งานเปิดตัว iPhone X ทำปฏิกิริยาอะไรกับคนทำหนังบ้าง

การเปิดตัว iPhone X เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาสร้างความตื่นตระหนกให้กับคนทำหนังอีกครั้ง

(เอาใหม่) จริงๆ แล้วไม่รู้คนอื่นเขาตระหนกรึเปล่า
แต่ในฐานะคนทำหนังคนหนึ่ง ผมรู้สึกว่าเรื่องเก่ายังไม่จบ เราก็มีเรื่องใหม่เข้ามาให้ได้ขบคิดและตระหนักกันอีกแล้ว

เรื่องเก่าที่ว่าคือเทคโนโลยี VR (virtual reality) ที่เริ่มจะฮิตกันมากในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา
การพัฒนาด้านเทคโนโลยีของมันเป็นไปอย่างรวดเร็วและอยู่ในระดับที่ใช้งานได้ดี
จนมันเริ่มนิ่งและทำให้ผู้คนไปสนใจที่คอนเทนต์ที่จะมารองรับ VR แน่นอนว่า เรื่องใกล้ตัวก็คงไม่พ้นเกม VR และภาพยนตร์ VR ส่วนตัวคิดว่าชาวเกมกับ VR เป็นของเคียงคู่กันมาอยู่แล้ว เกมต้องการเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้คนมี experience แบบสมจริงมากขึ้น

ในขณะที่เกมมีพระเอกหลักเป็นผู้เล่น พระเอกหลักจริงๆ ของภาพยนตร์ก็คือผู้กำกับ บุคคลที่จะคอยควบคุมให้คนดูเห็นอะไรและไม่เห็นอะไรในหนังเรื่องนั้น
ดังนั้นภาพยนตร์ VR จึงเป็นอะไรที่ขัดกับหลักธรรมชาติของการทำหนังมาก
เพราะคนดูจะมีสิทธิ์มองไปรอบฉากได้แบบ 360 องศา ผู้กำกับไม่สามารถบังคับดูได้อีกต่อไป ดังนั้นหลักการสร้างภาพยนตร์
VR เลยต้องเป็นอีกแบบ
เราจะต้องคิดโครงเรื่องอีกแบบ คิดซีนอีกแบบ ที่จะรองรับธรรมชาติใหม่ของคนดู

แต่ยังไม่ทันที่ภาพยนตร์
VR จะได้รับการยอมรับอย่างจริงจัง หรือมีภาพยนตร์ตัวอย่างที่ยืนยันถึงความสำเร็จของมัน
(แม้ว่าปีนี้ อเลฮานโดร กอนซาเลซ อินาร์ริตู ผู้กำกับ
Birdman จะทดลองทำภาพยนตร์ VR ที่ชื่อ Carne y Arena มาฉายที่คานส์
แต่ก็ดูเหมือนจะไม่เปรี้ยงปร้างมากนัก) เรื่องเก่ายังไม่ทันเคลียร์ว่าเวิร์กไหม สิ่งใหม่ที่เรียกว่า AR (augmented reality) ก็เริ่มมาแซงแล้ว, นั่นคือคำที่การเปิดตัวโทรศัพท์เครื่องนั้นค่อนข้างพูดถึงบ่อยจนเหมือนกลายเป็นฟีเจอร์สำคัญอันหนึ่งในอนาคต
ไอ้เรื่องกล้องชัดไม่ชัดกลายเป็นเรื่องอดีตไปเสียแล้ว

ความแตกต่างของภาพยนตร์ VR และ AR นั้นก็ง่ายๆ VR เหมือนพาคนดูเข้าไปอยู่ในโลกที่เราสร้างขึ้น (ในแว่น) คนดูมีอิสระที่จะมองหรือไม่มองอะไร
หรือกระทั่งเดินไปสำรวจจุดต่างๆ ในฉากได้ด้วยตัวเอง ในขณะที่ AR นั้น ก็ขอให้นึกถึงเกม Pokémon GO มันคือการใส่แว่นแล้วมองเห็นว่ามีตัวละครที่ผู้สร้างครีเอตขึ้นเดินไปเดินมาอยู่ต่อหน้าเราในโลกความเป็นจริง
ในสถานที่ที่เรายืนอยู่ตรงนั้นจริงๆ มันคือการดึงตัวละครออกจากจอหนังมาอยู่ข้างๆ เรา
ไม่ใช่เราเดินเข้าไปในจอหนังเหมือน VR

แม้ว่าตอนนี้ผู้คนจะยังไม่ได้คิดกันไปถึงการสร้างภาพยนตร์ AR แต่แค่เห็นหลักการพื้นฐาน เราก็พบว่าใครจะทำภาพยนตร์ AR ก็ต้องใช้อีกหลักการหนึ่ง คราวนี้นอกจากคนดูมีอิสระจนเราไม่สามารถควบคุมการมองของเขาได้แล้ว
เรายังไม่สามารถควบคุมปัจจัยอื่นๆ ได้ด้วย เช่น สถานที่ที่เขาจะใช้ดูหนัง AR ว่าเหมาะสมไหม ไม่ใช่ทำหนังผี AR มาแล้วคนดูเปิดไฟสว่างโร่ในห้อง มันจะน่ากลัวอย่างไร?
หรือทำหนังไดโนเสาร์แต่เปิดดูในออฟฟิศ ไม่ใช่ลานหญ้ากว้างๆ ก็อาจทำให้ความหมายที่เราต้องการสื่อนั้นผิดไป

ถ้าคิดในแง่ดีก็คือ มันได้ความหมายใหม่ที่อาจจะดีกว่าที่เราคิด (ดูไดโนเสาร์ในออฟฟิศอาจสนุกกว่าลานกว้างปกติก็ได้) กลายเป็นว่าเราต้องคิดหนังที่ใช้ความร่วมมือกับคนดูมากขึ้น
หรือต้องเป็นเรื่องที่มันอาจจะเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ที่ผู้ชมอยู่
หรือไม่ก็ต้องออกคำแนะนำควบคุมการชม (ซึ่งไม่รู้คุมได้ไหม) ให้คนดูต้องอยู่ในสถานที่เฉพาะหรือห้องที่เหมาะสมสำหรับการดูหนังเรื่องนั้นๆ

เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เราได้ยินข่าวว่าท่านเซอร์ ปีเตอร์
แจ็คสัน แห่ง
The
Lord of The Rings
นั้นมูฟตัวเองจากคนทำหนังไปพัฒนาเกม
AR อยู่ ภาพตัวอย่างที่เขาเอามาให้ดูคือการที่คนดูใช้ iPad ส่องไปทางโต๊ะเปล่าๆ แล้วเราพบว่าบนโต๊ะเปล่าๆ นั้นมีฉากหนังกำลังเกิดขึ้นอยู่
มีเฮลิคอปเตอร์บินโฉบมายิงโจมตีเหนือบ้านคนบนโต๊ะ มีระเบิดบนโต๊ะ และเราสามารถเดินส่องวนดูสถานการณ์หรือซีนนี้รอบโต๊ะกินข้าวได้
ดูน่าตื่นเต้นมากๆ เหมือนอยู่ในหนังไซไฟ (ลองคิดดูว่าถ้าดูผ่านแว่นตา มองได้รอบๆ โดยไม่ต้องถือไอแพดส่องจะสนุกขนาดไหน) นักข่าวถามทีมงานของปีเตอร์ว่า จะเป็นไปได้ไหมว่าจะมีหนัง
The
Lord of The Rings
แบบ AR ขึ้นมา ทีมงานได้แต่ยิ้มๆ แล้วตอบว่า ‘ก็ไม่แน่’

เอาจริงๆ แค่เรื่อง Netflix ปฏิวัติวิธีการชมภาพยนตร์แบบง่ายๆ
ก็ยังมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งตามมากันมากมายถึงความหมายของภาพยนตร์ เราไม่แน่ใจว่าการดูหนังในโรงหนังเท่านั้น
คือวัฒนธรรมประเพณีที่ถูกต้องที่ควรจะรักษาไว้ หรือเป็นเพียงแค่การยึดติดกับระบบความคิดเก่าๆ
ของการดูหนัง, การทำหนังก็เช่นกัน
การที่ผู้กำกับบังคับให้คนดูดูในสิ่งที่ต้องการเท่านั้นเป็นสิ่งที่ควรจะเป็นและรักษาไว้หรือไม่
แล้วถ้าหากผู้ชมมีอิสระมากขึ้น การผจญภัยเข้ามาในซีนของเรา หรือเราสามารถกางหนังดูบนโต๊ะอะไรก็ได้
จะถือเป็นวิวัฒนาการก้าวล้ำใหม่ๆ ของการทำหนังหรือไม่ มันคือการเข้าสู่เขตแดนใหม่ๆ ของการเล่าเรื่องรึเปล่า
หรือเราจะยังเรียกมันว่าภาพยนตร์ไหม?

จริงๆ เวลาเห็นบรรดาการสาธิตพวก
AR เนี่ย ผมตื่นเต้นมากนะครับ คิดว่ามันน่าตื่นตาตื่นใจ เป็นมิติใหม่
เป็นจินตนาการในวัยเด็กที่ในที่สุดก็เป็นจริง แต่ในฐานะคนสร้างงาน
เราก็นั่งคิดว่านี่คือสิ่งที่เราต้องเรียนรู้หรือปรับตัวในการจะสร้างมันให้ได้หรือไม่
เพราะก็ไม่แน่ว่าคนดูในอนาคตอาจจะคิดว่าหนังในโรงเป็นของล้าสมัยมากและหันมาดูหนัง VR หรือ AR กันหมด แต่ก็ไม่แน่เหมือนกันว่าสุดท้ายแล้วมันก็จะเป็นของเล่นสนุกๆ ที่ผ่านมาและผ่านไป
ไม่ต่างจากแว่นสามมิติที่กำลังเริ่มถดถอยลงในยุคนี้

AUTHOR