ตามไปดู 15 ออฟฟิศ 15 สไตล์ ของศิลปินรุ่นใหม่ใน Glowfish Creators’ Lab

Highlights

  • Glowfish Creator's Lab คือนิทรรศการของ Glowfish เจ้าของพื้นที่ออฟฟิศให้เช่า ที่ชักชวน 15 ศิลปินรุ่นใหม่เข้ามาจับจองห้องออฟฟิศขนาดย่อมๆ เป็นเวลา 1 เดือนเต็ม แปลงโฉมห้องว่างให้กลายเป็นห้องทำงานในสไตล์ของตัวเอง
  • ความน่าสนใจของงานนี้คือ ศิลปินที่เข้าร่วมแต่ละคนทำงานหลากหลายเทคนิค แต่ทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นศิลปินรุ่นใหม่ที่น่าจับตา ที่สำคัญในบางวันเราอาจเจอตัวศิลปินมานั่งทำงานที่นี่จริงๆ หรือมาทำกิจกรรมร่วมกับผู้ชมด้วย
  • นอกจากความตั้งใจของ Glowfish จะเป็นการทำตัวเองให้เป็นศูนย์รวมงานครีเอทีฟสนุกๆ แล้ว พวกเขายังหวังว่าจะสามารถผลักดันแวดวงศิลปินรุ่นใหม่ให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน

ออฟฟิศหรือพื้นที่ที่ใช้ทำงานนับเป็นพื้นที่ส่วนตัวและมักเป็นเขตหวงห้ามของคนนอกอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งออฟฟิศของบรรดาศิลปินทั้งหลาย ดังนั้นการได้ล่วงรู้เบื้องหลังของผลงานแต่ละชิ้นจึงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นของใครหลายคน

Glowfish Creators’ Lab คือโปรเจกต์พิเศษของ Glowfish เจ้าของพื้นที่ออฟฟิศให้เช่าที่ชักชวน 15 ศิลปินรุ่นใหม่เข้ามาจับจองห้องออฟฟิศขนาดย่อมๆ เป็นเวลา 1 เดือนเต็ม เพื่อแปลงโฉมห้องว่างให้กลายเป็นห้องทำงานในสไตล์ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น give.me.museums, N E W Y E A R, The Pigeon Post ซึ่งบางครั้งผู้เข้าชมงานอาจได้พบกับศิลปินตัวจริงที่มานั่งทำงานคอยอธิบายงานหรือวาดภาพให้ชมกันแบบสดๆ ในออฟฟิศของตัวเองอีกด้วย

Glowfish Creators' LAB

Glowfish Creators' LAB

ความสนุกของงานนี้คือ ทุกครั้งที่เราเดินออกจากห้องหนึ่งไปสู่อีกห้องหนึ่งไม่ต่างกับการวาร์ปสู่โลกแต่ละใบที่เต็มไปด้วยรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับศิลปิน ทั้งเทคนิคที่เป็นเอกลักษณ์ วัสดุที่แตกต่างกัน การติดตั้งสนุกๆ การใช้สี แสง บรรยากาศ หรือแม้กระทั่งกลิ่นที่ตั้งใจเลือกมาบ่งบอกตัวตนโดยเฉพาะ

แม้ว่างานนี้จะไม่ใช่งานที่มีขนาดใหญ่โตหากวัดกันด้วยพื้นที่จัดแสดง แต่ในแง่รายละเอียดและความหลากหลายของผลงานที่นำมาจัดแสดง เราเชื่อว่านี่คืองานใหญ่และท้าทายสำหรับทีมผู้จัดงานทั้ง 4 จากฝ่ายมาร์เก็ตติ้งของ Glowfish พลัม–ปีย์วรา เอื้อชนก, มะนาว–พรรษพร ลี้อิสสระนุกูล, หม่อน–ณิชารี จริยตันติเวทย์ และ จูมิ–จุฑามาศ พรงาม

Glowfish Creators' LAB

“เราอยากจะทำ Glowfish ให้เป็นครีเอทีฟฮับ”​ พลัมเล่าให้เราฟังถึงความตั้งใจของ Glowfish ที่อยากพาคนจากสายงานสร้างสรรค์มาเจอผู้ที่สนใจผลงานรวมถึงนายทุน โดยที่มีการจัดสรรพื้นที่ outlet หรือช่องทางการขายผลงานให้แก่ศิลปินไปด้วยในเวลาเดียวกัน

หลังจากที่เดินชมผลงานครบทุกห้องแล้ว เราจึงได้โอกาสมานั่งคุยถึงเรื่องราวสนุกๆ เบื้องหลังการจัดงานครั้งนี้กับทีมงานทั้งสี่ ตั้งแต่การริเริ่มไอเดีย การติดต่อศิลปิน ไปจนถึงการรับมือกับผู้เข้าชมจำนวนมหาศาลที่หลั่งไหลมาโดยไม่คาดคิด

 

Work, Love, Balance

แม้ผลงานในแต่ละห้องที่จัดแสดงจะมีสไตล์และเทคนิคแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่ถ้าใครลองสังเกตให้ดีอาจพบจุดร่วมเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ คือมุมมองเกี่ยวกับความรักที่ศิลปินแต่ละคนสะท้อนออกมาจากพื้นที่ของตัวเอง

“Glowfish Creators’ Lab เริ่มจากไอเดียว่าเราอยากเอาพื้นที่ออฟฟิศที่ว่างอยู่มาเปลี่ยนให้มีประโยชน์มากขึ้น เราก็คิดต่อไปว่าอยากจะรวมศิลปินหลายคนมาไว้ด้วยกัน เพื่อให้ผู้ชมได้เข้ามาดูงานอาร์ตจากที่เดียวแต่เห็นงานที่หลากหลายจากแต่ละห้อง” พลัมเล่าให้ฟังถึงความตั้งใจในวันแรกที่ริเริ่มโปรเจกต์ ก่อนที่มะนาวจะเสริมต่อ

“ถ้าสังเกตจะเห็นว่างานที่จัดแสดงมีทั้งงานแอ็บสแตรกท์ งานมินิมอล งานเซรามิก เพราะเรารู้สึกว่าอยากให้ทุกคนได้อะไรกลับไปมากกว่า 50 บาทที่เขาจ่ายเข้ามาดูงาน

“งานนี้เรามีโจทย์กว้างๆ ให้ศิลปินคือคำว่า Work, Love, Balance เพราะช่วงเวลาที่จัดงานคือเดือนกุมภาพันธ์ เป็นเดือนแห่งความรักพอดี เราเลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นกิมมิกของงานคือเรื่องความรักแล้วกัน แต่ก็ไม่ถึงขั้นกำหนดว่าจะต้องเป็นความรักแบบไหน เราเปิดให้ทุกคนไปตีความกันเอง ให้เขาแสดงออกถึงความรักคนละแบบ อย่างของ Banana Blah Blah เขาก็เลือกเลยว่าอยากพูดถึงความรักออฟฟิศ ความรักงาน” 

เธอยกตัวอย่างให้เราฟังต่อว่านอกจากงานภาพพิมพ์ Risograph สีนีออนจี๊ดจ๊าดของ Banana Blah Blah แล้ว เรายังสามารถสังเกตความรักของศิลปินในแบบอื่นๆ ได้อีก อย่างความรักที่สื่อผ่านภาษาดอกไม้ของ In Flower Lesson หรือจะเป็นความรักที่ซ่อนอยู่ในเซรามิกเคลือบสีพาสเทลละมุนตาของ CE’HALO ก็น่ารักไม่แพ้กัน 

 

โตไปด้วยกัน

ในวันที่ศิลปินหน้าใหม่แจ้งเกิดอยู่ตลอดเวลา การตามหาศิลปินที่มีผลงานโดดเด่นและสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์เพื่อมาเติมเต็มห้องว่างแต่ละห้องนั้นไม่ใช่งานง่ายๆ เลย มะนาวเล่าให้ฟังว่า ทีมงานทั้งสี่ชีวิตใช้วิธีการอันหลากหลายจนสามารถรวบรวมศิลปินทั้ง 15 ชีวิตมาไว้ในงานนี้ได้อย่างที่เราเห็นกัน 

“ก่อนหน้าที่จะจัดงานนี้เราเคยจัดนิทรรศการเดี่ยวให้ศิลปินมาบ้างแล้ว เช่น Char.t กับ Lily Lockwood พอคราวนี้มีโอกาสเราก็ติดต่อไปชวนเขาเป็นคนแรกๆ แล้วเขาก็ช่วยแนะนำศิลปินบ้าง ช่วยชวนบ้าง ทั้งสองคนช่วยเราได้มากเลย 

“ส่วนศิลปินคนอื่นๆ บางทีพวกเราก็ช่วยกันเสิร์ชเองบ้าง หรือมาจากการทำ Q&A ในอินสตาแกรมบ้าง กลุ่มผู้ชมที่เขาเคยมาดูงานครั้งก่อนๆ ก็จะเข้ามาบอกว่าอยากดูงานของคนนั้นคนนี้ จากนั้นเราก็เอารายชื่อมาปรึกษากับทีมอีกทีหนึ่ง เราพยายามเลือกคนที่มีเอกลักษณ์ แต่ขณะเดียวกันก็สามารถอยู่รวมกันได้” 

ส่วนผสมของสไตล์ที่แตกต่างจากศิลปินทั้ง 15 คือเสน่ห์ที่สำคัญมากของงานนี้ ใครจะคิดว่าเราจะได้เห็นผลงานสีน้ำมันแนวแอ็บแสตรกท์ของ Char มาจัดแสดงอยู่ห้องตรงข้ามกับ naive art คอนเซปต์ 2000s สีสันสดใสของ Lily Lockwood นั่นทำให้ชั่วขณะก่อนจะเลี้ยวไปสู่อีกห้องเป็นช่วงเวลาของความใจเต้น เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าผลงานแบบไหนกำลังรอเราอยู่ 

และนอกจากจะรวบรวมศิลปินมาจัดแสดงงานแล้ว ชาว Glowfish ยังย้ำกับเราอีกว่าพวกเขาไม่ได้อยากจัดอีเวนต์แค่ครั้งเดียวแล้วจบไป แต่ความตั้งใจที่แท้จริงคือการเติบโตไปพร้อมๆ กัน

“ไอเดียของเราคือการสร้างครีเอทีฟฮับหรือศูนย์รวมความครีเอทีฟ และเราก็อยากจะเติบโตไปด้วยกัน ดังนั้นจึงชวนศิลปินรุ่นใหม่ที่พอจะมีฐานแฟนคลับของตัวเองอยู่บ้าง เพื่อที่เขาจะได้ช่วยซัพพอร์ตเราในแง่การชวนคนมาดูงาน ส่วนเราก็ใช้พื้นที่ที่มีอยู่ซัพพอร์ตเขาไปพร้อมกัน”

 

จาก 1,000 ถึง 10,000

เพราะเคยจัดนิทรรศการร่วมกับศิลปินมาบ้าง พวกเขาจึงพอคาดคะเนได้ว่าด้วยจำนวนศิลปินที่เพิ่มขึ้น ทีมงานจะต้องใช้ระยะเวลาเตรียมงานนานกว่าเดิม แต่แล้วสิ่งที่อยู่เหนือความคาดหมายก็เกิดขึ้นเมื่อผู้เข้าชมมีจำนวนเกินที่คาดไว้ไปเกือบๆ 10 เท่า

“การจัดงานครั้งนี้เราเตรียมงานนานขึ้น ประมาณ 3 เดือน นานกว่างานก่อนๆ ของที่ใช้เวลาแค่ประมาณเดือนเดียว” พลัมอธิบายถึงสเกลงานที่แตกต่างไปจากปกติ ซึ่งตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อเวลาการทำงานก็คือ ช่วงเวลาราว 2 เดือนที่ศิลปินแต่ละคนจะใช้ในการผลิตชิ้นงานใหม่เพื่องานนี้โดยเฉพาะ 

“สิ่งที่เราตื่นเต้นที่สุดก็คือ คนเยอะมากๆ ตั้งแต่เปิดอาทิตย์แรกคนก็เยอะมากแล้ว เราต้องมานั่งคิดว่าจะจัดระบบยังไงเพื่อให้คนได้เข้างานทุกคน ได้ถ่ายรูปทุกคน ไม่แออัดเกินไป เพราะอย่างวันเสาร์ที่ผ่านมาแค่วันเดียวมีคนเข้างานไป 1,300 คนแล้ว” หม่อนพูดด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น

“แต่ตอนแรกเราสั่งโปสต์การ์ดกับริสต์แบนด์ไปแค่อย่างละ 1,000 อันเองนะ ส่วนตอนนี้สั่งไปเกือบหมื่นแล้ว” จูมิเสริมในมุมของดีไซเนอร์พร้อมเสียงหัวเราะ และบอกกับเราว่าสิ่งที่เกินความคาดหมายอีกอย่างคือ ผู้ชมจำนวนมากถ่ายรูปและรีวิวทั้งในทวิตเตอร์และอินสตาแกรมจนงานนี้กลายเป็นจุดเช็กอินยอดฮิตประจำเดือน

 

Interactive Exhibition 

หากลองถอดรหัสความสำเร็จของงานครั้งนี้ดูเล่นๆ สิ่งหนึ่งที่ทำให้ Glowfish Creators’ Lab ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามคงหนีไม่พ้นการจัดห้องของศิลปินที่สร้างเสน่ห์ให้กับแต่ละห้องจนอยากใช้เวลาสังเกตรายละเอียดในนั้นนานๆ ที่สำคัญในหลายๆ จุดศิลปินยังเปิดให้ผู้เข้าชมมีส่วนร่วมกับผลงานในห้องได้อย่างสนุกสนาน 

“เราคุยกับศิลปินแต่ละคนตั้งแต่ขั้นตอนติดต่อว่าเราไม่ได้อยากให้โชว์ผลงานอย่างเดียวนะ แต่อยากให้คนมีปฏิสัมพันธ์กับงาน หรือมีกิจกรรมให้เขาร่วมทำบ้าง เช่น บูทตกแต่งรูปโพลารอยด์ในห้องของ Lily Lockwood หรือถ้าสังเกตในอินสตาแกรมของศิลปินแต่ละคนจะเห็นว่าเขามีการลงปฏิทินของเดือนกุมภาพันธ์เพื่อบอกว่าจะเข้ามาทำกิจกรรมวันไหน บางคนอาจจะมาอธิบายงาน หรือมาวาดพอร์เทรตก็มี” มะนาวเล่าถึงกิจกรรมพิเศษในงานนี้

ก่อนจะถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ เราอยากชวนมาชื่นชมแง่มุมความรักเล็กๆ ในแบบของศิลปินแต่ละคนอีกสักรอบ เพราะความน่ารักของงานน่าจะเป็นการทิ้งท้ายเดือนแห่งความรักได้ดีทีเดียว

 

ศิลปินในงาน Glowfish Creators’ Lab

22mm.t เจ้าของคาแร็กเตอร์ Booty Head ที่ทำหน้าที่เล่าเรื่องความรักผ่านฉากต่างๆ อย่างน่าเอ็นดู

 

Banana Blah Blah กับงานพิมพ์ Risograph สีนีออนโดดเด่น ภายใต้คอนเซปต์ Banana’s Company แถมยังมีมุมเล็กๆ ที่เปิดให้ผู้ชมกรอกเรซูเม่ของตัวเองได้อีกด้วย

 

Viput A. นักวาดภาพประกอบหนุ่มที่นำเสนอเรื่องราวเล็กๆ ในชีวิตประจำวันออกมาได้อย่างมีเสน่ห์ โดยตั้งใจจำลองห้องทำงานของตัวเองมาให้ทุกคนได้เยี่ยมชมกัน 

 

The Pigeon Post ผู้มีลายเส้นวินเทจเป็นเอกลักษณ์ คราวนี้มาในคอนเซปต์โลกจินตนาการ โดยนำเอาพระอาทิตย์ ก้อนเมฆ และดวงดาว มาลอยอยู่กลางออฟฟิศ

 

Lily Lockwood ตั้งใจหยิบคอนเซปต์ความรักในยุค 2000s มานำเสนอผ่านผลงานสีสันสดใส ทั้งการเพนต์ลงบนคอมพิวเตอร์รุ่นเก่าและแผ่นซีดี

 

The 3rd Daughter เลือกนำเสนอผลงานภาพวาดในเฟรมผ้าใบ ด้วยคอนเซปต์ A Picture of Me (I Love Myself)

 

The Breakfast Club นำเสนอความรักผ่านเบเกอรีหน้าตาน่ารักและการตกแต่งออฟฟิศให้เป็นห้องครัวในคอนเซปต์ Minutes of Baking

 

In Flower Lesson นำเสนอความรู้สึกของศิลปินผ่านดอกไม้นานาชนิดภายใต้คอนเซปต์ Intuition

 

MIG MIG เลือกใช้คาแร็กเตอร์ลายเส้นน่ารักเพื่อเล่าเรื่องราวการทำงานรูปแบบต่างๆ ในคอนเซปต์ Working Hours

 

Monsty Planet มาพร้อมกับคาแร็กเตอร์ประจำตัวอย่าง Bobby เจ้าหมาคอร์กี้หน้าทะเล้น พร้อมกับ Amelie&Smith ซึ่งคราวนี้พวกเขามาพร้อมกับคอนเซปต์ Monsty Planet : Nice to meet you

 

Char ศิลปินแนวแอ็บสแตรกท์ที่เลือกบอกเล่าความประทับใจจากการเดินทางด้วยภาพสีน้ำมันบนผืนผ้าใบ

 

N E W Y E A R เจ้าของลายเส้นแบบฟรีฟอร์ม ที่สร้างผลงานในคอนเซปต์ Just be happy เพราะอยากชวนให้ทุกคนยิ้มและมีความสุขไปกับผลงานในห้อง

 

Chubbynida เจ้าของคาแรกเตอร์หญิงสาวตากลมผมม้า ที่คราวนี้เธอจะมาเล่าเรื่องราวในปีแห่งความสับสน ฟุ้งซ่าน และการค้นหาตัวเอง

 

CE’ HALO ศิลปินเซรามิกหนึ่งเดียวภายในงาน ที่ตั้งใจอยากให้ผลงานสีพาสเทลที่วาดด้วยมือ เพนต์ด้วยใจทุกชิ้น ช่วยเติมเต็มพื้นที่ความสุขในทุกๆ วันของคุณ

 

give.me.museums เจ้าของคาแรกเตอร์เด็กสาวสีสันสดใส คราวนี้ เธอยกผลงานคอนเซปต์ Love is all, Love is you มาโชว์พร้อมงานสเก็ตช์น่ารักๆ ให้เดินดูกันได้อย่างเพลิดเพลิน


ใครสนใจตามไปชมได้ที่ Glowfish Offices ชั้น 20 ตึกสาทรนคร ตั้งแต่วันนี้ – 29 กุมภาพันธ์ เวลา 12:00-21:30 น. บัตรเข้างานราคา 50 บาท

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรม และศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อย รวบรวมผลงานไว้ที่ pathipolr.myportfolio.com