ตั้งแต่ชีวิตเข้าสู่เกณฑ์การวัดมาตรฐานการอ่านออกเขียนได้ ฉันก็ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่เด็กดีโดยไม่ต้องพยายามมากนัก แค่ท่องจำ ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูกได้ก่อนเพื่อน ผสมคำอ่านออกได้รวดเร็ว เขียนตัวบรรจงตรงบรรทัด คุณครูประจำชั้นก็กล่าวถึงฉันต่อหน้าเพื่อนให้เอาเยี่ยงอย่าง เรียกชื่อฉันชัดถ้อยชัดคำพร้อมน้ำเสียงชื่นชม และประคบประหงมกว่าใคร ซึ่งนั่นส่งผลให้เพื่อนๆ ประถมหนึ่ง (ที่เด็กเกินกว่าจะรู้ว่าเด็กดีคืออะไร) จัดฉันอยู่ในหมวดหมู่เด็กที่ทำอะไรก็ไม่ผิดไปด้วยอย่างไม่คิดตั้งคำถาม
ตามประสาเด็กที่เติบโตในโรงเรียนเล็กๆ ชานเมืองในยุคต้น 90s รูปแบบการศึกษาของเด็กยุคเดียวกันไม่แตกต่างมากนัก ครูประจำชั้นมักต้องหายไปประชุมกับครูใหญ่ แล้วสั่งให้หัวหน้าห้องจดชื่อคนที่คุยและลุกออกจากโต๊ะ บางวันก็มีเด็กทนไม่ไหว หยุกหยิกยุกยิก ก่อความไม่สงบแค่ 3-4 คน แต่บางวันก็คล้ายมีจลาจลที่เด็กทั้งห้องลุกออกจากโต๊ะแล้ววิ่งป่วนจนเกินห้ามปราม
ใช่ ในวันจลาจลอย่างนั้น เด็กดีอย่างฉันก็จะออกมาวิ่งด้วย
แต่เมื่อผู้ถือกฎไม้เรียวกลับมาที่ห้อง หัวหน้าห้องมักจะรายงานว่ามีเพียงตัวหัวโจก เพื่อนสนิทของหัวโจก ส่วน ‘ฉัน’ ที่ไม่ได้ออกไปเล่นซนเหมือนเพื่อนคนอื่นก็ทำได้เพียงนั่งนิ่งเงียบรอดูเพื่อนเรียงแถวโดนไม้เรียวฟาดก้นทีละคน ทีละคน จนเป็นเรื่องชินตา เพราะภาพเดียวกันนี้ย่อมวนเวียนเกิดซ้ำ เกิดแล้ว เกิดเล่า อยู่เช่นนี้ ตั้งแต่ชั้นประถมยันมัธยมปลาย

เมื่อถึงวัยรุ่นที่เริ่มตั้งคำถาม แทนที่จะสงสัยในระบบการศึกษา ฉันกลับนึกสงสัยเพื่อน ‘เด็กไม่ดี’ ที่ขยันหาเรื่องให้ถูกดุด่าหรือฟาดตีเป็นประจำ ฉันไม่เข้าใจเพื่อนเด็กหญิงที่แอบซอยผม ไม่เก็ตเพื่อนผู้ชายที่แอบไปสูบบุหรี่ในห้องน้ำ และโกรธด้วยซ้ำที่เพื่อนสนิทไม่ตั้งใจเรียน
สำหรับฉันในตอนนั้น การเป็นเด็กดีมันง่ายกว่าทำตัวผิดระเบียบตั้งเยอะ มีกฎอะไรก็ทำไป เขาไม่อยากให้เราทำอะไรก็อย่าไปทำ แค่ทำอย่างนี้ ชีวิตก็ไม่ต้องเจอเรื่องยุ่งยาก ไม่ต้องยืนเข้าแถวรอไม้เรียวฟาดก้นให้เจ็บแสบ ไม่ต้องเดินหลบๆ ซ่อนๆ เวลาผ่านหน้าห้องพักครู ไม่ต้องถูกตะคอกหรือดุด่าด้วยคำร้ายๆ แบบที่พ่อแม่เรายังไม่เคยพูดให้ได้ยิน
อย่าเพิ่งเบ้หน้าใส่ฉัน เพราะฉันเองก็มีเหตุการณ์หนึ่งทำให้เริ่มฉุกคิดตั้งคำถามอีกแบบเหมือนกัน
บ่ายวันหนึ่งตอนอยู่ชั้น ม.5 โรงเรียนมีแคมปัสทัวร์ที่ศิลปินวัยรุ่นมาเปิดคอนเสิร์ตในโรงเรียน แค่เสียงซาวนด์เช็กดัง ใจฉันก็เต้นตึกตักแล้ว เพราะหลังจากผ่านคอนเสิร์ตปีใหม่ที่ได้ไปลองกรี๊ดสุดเสียงหน้าเวทีมา ฉันก็รอคอยวันนี้ใจจดจ่อ
แต่ไม่รู้อีท่าไหน คุณครูห้องสหกรณ์ที่สอนวิชาภาษาไทยเรียกฉันเข้าไปพบก่อนคอนเสิร์ตเริ่ม แล้วบอกว่า “วันนี้ไม่มีเรียน มาช่วยครูหน่อยแล้วกันนะ เธอคงไม่ไปดูหรอกใช่ไหมคอนเสิร์ตอะไรนั่นน่ะ”
ด้วยความเด็กดีค้ำคอ ฉันได้แต่รับผ้าขี้ริ้วมาอย่างงงๆ แล้วปีนไปเช็ดเหล็กดัดอมฝุ่นเหนือช่องหน้าต่างยาวเหยียดอย่างรีบเร่งแข่งกับเสียงกลองและเบสที่ดังมาถึง โดยหวังแค่ว่าให้ทันวงสุดท้ายที่เล่นก็ยังดี
ซีนต่อจากนั้นเป็นภาพฝังใจ หลังจากซักผ้าฝุ่นเขรอะตากเสร็จ ฉันยกมือสวัสดีคุณครูแล้วรีบวิ่งไปที่สนาม เบียดเสียดเด็กนักเรียนที่ยืนออเต็มพื้นที่หวังจะตามหาเพื่อนในกลุ่มที่เดาว่าอยู่หน้าเวทีแน่ๆ แต่เมื่อถึงที่หมาย นักร้องบนเวทีก็บอกว่า “ฝากติดตามผลงานของเราด้วยนะคร้าบ!” ก่อนที่ทุกอย่างจะจบลง (แม้แต่อังกอร์ เขาก็ได้เรียกร้องกันไปแล้ว!)
ตอนที่เพื่อนถามว่าฉันหายไปไหนมา เป็นครั้งแรกที่ฉันนึกอิจฉาคนที่ไม่มีตำแหน่งเด็กดี

และคล้ายถูกลงโทษ หลังจากวันนั้นฉันก็เริ่มมีโอกาสได้รับรู้ความเจ็บปวดของเพื่อนเด็กดื้อที่ฉันเคยนึกหงุดหงิดใจ
ฉันใจหายวาบเมื่อได้ยินครูผู้หญิงถามเพื่อนที่ใส่กระโปรงสั้นตามสมัยนิยมตอนนั้นว่า “พุงป่องแบบนี้ท้องหรือเปล่า” ฉันโคตรไม่เข้าใจที่ครูฝ่ายปกครองเรียกเพื่อนที่เรียนดีขึ้นผิดหูผิดตาไปตรวจฉี่ว่าเสพยาบ้าไหม ทั้งที่เขาแค่ตั้งใจอ่านหนังสือเพราะอยากเข้ามหา‘ลัยให้ได้ ฉันเบื่อที่ครูแนะแนวเอาแต่เล่าเรื่องลูกตัวเองให้ฟัง และฉันเสียใจที่สุดเมื่อเห็นเพื่อนร้องไห้อย่างหนักเพราะถูกครูคนหนึ่งถามว่า “พ่อแม่ไม่ตั้งใจให้เธอเกิดมาเหรอ” จากอีแค่ตอบคำถามในห้องเรียนไม่ได้เท่านั้น (ที่จริงครูใจร้ายคนนั้นตายไปแล้ว ฉันไปงานศพด้วย ตั้งใจไปเพื่อบอกครูว่าฉันไม่อโหสิกรรมให้หรอก–ในขณะที่เพื่อนคนนั้นยังไม่ผูกใจเจ็บเท่าฉัน)
ม.6 เทอมสุดท้าย ฉันกลายเป็นเด็กที่หัดผิดระเบียบเท่าที่ทำได้ เช่น ใส่กระโปรงสั้นอย่างที่ครูห้าม (และโดนหยิกแขนจนเนื้อเขียวเป็นครั้งแรก) ไปโรงเรียนสายเพื่อต่อแถวถูกไม้เรียวฟาดตามกฎ หรือลองโดดเรียนวิชาแนะแนวที่เบื่อดู แต่นั่นก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงอะไรได้
วิธีคิดแบบเด็กดียังคงฝังแน่นในตัวฉันจนกลายไปเป็นผู้ใหญ่ แม้จะหย่อนยานกับกฎงี่เง่า ข้ามเส้นศีลธรรมอันดีบางข้อมาได้ แต่โดยรวมฉันก็ยังยอมจำนนกับระบอบที่รู้แก่ใจว่าแย่แค่ไหน แต่ในเมื่อมันเกินกว่าที่เราจะแก้อะไรได้ เราจึงเลือกที่จะทำสิ่งดีๆ เล็กๆ เพื่อแลกกับการได้รับสิ่งดีๆ เล็กๆ กลับมา
กว่าจะขัดถูให้คราบ ‘เด็กดี’ ที่ฝังแน่นนี้หลุดออกมาได้บ้าง ก็ผ่านไปหลายรัฐประหารเหลือเกิน

ช่วงนี้ ฉันยอมสละเวลาชีวิตจำนวนหนึ่งไปกับการทุ่มเถียงเรื่องดีเลวกับผู้คนผ่านช่องคอมเมนต์และ direct message (ฉันไม่ชอบการพูดลอยๆ ในหน้าวอลล์ตัวเอง รู้สึกว่ามันชวนให้ตีความหลากหลายจนเกินไป) ออกตัวเลยนะว่าความเป็นเด็กดีในตัวที่ยังเหลืออยู่ ทำให้ฉัน ‘ค่อนข้าง’ เข้าใจวิธีคิดของคนที่เฝ้าบอกให้เรามองโลกในแง่ดี คนที่ไม่อยากวิจารณ์รัฐบาลแม้ตัวเองจะได้รับผลกระทบ หรือคนที่ไม่อาจมูฟออนจากชุดความดีเดียวได้ ฯลฯ
เพราะฉันรู้ว่ามันยากเหลือเกินที่จะยกมือบอกครูว่า เราเองก็ลุกออกจากโต๊ะไปวิ่งเล่นกับเพื่อนเหมือนกัน มันน่าอายจนไม่อยากไปโรงเรียน เมื่อเพื่อนทั้งห้องจับคู่ล้อเรากับเพื่อนที่อ่านหนังสือไม่ออก มันต้องทำเป็นไม่ได้ยิน เมื่อเพื่อนหลังห้องซุบซิบกันว่าเราได้เกรดสี่เพราะสนิทกับครู และมันง่ายกว่ามาก หากเราเพิกเฉยต่อทุกความถูกผิด เพราะเราจะไม่ต้องได้รับผลกระทบอะไรเลย
แต่ไม่มีอะไรรับประกันว่าเราจะเพิกเฉยได้ตลอดไปหรอกนะ
เพราะวันใดที่เรา ‘รู้สึก’ ถึงความเจ็บปวดจากสิ่งที่เราจำยอม จะด้วยเราเจ็บปวดเอง หรือเรารับรู้ความเจ็บปวดของคนอื่นได้ เราจะโกรธตัวเองเหลือเกินที่เงียบอย่างนั้น—และเราจะไม่อาจเงียบได้อีกต่อไป