ตามไปดูโลกใบเล็กที่อัดแน่นด้วยจินตนาการของนักออกแบบชาวฮ่องกง ในนิทรรศการ BANGKOK Pocket Worlds

“เราไม่ได้แค่จัดการพื้นที่ แต่เรากำลังสร้างสถานที่ที่เชื่อมโยงผู้คนเข้าไว้ด้วยกันในพื้นที่จำกัด” นี่เป็นสิ่งแรกที่เข้ามาในหัวเราขณะเดินชมนิทรรศการขนาดกะทัดรัด ฝีมือนักออกแบบชาวฮ่องกงในมุมห้องจัดแสดงของ LHONG 1919

ด้วยความที่ฮ่องกงเป็นเมืองขนาดเล็ก ศิลปะการออกแบบจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยหล่อหลอมและบริหารวิถีชีวิตในพื้นที่ใช้สอยที่มีจำกัด สิ่งนี้ถูกสะท้อนอยู่ในตัวงานออกแบบของ 10 ศิลปิน จาก 8 แบรนด์ ที่มาในรูปแบบพกพาได้ ตามคอนเซปต์ของนิทรรศการว่า BANGKOK Pocket Worlds ที่ข้างในกระเป๋าไซส์มินิของทุกคนจะบรรจุโลกแห่งศิลปะที่ผสมผสานตัวตนของพวกเขาไว้อย่างลงตัว นับเป็นการสร้างศูนย์การเรียนรู้ขนาดย่อมที่แบ่งปันเรื่องราวของตัวศิลปินและผู้รับชมได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด


Uncle ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานสตรีทอาร์ตและผู้ก่อตั้ง AfterWorkShop (AWS) บอกเราว่าศิลปะเป็นเหมือนสะพานที่เชื่อมโยงเขากับสังคมเข้าไว้ด้วยกัน

“สตรีทอาร์ตเป็นผลงานศิลปะที่เห็นได้ทั่วไปตามชุมชน และมันสะท้อนชีวิตของสังคมในพื้นที่นั้นๆ ผมมากรุงเทพฯ ครั้งนี้ผมอ่านภาษาไทยไม่ออก แต่เมื่อเห็นสตรีทอาร์ตตามฝาผนังชุมชน ก็ได้เรียนรู้ทั้งสัญลักษณ์ ภาพวาดพุทธศาสนาตามวัด ดอกไม้ ความเชื่อและความคิดของคนไทย ผมจะเอาสิ่งนั้นมาประยุกต์กับงานของผม ล่าสุดผมไปทำงานสตรีทอาร์ตที่ลอนดอนมา เลยเลือกทำเป็นรูปลิงเพราะปีนั้นเป็นปีลิงตามปีนักษัตรจีน ผมอยากส่งต่อสิ่งที่ผมรู้หรือวัฒนธรรมของผมให้คนอื่นด้วย ใครก็ได้ที่อาศัยหรือผ่านไปมาแถวนั้น”


Mui Kinoshita นักออกแบบหัวสมัยใหม่ที่เห็นถึงความสำคัญของการออกแบบในฐานะเครื่องมือที่ช่วยยกระดับชีวิตของคนให้ดีขึ้น ผลงานที่เธอพกมาแสดงในครั้งนี้คือโคมไฟที่ดูเหมือนจะธรรมดา แต่กลับมีเครื่องกรองอากาศคอยดักจับมลพิษผสมผสานอยู่ด้วย ซึ่งช่วยลดพื้นที่ใช้สอยไปได้เยอะทีเดียว

“สำหรับฉัน การออกแบบไม่ใช่แค่การทำของให้สวยงาม เรื่องนั้นเป็นเรื่องผิวเผิน หน้าที่ของการออกแบบคือการแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันของผู้คนต่างหาก เรากำลังสร้างนวัตกรรมที่มีการออกแบบเป็นพื้นฐาน สร้างวิถีชีวิตตัวเลือกให้มนุษย์ จะบอกว่าเป็นศิลปะแห่งการแก้ปัญหาก็ได้ แต่ก่อนจะแก้ปัญหาเราต้องเข้าใจปัญหาก่อน หน้าที่ของนักออกแบบยุคนี้จึงไม่ได้อยู่แค่งานออกแบบ แต่ต้องออกไปเข้าใจผู้คนด้วย”


Xavier Tsang ผู้ก่อตั้ง BeCandle และนักศิลปะแห่งกลิ่นที่คิดค้นกล่องแห่งความทรงจำ (Memory Chest) ที่บรรจุอุปกรณ์ทำเทียนและน้ำมันหอมระเหยเพื่อให้ผู้ใช้สร้างกลิ่นแห่งประสบการณ์ที่อยากเก็บไว้ในช่วงเวลาสำคัญของชีวิต

“กลิ่นเป็นศิลปะที่ไม่เห็นได้ด้วยตา แต่ทิ้งความรู้สึกและปลุกจิตใต้สำนึกที่รุนแรงได้ เมื่อก่อนผมอยู่แถวชนบท บางครั้งก็ต้องเผาใบไม้เพื่อให้ความอบอุ่น วันหนึ่งผมคิดถึงช่วงเวลานั้น แต่ก็ไม่รู้จะนำมันกลับมายังไง เลยลองสร้างกลิ่นขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงความทรงจำวัยเด็กขึ้น นี่เป็นสิ่งที่ศิลปะชนิดอื่นให้ไม่ได้ และผมอยากให้ผู้คนได้สัมผัสประสบการณ์แบบเดียวกันนี้”


Kay Chan นักออกแบบเพื่อสังคมที่ยั่งยืนพัฒนาระบบตลาดเคลื่อนที่โดยใช้จักรยาน (Mobile Bike Market) แทนที่ตลาดแบบดั้งเดิมเพื่อลดพื้นที่ และเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขายโดยตรง แถมยังนำปลาเค็มซึ่งเป็นอาหารท้องถิ่นดั้งเดิมของฮ่องกงมาใส่บรรจุภัณฑ์ออกขาย ให้สะดวกต่อการเก็บและบริโภค และช่วยให้วัฒนธรรมการกินของคนฮ่องกงคงอยู่ต่อไป

“การที่ผู้ซื้อและผู้ขายได้เจรจากันโดยตรงจะทำให้ผู้ขายเห็นปฏิกิริยาตอบกลับของลูกค้า และนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ซื้อ สิ่งนี้นับเป็นเรื่องสำคัญของการออกแบบ นอกจากนี้สิ่งที่เราทำคือการเชื่อมโยงจุดเล็กๆ ในสังคมเข้าหากัน ทำให้เราแก้ไขปัญหายิบย่อยที่รัฐบาลเข้าไม่ถึงได้รวดเร็วและยั่งยืน เรียกได้ว่าเรากำลังออกแบบวิถีชีวิตเพื่อคนในสังคมอย่างแท้จริงและยังสามารถพัฒนาต่อไปได้ในอนาคต”


Jim Wong กราฟิกดีไซเนอร์ที่นำรูปเรขาคณิตมาเชื่อมโยงเข้ากับวัฒนธรรมและตัวอักษรบอกเราว่าเขายังเชื่อมั่นในพลังของสื่อสิ่งพิมพ์อยู่

“จริงอยู่ที่มีคนบอกว่าสื่อสิ่งพิมพ์กำลังจะตาย แต่ผมว่ามันแค่กำลังเปลี่ยนรูปร่างมากกว่า เหมือนเทปคาสเซตต์ที่เปลี่ยนรูปเป็นซีดี ผมกำลังทำให้สื่อสิ่งพิมพ์อ่านง่ายขึ้น ด้วยการสร้างรูปภาพที่เข้าใจง่ายผ่านรูปทรงเรขาคณิตและภาพพิมพ์ตัวอักษร เมื่อผสมผสานกับวัฒนธรรมแล้วเราก็ได้งานร่วมสมัยขึ้นมา แถมสื่อสิ่งพิมพ์ที่จับต้องได้ยังมีอะไรให้เล่นอีกเยอะ ผมเคยออกแบบหนังสือที่ปกมีเนื้อสัมผัสเป็นไม้ด้วย ผมไม่ได้ว่าดิจิทัลไม่ดีนะ แต่สิ่งพิมพ์ก็ยังมีเสน่ห์ของมันและเล่นกับจินตนาการของคนได้อยู่”


CM Jao และ Ken Cheung นักออกแบบภายในผู้ก่อตั้ง Oft Interiors และยังเป็นนักออกแบบโรงภาพยนตร์ที่น่าจับตามองในฮ่องกงและจีนได้พกความล้ำสมัยและแนวคิดที่เล่นกับประสบการณ์ของผู้ใช้มาอย่างเต็มเปี่ยม

“เราออกแบบโรงภาพยนตร์จากการมองหาจุดเริ่มต้นของมันก่อนจะดำดิ่งลงไปในห้วงจินตนาการ เช่น เราออกแบบเพดานของโรงหนังให้เป็นริ้วๆ กระดาษเหมือนตัวบท เรามองว่าตัวบทเป็นจุดกำเนิดของหนังทุกเรื่อง เมื่อคนเห็นจะได้ลองมองย้อนด้วยความชื่นชมและเห็นคุณค่าของมัน นอกจากออกแบบแล้ว เรายังหาความเป็นไปได้ในการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมด้วย เราเปลี่ยนพื้นที่ที่สร้างโรงหนังไม่ได้ให้สร้างได้ด้วยการทำพื้นที่วงกลมให้โค้งขึ้นไปเพื่อขยายพื้นที่ เมื่อนำสถาปัตยกรรมกับการออกแบบมารวมกันเราจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้นับร้อยนับพัน”


Keikko Lee และ Rosetta Lau นักออกแบบภายใน นักออกแบบผลิตภัณฑ์และเฟอร์นิเจอร์ที่นำความเป็นฮ่องกงดั้งเดิมบวกกับศิลปะสมัยใหม่มาใส่ไว้ในสถานที่ในชีวิตประจำวันของทุกคน อย่างร้านอาหารและคาเฟ่ต่างๆ ได้เล่าถึงหลักการออกแบบให้เราฟัง

“เราพยายามผสมงานคราฟต์ลงไปกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น แสงไฟนีออนตามป้ายร้านต่างๆ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นจุดเด่นของฮ่องกงกำลังได้รับความนิยมน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากการมีไฟนีออนเยอะเกินไปกลายเป็นมลภาวะ ทำให้คนเริ่มแสบตา แต่เราก็ไม่ได้อยากให้มันหายไป เราเลยเอามาใส่ไว้ในงานออกแบบภายใน ซึ่งจำกัดบริเวณที่แสงจะไปถึง การเอาไปประยุกต์ใช้กับร้านอาหารหรือคาเฟ่ก็เหมือนเราใส่มันกลับเข้าไปในวิถีชีวิตของผู้คนอีกที”


Jack Lau นักออกแบบภาพเคลื่อนไหวหรือโมชั่นกราฟิกผู้ก่อตั้ง Vision Desire ได้ตั้งเป้าหมายจะสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคมและการศึกษาผ่านงานของเขา ซึ่งทำสำเร็จมาแล้วในการรณรงค์ให้วัยรุ่นตระหนักถึงผลร้ายของการดื่มแอลกอฮอล์และมลภาวะจากการเผาทำลาย

“คนสมัยนี้ไม่ค่อยมีความอดทนและไม่ชอบอ่าน ผมเลยคิดว่าการทำโมชั่นกราฟิกจะช่วยให้ผู้คนหันมาสนใจประเด็นต่างๆ ในสังคมได้มากกว่า รวดเร็วกว่า และง่ายกว่า ซึ่งผมก็ทำไม่ยาวมาก เพราะถ้ายาวมากไปคนก็จะไม่ดูอีก แต่ผมยังไม่อยากหยุดแค่ตรงนี้นะ เป้าหมายคือทำให้โมชั่นกราฟิกมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมให้ได้มากที่สุด เพื่อกระตุ้นความคิดและเพิ่มทักษะการสร้างความสัมพันธ์ของคนให้มากขึ้น”


จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เหล่านักออกแบบต้นกล้าจากฮ่องกงกำลังทำคือการนำศิลปะการออกแบบกลับมาหาชีวิตผู้คนมากขึ้น ไม่ใช่การทำให้ผลงานกลายเป็นสิ่งหรูหราจับต้องไม่ได้ และพวกเขากำลังก้าวต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อแนะนำความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้โลกได้รู้จัก พวกเขาจะแบกความฝันใส่ไว้ในกระเป๋าเล็กๆ ใบนั้น และเดินทางนำมันไปเผยแพร่ตามมุมต่างๆ ของโลก โดยมีประเทศไทยเป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น

การจัดแสดงงานครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ DXHK ที่ทาง Hong Kong Design Centre (HKDC) เป็นผู้จัด จุดประสงค์ของงานนี้ไม่ใช่เพียงแค่นำเสนอผลงานและความสามารถของนักออกแบบฮ่องกงรุ่นใหม่เท่านั้น แต่ยังเชื่อมไปถึงการร่วมมือในอนาคตกับศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ของไทยเรา โดยหวังจะทำให้พื้นที่ออกแบบงานสร้างสรรค์ในกรุงเทพฯ กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง และยังส่งเสริมให้คนไทยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกแบบได้ในวงกว้างอีกด้วย

website l hkdesigncentre.org
Facebook | HKDC 香港設計中心

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR