ตามไปดูงานออกแบบที่บอกเล่าความละเมียดแห่งวิถีชีวิตที่งาน Chiang Mai Design Week 2017

เวียนมาบรรจบอีกครั้งกับงานประจำปีของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ที่เติมสีสันให้กับฤดูหนาวและเมืองเชียงใหม่อย่าง ‘เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week 2017)’ การกลับมาในปีนี้ถือเป็นขวบปีที่ 3 ภายใต้ธีมการจัดงาน ‘Crafted Life’ ว่าด้วยสุนทรียภาพแห่งชีวิตร่วมสมัย นำเสนอวิถีชีวิตความเป็นอยู่อันพิถีพิถันของผู้คนพื้นถิ่นที่หล่อหลอมจากความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม สังคม และสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นต่างๆ และมีอิทธิพลต่องานหัตถกรรมและงานออกแบบในหลากหลายแขนงซึ่งตอบโจทย์ด้านประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวันของผู้คนได้อย่างมีคุณภาพ

นอกจากจะเป็นงานเยี่ยมชม พบปะสังสรรค์ และร่วมกันสร้างโอกาสของคนในวงการออกแบบสร้างสรรค์ คนทั่วไปก็ยังร่วมเพลิดเพลินไปกับสีสัน บรรยากาศสุดคึกคักของงานประจำปีนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 6 – 10 ธันวาคม 2560 ณ บริเวณใจกลางเมืองอย่างอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา หอภาพถ่ายล้านนา และอีกหลายสถานที่รอบๆ ที่เชื้อเชิญให้ผู้มาเยือนไปเปิดแมปทำความรู้จักกับย่านเหล่านั้น ตอบรับกับนโยบายที่ว่าด้วยการผลักดันให้เกิดย่านสร้างสรรค์ หรือ Creative District ที่มีศักยภาพของเชียงใหม่ในภายภาคหน้า

เพื่อบอกเล่าสายสัมพันธ์ระหว่างความคิดสร้างสรรค์และความละเมียดละไมของวิถีชีวิตพื้นถิ่นให้ได้ครบรสที่สุด กิจกรรมหลักในเทศกาลปีนี้จึงถูกไฮไลต์ออกเป็น 5 รูปแบบ เรื่องน่าสนุกแบบนี้เราจะไม่ต๊ะต่อนยอนอย่างเด็ดขาด เพราะฉะนั้นเราจึงต้องตามไปดู

01 Design Showcases

สำหรับคนที่สนใจของใช้ เฟอร์นิเจอร์ดีไซน์เก๋ บอกเลยว่าไม่ควรพลาดงานจัดแสดงผลงานออกแบบจากแบรนด์ดังฝีมือคนไทยกว่า 60 แบรนด์ ทุกชิ้นงานไม่ว่าจะอยู่ในประเภทของ Creative Business, Professional หรือ Young Designers จะต้องได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญและคร่ำหวอดในวงการออกแบบสร้างสรรค์ระดับประเทศ การันตีได้ว่าสิ่งประดิษฐ์ที่เราได้เห็นนั้นมีคุณภาพและได้ผ่านกระบวนการคิดและการทำที่ใส่ใจทุกรายละเอียดจนได้ชิ้นงานสุดพิถีพิถันออกมา

ชวนไปดู Creative Business
Place: พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา (ตรงข้ามอนุสาวรีย์ 3 กษัตริย์)

โซนจัดแสดงงานออกแบบจากแบรนด์ดัง อาทิ สินค้าคอลเลกชันพิเศษของแบรนด์ Labrador ที่ได้ชักชวนนักออกแบบเชียงใหม่ที่สร้างสรรค์งานในสาขาต่างๆ เช่น นักออกแบบเครื่องประดับ อีเวนต์ รวมทั้งกราฟิกมาร่วมมือกันต่อยอดผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้มาเยือนได้เยี่ยมชมผลงานและเห็นถึงวิธีคิดและวิธีทำที่น่าสนใจ พร้อมกับการมอบโอกาสทางธุรกิจให้กับนักสร้างสรรค์หน้าใหม่ รวมทั้งการสนับสนุนและผลักดันงานฝีมือคนท้องถิ่นให้สามารถเข้าสู่การประกอบธุรกิจแบบมืออาชีพ

ชวนไปดู Young Professionals
Place: เดอะ กลาส เฮ้าส์ เชียงใหม่ (The Glass House Chiang Mai)

นิทรรศการแสดงผลงานที่แนะนำ 11 ผลงานออกแบบของนักออกแบบรุ่นใหม่ ในพื้นที่ตลาดสินค้าดีไซน์ Pop Market เราแอบติดใจคอลเลกชัน ‘ศรีเรือน’ จาก SUMTHING คือที่จัดเก็บเครื่องเขียนที่รูปลักษณ์เหมือนสิ่งของเครื่องใช้จากครัวแบบไทยๆ ที่ถูกย่อส่วน (เหมือนเจอไฟฉายย่อส่วนของโดราเอม่อน) แค่คิดว่าถ้าหากของเหล่านี้วางบนโต๊ะทำงานเราก็น่าจะคิดถึงครัวที่บ้านมากกว่างานที่อยู่ตรงหน้าแน่ๆ

02 Pop Market

Place: เดอะ กลาส เฮ้าส์ เชียงใหม่ (The Glass House Chiang Mai)

ใครที่ชอบช็อปเสื้อผ้า ของตกแต่งบ้าน สินค้าไลฟ์สไตล์ที่เปี่ยมไปด้วยดีไซน์ ห้ามพลาดตลาดสินค้าดีไซน์ Pop Market ที่รวมร้านรวงของนักออกแบบรุ่นใหม่มากกว่า 90 ร้านไว้ในงานนี้ (อาทิเช่น เซรามิกจาก Aoon Pottery หรือเสื้อคลุมกิโมโนร่วมสมัยเท่ๆ จาก Duangduan the dressmaker) พร้อมกับพื้นที่นั่งส่วนกลางสุดชิลล์ ตกแต่งด้วยธงประดับหลากสีตั้งแต่ทางเข้างาน และมีโซนร้านอาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่คัดสรรมาเพื่อเอาใจคนที่ชอบกินชอบดื่มของอร่อย เคล้าด้วยการแสดงดนตรีสดเพราะๆ หากนับรวมกับลมหนาวอ่อนๆ ที่พัดผ่านมา บรรยากาศยามเย็นที่นี่ก็น่าจะเป็นสถานที่แฮงเอาต์ที่ชิคที่สุดของทริปเชียงใหม่ครั้งนี้เลยแหละ

03 International Project

มองตัวเราเองแล้วลองเปิดโลกทัศน์มองเพื่อนบ้านของเราบ้าง ในเทศกาลออกแบบเชียงใหม่ยังจัดแสดงผลงานคุณภาพที่สะท้อนวิธีการคิดและการทำฝีมือนักออกแบบจากเมืองต่างๆ ในอาเซียนเพื่อเปิดโอกาสให้นักออกแบบไทยได้แลกเปลี่ยนความคิดกับนักออกแบบเพื่อนบ้าน รวมทั้งเปิดมุมมองใหม่ๆ ในการทำงานของพวกเราเองด้วย

ชวนมาดู Rumah Sanur Creative Hub
Place: หอภาพถ่ายล้านนา (ด้านหลังพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านล้านนา)

Rumah Sanur Creative Hub เกิดขึ้นจากการรวมตัวนักออกแบบสร้างสรรค์จากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งโปรเจกต์ที่ทางการรวมกลุ่มนี้หยิบมาเสนอคือโปรเจกต์ Bambooina งานออกแบบภายใต้คอนเซปต์ ‘Transforming Tradition’ รักษาของเก่าที่มีคุณค่าต่อวิถีชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบัน เช่น การออกแบบและผลิตของใช้ร่วมสมัยที่ทำจากไม้ไผ่ วัตถุดิบที่สามารถหาได้ง่ายๆ ตามท้องถิ่นของตัวเอง เช่น ของใช้ในครัวเรือน หรือแม้แต่ยานพาหนะอย่างจักรยาน

04 Talk & Workshop

กิจกรรมที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้เข้าร่วมอย่างการเข้าฟังงานเสวนาจากศิลปิน นักออกแบบ บุคคลในวงการต่างๆ ทั้งไทยและต่างชาติร่วม 20 คน 20 หัวข้อ ไม่เพียงแค่การนั่งฟังแนวคิด เทคนิค มุมมอง และเรื่องเล่าจากประสบการณ์ทำงานจากเหล่าสปีกเกอร์เท่านั้น เนื้อหาในงานเสวนายังครอบคลุมทั้งเรื่องราววิถีชีวิต ทักษะงานช่าง และการทำธุรกิจในยุคสมัยใหม่ หรือบางคนที่อาจจะชื่นชอบ ‘การลงมือทำ’ มากกว่า เทศกาลปีนี้จึงอัดแน่นไปด้วยเวิร์กช็อปงานคราฟต์ที่น่าสนใจกระจายตัวไปยังสถานที่จัดงานต่างๆ

05 Activities

ตื่นตาตื่นใจกับกิจกรรมหลากหลายรูปแบบกว่า 30 กิจกรรม เช่น นิทรรศการ การแข่งขัน ทัวร์ศิลปะ เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการแต่งแต้มสีสันในกับเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งการจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้กับนักออกแบบ ผู้มาเยือนและคนท้องถิ่นทั่วไป

ชวนไปดู Collective Craft
Place: ห้องนิทรรศการ TCDC เชียงใหม่

นิทรรศการโดย พิบูลย์ อมรจิรพร จาก Plural Designs เพื่อมองหาลักษณะพิเศษของงานฝีมือในบริบทการใช้ชีวิตในปัจจุบันทางผู้จัดจึงได้ชักชวน Selector จากหลากหลายสาขาอาชีพ เช่น ศิลปิน นักออกแบบ นักเขียน สถาปนิก เจ้าของกิจการ และนักประวัติศาสตร์หยิบของใช้ในชีวิตประจำวัน ภูมิปัญญา หรือของที่มีคุณค่าทางด้านจิตใจหนึ่งชิ้นมาแสดงและให้ความหมายกับสิ่งของที่มีความเกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตตัวเอง คล้ายกับบอกเล่าช่วงชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยแต่ของสิ่งนั้นจะยังคงมีบทบาทในชีวิตพวกเขาเสมอ

ชวนไปดู Art in the City
Place: ชุนชนบ้านล่ามช้าง (ตลาดสมเพชร)

งานสตรีทอาร์ตฝีมือศิลปินวัยรุ่นชาวเชียงใหม่ที่จัดแสดงบนกำแพงบ้านและวัดในบริเวณชุมชนล่ามช้าง ชุมชนเก่าแก่อายุกว่า 700 ปีในคูเมืองเชียงใหม่ โดยมีคอนเซปต์หลักคือการเชื่อมโยงคนเก่าคนแก่ของชุมชนให้เข้ากับมุมมองและการแสดงออกของคนรุ่นใหม่ ที่น่ารักคือคุณลุงคุณป้าหรือกลุ่มคนที่เราเรียกได้ว่าเป็นเจ้าของพื้นที่มีความ ‘เข้าใจ’ ในการสร้างสรรค์งานศิลปะบนพื้นที่สาธารณะอย่างการวาดพู่กัน หรือการพ่นสีสเปรย์ (ในกรณีที่สร้างสรรค์บนพื้นที่ๆ เหมาะสม และเจ้าของกำแพงนั้นอนุญาตนะ)

ชวนไปดู Digicraft Life Projection Mapping
Place: พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา (ตรงข้ามอนุสาวรีย์ 3 กษัตริย์)

ถือว่าเป็นไฮไลต์ที่ทุกคนไม่ควรพลาด สำหรับงานโชว์ Projection Mapping ฉายเอนิเมชันเคลื่อนไหวสองมิติลงบนพื้นผิวอาคารพิพิธภัณฑ์เก่าแก่ โดยฝีมือทีม minimal studio บวกกับศิลปะแบบป๊อปๆ ลายเส้นของ Brightside นักวาดชาวเชียงใหม่แต๊ๆ ทำให้โชว์นี้เจ๋งและร่วมสมัยอย่าบอกใคร กับคอนเซปต์ ‘People Place Culture’ บอกเล่าเรื่องราวของวิถีชีวิตผู้คน สถานที่ และศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของเชียงใหม่ สะท้อนความเป็น ‘ปัจจุบัน’ ของเมืองที่เต็มไปด้วยความหลากหลายแห่งนี้ เป็นโชว์ 20 นาทีที่บอกได้ว่าแสง สี เสียงจัดจ้านและจัดเต็มจนเราไม่อยากละสายตา

แต่ว่าเราต้องรีบหน่อย เพราะ Projection Mapping จะถูกจัดแสดงในวันที่ 6, 8-10 ธันวาคมนี้ เริ่มตั้งแต่ 18.30 น. เป็นต้นไป วันละหนึ่งรอบเท่านั้นนะ

ชวนไปดู The Constructions of Ephemeral
Place: ลานประตูท่าแพ

โปรเจกต์เนรมิตวิหารกล่องกระดาษโดยทีมศิลปินชาวฝรั่งเศส นำทัพโดย Olivier Grossetête นักออกแบบผู้มากประสบการณ์ที่เปิดโอกาสให้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยมาร่วมเวิร์กช็อปสร้างวิหารด้วยกล่องลูกฟูกจำนวน 1,200 กล่อง สารภาพตามตรงว่าก่อนไปดู เราแอบคิดว่าวิหารกระดาษไม่น่าจะยิ่งใหญ่อะไรมาก แต่พอเห็นของจริงเราถึงกับต้องอุทานออกมาทันที โครงสร้างของวิหารกล่องลูกฟูกดูแข็งแรง ทั้งตัวเสาและคานดูมั่นคงกว่าที่เราคาดไว้ เราจึงอยากยกให้เป็นหนึ่งงานออกแบบที่เราประทับใจ

กิจกรรมและโปรเจกต์ที่เรายกมาเป็นแค่ส่วนหนึ่งของเทศกาลออกแบบเชียงใหม่ พูดได้เลยว่านี่แค่พอให้คุณได้หอมปากหอมคอเท่านั้น หากวันหยุดนี้ยังไม่มีแพลนไปที่ไหน ตีตั๋วมาเพลิดเพลินกับงานออกแบบสุดสร้างสรรค์พร้อมรับอากาศหนาวที่เชียงใหม่ดูเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยเลยใช่มั้ยล่ะ

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR