ใครว่าอาการ ‘งอน’ เกิดกับเฉพาะคู่รักอย่างเดียว
ทุกคนน่าจะต้องมีเพื่อนที่สนิทใจด้วยมากๆ อยู่จำนวนหนึ่ง บางคนอาจมีแค่คนหรือ 2 คนด้วยซ้ำ แน่นอนว่าความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเพื่อนสนิทคงเป็นไปในทำนอง ‘มองตาก็รู้ใจ’ ก็แหม ผ่านร้อนผ่านหนาวกันมาเนิ่นนาน ระบายความลับให้กันก็เยอะ เรียกว่า มีแกต้องมีฉัน-มีนายต้องมีเรา-มีมึงต้องมีกู
แต่เคยหรือไม่ ที่ความแนบแน่นดุจหินผานี้ กลับสั่นคลอนง่ายๆ เพียงแค่เห็น ‘เพื่อนสนิท’ เริ่มไปสนิทกับเพื่อนอีกคนที่ไม่ใช่เรา นำมาซึ่งความ ‘งอน’ ที่แสนน่าหงุดหงิด และคิดในใจว่า ‘จะสนิทกับคนอื่นมากไปแล้วนะ’
ครั้นจะไปแสดงออกนอกหน้าว่างอนหรืออิจฉาที่เขาเริ่มไปสนิทกับคนอื่น บางคนก็จะกลัวเสียเชิง แต่จะไปห้ามไม่ให้เขามีเพื่อนคนอื่นก็ใช่เรื่อง บางคนทำอะไรไม่ถูกในสถานการณ์เช่นนี้ จากแค่ลองไม่คุยด้วย กะว่าให้เพื่อนสังเกตเห็นเอง พอนานไป เอ๊ะ ไม่เห็นมาคุยกับกูเลย จนกลายเป็นห่างเหิน และความสัมพันธ์อาจจบลงแบบงงๆ ในที่สุด (เอ้า!)
คงไม่มีใครอยากอยู่ในสถานการณ์ที่เพื่อนสนิทเราไปสนิทกับคนอื่นแน่ แต่ถึงพวกเขาจะเริ่มสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นที่ไม่ใช่เรา ก็ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นจุดสิ้นสุดของมิตรภาพระหว่างเรากับเพื่อนสนิท และไม่ได้หมายความว่า เพื่อนสนิทไม่ชอบหรือไม่เห็นคุณค่าของความสัมพันธ์กับเราสักหน่อย
ว่าแต่ หากต้องอยู่ในสถานการณ์ ‘เพื่อนแง่แค่งอน’ แบบนี้แล้วจะทำอย่างไรดี?

ใช้เวลาอย่างมีคุณภาพเมื่อมีโอกาส
มิตรภาพของเรากับเพื่อนอาจเหนียวแน่น แต่ในจุดหนึ่ง เขาอาจเริ่มหันไปใช้เวลากับคนอื่น บางคนเป็นเพื่อนใหม่ที่เพิ่งเข้ามา ซึ่งเราไม่สามารถไปห้ามได้ แต่จำไว้ว่า แทนที่จะมองในแง่ลบ เราสามารถ ‘Re-มิตรภาพ’ เพื่อดึงความสนใจเขากลับมาได้เสมอ ผ่านกิจกรรมใหม่ๆ บทสนทนาที่ลึกซึ้ง (ที่บางครั้งเราคิดว่ารู้ทุกอย่างแล้วจนเริ่มมองข้ามบางอย่างไป) หรือชวนกันเดินทางเพื่อสร้างความทรงจำใหม่ๆ สิ่งนี้จะทำให้มิตรภาพที่เริ่มดูหย่อนกลับมาแน่นเหมือนเดิมได้

ไม่ใช่แฟน ไม่ต้องติดหนึบก็ได้
คำว่าเพื่อนสนิท ไม่ได้หมายความว่าต้องตัวติดกันตลอดเวลา เพราะในความเป็นจริง มิตรภาพเช่นเพื่อนสนิทนี้ ต่างคนต่างมีชีวิตหรือมีเรื่องราวส่วนตัวอยู่แล้ว (ไม่ใช่แฟนกันสักหน่อย) หากเขาจะมีเพื่อนใหม่ มีสังคมใหม่บ้างก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่กลับมาพบกัน เราก็จูนกันติดได้อย่างง่ายดาย
แต่กับบางคนการยอมรับเช่นนั้นอาจไม่ง่าย เมื่อรู้ว่าเพื่อนสนิทเริ่มไปสนิทกับคนอื่น หลายคนอาจเริ่มร้อนตัวจนพยายามไลน์หา โทรหา หรือพยายามนัดหมายพบเจอมากจนผิดปกติ ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้อาจทำให้เพื่อนสนิทของเรารู้สึกแปลกและอึดอัดมากกว่า จำไว้ว่า ไม่ว่าจะสนิทกันแค่ไหน ก็ควรมีขอบเขตระหว่างกัน แทนที่จะไปแสดงความไม่พอใจ ทำให้เพื่อนรู้สึกสบายใจกับสิ่งที่เราทำจะดีกว่า

ต่อต้านไม่ได้ก็เข้าร่วม
แทนที่จะมัวอิจฉาหรือสงสัย ลองไปทำความรู้จักกับคนที่เพื่อนสนิทเราไปสนิทด้วยเลยก็น่าจะดี ลองหาเวลาไปเที่ยวด้วยกัน หรือหาโอกาสไปพบเจอกัน เผลอๆ คนที่จะไปสนิทกับคนใหม่นั้นอาจเป็นเราแทนก็ได้ หรืออาจจะได้เพื่อนสนิทคนใหม่มาเพิ่มในกลุ่มด้วยซ้ำ ที่สำคัญ ในเชิงจิตวิทยา การเข้าไปทำความรู้จักเช่นนี้ อาจทำให้เราค้นพบนิสัยหรือความไม่สมบูรณ์แบบของอีกฝ่าย ที่ทำให้เรารู้สึกว่า ‘ภัยคุกคาม’ ต่อความผูกพันที่เรามีกับเพื่อนสนิทน้อยลงจนสบายใจได้มากขึ้น

เพื่อนคนอื่นก็ยังมี
ข้อนี้ฟังดูงอนแปลกๆ จะบอกว่า แม้เพื่อนที่ใช้คำว่าสนิทได้เต็มปากของเราอาจมีน้อยนิด แต่เราเองก็น่าจะมีเพื่อนคนอื่นๆ ที่ชื่นชอบกันอยู่อีกไม่น้อย ไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง เช่น อาจเป็นเพื่อนที่ไปเล่นกีฬาด้วยกัน หรือเพื่อนที่ไปเที่ยวด้วยกัน การลองพัฒนาความสัมพันธ์กับพวกเขาเหล่านั้นบ้าง อาจทำให้เราไม่รู้สึกกังวลมากนักเมื่อเพื่อนสนิทของเราเริ่มไปสนิทกับคนอื่น
จำไว้ว่า เราไม่สามารถควบคุมหรือบังคับไม่ให้เพื่อนสนิทของเราไปใช้เวลาร่วมกับใครได้ แทนที่จะคิดในแง่ลบหรือทำตัวเป็นคนบ่อนทำลายมิตรภาพใหม่ของพวกเขา ลองมุ่งความสนใจไปกับการใช้เวลาให้เต็มที่ที่สุดเมื่อมีโอกาสได้พบกัน อาจเป็นเรื่องที่ดีกว่า
ลองเป็นเพื่อนสนิทกันแล้ว คงไม่แคล้วต้องคบกันไปอีกนาน (ถ้าไม่มีเรื่องคอขาดบาดตายมาให้ตัดมิตรกัน) มิตรภาพอันยาวนานของเรากับเพื่อนมันแตกต่างจะตาย ไม่มีใครมาแทนเราได้หรอก
แหม ต่างฝ่ายต่างกุมความลับกันไว้ซะขนาดนั้น
