ลูกทุ่งวิจิตรศิลป์ 60 : เทศกาลเพลงลูกทุ่งสุดสร้างสรรค์ฝีมือเด็ก มช.

เราเป็นคนหนึ่งที่ตั้งตารองานลูกทุ่งวิจิตรศิลป์ งานประจำปีที่จัดโดยคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาตั้งแต่เข้ามาเรียนปี 1 ที่นี่ พอได้ข่าวว่าปีนี้จะมีลูกทุ่งวิจิตร ภาพของไข่ย้อย หนุ่มผมยาวรวบผม ขึ้นร้องเพลง โปรดเถิดดวงใจ ของคุณทูล ทองใจ บนเวทีในงานลูกทุ่งวิจิตรจากภาพยนตร์เรื่อง เพื่อนสนิท ยังตราตรึงใจ ทำเอาใจสั่นทุกครั้งที่นึกถึง เราเลยตั้งใจเต็มที่ว่างานนี้ต้องได้เจอไข่ย้อยในอุดมคติสักคน

งานลูกทุ่งวิจิตรศิลป์ประจำปีการศึกษา 2560 นี้เลื่อนมาจัดในช่วงต้นปีเมื่อวันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา ณ ไร่ฟอร์ด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเนื่องจากปีนี้เป็นปีครบรอบ 35 ปี ของคณะวิจิตรศิลป์ เลยเป็นที่มาของชื่องานว่า 35 ปีทอง ฉลองชัย ลูกทุ่งไทยไชโย ทางคณะเลยถือโอกาสจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ที่สุด โดยมีรูปแบบพิเศษกว่าทุกปี ทั้งขยายสเกลของงานให้ใหญ่ขึ้น ปรับรูปแบบงานให้ร่วมสมัยแต่ก็ยังรักษาไว้ซึ่งหัวใจหลักของธีมงานอย่างลูกทุ่ง

แนวคิดการจัดงานปีนี้ได้มาจากคำว่า ‘การเกิดใหม่’ ที่หมายถึงการกลับมาของงานลูกทุ่งวิจิตรศิลป์ที่ห่างหายไปนาน ทางผู้จัดงานเลยนำแนวคิดลูกทุ่งไทยที่กลับมาได้รับความนิยมในวงกว้างตั้งแต่ พ.ศ. 2541 ถึงปัจจุบัน กับศิลปะตะวันตกในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (renaissance) ที่ระลึกถึงถึงศิลปะกรีกโรมันที่เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดมาผสมผสานกันให้เป็นงานลูกทุ่งที่มีความเจริญรุ่งเรืองและเฟื่องฟู

ความโก้และเก๋ของงานลูกทุ่งวิจิตรในปีนี้เริ่มต้นตั้งแต่บัตรเข้างานแล้ว เพราะสร้างกิมมิกเป็นเหรียญรางวัลให้ผู้เข้างานสวมคอเดินเข้างานกันแบบชิกๆ ในสนนราคาบัตรใบละ 120 บาทเท่านั้น และงานนี้เองก็เป็นงานใหญ่ในตำนานที่นักศึกษา มช. ตั้งตารอที่จะมาทุกครั้งที่จัดงาน

ภายในงานแบ่งเป็นโซนอาหารและเครื่องดื่ม โซนจัดแสดงพื้นที่ให้ผู้ชม และบนเวที งานปีนี้มีผู้เข้าร่วมงานอย่างล้นหลามมารวมกันในพื้นที่ขนาดใหญ่ ที่โดดเด่นที่สุดจนไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ เวทีจัดแสดงที่ตกแต่งอย่างอลังการ วิจิตรงดงาม ตามธีมลูกทุ่งไทยที่วางไว้ทุกประการ ในตอนแรกที่ได้รู้ชื่อธีม เราก็ยังนึกภาพไม่ออกว่าจะออกมาในรูปแบบใด แต่ด้วยความร่วมไม้ร่วมมือจากนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ บวกกับความคิดสร้างสรรค์ที่แสดงถึงความตั้งใจจริง ทำให้งานออกมาอย่างดีเยี่ยม นับเป็นความภาคภูมิใจของคณะวิจิตรศิลป์เป็นอย่างยิ่ง

นอกจากเวทีที่ใหญ่อลังการแล้ว ชุดการแสดงแต่ละชุดที่ขนกันมาสร้างความครื้นเครงตลอดคืนก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เพลงลูกทุ่งแต่ละเพลงได้คัดเลือกนักร้อง นักศึกษาหลากหลายคณะ อีกทั้งแดนเซอร์ของแต่ละชุดการแสดงยังได้รับความร่วมมือจากนักศึกษาปีที่ 1 ที่สร้างสรรค์ท่าเต้นและเครื่องแต่งกายได้อย่างแปลกตาเพื่อให้เหมาะสมกับเพลงลูกทุ่งที่นำมาแสดง ขอชื่นชมกับความคิดสร้างสรรค์แบบไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน

รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ นี้เองเป็นสิ่งที่ยิ่งทำให้คนมาร่วมงานประทับใจกลับไป เพราะจุดเด่นของงานลูกทุ่งวิจิตรศิลป์ที่ทำให้เด็ก มช.ทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันรอคอย คือเป็นงานที่ได้โชว์ศักยภาพของนักศึกษา และบูรณาการหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเครื่องแต่งกายให้นักร้อง แดนเซอร์ ศิลปะทางด้านการแสดง ด้านการออกแบบท่าเต้นที่มีเอกลักษณ์ของลูกทุ่ง อีกทั้งนักดนตรีประกอบการแสดงก็เป็นนักศึกษาของคณะเอง งานเทศกาลสุดยิ่งใหญ่นี้อาจเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่ได้รับความร่วมมือและความตั้งใจจริงจากนักศึกษาทุกฝ่าย ทำให้งานจัดออกมาได้อย่างมีคุณภาพเกินความคาดหมาย

คำว่าร่วมมือร่วมใจไม่ได้จบลงแค่รุ่นพี่รุ่นน้อง แม้แต่คณาจารย์ในคณะต่างก็เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อสนับสนุนกิจกรรมของนักศึกษา บุคคลที่น่ารักที่สุดในงานคงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก คณบดีของคณะวิจิตรศิลป์ รองศาสตราจารย์ ดร. วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ ที่ขึ้นมาเป็นนักร้องนำในเพลง ขอใจแลกเบอร์โทร สร้างรอยยิ้มและสีสันภายในงาน เป็นภาพที่อบอุ่น ชื่นใจ และยกให้เป็นสิ่งที่เราประทับใจที่สุดในงาน หากเราเป็นนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ก็คงรู้สึกภูมิใจในตัวคณบดีไม่น้อย เพราะรู้สึกว่าผู้ใหญ่ระดับคณบดีก็ยังร่วมสร้างสรรค์สิ่งนี้ไปด้วยกัน

ณัฐริยา โสสีทา นักศึกษาคณะการสื่อสารมวลชนที่มางานลูกทุ่งวิจิตรศิลป์ในปีนี้บอกกับเราว่า “งานลูกทุ่งวิจิตรศิลป์เป็นงานที่ทำให้เราหวนนึกถึงรากเหง้าของสังคมไทย วัยรุ่นยุคนี้ที่มีความชอบ ความสนใจอย่างอื่น อย่างน้อยก็ยังมางานนี้ มันเป็นงานรำวง งานรื่นเริงที่ได้อนุรักษ์ความเป็นไทยเก่าๆ และทุกคนมีส่วนร่วมกันได้ ให้ความรู้สึกว่าถึงจะเป็นงานรื่นเริงแบบไทยๆ ร้องเพลงลูกทุ่งบ้านๆ สิ่งเหล่านี้ก็ยังคงอยู่”

แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนหรือนิยามความเป็นไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม แต่การที่เรายังได้เห็นคนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งตั้งใจจัดกิจกรรมดีๆ เพื่อสืบทอดประเพณีและอนุรักษ์ให้ศิลปะความเป็นไทยยังคงอยู่ ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างมาก ที่สำคัญคือยังเป็นงานที่พิสูจน์ว่าศิลปะลูกทุ่งไทย และความคิดสร้างสรรค์ของวัยรุ่นยุคใหม่เป็นความลงตัวที่ไปด้วยกันได้

งานจบลงไปเกือบสัปดาห์แล้วแต่ใจเรายังอิ่มสุขอยู่เลย ถึงจะไม่เจอไข่ย้อยในอุดมคติ แต่การได้ใช้เวลาชีวิตมหาวิทยาลัยกับเพื่อนๆ ได้มีช่วงเวลาส่องหนุ่ม เต้นแบบหลุดโลกและสนุกไปด้วยกัน สิ่งเหล่านี้ก็นับเป็นรางวัลให้ชีวิตเราแล้ว ความทรงจำในวันนี้จะอยู่กับเราไปตลอด และจะยิ้มเมื่อนึกถึง หวังว่างานเจ๋งๆ แบบนี้ จะมีต่อไปในปีหน้า ส่งต่อความสุข ความรื่นเริงให้น้องๆ รุ่นต่อไป

ภาพ ธมลวรรณ วันแรก, ณัฐภณ ไชยกอ, กีรติ จิตรจง

AUTHOR