริงๆ มันก็คือปากท้องของศิลปินเหมือนกัน เพราะถ้าร้านเปิดไม่ได้ ศิลปินก็ไม่มีงาน

เอ : อาจเพราะตอนนี้บางคนไม่ได้เดือดร้อนด้วย แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นก็เท่ากับว่าคุณลืมทีมงานของตัวเองที่กำลังเดือดร้อนไป ดังนั้นผมว่าก็ควรออกมาอยู่ดี เพราะเราเสียงดังกว่าพวกเขาเยอะ

คุณว่าตอนนี้ศิลปินออกมาพูดมากพอหรือยัง

ก้อง : เล่าเรื่องนี้ดีกว่า อย่างวันที่ผมไปสภา มีพี่ผู้ใหญ่ที่เป็น ส.ส.ท่านหนึ่งมาพูดกับผมว่า ‘เนี่ย พวกคุณอยากจะมาเรียกร้อง พวกคุณเหนียวแน่นกันพอหรือยัง’ ซึ่งพอผมได้ยิน แวบแรกผมโกรธ เพราะการพูดแบบนี้แปลว่าคุณไม่ได้เข้าใจคนที่ลำบากอยู่เลย แต่พอคิดตามที่เขาบอก ผมว่าสิ่งที่เจ็บกว่าคือจริงๆ แล้วเขาพูดถูก เรายังเหนียวแน่นกันไม่พออย่างที่เขาบอกจริงๆ ซึ่งมันก็ย้อนกลับไปที่ผมบอกนั่นแหละว่าถ้าไม่ใช่พวกผม แต่เป็นคนอื่นที่ใหญ่กว่ามานำ ผมว่าเขาจะนำพาความเหนียวแน่นให้เกิดขึ้นได้มากกว่านี้เยอะเลย

แล้วที่ศิลปินบางคนอาจจะกังวลในการออกมาพูดเพราะสปอนเซอร์ คุณมีความเห็นว่ายังไง

เอก : ผมจะสรุปให้ข้อหนึ่ง อาจเป็นความลับที่พวกเขาไม่รู้กัน คือการออกมาพูดเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้งานคุณลดลงหรอก เพราะเท่าที่ผมออกมา call out หรือเรียกร้องใดๆ ไม่ได้มีใครสนใจตรงนั้นเลย เขาแค่อยากได้วงผมเพื่อมาร่วมงาน หลายคนไม่ได้สนใจตรงนั้น หรือต่อให้การออกมา call out กระทบกับสปอนเซอร์จริงๆ ผมว่าสปอนเซอร์ก็มีหลายทีมนะ ยิ่งทีมคนรุ่นใหม่ ผมว่าพวกเขาพร้อมที่จะเข้าใจคุณ

สำหรับคุณ สปอนเซอร์กับแฟนเพลงอะไรสำคัญกว่ากัน

เอก : แฟนเพลงแน่นอน (ตอบทันที) พวกเขาคือ core value ของเรา

แล้วในมุมมองคุณ ถ้าตอนนี้มีวงดนตรีที่เพิ่งจะออกมาพูด คุณว่าสายไปไหม ดูเป็นลูกชุบหรือเปล่า

ก้อง : (ยิ้ม) ความเป็นจริงคือผมว่าทุกคนน่ะ ไม่ว่าจะทำอะไรก็มีคนด่าหรือโดนแซะได้อยู่แล้ว ดังนั้นคุณทำในสิ่งที่ถูกต้องเถอะ ทำในส่วนที่คุณทำได้ ถ้าคุณมีพลัง มีอำนาจในการพูดมากกว่าคนอื่นแล้วใช้มันในทางที่ดีก็คงดี แต่ที่พูดนี่ไม่ได้จะล่าแม่มดนะ ผมไม่ได้จะบังคับให้ใครออกมา call out ผมแค่รู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของจิตสำนึก มันไม่ใช่เรื่องว่าคุณอยู่ซ้ายหรือขวา มันคือเรื่องที่ว่าคนในวงการเดียวกับคุณเขาจะมีแดกหรือไม่มีแดก ต่อให้คุณมีแดกแต่ถ้าคนในวงการคุณไม่มีแดก แล้วคุณจะมีแดกไปได้อีกนานแค่ไหน ผมว่ามันเป็นเรื่องนั้นมากกว่าที่คุณควรออกมาพูด

เอ : หรือถ้าคุณกลัวว่าคนจะด่าที่ออกมาช้าเกินไป ผมว่าเรื่องนี้ก็ต้องยืดอก ก็โดนไป แต่ก็พิสูจน์ไปเลย เพราะผมเชื่อว่าหลังจากนั้นถ้าคุณทำอย่างต่อเนื่อง คนจะเลิกด่าไปเอง แต่เอาจริงถ้าจะไม่ออกเพราะกลัวโดนด่า ผมว่าคุณก็เซนซิทีฟไปหน่อย

ก้อง : ออกมาเถอะ ใช้คำว่าขอร้องเลยก็ได้ เราไม่ได้ขอให้คุณพูดเรื่องที่ยากเลย นี่คือเรื่องปากท้องของเพื่อนร่วมอาชีพคุณเองทั้งนั้น

สุดท้าย มีอะไรที่คุณอยากให้เกิดขึ้นในเรื่องนี้อีกไหม

เอ : สำหรับผมคงเป็นการได้เห็นคนในแวดวงนี้รวมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพสักที ต่อจากนี้ผมอยากให้มีผู้ใหญ่ที่เข้ามาเป็นศูนย์กลางให้ทุกคนมารวมให้ได้ไม่ว่าจะเป็นนักดนตรีอิสระ นักดนตรีกลางคืน ศิลปินเบอร์เล็ก หรือศิลปินเบอร์ใหญ่ เพราะผมว่าในระยะยาวจะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นตามมาอีกเยอะถ้าเรารวมกันได้จริงๆ

ก้อง : ส่วนสำหรับผมคงเป็นเรื่องของคนทั่วไปแล้ว ต่อจากนี้ผมก็อยากให้คนสนใจและช่วยกันออกมาพูดเรื่องนี้เพื่อที่มันจะไม่หายไป มันไม่ใช่แค่ว่ามีเฉพาะนักดนตรีที่พูดได้ เพราะนี่คือเรื่องของปากท้อง ดังนั้นผู้บริโภคที่เป็นฐานสำคัญของทุกอย่างก็สามารถพูดได้เหมือนกัน 

ทุกคนสามารถเพิ่มน้ำหนักของเรื่องนี้ได้ เพราะพวกคุณมีพลังที่มากกว่าพวกเราเสียอีก


ฟังเรื่องราวความพยายามของนักดนตรีที่ต่อสู้เพื่อสิทธิได้ที่ EARGASM LONG AND DEEP EP.19

H3F
H3F
H3F

AUTHOR