ตามไปดู 7 งานออกแบบสร้างสรรค์แถมยังสนุกทั่วเมืองเชียงใหม่ ในงาน Chiang Mai Design Week 2016

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้ขึ้นไปสัมผัสลมเย็นๆ
ของเมืองเชียงใหม่ในวาระที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เขาจัด ‘เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week 2016)’ กันอย่างคึกคักตั้งแต่ 3 – 11 ธันวาคม
ปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ต่อยอดความสำเร็จและอุดช่องโหว่จากงานครั้งก่อนในปี
2014 ซึ่งตลอดทั้ง 9 วันเราน่าจะได้เห็นเมืองเชียงใหม่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาและบรรยากาศสร้างสรรค์
ที่ไม่ว่าจะเป็นนักออกแบบ ศิลปิน หรือแม้แต่ใครที่ไม่ได้ทำงานข้องเกี่ยวศิลปะโดยตรงก็คงได้พลังกลับมาเติมเต็มไม่น้อย

ก่อนจะชมผลงานศิลปะสนุกๆ
ที่เราตามไปดูมาแล้ว เราอยากชวนมาพูดคุยกับ อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล
ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ประธานจัดงาน Chiang Mai Design Week 2016 และ อินทพันธุ์
บัวเขียว
ผู้จัดการแห่ง TCDC เชียงใหม่ เล่าภาพรวมของงานและเป้าหมายที่อยากไปให้ถึงกันก่อน
ซึ่งแค่เราฟังก็ตื่นเต้นจนอยากจะโบกรถแดงไปดูงานให้ทั่วเชียงใหม่แล้วล่ะ

ไม่ว่าสิ่งนี้จะอยู่ที่ไหน
ไม่ว่าโปรเจกต์นี้จะเป็นของใคร ถ้าหากเรารู้ เราจะตามไปดู

ใคร: TCDC เชียงใหม่

ปีนี้ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเชียงใหม่เป็นแม่งานประสานงานกับหน่วยงานในจังหวัดเชียงใหม่
กลุ่มศิลปิน นักออกแบบ รวมไปถึงชาวบ้านในชุมชน โดยร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายอย่าง
TCDC กรุงเทพฯ,
สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (OKMD), British Council รวมไปถึงหน่วยงานสร้างสรรค์จากต่างประเทศ
ผลักดันให้เกิดงานนี้สำเร็จขึ้น

ทำอะไร:
เทศกาลออกแบบที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และอนุรักษ์ทักษะฝีมือช่างของศิลปินท้องถิ่น

Chiang Mai Design Week 2016 จัดขึ้นในธีม ‘New Originals’ ตั้งคำถามว่าทักษะฝีมือดั้งเดิมอย่างงานหัตถกรรมจากวัสดุท้องถิ่นอย่างไม้ไผ่
กระดาษสา ทองเหลือง ผ้าฝ้าย ฯลฯ จะประยุกต์กับสื่อและการออกแบบใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตในยุคนี้ได้หรือไม่อย่างไร?
จากคำถามตั้งต้น โปรแกรมของเทศกาลตลอดทั้ง 9
วันเลยถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์นี้เป็น 3 รูปแบบใหญ่ๆ คือ

1. Design & Business
“เรามองไปที่คนตัวเล็กๆ
ที่เขามีฝีมือ มีวัสดุหาได้ในท้องถิ่นอยู่แล้ว ตลอดทั้งปีที่ผ่านมาเราทำกระบวนการเวิร์กช็อปร่วมกับพวกเขา จับเอาเทคโนโลยี
ดีไซน์ใหม่ๆ และโมเดลธุรกิจเข้าไปรองรับให้ผลงานของเขาเข้าสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ได้”
อินทพันธุ์เล่าถึงกระบวนการคัดเลือกผู้ประกอบการ ศิลปิน นักออกแบบ
รวมไปถึงนักเรียน นักศึกษา ที่ส่งผลงานเข้ามา จนได้ 130 ชิ้นงานมีดีไซน์ล้ำที่ประยุกต์ทักษะงานฝีมือ
(Craftsmanship) ตอบโจทย์ความต้องการของโลกยุคปัจจุบันได้ดี
โดยมีผลงานออกแบบจากนานาชาติ ทั้งฝรั่งเศส ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น
อินโดนีเซีย มาร่วมจัดแสดงเช่นกัน

2. Event & Dialogue
ศิลปินต่างคนต่างก็ทำงานของตัวเองอย่างมุ่งมั่น
แต่ในวาระที่เทศกาลงานออกแบบกำลังจัดขึ้นตรงหน้า สิ่งสำคัญมากกว่าคือการที่ศิลปิน
นักออกแบบแต่ละคนจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิค มุมมอง
และประสบการณ์ของแต่ละคนซึ่งกันและกัน รวมพลังเป็นกลุ่มก้อนผ่านงานชุมนุมทางความคิด
(Conference) เสวนา
และเวิร์กช็อป ที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าไปฟังและแลกเปลี่ยนได้ด้วย

3. Creative District
‘คำถามต่อมาก็คือแล้วคนที่ไม่ได้ทำงานอยู่ในวงการศิลปะ
ทำยังไงให้เขาอยากเข้ามาดู เป็นส่วนหนึ่งของงาน ทำยังไงให้งานออกแบบมีคุณค่าและอยู่ในชีวิตประจำวันของเขา’ คือโจทย์ที่ผู้จัดการ TCDC เชียงใหม่ต้องพยายามแก้ไขจากงานครั้งก่อน
จนได้คำตอบออกมางานในปีนี้ที่หยิบศิลปวัฒนธรรมอย่างการทอผ้า
กิจกรรมโดยกลุ่มคนท้องถิ่น เช่น กลุ่มหลงเชียงใหม่ เข้ามาเติมเต็มให้บรรยากาศของเมืองคึกคัก
และจัดแสดงงานศิลปะจัดวาง (Installation) แทรกซึมไปทั่วตัวเมืองเชียงใหม่เชื้อเชิญให้ชาวบ้านสงสัย
และพาเขาเข้าสู่โลกแห่งการออกแบบที่ไม่ได้ไกลตัวอย่างที่เคยเข้าใจ

ที่ไหน: ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเชียงใหม่
และย่านอนุสาวรีย์สามกษัตริย์

นอกจากปักหลักใช้พื้นที่ของ TCDC เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางจัดแสดงผลงานนานาชาติทั้งหมดแล้ว
ในปีนี้ยังแก้ปัญหาพื้นที่จัดงานครั้งที่แล้วจากย่านวัดเกตุซึ่งไม่สะดวกต่อการเดินทาง
ย้ายมาที่ศูนย์กลางรอบอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ที่มีทั้งหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่
หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา ที่ไม่ว่าจะชาวเชียงใหม่หรือนักท่องเที่ยวก็ต้องแวะเวียนไปมาสม่ำเสมอ
นอกจากนี้หลายๆ กิจกรรมยังจัดขึ้นในสถานที่รอบเมืองอย่างท่าแพอีสต์ ร้านกาแฟอาข่า
อาม่า Gallery Seascape เลยออกไปถึงพิพิธภัณฑ์น้องใหม่อย่าง MAIIAM
Contemporary Art Museumด้วย

ทำทำไม: ต่อยอดธุรกิจอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
สร้างบรรยากาศเมืองให้คึกคักและขยายผลให้ประเทศไทยก้าวสู่เจ้าภาพ World
Design Capital

ไม่เฉพาะเป็นเมืองท่องเที่ยว
แต่สาเหตุที่เชียงใหม่ถูกเลือกขึ้นมาเป็นเมืองแรกของไทยที่มีเทศกาลออกแบบก็เพราะมีผู้ประกอบการ
ศิลปิน นักออกแบบที่ทำงานฝีมือซึ่งมีเอกลักษณ์จำนวนมาก และรับมือกับคลื่นเศรษฐกิจที่ถาโถมเข้ามาได้
แต่อภิสิทธิ์ยังมองเป้าหมายของงานครั้งนี้ไปไกลกว่านั้น คือเตรียมผลักดันให้เกิด Bangkok Design Week ขึ้นให้ได้ในปีหน้า
และปลูกปั้นให้เป็นเจ้าภาพ World Design Capital

“ในปีหน้า เราจะเริ่มลงสมัคร World Design Capital 2020 ซึ่งก็ต้องเลือกกรุงเทพฯ
ถ้าได้รับคัดเลือก เราจะมีเทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ และที่เชียงใหม่จัดสลับกันทุกปี
เป็นเมืองที่แสดงให้เห็นว่าใช้ประโยชน์จากงานออกแบบได้ทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม
ซึ่งงานในปีนี้ที่เราจัดกิจกรรมกว่า 200 รายการ มีคนรับรู้
คนที่เข้ามาร่วมงานก็หลากหลาย ไม่ใช่นักออกแบบหรือคนที่ทำงานในแวดวงศิลปะอย่างเดียว
ก็เป็นสัญญาณที่ค่อนข้างดี” อภิสิทธิ์บอกถึงแผนการที่วางไว้ในอนาคต

แนะนำให้ตามไปดู

เทศกาลออกแบบเชียงใหม่จัดทั่วพื้นที่ในตัวเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่วันนี้ถึง
11 ธันวาคม 2559 ยิ่งถ้าใครไปช่วงวันที่ 9 – 11
ธันวาคมจะเต็มไปด้วยบรรยากาศคึกคักของตลาดนัดศิลปะสุดชิก Pop Market ที่เหล่าผู้ประกอบการจะขนสินค้าของตัวเองออกมาวางขายกัน
รวมไปถึงมีเสวนา เวิร์กช็อปให้เข้าร่วมเพียบ!
ติดตามรายละเอียดทั้งหมดได้ที่ www.chiangmaidesignweek.com หรือเพจเฟซบุ๊ก Chiang Mai Design Week

ส่วนถ้าใครไปถึงแล้วงงๆ
ไม่รู้จะตามไปดูโชว์เคสหรืองานออกแบบสุดล้ำชิ้นไหนก่อนดี เรามี 7
ชิ้นงานสนุกที่ประทับใจจนอยากบอกว่าถ้าพลาดไปชมก็คงเสียใจแย่ แถมยังต้องรอไปอีกปีเลยล่ะ

Installation Art

01 เมฆ / In…Cloud

Creative Entrepreneurs: ผศ. ดร.จรรยาพร จุลตามระ, ดร.ปริยกร ปุสวิโร และ
สุขุมาล ธรรมวิเศษ
Location: สำนักงานยาสูบ
จังหวัดเชียงใหม่
Contact: esic.cpe.kmutt.ac.th, soadfab.com

งานศิลปะจัดวางขนาดใหญ่ที่ลอยตัวท่ามกลางต้นไม้เหนือศีรษะของผู้ชมชิ้นนี้เกิดจากการทำงานร่วมกันของคณาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ทั้ง ผศ. ดร.จรรยาพร จุลตามระ นักวิจัยและนักออกแบบแสงสว่าง ร่วมกับสถาปนิก สุขุมาล
ธรรมวิเศษ และ ดร.ปริยกร ปุสวิโร วิศวกรคอมพิวเตอร์ ที่ต่างเรียนรู้แลกเปลี่ยนข้ามสาขาวิชากัน
ได้ออกมาเป็นโครงเหล็กที่โอบอุ้มแผ่นอะคริลิกสีขาวรูปฟอร์มอิสระมองดูคล้ายมวลเมฆ
สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่เดินผ่านไปมาด้วยการเปลี่ยนสีสันอย่างตื่นเต้นและลึกลับ
จนทำให้เรารู้สึกสบายและสนุกอยากจะนั่งมองมันไปนานๆ

“งานชิ้นนี้สามารถต่อยอดได้โดยใช้วัสดุท้องถิ่นอย่างไม้ไผ่
มาผสมผสานเข้ากับเทคนิคไฟ LED ซึ่งจะทำให้คนท้องถิ่นเห็นว่าสิ่งที่เขามีอยู่เป็นได้มากกว่าแค่งานฝีมือ”
ผศ. ดร.จรรยาพรบอก

02 REALM Pavilion

Designer: พิบูลย์
อมรจิรพร (Plural Designs)
Location: หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่
Contact: Plural Designs

ไม้ไผ่สานที่ซ้อนต่อกันเป็นสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่คล้ายอุโมงค์
จัดแสงให้คล้ายแสงเทียนประทีปสว่างไสว คืองานที่สะท้อนการหยิบเอาวัสดุพื้นถิ่นมาต่อยอดเป็นงานร่วมสมัยของผู้ออกแบบได้อย่างดี
ทั้งยังสร้างสรรค์ให้ตัวงานเป็นแกลเลอรี่ชั่วคราวที่จัดแสดงงานของศิลปินคนอื่นๆ ได้อีกด้วย
ที่เราประทับใจคืองานชิ้นนี้ใช้ฝีมือจักสานของชาวบ้านจาก 3 หมู่บ้านรอบเชียงใหม่
คือบ้านทุ่งละคร อ.เชียงดาว, ม่อนเงาะ อ.แม่แตง และ ต.ทาเหนือ อ.แม่ออน มาช่วยกันนี่แหละ

03 ริน / Pour

Designer: เจษฎา
ตั้งตระกูลวงศ์
Location: วัดดวงดี
Contact: jedsadatree.blogspot.com

ข้อแนะนำอย่างแรกคือควรแวะไปชมผลงานชิ้นนี้หลังพระอาทิตย์ตก
เพราะไม่อย่างนั้นเราอาจเดินผ่านมันไปเฉยๆ ประติมากรรมแขวนลอยตัวเหนือทางเข้าวัดดวงดีชิ้นนี้ได้แรงบันดาลใจจากรูปทรงเจดีย์ด้านหลัง
ถูกจับตะแคงคล้ายกำลังเทอะไรบางอย่าง
เป็นงานที่ชวนให้จินตนาการต่อได้ไม่รู้จบจริงๆ


International Exhibition

ผลงานออกแบบนานาชาติทั้งหมดจัดแสดงที่
TCDC เชียงใหม่ซึ่งมีทั้งนิทรรศการ
TRANSFER (S)
ที่นักออกแบบไทยและฝรั่งเศสร่วมกันจัด, นิทรรศการ WONDERGROUND
ของนักออกแบบชาวอินโดนีเซียที่พัฒนาผลงานสไตล์รักโลกรักสิ่งแวดล้อม
แต่ที่โดนใจเราที่สุดคืองานจากประเทศสุดสร้างสรรค์บ้าระห่ำอย่างญี่ปุ่นนั่นเอง

04 Knowledge
Capital

Curator: ฮิโรชิ
อาโอยามา
Location: TCDC เชียงใหม่
Contact: kc-i.jp/en

Knowledge Capital คือศูนย์สร้างสรรค์นวัตกรรมสุดล้ำที่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้า
Grand Front Osaka ประเทศญี่ปุ่น งานนี้เขาขนเอาผลงานบางชิ้นมาจัดแสดงให้เราได้ลองเล่นกัน
อย่าง Face Box ที่ใช้กล่องอะครีลิคขนาดใหญ่สวมลงไปบนหัวเพื่อขยายใบหน้าของเราให้ใหญ่โตโอฬารก็แสนง่ายแต่ประทับใจมาก
Twee-Shirt ที่ตั้งโปรแกรมให้เราสนทนากับเสื้อยืดได้
หรือแม้แต่หุ่นยนต์ผู้หญิงในชุดจักรพรรดินีครึ่งตัวที่เคลื่อนไหวไปมาได้ก็ชวนขนลุกไม่น้อย
(ของจริงมีแขนครบนะแต่ที่ยกมาให้ดูมีแค่ส่วนอก) โซนนี้ยังมีแอนิเมชันสั้นๆ
จากผู้ชนะรางวัล International Students Creative Award (ISCA) มาให้เรานั่งดูเพลินๆ เผื่อเวลาอยู่โซนนี้กันไปยาวๆ ได้เลย


Showcase

05 The New Age of Food Exploration : Gastronomy Design

Creative Entrepreneurs: Salt and
Pepper Design Studio
Location: ชั้น 1
ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์
Contact: Salt and Pepper Design Studio

ออกตัวก่อนว่าเราหลงรักงานนี้เพราะความคิดเยอะ
ความตั้งใจ และรอยยิ้มที่แฝงมาในแววตาขณะที่นักออกแบบแต่ละคนอธิบายงานแต่ละชิ้นให้เราฟัง
งานชุดนี้รวมเอา 6 นักออกแบบต่างสาขาทั้งนักออกแบบภายใน นักออกแบบผลิตภัณฑ์
กราฟิกดีไซน์ ฯลฯ ซึ่งไม่ได้ทำงานด้านอาหารการกินเลยสักคนมาร่วมกันค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ
ของอาหารเหนือ จนได้ผลลัพธ์ออกมาสนุกเหลือร้าย

“จุดเริ่มต้นเกิดจากเรามองว่างานออกแบบด้านอาหารไทยไม่ได้ถูกพัฒนามานานแล้ว
กระต่ายขูดมะพร้าว พิมพ์ขนม เตาขนมครก เราเกิดมาเด็กๆ
เห็นมายังไงทุกวันนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น ทั้งที่โลกมันเปลี่ยนไป
อาหารกลับไปสู่ไลฟ์สไตล์ของคนมากขึ้น
แต่เครื่องไม้เครื่องมือบ้านเรายังหยุดนิ่งเหมือนเดิม
เราเลยอยากกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตรงนี้” พิพิธ โค้วสุวรรณ
นักออกแบบภายในผู้ทดลองเปลี่ยนพิมพ์ขนมดอกจอกหน้าตาธรรมดาให้เป็นพิมพ์รูปทรงดอกไม้ภาคเหนืออย่างดอกทองกวาวในโปรเจกต์นี้เล่าให้เราฟัง
“วัตถุประสงค์คือเราได้ทดลองทั้งกับตัวเราเอง
และได้เห็นความสนใจของคนเพื่อต่อยอดให้เกิดสิ่งใหม่ๆ”

ชิ้นงานอื่นๆ
มีทั้งโปสเตอร์ภาพพิมพ์สีแสบตาที่วาดออกมาเป็นส่วนผสมพริกลาบหนึ่งถ้วย ชุดพ่อครัวที่มีลวดลายเป็นชื่อเมนูอาหารเหนือแปลกๆ
คุกกี้ที่ทำจากส่วนผสมเมนูอาหารเมือง อย่างคุกกี้รถด่วน คุกกี้ลำไย คุกกี้ไส้อั่ว
(หยิบทานได้ และเราบังคับว่าต้องลอง!) หรือเซียมซีไอศครีมดอกไม้ที่มีวิธีคิดล้ำมากๆ เราชื่นชมความสร้างสรรค์ที่แต่ละคนหยิบเอาสิ่งที่ตัวเองถนัดมาคิดต่อไปได้ไกล
และถ้าลองเงี่ยหูฟังดีๆ เสียงบรรยากาศที่เกิดขึ้นในห้องนี้ก็ยังผ่านการคิดมาอีก ไม่อยากเล่าเยอะเพราะอยากให้ไปสนุกด้วยตัวเองจริงๆ

06 Souvenirs from Depressions

Artist: อานนท์
ไพโรจน์
Location: Gallery Seescape นิมมานเหมินท์ ซอย 17
Contact: Anon Pairot Design Studio

เราโชคดีมากที่ได้อยู่ร่วมงานเปิดตัวนิทรรศการนี้พอดิบพอดี
เลยได้มีโอกาสฟังศิลปินบอกเล่าถึงผลงาน ‘ของที่ระลึก’ รูปร่างคล้ายกระบอกปืนจำนวนเกินร้อยที่แขวนดิ่งลงมาเต็มพื้นที่จัดงานนี้
ในแง่เนื้อหา อานนท์ต้องการบันทึกช่วงเวลาร่วมสมัยที่เต็มไปด้วยความกดดันทางการเมือง
ระบบทุนนิยม ความเหลื่อมล้ำทางสังคมซึ่งเราได้ยินได้อ่านจากสื่อมาตลอด แต่ไม่เคยรับรู้ถึงมัน
ฟังแล้วเป็นนามธรรมจ๋าแต่อารมณ์ร่วมที่เราได้จากการเดินวนไปเวียนมาให้กระบอกปืนที่แกว่งไกวกระทบตัวเล่นๆ
แล้วย้อนคิดว่าเราผ่านมันมาได้อย่างไรนั้นยังติดค้างอยู่ในหัวงานนี้จัดไกลจากย่านกลางเมืองแต่เชื่อเหลือเกินว่าใครไปเชียงใหม่ก็ต้องแวะไปถนนนิมมานเหมินท์อยู่แล้ว
ลองแวะเข้าไปชมก็คุ้มค่าไม่น้อยนะ


Event

07 Chiang Mai I MISS YOU(A Mobile Exhibition)

Organizer: Go Went Gone
Location: เปลี่ยนแปลงไปทุกวันตามสถานที่สำคัญๆ
ทั่วเมืองเชียงใหม่
Contact: Go Went Gone

กลุ่มวัยรุ่นนักสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อสังคมจากกรุงเทพฯ
ยกขบวนขึ้นไปจัดนิทรรศการเคลื่อนที่ด้วยรถจักรยานพ่วงรถเข็นแสนน่ารัก
ตัวงานพูดเรื่องอาหารเหนือ ชาติพันธุ์ งานหัตถกรรม และภาษา ผ่านการจัดแสดงที่เชื้อเชิญให้ทุกคนเข้าไปร่วมสนุกได้ง่ายๆ
อย่างโปสการ์ดให้เขียนว่าถ้าคิดถึงเชียงใหม่ จะคิดถึงอะไร และยังมีงานของศิลปินคนอื่น เช่น
งานปักผ้าไหมของแพรวา รุจิณรงค์,
จดหมายปักลายมือของพนิตนันท์ พงศ์เศรษฐี หลบๆ ซ่อนๆ ให้เราชะเง้อชะแง้มองดูอีกด้วย
ความสนุกของนิทรรศการนี้เลยเริ่มตั้งแต่เราต้องตามหาว่าแต่ละวันพวกเขาจะไปอยู่ที่ไหน
และยังเป็นงานที่ใครต่อใครก็คงอยากพูดคุยกับพวกเขาต่อยาวๆ

ที่ยกมาเป็นแค่น้ำจิ้มของงานที่เราได้มีโอกาสแวะเวียนไปเยี่ยมชมช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
ใครยังลังเลว่าวันหยุดยาวนี้จะขึ้นไปเชียงใหม่ดีไหม หรือถ้าเบื่อจะไปจิบกาแฟ
ตามหาคาเฟ่เก๋ๆ แล้วไม่รู้ว่าจะไปเที่ยวไหนอีกดี เราบอกเลยว่าแค่เดินชมงาน Chiang Mai Design Week 2016 ให้ครบครันก็แทบหมดไป 3 วันแล้วล่ะ

แล้วมาดูกันว่าปีหน้าเราจะตามไปดูเทศกาลออกแบบที่เมืองไหนกันอีก

AUTHOR