จำนวนปีเท่าอายุที่ชีวิตต้องพบเจอการ ‘แยกย้าย’ ทั้งแบบสามัญและวิสามัญอยู่เสมอ ความโหวงเหวงแปลกๆ เมื่อต้องกลับกรุงเทพฯ ลาจากลูกพี่ลูกน้องที่เล่นสนุกกันตลอดปิดเทอมที่บ้านต่างจังหวัด หรือตอนที่ต้องย้ายบ้านโดยที่ไม่ได้บอกลาเพื่อนบ้านวัยเดียวกัน การหัดเขียนสมุดเฟรนด์ชิปตอนจบ ป.6 อย่างตะกุกตะกักเพราะยังไม่เข้าใจคำว่ามิตรภาพดีนัก ความฟูมฟายน้ำมูกน้ำตาไหลในพิธีปัจฉิมนิเทศที่โรงเรียนจัดให้พี่ ม.6 ได้บอกลาคุณครู และเขียนคำอำลาบนเสื้อนักเรียนให้เพื่อนที่ไม่อยากจากกัน ไปจนถึงงานบายเนียร์ (หรือในชื่ออื่นๆ) ที่รุ่นน้องร่วมกันจัดเพื่อเลี้ยงส่งพี่ๆ ปีสุดท้าย แยกย้ายไปสู่โลกการทำงานจริง
แม้ยังไม่ถึงวัย แต่ในกรณีนี้ คงต้องยกตัวอย่างงานแสดงมุทิตาจิตหรือฉลองการเกษียณอายุงานไปด้วยสินะ
ความง่ายของการแยกย้ายอย่างมีพิธีรีตองคือ เรามักมีโอกาสได้แสดงออกถึงอะไรบางอย่าง จะร้องไห้ฟูมฟายกอดคอเพื่อนซี้ จะส่งจดหมายสารภาพรักเพื่อนที่แอบชอบมาตลอดหลายปี จะขอโทษคุณครูที่เคยดื้อดึง ขอบคุณผู้ใหญ่ที่ให้การสนับสนุน จะให้อภัยเพื่อนที่โกรธกันมานาน พิธีเหล่านั้นมันเอื้อให้เราเปิดใจทำได้ไม่ยาก
แต่กับการแยกย้ายในชีวิตอีกมากที่เราอาจไม่มีโอกาสได้ทำอย่างนั้น เช่น การแยกย้ายเมื่อเพื่อนร่วมงานที่ร่วมหัวจมท้ายกันมาขอลาออกจากทีม การแยกย้ายเมื่อสภาพเศรษฐกิจส่งฟ้าผ่าให้ทุกคนต้องตกงานกะทันหัน หรือแม้แต่การที่ใครบางคนในชีวิตมีเหตุให้ต้องหายออกไปและไม่อาจเป็นคนในชีวิตให้กันได้อีก
เพราะการแยกย้ายบางชนิด นอกจากจะไม่มีพิธีรีตองแล้ว บางครั้งก็ไม่มีช่วงเวลาให้เตรียมตัวด้วยซ้ำ และเมื่อต้องเผชิญ–ฉันพบว่ามันเป็นเรื่องยากทุกที
ในบรรดาการแยกย้ายทั้งหมด มีครั้งหนึ่งที่ฝังใจฉัน เพราะถึงแม้ว่าชีวิตจะผ่านการมีเพื่อนร่วมงานเดินออกจากทีมหลายครั้งหลายครา แต่ในวันที่พวกเรายังเห็นว่าการทำงานเป็นทุกอย่างของชีวิต คุณค่าของเราแขวนอยู่ที่การทำงานหนัก ดื่มกินความภาคภูมิใจเมื่องานเสร็จ หัวเราะ เฮฮา เมาล้น หรือตบบ่าปลอบโยนกันและกัน แน่นอนว่าการลาออกของเพื่อนคนเดียวจะไม่ก่อการเปลี่ยนแปลงใดในการทำงาน แต่ช่วงเวลาอ้อยอิ่งที่เราอยู่ออฟฟิศกันจนดึกดื่น นั่งดูเพื่อนเก็บข้าวของที่โต๊ะ (ซึ่งมีอยู่ไม่กี่อย่าง) อย่างเชื่องช้า จับไม้จับมือกันก่อนจากและหันมามองหน้ากันจริงๆ สักครั้ง มันเป็นช่วงเวลาที่ฉันรู้ชัดว่า เราไม่อาจมีชีวิตแบบเดิมได้อีกแล้ว
ซึ่งนั่นแหละ ความยากของการแยกย้าย เพราะมันมีบางอย่างของเราเดินตามคนที่จากไป หรือบางสิ่งของคนที่จากไป ไม่ได้ถูกเก็บใส่กล่องตามไปด้วย
ในฐานะคนทำนิตยสารที่อยู่ช่วงคาบเกี่ยวระหว่างรุ่งเรืองถึงขีดสุดถึงซบเซาจนเพื่อนร่วมแผงปิดตัวไปเกือบหมด มันยาวนานพอที่ฉันและเพื่อนร่วมอาชีพจะถนัดและรับมือการแยกย้ายได้ดีพอตัว ฉันจากมา เพื่อนจากไป มีคนมารับช่วงต่อ เปลี่ยนแปลง ปรับตัว และมีที่ทางใหม่ๆ ให้การแยกย้ายแต่ละครั้งไม่น่าหดหู่เท่าไหร่นัก เพราะเอาเข้าจริง ธรรมชาติของการแยกย้ายมันคือการรู้ว่าอย่างไรเสีย ชีวิตก็ต้องไปต่อ
เรายังเป็นเด็ก ม.6 คนเดิมที่ร้องไห้จนตาปูดเพราะต้องจากเพื่อนไป แต่ก็ยังฝันถึงการได้มีแฟนตอนเรียนมหา’ลัยซะทีเถอะ (ฮ่า)
กลับมาที่ทุกการแยกย้าย–ไม่ว่าจะมีพิธีรีตองหรือไม่ เราแค่ต้องการเวลาอ้อยอิ่ง เพื่อรู้ชัดว่าอะไรในตัวเราที่เพื่อนหยิบติดมือไป และอะไรในตัวของเพื่อนที่ถูกทิ้งไว้และมีความหมายกับเรา
นั่นทำให้การแยกย้ายไม่เศร้า–ในที่สุด